Particle Board, ไม้อัด, OSB, MDF, HMR
เชื่อว่าทุกวันนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักวัสดุเหล่านี้ เพราะเป็นวัสดุใกล้ตัวที่ทุกคนใช้งานและสัมผัสกันเป็นประจำ
แต่คำถามสำคัญที่อยู่ใต้แผ่นไม้ ไม่ว่าจะเป็น ทำจากวัสดุแบบไหน? มีที่มาที่ไปอย่างไร? ส่งผลกระทบอะไรบ้าง? ไปจนถึงการเลือกใช้งานให้เหมาะสม กลับไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก ทั้งที่การเลือกไม้สักแผ่นส่งผลต่อสุขภาพของคุณมากกว่าที่คิด ชนิดแทบไม่ต่างจากการเลือกทานอาหารออร์แกนิกเลย!




ปีนี้ Vanachai Group หรือ บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แบรนด์ผู้ผลิตแผ่นไม้ทดแทนธรรมชาติชั้นนำของประเทศที่ดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า 82 ปี จึงจับมือคอลแลปส์กับ FLAT12x สถาปนิกสาย Tailor-made สร้างสรรค์เรื่องราวที่น่าสนใจ และ Know-how ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาบอกเล่าผ่านโปรเจกต์ Thematic Pavilion

‘อุโมงค์เส้นโค้ง’ รูปทรงแปลกตาที่ผสานแผ่นไม้หลากรูปแบบ เฉดสี พื้นผิว และความหนา เกิดจากการตกผลึกทางความคิดแบบไหน คุณจุล-จุลสมโณ พงษ์เสฐียร Architect Director จาก FLAT12x และอยู่เบื้องหลังการออกแบบผลงาน พร้อมเปิดมุมมอง ที่มาแนวคิดและแรงบันดาลใจทั้งหมดนี้ให้เราฟัง
Challenge The Norm
ย้อนรอยการเดินทางของแผ่นไม้ ท้าทายพฤติกรรมวัสดุ
จากคอนเซ็ปต์ที่ต้องการนำเสนอวิถีการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และวิสัยทัศน์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Vanachai Group เมื่อต้องตีความในรูปแบบพาวิลเลียน คุณจุลเล่าว่าเริ่มต้นจากการศึกษาความเป็นมาของแบรนด์ และเส้นทางการผลิตแผ่นไม้จากจุดตั้งต้น แล้วจึงเลือกท้าทาย พลิกภาพจำการใช้งานที่คุ้นเคยมาสร้างสรรค์ในรูปแบบของโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ให้มิติการรับรู้แปลกใหม่เพื่อโชว์ศักยภาพวัสดุที่หลากหลาย
“ตามปกติเราเห็นไม้อัดผลิตมาเป็นแผ่น ขนาดมาตรฐาน 1.4 เมตร 2.4 เมตร ทุกคนคุ้นเคยกับการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือฝาผนัง แต่ไม่ได้ถูกใช้เป็นโครงสร้างสักเท่าไหร่ เราเลยคิดจะ challenge ด้วยการนำไม้อัดมานำเสนอใหม่ด้วยพฤติกรรมโครงสร้าง ประกอบเป็นสถาปัตยกรรมในรูปแบบของอุโมงค์ นำแผ่นไม้เต็มแผ่น ตั้ง 2 ชั้น เรียงโค้ง เอียงขัดกันเป็นรูปคล้ายวงพัดยาวต่อเนื่องเต็มพื้นที่ขนาน 2 ข้าง และเสริมโครงสร้างปิดให้ Rigid กัน”
‘ECHO the ECO’
Vanachai Group’s Historic Tunnel
“เราจะเล่าเรื่องอย่างไรเป็น challenge เพราะว่าถ้าเทียบพื้นที่กับประวัติศาสตร์ของสิ่งที่ Vanachai Group ทำ พื้นที่มันเล็กมากเลย”
การถ่ายทอดเรื่องราวใหญ่บนสเกลพื้นที่เล็กถือเป็นโจทย์ท้าทาย แต่องค์ประกอบทั้งหมดของพาวิลเลียนที่ FLAT12x เลือกใช้ ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเรื่องราว ตัวตน และข้อความที่แบรนด์ตั้งใจส่งผ่านได้อย่างลงตัว
- ผนังแผ่นไม้คู่ขนาน
ออกแบบด้วยผนังแผ่นไม้เรียง 2 ชั้นวางขนาน 2 ฝั่ง ขยายขอบเขตและมิติการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุม
“รูปแบบการจัดเรียงไม้ที่ซ้อนเป็นผนังโค้งลักษณะนี้ ข้อดีคือโชว์ทั้งจำนวน ผิวหน้าไม้ ความหนา และลวดลายเลเยอร์ขอบไม้ด้านข้างที่เรามองเห็นได้ยากเวลาไปตามร้านวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นรายละเอียดสะท้อนคุณภาพงานแปรรูปของทาง Vanachai Group ครับ”




- ผนังโค้ง
ระหว่างทางสำคัญไม่แพ้ปลายทาง การออกแบบเส้นสัญจรด้วยผนังโค้งที่จำกัดระยะการมองเห็น ซ่อนปลายทาง ช่วยกระตุ้นการไต่ระดับอารมณ์ความรู้สึกน่าค้นหา ขณะเดียวกันยังทิ้งจังหวะให้ผู้เข้าชมได้ละเลียดเรื่องราว ผ่านการสำรวจพื้นที่จากการสัมผัสและทำความเข้าใจภาพกราฟิกบนผนังเบื้องหน้าที่ปรากฏทีละนิดอย่างไม่รีบเร่ง
- สะท้อนคาแรกเตอร์ผ่านพื้นที่
“แผ่นไม้ของเขาค่อนข้างเป็นพื้นฐานของบ้านทุกหลัง ใกล้ชิดกับผู้คนมากๆ เราไม่อยากทำสิ่งที่ดูไม่เป็นมิตร เราอยากสร้างพื้นที่เล่าเรื่องราวที่เดินเข้าไปสัมผัสได้ตลอดทาง แล้วส่วนปลายอุโมงค์จะพาเราวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น”


พื้นที่จำกัด สร้างสรรค์ความรู้สึกได้ไม่จำกัด FLAT12x สร้างบริบทสภาพแวดล้อมที่สะท้อนตัวตนของแบรนด์ ถ่ายทอดความยิ่งใหญ่แต่ยังคงความเป็นมิตรและเข้าถึงได้ ดังนั้นแม้เป็นพื้นที่ปิดล้อม บรรยากาศกลับไม่อึดอัด ด้วยการนำฝ้าจากวัสดุเงาสร้างเอฟเฟ็กต์ลวงตาให้ภาพแผ่นไม้ทอดยาว ดูโอ่โถง โปร่งสบาย ขณะเดียวกันการใช้ไฟนำทางที่กระจายแสงนุ่มนวลเป็นระยะ ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย
ด้านโครงสร้างเป็น Rigid Frame เน้นความแข็งแรง มั่นคง พร้อมรองรับการปฏิสัมพันธ์จากกลุ่มผู้เข้าชมทุกเพศวัย ทั้งพื้นที่ทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังออกแบบการติดตั้งโดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แผ่นไม้ทั้งหมดจึงสามารถถอดกลับไปใช้งานต่อได้หลังจบการจัดแสดง
RE-IMAGINE
‘อะไรใหม่ๆ’ ในพาวิลเลียน
“ผมอยากให้ลองมา Test Curiosity บางอย่างในตัวกับสถาปัตยกรรม มาดูการนำเสนอวัสดุไม้อัด ความหนาและผิวไม้ที่เล่นกับ feeling ผิวสัมผัส ความรู้สึกตอนเดินเข้าไป และได้เรียนรู้ เข้าใจ เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ Vanachai ผ่านพาวิลเลียนนี้ ผมว่าเมื่อเดินจบลูปนึงจะตอบโจทย์และเข้าใจได้เลย สนุกดีครับ”
หากอยากรู้ว่าทำไมการเลือกไม้สักแผ่นทำไมจึงสำคัญไม่ต่างจากการเลือกอาหารการกิน หรืออุโมงค์แผ่นไม้นี้เข้าไปแล้วจะให้ความรู้สึกแบบไหน เก็บสะสมความสงสัยไว้แล้วมาค้นหาคำตอบด้วยตนเองได้ที่ งานสถาปนิก’ 68 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี