29 เม.ย. - 4 พ.ค. - อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์
29 เม.ย. - 4 พ.ค. - อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์
สถาปนิก
#architect’25

‘ถูกไม่จริง ถ้าต้องผ่อนส่งด้วยสุขภาพ’ เสียงสะท้อนความตั้งใจที่กังวานในอุโมงค์แผ่นไม้จาก Vanachai Group

ความคุ้มค่าไม่ได้เริ่มที่ราคา แต่เริ่มจากความใส่ใจและความปลอดภัยในการใช้งาน

ในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูง ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคากลายเป็นตัวแปรสำคัญของการตัดสินใจบริโภค ทั้งที่ในความเป็นจริงภายใต้การกำหนดมูลค่าสินค้าที่สบายกระเป๋าและเย้ายวนใจ หลายครั้งเรากลับต้องแลกด้วยความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ใช้งานที่ประเมินค่าไม่ได้

โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้างประเภทไม้บอร์ดต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัวและมักใช้งานเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการสร้างบ้านทุกหลัง รวมถึงนิยมนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งเพื่อใช้สอยภายในบ้าน ท่ามกลางบรรดาแบรนด์ที่มีอยู่มากมายในตลาด หากต้องหยิบขึ้นมาเทียบกัน หลายคนคงแทบแยกแยะความแตกต่างของสินค้าไม่ออก ว่าควรตัดสินใจเลือกอย่างไร

เพื่อส่งต่อความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับที่มาของวัสดุและหลักการเลือกใช้อย่างเหมาะสม บริษัท วนชัย กรุ๊ป (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ทดแทนธรรมชาติ (Wood-based Panel) และผู้นำในอุตสาหกรรมมากว่า 82 ปี ได้เข้าร่วมงานสถาปนิก’68 นำเสนอแนวคิดการเลือกใช้วัสดุและถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตวัสดุ โดยร่วมมือกับ Flat12x สร้างสรรค์ผลงาน Thematic Pavilion พื้นที่จัดแสดงเชิงสถาปัตยกรรมที่ออกแบบเป็นอุโมงค์แผ่นไม้ทอดยาว เปิดให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสประสบการณ์ สนุกกับการเรียนรู้เรื่องราววัสดุด้วยตนเองในทุกย่างก้าว  

“ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นการซื้อไม้หรือสินค้าอะไรก็ตาม การเข้าไปซื้อตามร้านค้า ผู้ซื้อส่วนใหญ่รับรู้แค่ราคา แต่ไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้น เพราะปัจจุบันไม้ประเภทนี้ทุกคนขาย แต่ขาดคนเล่าเรื่องและสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค ในฐานะผู้ผลิตต้นน้ำ เป้าหมายของเราคือการอธิบายให้คนเข้าใจที่มาของวัสดุ เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกสินค้าที่เหมาะสมด้วยตัวเองและเลือกในสิ่งที่สมควรได้รับ มากกว่าการคัดกรองด้วยราคา” คุณภัทรา สหวัฒน์ กรรมการบริษัท วนชัย กรุ๊ป (มหาชน) เผยความตั้งใจ

จากธุรกิจโรงเลื่อยจักรสู่ผู้นำอุตสาหกรรมไม้ทดแทนธรรมชาติ

กว่าจะก้าวมาเป็นผู้ผลิตแผ่นไม้ทดแทนธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภูมิหลังของบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจโรงเลื่อยจักรที่ก่อตั้งในพ.ศ. 2486 กระทั่งเมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการดำเนินกิจการป่าไม้ ผู้บริหารขณะนั้นเล็งเห็นความเสี่ยงจากการขาดแคลนไม้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้และดูแลสิ่งแวดล้อม จึงตัดสินใจปรับทิศทางธุรกิจจากการใช้ไม้ธรรมชาติ ผันมาบุกเบิกการผลิตแผ่นไม้อัด และแผ่นไม้ทดแทนธรรมชาติเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดวัสดุก่อสร้างไทย 

ด้วยปรัชญาการทำงานที่ให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน วนชัยจึงก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ด้วยแนวคิดกระบวนการผลิตและนวัตกรรมที่ครอบคลุมซัพพลายเชนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนี้

  • ผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราปลดระวาง – วนชัยเปลี่ยนวัตถุดิบเหลือทิ้งเป็นโอกาส ด้วยการรับซื้อไม้ยางพาราที่หมดน้ำยางจากเกษตรกร ซึ่งตามปกติมักจัดการด้วยการโค่นและเผา เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกใหม่ นำมาเข้ากระบวนการแปรรูปผลิตเป็นแผ่นไม้ทดแทนธรรมชาติ วิธีนี้ไม่เพียงลดการตัดไม้ธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าควบคู่การสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร 
  • โรงผลิตพลังงานหมุนเวียน – ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแหล่งพลังงานสะอาด เพื่อดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมวนชัยจึงบริหารจัดการพลังงานด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าที่ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์หรือ Solar Cell และโรงพลังงานชีวมวลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม 
  • โรงผลิตกาวคุณภาพ กาวคือหัวใจสำคัญของการผลิตไม้บอร์ดทุกประเภท เพื่อความมั่นใจในคุณภาพความปลอดภัยทุกการใช้งาน วนชัย จึงมีโรงผลิตกาวที่พัฒนาสูตรให้ได้มาตรฐานอย่างเคร่งครัด ควบคุมปริมาณสารฟอร์มัลดีไฮด์ให้อยู่ในระดับปลอดภัยตามมาตรฐาน  European Standard ของแผ่นไม้ ในระดับ E1 และ E0 สำหรับการผลิตสินค้า
  • ระบบขนส่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม – จัดตั้งบริษัทวนชัย โลจิสติกส์ จำกัด ให้บริการขนส่งสินค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

‘แผ่นไม้บอร์ดปลอดภัย’ สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องเลือก?

แม้รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ภายนอกจะเหมือนกันแต่คุณภาพความปลอดภัยอาจแตกต่างลิบลับ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่ต่างจากการนำตัวเองไปเสี่ยงกับภัยเงียบที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากขาดการควบคุมระดับสารฟอร์มัลดีไฮด์ (สารประกอบที่มักใช้ในรูปสารเหนียวหรือกาว หรืออยู่ในรูปของส่วนผสมสารเคลือบผิว) ที่ได้มาตรฐานในกระบวนการผลิต

อันตรายของสารฟอร์มันดีไฮด์ ตามปกติระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารที่รับและรูปแบบของการสัมผัส เมื่อร่างกายได้รับสาร เกิน 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร จะเริ่มส่งปฏิกิริยา ดังนี้

  • ดวงตา : สัมผัสโดยตรงอาจทำให้ตาพร่าหรือตาบอด สัมผัสทางอ้อมทำให้ระคายเคืองหรือแสบตา
  • ผิวหนัง : ระคายเคืองผิวหนัง สามารถเกิดผื่นแพ้ ผื่นคัน ไปจนถึงผิวไหม้เป็นแผล
  • สูดดม : แสบจมูก แสบคอ แน่นหน้าอก อาเจียน หรือเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
  • รับประทาน : ปวดท้องเฉียบพลัน แสบร้อนปากและคอ หรือมีอาการอาเจียนและท้องเสีย

นอกจากนี้ผลงานวิจัยหลายฉบับยังชี้ตรงกันว่า หากสัมผัสสารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นระยะเวลานานเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย ดังนั้น จากความเข้าใจที่เราคิดว่าการอยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนตัวหรือที่ทำงานในอาคารจะปลอดภัยกว่าการเจอมลภาวะภายนอก วันนี้อาจต้องกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับวัสดุที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันอีกครั้ง เพื่อการดูแลสุขภาพของเราและคนรอบข้างที่เรารัก

“เราเปิดกว้างและอยากให้ทุกคนแวะเข้ามาในพาวิลเลียน ไม่จำเป็นต้องมาซื้อสินค้าของวนชัยเพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่การขายของ แต่อยากบอกเล่าและชวนคุณตั้งคำถามที่มาที่ไปของสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน ขั้นตอนการผลิตของสิ่งของเครื่องใช้ที่เรานอนอยู่ด้วยและสูดดมเข้าไปทุกวันจากการเปิดแอร์ 

มาลองสังเกตว่ามีสารระเหยจากเฟอร์นิเจอร์ในบ้านไหม ไม้พื้นของคุณปลอดภัยแค่ไหน ใช้กาวเกรดที่ปลอดภัยกับคนหรือเปล่า เพราะเรามองว่าของที่ใช้ในบ้านไม่ได้ต่างกับของที่เราเลือกทานเข้าไปเลย จึงอยากส่งต่อความรู้เพื่อให้ทุกคนนำไปเลือกใช้สินค้าด้วยตัวเอง เพราะเป็นเรื่องสุขภาพที่เราต้องใส่ใจค่ะ”

พาวิลเลียนปลอดภัยที่ทุกคนเข้าถึงได้

นอกจากเรื่องราวของพาวิลเลียนจะน่าติดตามและเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดรับทุกเพศวัยให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ได้อย่างอิสระแล้ว ด้านการออกแบบก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะงานนี้คุณภัทรายืนยันว่าเปิดกว้างการนำเสนอ ให้พื้นที่ดีไซเนอร์รุ่นใหม่อย่าง Flat12x สะท้อนแนวคิดอย่างไร้ข้อจำกัด และคัดสรรขบวนวัสดุแผ่นไม้ทดแทนธรรมชาติทุกประเภทจากวนชัย กรุ๊ป ทั้ง Particle Board, ไม้อัด, OSB, MDF, HMR ฯลฯ มาใช้ในการออกแบบอย่างจัดเต็ม ทั้งเฉดสี ประเภทและพื้นผิว 

ใครที่อยากรู้ว่าเมื่อความรู้ ดีไซน์ และความโดดเด่นของวัสดุ มาประกอบเข้าด้วยกันจะกลายเป็นพาวิลเลียนที่มีหน้าตาแบบไหน มอบความรู้สึกและประสบการณ์อย่างไร 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 นี้ มาพิสูจน์ด้วยตาตนเองที่งานสถาปนิก’ 68 ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี บูธ TP-02! 

ป้ายกำกับ :
แชร์

บทความอื่นๆ

#architect’25