29 เม.ย. - 4 พ.ค. - อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์
29 เม.ย. - 4 พ.ค. - อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์
#architect’25

มองสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยในฐานะวัฒนธรรมที่มีชีวิตผ่าน ART TOYS เจาะลึกแนวคิดความสนุกจาก DUCTSTORE the design guru Co.,Ltd.

“อันนั้นจั่วเรือนไทย นี่ตึกช้าง นั่นตึกหุ่นยนต์ เออแล้วนั่นอะไรนะ”

ทันทีที่ Key Visual สถาปนิก’ 68 เผยแพร่ออกมา บทสนทนาปลุกสัญชาตญาณนักสืบในตัวทุกคนพร้อมใจกันทำงานแบบ Autopilot และระหว่างที่ตามหาเฉลยกันจริงจัง ทุกคนเริ่มหันมาตั้งคำถามต่อว่า Art Toys เกี่ยวข้องกับธีมงานอย่างไร รู้ตัวอีกทีวงสนทนาก็กระเพื่อมขยายกว้างขึ้น ส่งสัญญาณชัดว่า Key Visual ปีนี้เปิดฉากมาแบบสนุกเอาเรื่อง โดนเส้นกันสุดๆ 

แต่ที่เพิ่มดีกรีความสนุกกว่าเก่า คือ ถ้าไม่บอกหลายคนคงไม่เชื่อว่าทีมนักออกแบบ Key Visual ปีนี้เป็นทีมเดียวกันกับปีที่แล้ว เพราะเขาเล่นพลิกขั้วการนำเสนอชนิดจับภาพจำเดิมคว่ำทิ้งหมดทั้งกระดาน

เปลี่ยนจากนามธรรมสู่รูปธรรม จากเส้น 2D สู่โมเดล 3D
ภาพโมโนโทนสู่สีสันจัดจ้าน กระแทกสายตา

เบื้องหลังแนวคิดการออกแบบที่คาดเดาไม่ได้ของปีนี้มาจากการตีโจทย์แบบไหน ผ่านกระบวนการพัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นอย่างไร ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยที่มาของการตกผลึกไอเดียทั้งหมดจาก พี่หมู – นนทวัฒน์ เจริญชาศรี หัวเรือใหญ่แห่ง DUCTSTORE the design guru Co.,Ltd. หลังกลับจากการเดินทางไปขึ้นเวทีระดับโลก พาผลงานคว้า 5 รางวัล Red Dot Design 2024 ได้เพียงไม่นาน

“ความแตกต่างของ Key Visual ปีนี้จากปีก่อนๆ คือมีความป๊อปขึ้น เข้าใจง่าย เป็นสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่ดูสนุกขึ้น Mass ขึ้น แต่ความ Mass นั้นให้ความรู้ (educate) คนได้”

ถอดรหัส 
ทบทวน ทิศทาง – PAST PRESENT PERFECT 

Key Visual นี้เป็นการตีความรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอด 90 ปีที่ผ่านมา

จุดมุ่งหมาย คือการนำเสนอความงดงามของสถาปัตยกรรมในฐานะวัฒนธรรมที่มีชีวิต ผ่านแนวคิดและอิทธิพลที่หล่อหลอมสังคมในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของรูปแบบ ความเปลี่ยนแปลงของแนวคิด หรือวัฒนธรรมเฉพาะตัวในแต่ละยุค การผสมผสานนี้นำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ด้วยมุมมองที่มีความแปลกใหม่ เพื่อค้นหา “ทิศทาง” ที่สามารถขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมให้เข้าถึงผู้คนในทุกเพศทุกวัย 

โดยการนำ Graphic Elements จากสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแต่ละยุคมาตัดทอนให้โดดเด่น ด้วยกระบวนการสร้างสรรค์และเปลี่ยนองค์ประกอบเหล่านั้นให้กลายเป็น Character Design ที่มีความเป็น Art Toys โดยดึงแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทย Character Design เหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนเอกลักษณ์และรายละเอียดของสถาปัตยกรรมแต่ละยุค แต่ยังเป็นตัวแทนที่เชื่อมโยงวัฒนธรรม Pop Culture กับงานศิลปะสมัยใหม่ในการสร้างความหมายที่จับต้องได้ทั้งในเชิงกายภาพและความเข้าใจของคนทั่วไป

“Past Present Perfect” คือการทบทวนอดีตผ่านสายตาที่เปิดกว้างในปัจจุบัน เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ของอนาคตเพื่อนำไปสู่การสร้างบทสนทนาใหม่ระหว่างศิลปะ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมที่มีชีวิตในทุกช่วงเวลา

 10 BECOME ‘1’
ร่างทองจาก 10 สถาปัตยกรรมไอคอนิก

Art Toys พระเอกของ Key Visual ที่มีรูปลักษณ์แปลกตา ให้กลิ่นอายความเป็น Futuristic ชิ้นนี้ คือร่างทองที่เกิดจากการถอดองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไอคอนิก 10 แห่ง ซึ่งเปรียบเสมือนหลักไมล์สำคัญของเส้นทางสถาปัตยกรรมไทยในแต่ละยุคสมัยนำมาประกอบเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน มีรายละเอียดดังนี้

  • พระที่นั่งอนันตสมาคม : สถาปัตยกรรมสไตล์เรอเนสซองส์ หลังคาทรงโดม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5  เพื่อแสดงความเป็นอารยะของสยามต่อชาติตะวันตกที่ต้องการล่าอาณานิคม ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พระที่นั่งแห่งนี้มีบทบาทในฐานะรัฐสภาแห่งแรกของไทย
  • เรือนไทยภาคกลาง : ตัวแทนสถาปัตยกรรมดั้งเดิม มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาติ
  • อาคารโรงเรียน ปานะพันธ์ : สถาปัตยกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์การศึกษาสมัยใหม่ของประเทศและการเรียนรู้ของสถาปนิกไทย เพราะเป็นสถาปัตยกรรมไทยสไตล์โมเดิร์นขึ้นหิ้ง โดยเป็นผลงานแรกของอาจารย์องอาจ สาตรพันธุ์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก Le Corbusier และสถาปนิกร่วมสมัยระดับมาสเตอร์ ปัจจุบันอาคารถูกรื้อถอนและใช้พื้นที่ประกอบธุรกิจอื่น
  • ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย : สถาปัตยกรรมร่วมสมัย เป็นพื้นที่สำหรับจัดการแสดง จัดกิจกรรม และเป็นศูนย์รวมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทย จุดเด่นคือการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีความร่วมสมัยขึ้น ผสานกับการนำเอกลักษณ์บางอย่างมาใช้ เช่น รูปแบบการวางหมู่อาคารเรือนไทย
  • ตึกใบหยก 1 : อดีตตำนานตึกสูงที่สุดในไทย แสดงให้เห็นการเติบโตของพื้นที่เมืองที่ต้องใช้วิธีออกแบบอาคารแนวตั้งเพื่อรองรับความต้องการ ซึ่งมาพร้อมกับการพัฒนาความสามารถด้านการก่อสร้าง
  • ตึกหุ่นยนต์ : ผลงานสถาปัตยกรรมที่ได้แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากหุ่นยนต์พลาสติก และได้รับการยอมรับและจดจำในระดับนานาชาติของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นหนึ่งในหมุดหมายทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมช่วงเปลี่ยนผ่านจากโมเดิร์นสู่โพสต์โมเดิร์น มีความน่าสนใจทั้งแง่การบุกเบิกแนวคิดการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานและนวัตกรรมการก่อสร้างที่ใช้คาน longspan Truss ขนาดใหญ่ถ่ายน้ำหนักจากอาคารสูงส่วนบน ช่วยลดเสาบริเวณที่พื้นที่โถง ต่อมาภายหลังอาคารได้ปิดปรับปรุงในปี 2566 ปัจจุบันตึกหุ่นยนต์จึงไม่เหลือภาพของอาคารเดิมอีกต่อไป
  • Interlink Tower (Nation Tower) : สถาปัตยกรรมสไตล์โพสต์โมเดิร์น อาคารสำนักงาน ผลงานการออกแบบของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา โดดเด่นด้วยการออกแบบรูปทรงและสีสันที่แปลกตา
  • ตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ : อาคารร้างกลางกรุงที่สูงที่สุดของไทย รู้จักกันในชื่อ ‘The Ghost Tower’ หนึ่งในสัญลักษณ์ของพิษวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ถูกสั่งระงับการก่อสร้างแม้จะดำเนินการสร้างไปแล้วกว่า 80% ปัจจุบันแม้จะผ่านมาเกือบ 30 ปี แต่อาคารก็ยังคงปิดประกาศห้ามเข้าพื้นที่และทิ้งร้างไว้
  • ตึกช้าง : สถาปัตยกรรมร่วมสมัยแปลกตาที่มีลักษณะเหมือนช้าง ผลมาจากการสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาการขยายพื้นที่ ที่มีลักษณะยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยต้องดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดเรื่องพื้นที่เปิดโล่ง ทางออกจึงเป็นการสร้างพื้นที่เชื่อม 3 อาคารเฉพาะส่วนบนเท่านั้น ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ 2 ช่องระหว่างอาคาร ภายหลัง ศ.ดร.อรุณ ชัยเสรี และ องอาจ สาตรพันธุ์ จึงเพิ่มรายละเอียดให้เหมือนช้าง
  • ตึกมหานคร : สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แลนด์มาร์กตึกสูงกลางกรุงที่มีรูปลักษณ์สะดุดตาและในอดีตเคยรั้งตำแหน่งตึกสูงที่สุดของไทยในปี 2559 เอกลักษณ์สำคัญคือการออกแบบให้อาคารเสมือนถูกโอบล้อมด้วยริบบิ้นสามมิติหรือ “พิกเซล”  ที่กร่อนเข้าไปในอาคารกระจก

“เราเลือกสถาปัตยกรรมที่มีเรื่องราวน่าจดจำและคนจำได้ โดยไม่ยึดติดกรอบเงื่อนไขความชอบส่วนบุคคล ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ คุณก็ต้องเห็น ตึกช้างหรือใบหยกคุณก็ต้องเห็น ส่วนบางสถานที่รื้อถอนไปแล้วอย่างโรงเรียนปานะพันธุ์ที่คนยังรู้สึกว่าเป็น Masterpiece เราก็เลือกมา

เรื่องวิธีการเลือกตึก แต่ละตึกมี Past Present Perfect หมายความว่าแต่ละสถาปัตยกรรมไม่ได้เกิดมาแบบอยู่ๆ ก็สร้าง แต่อยู่ในฐานะวัฒนธรรมที่มีชีวิต เกิดจากการหล่อหลอมของปัจจัยแวดล้อมที่ส่งอิทธิพลในช่วงเวลานั้น ว่าสร้างมาในยุคไหน สังคมแบบใด เป้าหมายคืออะไร บนโลเคชั่นแบบไหน กระทั่งยุคสมัยเองก็มีสไตล์ ดังนั้นรูปแบบโครงสร้างอาคารที่เลือกจึงเป็นตัวบ่งบอกยุค สภาพเศรษฐกิจ และสังคม ในแต่ละช่วงที่ผ่านมาของประเทศไทย”

เรื่องเล่นเราจริงจัง 
‘ใช้เวลาเกือบ 1 เดือน 11 คาแรคเตอร์ คราฟต์ทุกชิ้น’

แน่นอนว่าเห็นงานโมเดล งานดีไซน์ย่อยง่าย คงต้องมีคนสงสัยแน่นอนว่า “ตัวนี้ Gen มาไหม” “พี่เขียน Prompt ยังไง” เรื่องนี้ไม่ต้องเก็บข้อสงสัยไว้ในใจ เพราะเราถามมาให้แล้ว

“เราไม่ได้เอา Prompt มาทำ AI หรอก คือวาดเอง แล้วก็ทำ 3D ขึ้นมาเอง อันนี้คือ Original ไม่ Gen นี่คือ Element 2D มาแล้วทำเป็น 3D ใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 4 อาทิตย์ คุณ Gen มาคุณก็ไม่ได้ตัวนี้หรอก คุณก็ได้ตัวอื่น เพราะว่ามันไปจำอันอื่นมา” 

ยกระดับความท้าทายอีกขั้น เพราะปีนี้มี KV ทำใหม่ มีให้ถึง 3 รูปแบบ

          

“การทบทวน ทิศทาง มันเป็นไปเพื่อให้เกิดข้อสนทนา หรือการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างอันนี้มันก็เป็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของ Key Visual ที่ยังไม่เคยทำ โจทย์แต่ละปีถ้าเราได้รับเลือก หน้าที่ของพี่คือเราหนีตัวเองเท่านั้นเอง และไม่ทำซ้ำเดิมเท่านั้น” 

เมษา-พฤษภานี้ 
ชวนมา ‘ทบทวน ทิศทาง’ ในงานสถาปนิก’ 68

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นบางส่วนของความสนุกจาก Key Visual เท่านั้น ภายในงานสถาปนิก’68 ยังมีไฮไลต์สำคัญจากกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายที่พร้อมรอต้อนรับคุณไว้อย่างคับคั่ง มาเปิดประสบการณ์ รับมุมมองแปลกใหม่ อัปเดตเทรนด์และเทคโนโลยี ผ่านการสำรวจและทบทวน ทิศทางของสถาปัตยกรรมการออกแบบ ได้ที่งานสถาปนิก’68 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 37 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.00-20.00 น. ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 เมืองทองธานี

ป้ายกำกับ :
แชร์