ท่ามกลางกระแส ‘สถาปัตยกรรมยั่งยืน’ (Sustainable Architecture) ที่ทั่วทั้งโลกกำลังมุ่งไป นักออกแบบแต่ละคนอาจมีมิติมุมมองในการนิยามความหมายและวางแนวทางการสร้างสรรค์แตกต่างกัน
สำหรับงานสถาปนิก’68 ‘Thematic Pavilion’ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชิงทดลองที่มุ่งสร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบจากการใช้งานวัสดุ จึงไม่แปลกที่ ‘ความยั่งยืน’ จะเป็นประเด็นสำคัญที่แทรกอยู่ในทุกผลงาน โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างชั่วคราวนี้มีอายุการจัดแสดงเพียงไม่กี่วัน แนวทางการออกแบบจึงคิดมาอย่างละเอียดเข้มข้น
Thematic Pavilion จากการร่วมมือระหว่าง FAMELINE และ A&A เป็นผลงานที่เราเห็นพลังการสร้างสรรค์ สื่อสารความยั่งยืนที่ท้าทาย ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมดีไซน์ล้ำสมัยที่คุณต้องประหลาดใจ เพราะแทบทั้งหมดของวัสดุที่ใช้งานเกิดจากการนำวัสดุเหลือใช้มา Upcycle!

CONCEPT
‘ความยั่งยืน ความคิดสร้างสรรค์ วัสดุ’ เมื่อรวมกันจะเป็นอะไรได้บ้าง? การออกแบบ Thematic Pavilion ปีนี้ FAMELINE วางเป้าหมายถ่ายทอดคอนเซ็ปต์แนวคิดสถาปัตยกรรมที่มีความยั่งยืน (Sustainable Architecture) ออกแบบตามหลัก Circular Economy ด้วยการใช้วัสดุหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ด้วยสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและท้าทายด้านโครงสร้างเพื่อให้สถาปนิกและคนทั่วไปได้เข้าใจและเห็นภาพ สามารถนำไปต่อยอดในการสร้างสรรค์งานต่อไปในอนาคต
พาวิลเลียนแห่งนี้จึงไม่ใช่เพียงพื้นที่แสดงสินค้าแต่เป็นพื้นที่แห่งประสบการณ์ ชี้จุดยืนสำคัญของ FAMELINE ที่ตั้งใจให้คุณค่ากับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพร้อมเดินหน้าเคียงข้างทุกความสร้างสรรค์จากความเข้าใจงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม
PAVILION OF FAMELINE
MY TIME, MY SPACE
ฟากการออกแบบ จากประสบการณ์การร่วมงานกันในโปรเจกต์อื่นๆ ประกอบกับความสนิทสนมคุ้นเคยที่ทำให้รับทราบเส้นทางการพัฒนาองค์กรของ FAMELINE ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณจี๊ดเลือกนำความน่าสนใจของภาพวัฏจักรการเติบโตทางธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่น จากจุดเริ่มต้นที่เป็นธุรกิจค้าเหล็กและอุปกรณ์ก่อสร้าง สู่การแตกแขนงธุรกิจผลิตภัณฑ์ตกแต่งด้านสถาปัตยกรรมชั้นนำในชื่อ FAMELINE และนำประเด็นร่วมคือการมีรากฐานวัสดุเดียวกันของทั้ง 2 ธุรกิจ มาเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดผ่านโครงสร้างการออกแบบ
“วัสดุเป็นวัสดุที่รากเหง้าเดียวกัน เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ที่พ่อเป็นรากฐานให้และลูกเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ ผมจึงนำตรงนี้มาเป็นแกนหลักในการทำพาวิลเลียน”
มุมมองนี้ถูกถ่ายทอดผ่านรูปทรงและบทบาทของวัสดุในพาวิลเลียน ให้สอดรับกับเรื่องราวอย่างลงตัว ภายใต้แนวคิดหลัก ‘My space, My time’ บอกเล่าแรงบันดาลใจที่สะท้อน ‘เวลา’ และ ‘พื้นที่’
- My Time: สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการต่อเนื่องของ FAMELINE ผ่านการออกแบบพื้นที่ที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าของวัสดุอลูมิเนียมและโลหะที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
- My Space: เชื่อมโยงกับความรู้สึกของ “พื้นที่ที่สะท้อนตัวตน” และ “คุณค่าในงานออกแบบ” ด้วยการแสดงความยืดหยุ่นและความสร้างสรรค์ของ Cladding ที่ให้มิติมุมมองและประสบการณ์การรับรู้ส่วนบุคคล


โครงสร้างของพาวิลเลียนใช้วัสดุเหล็กเป็นตัวแทนของรากฐานจากรุ่นก่อตั้ง ดัดโค้งสื่อการเคลื่อนที่ของช่วงเวลา ขณะที่ Cladding และผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้ติดตั้งโดยรอบจาก FAMELINE เปรียบเสมือนกิ่งก้านการเติบโต แสดงการพัฒนางอกเงย สะท้อนความเป็นผู้นำนวัตกรรมวัสดุตกแต่งงานสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับปรัชญา ‘Always Beyond’ ที่องค์กรใช้ดำเนินธุรกิจเสมอมา

ส่วนพื้นที่ภายในออกแบบให้รองรับทั้งการจัดแสดงนวัตกรรมวัสดุใหม่ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กระจกโซลาร์ใสตกแต่งอาคาร PV Glass, แผ่นกระเบื้องดินเผา Terratex และอีกมากมาย โดยนำเสนอในรูปแบบ Web Application ผ่านการจำลองภาพวัสดุที่มีความแตกต่างทั้งในด้านของเฉดสีและพื้นผิว (Texture) ลงบนอาคารตัวอย่างเพื่อให้ทุกคนสามารถเห็นภาพ เมื่อนำวัสดุไปใช้งานจริงกับอาคารได้อย่างชัดเจนขึ้น รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับพบปะสังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและองค์ความรู้สำหรับจุดประกายการออกแบบอีกด้วย
UPCYCLED MATERIAL
ยั่งยืน ‘เหลือ’ จะ ‘เอ่ย’
“ในความคิดของผม ธีม Sustainable Architecture การสร้างพาวิลเลียนที่จัดแสดงภายในระยะเวลา 6 วัน เราต้องการใช้สิ่งของที่มีอยู่แล้วมากกว่าการครีเอตอะไรขึ้นมาใหม่ เราจึงเลือกนำเศษ Cladding ที่เหลือจากการผลิตในโรงงานปริมาณมากมาแสดงให้เห็นว่าของเหล่านี้มีคุณภาพ หลังจากห่อหุ้มตึกให้สวยแล้ว สิ่งที่เหลือยังมีคุณค่าอยู่ ฉะนั้นสีที่หลากหลายก็เกิดจากการรวบรวมเศษวัสดุ และด้วยความที่วัสดุเป็นวัสดุเหลือใช้ในโรงงานจึงมีรอยถลอกปอกเปิก มีสติกเกอร์ติดอยู่ ผมใช้โดยตั้งใจไม่แกะออก”
ความน่าสนใจที่เรียกได้ว่าเลือกแง่มุมที่แตกต่างจากพาวิลเลียนอื่นอย่างเห็นได้ชัด อยู่ที่การเลือกนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต และจากการติดตั้งในโครงการมา Upcycle เล่าเรื่องราวใหม่ โดยคงบริบทที่เคยผ่านการใช้งานของวัสดุไว้แบบดิบๆ เก็บร่องรอยขีดข่วน รอยสติ๊กเกอร์ และขนาดที่แตกต่างกัน นำมาประกอบกันอย่างลงตัว ดังนั้น ตัวพาวิลเลียนที่นำมาเนรมิตใหม่ให้สวยงาม ล้ำสมัย เมื่อเดินเข้ามาดูใกล้ๆ คุณจะสามารถจินตนาการภาพได้ว่าวัสดุแต่ละชิ้นเหล่านี้ผ่านการใช้งานมาแล้วจริงๆ และมองเห็นความเป็นไปได้ในการริเริ่มสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบที่ช่วยต่อยอดคุณค่าของวัสดุ

ขณะเดียวกัน จุดเด่นอย่างม่านโปร่งดีไซน์ล้ำจาก Aluminium Cladding ที่สะท้อนคุณภาพและศักยภาพด้านการทำสีเกิดจากการนำ Aluminium Composite Panel ของ FAMELINE นั้น A&A ใช้วิธีพับเป็นโมดูลสี่เหลี่ยมต่อกันกว่า 2,000 ชิ้น นำเสนอแบบย้อนกลับ พลิกสีโลหะมาโชว์ด้านนอก ส่วนสีสันที่ตามปกติใช้เป็นด้านโชว์นำมาพับไว้ด้านใน ติดตั้งไฟ led ภายในช่องเพิ่มความน่าสนใจ เพื่อชวนให้ทุกคนเข้าไปใช้เวลาพิจารณา จดจำ และหวนรำลึกรากของวัสดุว่ามีที่มาจากอะไร
‘EXPO’ NENTIAL SPACE
ความยั่งยืนของ Aluminium Honeycomb และ Aluminium Composite Panel ในงานสถาปัตยกรรม จะก้าวกระโดดสุดทางที่ตรงไหน? มาลบภาพจำเก่าที่ลวงการรับรู้ สัมผัสความน่าเหลือเชื่อของโลหะที่ทั้งเบา แข็งแรง และสวยงาม รวมทั้งนวัตกรรมวัสดุตกแต่งใหม่ๆ ที่ช่วยอัปเดตคลังการเลือกใช้วัสดุการออกแบบที่ยั่งยืนอีกมากมายกันที่พาวิลเลียนจาก FAMELINE
ลองแวะมาสร้างบทสนทนาและสัมผัสผลงานจริงด้วยตัวคุณเองได้ที่งานสถาปนิก 68 “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
“ผมว่างานสถาปนิก’68 เป็นงานที่นักศึกษา สถาปนิก ดีไซเนอร์ คนสร้างบ้านหรือคนจะทำโครงการควรมาดู เชื่อว่าแต่ละบูธที่มาโชว์ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว คุณจะได้ความรู้ทุกบูธ มางานนี้งานเดียวคุณจะได้มาเปิดโลก เปิดโอกาสมาพบเจอพี่น้องที่ทำให้อาชีพนี้ไม่เหงา เป็นงานที่รวบรวมดีไซน์ รวบรวมบริบททุกเรื่องที่เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม แม้กระทั่งความคิดที่จะสอนเราให้เราคิดเยอะๆ และบอกว่าความคิดนั้นจะเอาไปต่อยอดใช้ยังไง มาดูเถอะ ผมว่าคุ้มค่ามาก”