เผยแนวคิดของสถาปนิกแดนอีสาน
และนักออกแบบเมืองนครที่หยิบวัสดุ
ทั้งสองพื้นถิ่นมาสร้างผลงาน

จะเป็นอย่างไรเมื่อนักออกแบบผลิตภัณฑ์จากภาคใต้ที่ถนัดในการหยิบจับวัสดุในท้องถิ่นมาทำให้เกิดความร่วมสมัย มาร่วมงานกับสถาปนิกจากภาคอีสาน “ชานเฌอ” ที่ถนัดการออกแบบปรับปรุงอาคารเก่ามาเจอกัน

ภายใต้แนวคิดของงานอย่าง “CO – WITH CREATORS พึ่งพา-อาศัย” จึงได้จับคู่ สถาปนิก คุณติ๊ดตี่ – ธรรศ วัฒนาเมธี และนักสร้างสรรค์ คุณชัย – ศุภชัย แกล้วทนงค์ ขึ้นมาเพื่อรังสรรค์พื้นที่ ASA MEMBER ให้ต่างไปจากเดิม ก่อนจะไปพบกันในงานสถาปนิก’65 ทั้งสองได้มาเผยแนวคิดและกระบวนการการออกแบบที่ทำให้สองพื้นที่รวมเป็นหนึ่ง พร้อมบอกเคล็ดลับในการทำงานร่วมกันระหว่างสองสาขาอาชีพ

“เป็นความโชคดีที่ผมได้มาทำงานใน จ.สกลนคร ตอนนั้นเราได้รีโนเวทบ้านเสงี่ยม-มณีขึ้นมา และได้ทำโปรเจกต์สกลจังซั่นในช่วงปลายปีผ่านมา ทำให้ พี่เต้ย – ปองพล ยุทธรัตน์ ประธานจัดงานสถาปนิก รู้จักและ ต่อมาพี่เต้ยจึงชวนพี่ชัยกับผมมาร่วมงานกัน”

อาหารพื้นถิ่นที่สื่อถึงกัน ทำให้เกิดเป็นรูปร่าง



เริ่มจากการหยิบเอาเรื่องความเป็นพื้นถิ่นของแต่ละคนมาต่อยอด อยากนำเสนออะไรที่เป็นอัตลักษณ์ของสกลนครและนครศรีธรรมราช จึงพยายามหาสิ่งที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งพอมาดูแล้วเรื่องอาหารและวัตถุดิบมันเชื่อมโยงกันมากที่สุด ผลคือการตกผลึกว่า “อาหาร” เป็นสิ่งที่ทั้งคู่สนใจ

“ในสกลนคร ‘ไข่มดแดง’ จะนำมาทำอาหาร ซึ่งก็เหมือนกันกับนครศรีธรรมราช ไข่มดแดงเป็นตัวตั้งต้นจากท้องถิ่นให้เราเริ่มเรียนรู้เรื่องราวของมดแดง เลยเริ่มศึกษาเรื่องราวของเลยเริ่มศึกษารังของมดแดง เมื่อดูรายละเอียดจริง ๆ แล้ว เวลามดแดงสร้างรังนอกจากพึ่งพา – อาศัยกันเองแล้ว ยังพึ่งพา – อาศัยธรรมชาติในการสร้างรังอีกด้วย ดังนั้นมันก็อยู่ในคีย์เวิร์ดของคำว่า พึ่งพา-อาศัยกันพอดี ในอีกมุมมองหนึ่งของไข่มดแดงคือตัวอ่อนที่กำลังจะให้กำเนิดสิ่งที่จะเติบโตต่อไป เปรียบเสมือนกับผลงานที่สถาปนิกฟูมฟักและรอนำมาแสดง ดังนั้นเราเลยหยิบตัวไข่มดแดงมาทำเป็นแท่นวาง

ดึงเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น สู่ pavilion รังมดแดง

นครศรีธรรมราชจะหยิบเทคนิคกรงนกมาใช้ ของสกลนครหยิบเรื่องของผ้าย้อมครามมาใช้ วัสดุทั้งสองบ่งบอกภูมิศาสตร์ได้ดีจึงนำสองสิ่งนี้มารวมกัน จุดเด่นของนครศรีธรรมราชจะเน้นเรื่องรูปแบบ โครงสร้าง เส้น แสงเงา และความเป็นพื้นถิ่น ส่วนของสกลนคร จะดึงเอกลักษณ์ของเรื่องผ้าย้อมครามมาเป็นองค์ประกอบ ทั้งการใช้ผ้าย้อมครามไล่เฉดสี และการนำเศษผ้าที่เหลือนำกลับมาใช้ใหม่ และมาผูกปมให้เกิดเป็นเส้น นำใบประกอบเป็นรูปทรงใบไม้ที่มันล้อมกันเหมือนปกคลุมอยู่รอบด้าน

“เราได้แรงบันดาลใจมาจากรังมดแดง ทั้งด้านบนและด้านข้างมันจะตั้งอยู่ด้วยการเชื่อมกันเหมือนรังมด ทั้งหมดจะช่วยพยุงกันให้เกิดเป็น Pavilion ขึ้นมา โครงสร้างเส้นใบที่เป็นเส้นโครงสร้างเราได้เรานำเอาแรงบันดาลใจของโครงสร้างกรงนกมาสร้างสรรค์และจะมีเศษผ้าย้อมครามที่ผูกกันเป็นปมแทรกแทนซี่กรงอยู่อาจจะมีผ้าสีขาวบ้าง สีทึบบ้าง เมื่อมีแสงไฟส่องลงมาจากด้านบนจะทำให้เกิดเงากระทบกับพื้น เป็นการเล่นกับสเปซข้างใน pavilion ส่วนใบไม้ด้านข้างที่มีความโปร่งถ้าคนอยู่ข้างนอกได้เห็นบางส่วนของงานข้างใน เราคิดว่าคนน่าจะให้ความสนใจ”

ช่วยกันและกัน เติมเต็มความคิด



“ในการทำงานร่วมกัน สถาปนิกจะดูภาพรวมการออกแบบโครงสร้าง สัดส่วน พื้นที่การใช้งาน ในด้านของนักออกแบบจะดูในส่วนของภาพที่จะสื่อออกไปให้คนเห็น เอกลักษณ์ของงาน การแสดงแนวคิดการดึงความเป็นสกลนคร กับนครศรีธรรมราชออกมาให้คนได้เห็น ซึ่งในบางครั้งก็ขอความคิดเห็นเราเพื่อเอาไปเติมเต็มในส่วนของเขา เป็นการช่วยเติมเต็มกันมากขึ้น” ชัยกล่าวปิดท้าย


“สุดท้ายขอเชิญชวนเหล่า ASA Member นำผลงานมาร่วมแสดงกันในรังมดแดงของเรา และชวนบุคคลทั่วไปมาดูว่างานปีนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรมีความแปลกใหม่อะไรบ้าง ภายใต้แนวคิดพึ่งพา-อาศัย อยากให้มาชม pavilion ของเราว่ามีอะไรที่น่าสนใจ เราหยิบซี่กรงนกจากนครศรีธรรมราชมาทำอะไร ผ้าครามสกลนครอยู่ตรงไหน โครงสร้างใบไม้มัดติดกันได้อย่างไร แล้วข้างในมีอะไรซ่อนอยู่” ติ๊ดตี่กล่าวเชิญชวนก่อนจะแยกย้าย

ในพื้นที่ของรังมดแดงย่อมมีไข่มดแดง ทั้งชัยและติ๊ดตี่เอ่ยปากขึ้นเล่น ๆ ว่า “เดี๋ยวจะเอาไข่มดแดงไปให้ชิมกันนะ ขอหาเจ้าที่อร่อย ๆ เตรียมไว้ก่อน แล้วพบกันนะ (หัวเราะ)” ทีมงานที่สัมภาษณ์ต่างก็คาดหวัง นอกจากจะได้เห็นพื้นที่ ASA MEMBER ฉบับจริงแล้ว ยังจะได้ฝากท้องอีกสักหนึ่งมื้อกับเมนูที่ทั้งคู่จัดเต็มไว้ให้

งานสถาปนิก’65 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ https://bit.ly/3t73Fzw สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts