เมื่อกล่าวถึง ‘งานสถาปนิก’ แล้วนั้น ภาพที่ฉายในความคิดคงเป็นบรรยากาศวันงาน หรือแนวคิดหลักในงานสถาปนิกแต่ละปี แต่หากย้อนรอยจากความสำเร็จของวันจัดแสดง ไปยังเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ในงานสถาปนิก สิ่งที่ปรากฏในความคิดอาจไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก ฉะนั้น ขอเชื้อเชิญมากระเทาะแนวคิดที่ก่อร่างเป็นรูปแบบและทิศทางงานสถาปนิก’68 ไปจนถึงคอนเซปต์งานครั้งนี้ ร่วมทบทวน และค้นหาทิศทางของงาน ผ่านบทสัมภาษณ์ คุณธันว์ ศรีจันทร์ ประธานจัดงานสถาปนิก’68
Past Present Perfect: ทบทวน ทิศทาง
ในส่วนของคอนเซปต์งานสถาปนิก’68 นั้นมีที่มาเริ่มจากคุณอเส สุขยางค์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ให้แนวความคิดคอนเซปต์ของปี 2568 เอาไว้ ก่อนที่คุณธันว์จะกล่าวถึงที่มาของคอนเซปต์หลักปี 25568 อย่าง ‘ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect ’ ว่า
“เราลองกลับมาย้อนกันดู ที่ผ่านมาในวงการออกแบบเราเจอปัญหาที่ยาก ช่วงเวลาโควิด เศรษฐกิจ บางครั้งก่อนที่จะก้าวไปข้างหน้า เราถอยกลับไป และดูว่าควรปรับทิศ เปลี่ยนทางอย่างไรบ้าง เพื่อให้ในวิกฤติครั้งต่อไปนักออกแบบไทยมีภูมิคุ้มกันแข็งแกร่ง เรามองย้อนไปในดีต ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน เพื่อมองเห็นเส้นทางใหม่ ๆ ในอนาคตว่าสิ่งเหล่านี้นำเราไปสู่เส้นทางของงานออกแบบที่ทำให้เราหลุดพ้นจากภาวะต่าง ๆ ได้อย่างไรโดยผ่านการกลับไปหาอดีต และนำข้อดีของมันมาใช้ นี่คือที่มาของแนวความคิด ‘ทบทวน ทิศทาง’ ”
เชื่อว่าผู้เข้าชมงานสถาปนิกต้องประทับใจต่อคอนเซปต์ในแต่ละปีที่สร้างสรรค์ แตกต่าง แต่ยังคงแฝงนัยยะเอาไว้แน่นอน และงานสถาปนิก’68 ปีนี้ก็รับไม้ต่อได้อย่างสวยงาม“คำว่า past present perfect อาจหมายถึงการเชื่อมโยงผู้คน ตั้งแต่อดีตที่พี่ ๆ เคยนำทางให้เรา ปัจจุบันที่ทำให้เราช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ และเรามีเด็ก ๆ ที่กำลังจะเป็นอนาคตของเรา งานสถาปนิก’68จะถูกมองภาพรวมในลักษณะนี้ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจต่องานออกแบบของพวกเราทุกคนทั้งประเทศ”
เชื่อมต่อทุกแขนง เชื่อมโยงทุกคน
จากเดิมที่งานสถาปนิกนั้นถูกมองว่าเป็นงานภายในวงการสถาปัตยกรรม-ออกแบบ-ก่อสร้างเท่านั้น แต่ในปี 2568 นี้ คุณธันว์ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนงานสถาปนิกให้ไกลกว่าที่เคย ผ่านการขยายขอบเขตไปหลากหลายทิศทางมากขึ้น โดยแตกแขนงในมุมแยกย่อยมากขึ้น อาทิ ออกแบบภายใน ภูมิสถาปัตย์ งานเรขศิลป์ ผังเมือง ทุกแขนงที่สัมพันธ์กับสถาปนิกทั้งหมด ดังที่คุณธันว์ได้กล่าวไว้ว่า“เราเชื่อว่าสถาปนิกไม่เคยทำงานคนเดียว เราทำงานร่วมกัน เดินไปได้ไกลกว่าเดิม ปีนี้เราขยายขอบเขตไปหลายทิศทางให้ใหญ่ขึ้น เราตั้งใจว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจอยกับเรา ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ ระบบแสง กราฟิก เครื่องจักร โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับเรา เพื่อให้ถูกจดจำว่า นี่คือการร่วมงานกันของนักออกแบบ และเทคโนโลยีอาคารที่ร่วมกันจนทำให้พิเศษ คนที่มางานเหล่านี้ เห็นแล้ว บางทีอาจตอบภาพได้ชัดเจนว่า เรามาได้ไกลกว่าเดิมใช่ไหม คำตอบคือ งานสถาปนิกจะมอบสิ่งนั้นให้ผู้คน”
ไฮไลต์งานสถาปนิก’68
‘ทำอย่างไรที่จะดึงคนมางานสถาปนิกให้กว้างที่สุด’ คือโจทย์หลักที่คุณธันว์ได้รับ ก่อนนำไปต่อยอดก่อเป็นไฮไลต์งานสถาปนิก’68 ที่พิเศษด้วยพื้นที่กิจกรรม และเซคชันสัมมนา ในส่วนของเซคชันสัมมนาที่นับเป็นหัวใจหลักหนึ่งภายในงานสถาปนิก’68 ครั้งนี้ ได้เชิญผู้บรรยายหลักมาจากหลากหลายวิชาชีพ ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งคุณธันว์เน้นย้ำว่าเป็นคนที่พิเศษจริง ๆ
“ผมคิดว่าเป็นคนระดับแรงบันดาลใจทุกคน โดยเมื่อสิ่งที่เขาแลกเปลี่ยนให้เราจริง ๆ ซึ่งเล่านิดนึงว่าคนที่มาฟังไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบ เป็นใครก็ได้ เป็นใครทุกคน แต่เมื่อได้รู้ว่าระดับนั้นเขาเล่าถึงแรงบันดาลใจ ผมเชื่อว่ากลับไปจากงานสถาปนิก’68ทุกคนจะได้รับ impact ที่แข็งแรงมาก ๆ เราจะมองงานออกแบบเปลี่ยนไป งานสถาปนิกจะเป็นสะพานแรกที่เชื่อมทุกคนว่าเราเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ กระจก เหล็ก เป็นอะไรบางอย่าง งานสถาปนิกจะเป็นจุดตั้งต้น เพราะฉะนั้นไฮไลต์จุดแรกจะเป็นผู้บรรยายที่เราเชิญมา”
ไฮไลต์ต่อมาคือการเข้าถึงผู้คนในสังคม ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับการขยายขอบเขตผู้เข้าชมงานให้กว้างกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถมางานสถาปนิกได้ โดยตีโจทย์ให้กลายเป็นการเข้าถึงผู้เข้าชมงานในขอบเขตอาชีพและช่วงอายุที่หลากหลายมากขึ้น ก่อนที่คุณธันว์จะเพิ่มเติมไว้ดังนี้
“อยากให้มันส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าเดิม อยากให้นักออกแบบรู้สึกได้เลยว่าความสัมพันธ์ระหว่างนักออกแบบกับสถาปนิกเป็นเนื้อเดียวกัน และการมางานสถาปนิกเนี่ย ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์หมด ไม่ว่าจะเป็นใน Character ไหน อยากให้ได้ประโยชน์ไปถึงประชาชนทั่วไป เพราะนี่ไม่ใช่งานเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่เป็นงานของทุกคน ผมคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมทั้งต่างประเทศและในประเทศ จะทำให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นจริง”
เช่นเดียวกับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือมีความสนใจด้านการออกแบบ ภายในงานสถาปนิก’68 มีพื้นที่ classroom เซคชันที่สอนออกแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ และการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งเชิญ guest ในช่วงวัยเดียวกับนักศึกษา เพื่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น พร้อมด้วยกิจกรรม open house จากสถานศึกษา เป็นแนวทางต่อยอดความรู้แก่สถาปนิกรุ่นใหม่ รวมถึงนักเรียน-นักศึกษาที่มีความสนใจ เพราะไม่ว่าสาขาไหน งานสถาปนิกมีสิ่งที่คุณสนใจแน่ ๆ
นอกจากไฮไลต์ต่าง ๆ ที่จะปรากฏขึ้นภายในงานสถาปนิก’68 แล้ว อีกหนึ่งจุดประสงค์ที่คุณธันว์ย้ำเสมอคือ ‘งานสถาปนิกเป็นงานสำหรับทุกคน’ โดยคำว่าทุกคนนั้น ครอบคลุมทุกช่วงอายุ ทุกเพศ และทุกวิชาชีพ สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งภายในงานสถาปนิก’68 ได้
“อยากฝากถึงทุกๆคนเลยครับ เริ่มตั้งแต่ ครอบครัว พ่อ,แม่,ลูกที่อยากรู้จักงานออกแบบในหลายๆสาขา พี่น้องร่วมโรงเรียนออกแบบได้กลับมาภูมิใจร่วมกัน เพื่อนร่วมอาชีพที่ได้ทำงานร่วมกันมานี่เป็นงานของเราทุกคนครับ” คุณธันว์ทิ้งทายเชิญชวนให้ ‘ทุกคน’ มาร่วมเป็นหนึ่งก้าวที่พาวงการสถาปัตยกรรม-ออกแบบให้ไปไกลกว่าเดิม ณ งานสถาปนิก’68
จากบทสนทนาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นไฮไลต์ ทิศทาง หรือแนวคิดหลัก ทำให้บทสัมภาษณ์นี้เต็มไปด้วยทิศทางและเรื่องราวของงานสถาปนิก’68 ภายใต้คอนเซ็ปต์ ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี