
ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับการวัด ‘มาตรฐานและคุณภาพ’ ด้วยความเที่ยงตรงของเครื่องจักร และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีคือสูตรสำเร็จในการผลิตวัสดุที่แม่นยำ สวยงามและเสถียรที่สุด แต่สำหรับการแปรรูป ‘ไม้ธรรมชาติ’ สิ่งนี้กลับให้ผลต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
เพื่อให้ปีนี้คุณได้มีโอกาสสัมผัสและทำความเข้าใจกับ ‘ไม้’ ในมิติที่ลุ่มลึกกว่าที่เคย POAR สตูดิโอออกแบบที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติและสร้างผลงานน่าจดจำมากมาย จับมือกับ WOODDEN ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปไม้คุณภาพสูง ส่ง Thematic Pavilion ที่เรียบง่าย ทรงพลัง และสง่างาม มาบอกเล่าความโดดเด่นของวัสดุและกระบวนการผลิตในแง่มุมที่คุณไม่เคยรู้

ไอเดียของการออกแบบครั้งนี้มีที่มาอย่างไร มาเปิดบทสนทนาร่วมกับ คุณโจ้ คุณโจ้–พัชระ วงศ์บุญสิน สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบผลงานชิ้นนี้จาก POAR ไปพร้อมกัน
WOODDEN : WHERE ARTISAN MEETS MANUFACTURING
“ผมว่าไม้แทบจะเป็น material เดียวในวงการสถาปัตย์เลยที่เป็นกระบวนการผลิตที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม”
นี่คือมุมมองที่คุณโจ้บอกกับเรา หลังมีโอกาสสำรวจและศึกษาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์จาก WOODDEN ถึงโรงงาน จนพบความน่าสนใจเฉพาะตัวของกระบวนการแปรรูปไม้ที่เกิดจากการผสานระหว่างความเป็นหัตถกรรมและอุตสาหกรรม เนื่องจากธรรมชาติของไม้แต่ละท่อนมีลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งลวดลาย สีสัน ขนาด และคุณสมบัติภายใน การผลิตแผ่นไม้ที่ลายตรง สวยงามจึงต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจในวิธีคัดสรร และตัดแต่งไม้ด้วยเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเฉพาะแบบชิ้นต่อชิ้นอย่างประณีต

เพื่อถ่ายทอดเอกลักษณ์และความโดดเด่นทั้งหมดนี้ POAR จึงออกแบบประสบการณ์การสัมผัสไม้ด้วยแนวคิด piece by piece ผ่านพื้นที่ Thematic Pavilion ในรูปแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ประกอบกันระหว่างชั้นวางไม้สแตนเลสความสูง 7 เมตร ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากระบบเก็บไม้ที่คัดสรรลวดลายในโรงงาน ประกบถ่ายแรงเชิงโครงสร้างเข้ากับอาคารจั่วทรง distort ความสูง 6 เมตร ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ผนังตกแต่งสามมิติจาก mosu และผนังไม้ pattern modular อันเป็นวัสดุใช้งานภายใน ซึ่งแสดงความเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำให้เกิดการรับรู้พื้นที่ภายในและภายนอกอย่างชัดเจน

โดยลักษณะการประกบแบบขนาน ที่เว้นช่องว่างตรงกลางไว้เพื่อเป็นซอกทางเดิน เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบประสบการณ์ให้ผู้รับชมได้รับรู้วัสดุในระยะใกล้ตา มองเห็นทั้งเกรนไม้ สีสัน ในทุกรายละเอียด การชมพาวิลเลียนหลังจึงสามารถรับประสบการณ์ครอบคลุม เต็มอิ่มจากทุกระยะทั้งใกล้และไกล
PIECE BY PIECE

ความประณีตฉบับ ‘piece by piece’ ไม่เพียงถ่ายทอดกระบวนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ยังต่อยอดแสดงให้เห็นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จาก WOODDEN ที่มีศักยภาพ พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการ นำเสนอผ่านทุกองค์ประกอบของการออกแบบพาวิลเลียนอย่างน่าสนใจ
- ชิ้นต่อชิ้น ในกระบวนการผลิต – ไม้ลายเส้นตรง สวย มูลค่าสูง ที่จัดวางบนชั้นวางไม้ เกิดจากกระบวนการแปรรูปไม้ที่คัดสรรเฉพาะตั้งแต่วันแรก นำมาผลิตขึ้นทีละชิ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเฉพาะร่วมกับทักษะเชิงช่างฝีมือ ฝานไม้ในแนวดิ่งเพื่อเก็บส่วนที่ดีที่สุดของไม้ไว้ให้ได้มากที่สุด จึงส่งผลให้ไม้แต่ละแผ่นบนชั้นล้วนมีความแตกต่างกันทั้งลวดลาย หน้ากว้างและขนาดความยาว
- ชิ้นต่อชิ้น บน ชั้น – การจัดเก็บไม้ด้วยการเรียงต่อกัน โดยเว้นระยะช่องว่างของไม้แต่ละชิ้น คือเทคนิคการรักษาไม้ให้คงคุณภาพและผิวไม้ที่สวยงามไว้ไม้ให้บอบช้ำหรือเสียหายจากการซ้อนทับ
- ชิ้นเล็ก ต่อ เป็นชิ้นใหญ่ – ผนังไม้ pattern modular ภายในอาคารจั่ว สะท้อนความสร้างสรรค์ด้านการผลิต ที่ออกแบบวิธีใช้ไม้อย่างคุ้มค่า สร้างลูกเล่น เพื่อแก้ปัญหาความต่างของลายและสีไม้ธรรมชาติ
อธิบายให้เข้าใจและเห็นภาพ คือ การแปรรูปไม้จากท่อนเป็นแผ่นในแนวดิ่งตามความสูง เราจะได้ไม้ชิ้นใหญ่ ท่อนยาว แต่ลายและสีสันของไม้แต่ละแผ่นอาจไม่สม่ำเสมอแม้จะมาจากท่อนเดียวกัน ขณะที่การแปรรูปไม้ในแนวขวาง จะได้แผ่นไม้ที่มีลายและสีที่ไม่เท่ากันในขนาดสั้นกว่า ซึ่งการเลือกนำชิ้นไม้เล็กๆ จากการตัดในแนวขวางมาประกอบต่อกันเป็นแผ่นใหญ่ด้วย pattern modular เป็นเทคนิคที่ช่วยปรับความสมดุลของลวดลายและสีสันของไม้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยลดวัสดุเหลือทิ้ง จึงเป็นวิธีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ - ชิ้นบน ประกบ ชิ้นล่าง – อีกทางเลือกของการใช้งานวัสดุไม้แท้ในงบประมาณที่เข้าถึงได้ จากการผลิตที่ใช้เทคนิคปรับโครงสร้างไม้ นำผิวไม้แท้ประกบเข้ากับไม้อัด เพื่อตอบโจทย์ราคาและการใช้งานที่คงทน
MAKE UNCONVENTIONAL, CONVENTIONAL ‘พอ’ มองให้ลึก จึงให้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง
ไฮไลต์ของการออกแบบผลงาน คือแก่นความเชื่อของ POAR ที่มองว่า ‘การออกแบบที่ดี’ ควรสร้างอิมแพ็กในระยะยาวทั้งแง่การใช้งานและคุณภาพชีวิต ใครจะคิดว่า ‘ชั้นวางไม้ที่ออกแบบอย่างเรียบง่าย’ เป็นผลลัพธ์จากการพัฒนาระบบการจัดเก็บไม้และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขายที่วางแผนไว้แล้วอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้ WOODDEN สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้หลังการจัดแสดง

- การออกแบบชั้นวางสแตนเลสช่วยลดการสัมผัสซ้อนกันของแผ่นไม้จากเดิมที่ใช้วิธีนำไม้ขนาดเล็กคั่นไว้ระหว่างแผ่น
- ชั้นวางรูปแบบใหม่เอื้อต่อการหยิบจับและนำเสนอไม้ที่สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องยก รองรับพฤติกรรมของนักลงทุนที่นิยมเลือกซื้อแผ่นไม้มูลค่าสูงด้วยการหยิบแผ่นไม้มาเรียงหน้าดูทีละชิ้น
“จริงๆ ผมแทบจะไม่เคยได้ทำงานพาวิลเลียนเลยครับ เพราะเราค่อนข้างเชื่อในงานที่มันอยู่ได้นาน ศักยภาพของงานสถาปัตย์มันอยู่ได้เป็น 100 ปี ฉะนั้นเราก็มักจะคิดอะไรที่ควรจะต้องอยู่ได้เท่านั้น แต่ว่าพอเป็นพาวิลเลียน อายุมันสั้น ตอนแรกเราก็ค่อนข้างเครียดประมาณนึง ผมไม่รู้คนอื่นเครียดรึเปล่า แต่ว่าผมจริงจังมากเพราะว่ามันค่อนข้างตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราเชื่อ เราก็เลยพยายามคิดสิ่งที่เขาจะได้ใช้ นำเสนออย่างตั้งใจเพื่อให้ WOODDEN รับรู้ว่า เราตั้งใจออกแบบของชิ้นนี้มาเพื่อให้เขาใช้งานจริง”
“ความเชื่อที่เราใช้ทำงานคือ กระบวนการทำงานที่เป็น unconventional เป็นสิ่งที่ฉีกแนว แต่ได้ product ที่เป็น conventional หรือสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ก่อให้เกิดอะไรบางอย่างที่มันดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องดูแปลก แตกต่างชัดเจนจากสิ่งที่มันเคยมีมา
อย่างชั้นวางไม้ที่เป็นสแตนเลส เราหยิบเรื่องธรรมดามานำเสนอในรูปแบบที่ไม่ธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องทำฟอร์มหรือรูปทรงอะไรที่มันเด่นไปมากกว่านี้ เพราะด้วยเรื่องราว หรือคุณค่าของชิ้นงานที่เราเลือกนำมาแสดงมีคุณค่าในตัวมหาศาล เกินกว่ารูปทรงอะไรจะสะท้อนออกมาได้”
THE WOOD LIBRARY

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความพิเศษที่แสดงให้เห็นความตั้งใจผลักดันการนำเสนอวัสดุที่เรียบง่ายแต่มีชั้นเชิงนำไปอีกหนึ่งก้าว คือการ curate แผ่นไม้แต่ละแผ่นบนชั้นที่ไล่เรียงเฉดสีจากอ่อนถึงเข้ม จากไม้ต่างชนิด ต่างความหนากัน เพื่อเติมเต็มชั้นวางเหล่านี้ให้สมบูรณ์ วิธีนี้ไม่เพียงช่วยเปิดโลกทัศน์การรับรู้ไม้นอกตำรา แต่ยังทำให้คุณสามารถอินและเข้าใจเสน่ห์ธรรมชาติที่แตกต่างกันของไม้ด้วยตนเองได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้คำพูดใดอธิบาย
“เวลาพูดว่าอยากได้พื้นไม้ ทุกคนจะมีภาพจำของไม้ว่าต้องเป็นสีแบบ Nordic ที่เป็นครีมซีด หรือโทนอ่อน หรือถ้าเป็นไม้สัก ก็มักต้องเป็นสีแนวนี้ ไม่เคลือบ ซึ่งการคิดแบบนั้นเป็นเพราะเขายังไม่เข้าใจธรรมชาติหรือความสวยงามของไม้ ผมว่าถ้าเขาได้ศึกษาหรือว่าได้เข้ามาอินกับกระบวนการทำไม้ เขาอาจจะบอกว่าไม้ไม่จำเป็นต้องเท่ากันสักชิ้นเลยก็ได้ มันคือเรื่องนามธรรมที่ความเข้าใจช่วยเปลี่ยนมุมมองได้”
สำหรับใครที่กำลังเพ่งมองภาพตรงอยู่อย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อหาความต่าง แต่ยังมองไม่ออกก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะ POAR ยืนยันว่า งานนี้ render ไปไม่ถึง เก็บรายละเอียดไว้ไม่หมด และฝากชวนทุกคนมารับชมของจริงทั้งหมดนี้ในผลงานเดบิวต์พาวิลเลียนหลังแรกของพวกเขา ด้วยสายตาตนเอง!
“นี่เป็นพาวิลเลียนแรกของเราครับ เราตั้งใจทำมากและใส่สุดเต็มที่ เพราะอยากทำงานให้สถาปนิกรุ่นพี่รุ่นน้อง และทุกคนที่มาร่วมงานได้ดู ที่สำคัญนอกเหนือจากสเปซ ผมว่าพาวิลเลียนมันเป็นโอกาสที่ทำให้คนเข้ามาเห็นของจริง เพราะฉะนั้นที่นี่จึงเป็นโอกาสเดียวที่จะได้เห็นการแสดงไม้ plane ใหญ่ แบบที่หาไม่ได้จากการดูในแคตตาล็อกหรือในโชว์รูม ได้มาทำความรู้จักกับไม้มากขึ้นว่าไม้มีกี่ชนิด มีสีและลายเป็นอย่างไร ดูรายละเอียดได้ในระยะใกล้จากไม้จำนวนประมาณ 2,000 ชิ้นที่เราตั้งใจดิสเพลย์ทุกอย่างให้มันอยู่ที่ตรงนี้ เหมือนเป็น ‘ห้องสมุดของไม้’ ที่ผมว่ามีประโยชน์มาก เพราะตัวผมเองก็รู้จักแค่ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้เต็ง ที่ใช้กันเยอะๆ ทั้งที่ความจริงไม้ที่คนไม่ค่อยใช้กันก็มีคุณค่า ทั้งราคาถูกและสวยด้วยตัวของมันเอง”
อย่าพลาด เตรียมตัวให้พร้อมและอย่าลืมจัดตารางมาพบกันที่ งานสถาปนิก’68 ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่วันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.00-20.00 น.