ถ้า ‘ความยั่งยืน’ คือการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า จะมีอะไรดีไปกว่าการนำเศษวัสดุกลับมาชุบชีวิตอีกครั้ง
เรามั่นใจว่าตั้งแต่มีการจัดแสดงพื้นที่ Thematic Pavilion ในงานสถาปนิก นี่คือครั้งแรกที่ได้เห็นการนำวัสดุมา reuse ในรูปแบบ upcycling เพื่อสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มรูปแบบ เนรมิตเป็นโครงสร้างเชิงสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ล้ำสมัย ชนิดที่ผู้เข้าชมอาจไม่เชื่อสายตาเลยว่าสิ่งเหล่านี้เคยเป็นของเหลือใช้มาก่อน
Thematic Pavilion ลุคโฉบเฉี่ยวที่จะตั้งตระหง่านตลอด 6 วันของการจัดงานสถาปนิก’68 หลังนี้ คือผลงานจากการร่วมมือระหว่าง Fameline และ A&A ภายใต้คอนเซ็ปต์ My Time to Build, My Space to Inspire ที่ดีไซเนอร์ตั้งใจถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่สะท้อน ‘เวลา’ และ ‘พื้นที่’ เชื่อมโยงเข้ากับวิสัยทัศน์และพันธกิจของ FAMELINE ในการออกแบบ
“เหตุผลที่เราเลือกพื้นที่ Thematic Pavilion เนื่องจากเราไม่ต้องการแค่อยากนำเสนอสินค้าของเราในรูปแบบเดิมๆ ทั่วไปที่เราทำอยู่แล้ว แต่เราอยากนำเสนอแนวคิดในเรื่องของสถาปัตยกรรมที่มีความยั่งยืน (Sustainable Architecture) โดยการใช้วัสดุหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า เช่น การ Reuse และนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ (Upcycle) ตามหลักการ Circular Economy
โดยสื่อสารผ่านการออกแบบ Pavilion ที่เข้าใจในการเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืนของเรา โดยที่ยังสามารถตอบโจทย์การสร้างงานสถาปัตยกรรมที่มีความน่าสนใจและมีความท้าทายด้านโครงสร้างได้อยู่ เพื่อให้สถาปนิกและคนทั่วไปได้เข้าใจและเห็นภาพและสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการสร้างสรรค์งานต่อไปในอนาคต และนี่จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่เราเลือกพื้นที่ Thematic Pavilion ในการออกงานในครั้งนี้” คุณบัญญัติ วิจิตรประไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เฟมไลน์ โปรดักส์ จำกัด เผยเป้าหมายของการเข้าร่วมงาน
The Origin of FAMELINE
เชื่อว่าในโลกของการออกแบบสถาปัตยกรรมบ้านเรา ทุกคนคงคุ้นเคยกับชื่อของ FAMELINE กันเป็นอย่างดี เพราะเป็นบริษัทไทยที่คร่ำหวอดในวงการ Aluminium Composite มายาวนานกว่า 30 ปี และผู้นำนวัตกรรมวัสดุตกแต่งงานสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ แต่หลายคนอาจยังไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า เบื้องหลังของความแข็งแกร่งนี้ องค์กร FAMELINE มีเส้นทางการเติบโตและแนวทางดำเนินธุรกิจอย่างไร
ย้อนกลับไปราว 30 ปีก่อน วงการสถาปัตยกรรมไทยขณะนั้นยังพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ตกแต่งที่ผลิตจากอลูมิเนียมชนิดม้วนหรือแผ่นจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝ้าเพดาน ระแนงกันแดด หรือแผ่นผนังตกแต่งอาคาร ส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงและเข้าถึงได้ยาก ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการ “ผลิตแทนนำเข้า” FAMELINE จึงถือกำเนิดขึ้น พร้อมพันธกิจชัดเจนในการออกแบบและผลิตวัสดุอลูมิเนียมภายในประเทศ สร้างอาชีพให้คนไทย ลดการนำเข้าจากสินค้าต่างประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมในเวทีโลก
แม้จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในเวลานั้น แต่ FAMELINE สามารถก้าวขึ้นมาเป็นม้ามืดที่ได้รับความไว้วางใจอย่างรวดเร็ว ด้วยรากฐานอันแข็งแกร่งจากผู้บริหารในยุคแรก ซึ่งเป็นสถาปนิกและวิศวกรที่เข้าใจการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังสั่งสมความเชี่ยวชาญในการผลิตโลหะแผ่นด้วยวิธีการขึ้นรูปเย็น (Cold forming process) มากว่า 50 ปี จึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ FAMELINE สามารถปรับแต่งผลิตภัณฑ์ได้อย่างยืดหยุ่น ตรงตามความต้องการ ในขณะเดียวกันยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตและกำหนดราคาขายที่สมเหตุสมผล จึงส่งผลให้ชื่อของ FAMELINE กลายเป็นที่ยอมรับในวงกว้างและมีส่วนร่วมในโครงการสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย
นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้องค์กรเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ขับเคลื่อนไปพร้อมบริบทโลก และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักอย่างแผ่นอลูมิเนียม ที่พัฒนาจากรูปแบบอลูมิเนียมตัน สู่ Aluminium Composite Panel (ACP) และต่อยอดสู่ Aluminium Honeycomb Panel (AHP) ที่มีคุณสมบัติและฟังก์ชันการใช้งานที่เหนือกว่า พร้อมทั้งขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มวัสดุตกแต่งที่เน้นความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบสินค้าสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็น ฝ้าเพดานและระแนงกันแดดอลูมิเนียม, แผ่นตกแต่งผนังภายนอกทำจากดินเผา ไปจนถึงกระจกโซลาร์ใสตกแต่งอาคาร BIPV ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ Renewable energy เป็นต้น เพื่อตอบรับแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจใหม่ของ FAMELINE ที่มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
พลิกโฉม 2 วัสดุอลูมิเนียมเหลือใช้ให้ไร้ขีดจำกัด
เศษวัสดุยังคงคุณค่าและมูลค่าหากติดอาวุธด้านการออกแบบ เพื่อสื่อสารวิสัยทัศน์และสะท้อนศักยภาพของวัสดุ ในการออกแบบพาวิลเลียนครั้งนี้ FAMELINE จึงใช้แนวคิด ‘Turning Waste into Wonder’ เลือกนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตและเหลือใช้จากการติดตั้งในโครงการจริง มาเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างหลัก ได้แก่
1. Aluminium Honeycomb Panel (AHP) – แผ่นอลูมิเนียมประกบไส้กลางโครงสร้างแบบรังผึ้ง แข็งแรงทนทาน ต้านแรงลมได้ดี น้ำหนักเบา สามารถออกแบบให้เป็นครีบอาคารที่มีขนาดแผ่นใหญ่พิเศษ ติดตั้งแบบแผ่นช่วงพาดยาว (Long Span) แบบไร้รอยต่อ ได้โดยไม่ต้องใช้โครงสร้างเสริม
รูปแบบการใช้งาน: นำเศษวัสดุจากการติดตั้งในโครงการจริงมาใช้เป็นส่วนโครงสร้างหลักของบูธ ในรูปแบบ Fin Structure ที่มีขนาดใหญ่และยาวมากกว่า 6 เมตร ด้วยคุณสมบัติที่สามารถเทคสแปนและรับน้ำหนักตัวเองได้โดยไม่ต้องเสริมโครงสร้างและติดตั้งได้รวดเร็ว จึงช่วยลดภาระโครงสร้างได้เป็นอย่างดี
2. Aluminium Composite Panel (ACP) – แผ่นอลูมิเนียมผลิตจากวัสดุอลูมิเนียมรีไซเคิล 30-50% และไส้กลางที่ผลิตจากวัสดุพลาสติกรีไซเคิล 100% แข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา สร้างสรรค์ได้หลายเฉดสี เหมาะแก่การใช้งานออกแบบเปลือกอาคาร เพื่อสร้างความโดดเด่นและเอกลักษณ์
รูปแบบการใช้งาน: นำเศษวัสดุจากกระบวนการผลิต มาพับเป็นกล่องเล็กๆ เรียงร้อยต่อกันเป็นแผง Facade ม่านโปร่งที่มีความสูงถึง 7 เมตร
ทั้งนี้ ปลายทางการจัดแสดง วัสดุทั้งหมดนักออกแบบร่วมกับ FAMELINE ได้วางแผนการนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการถอดเพื่อนำไปรีไซเคิลแยกอลูมิเนียมกลับไปหลอมเป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตใหม่ หรือนำกลับไปใช้ที่อื่นต่อได้
อนาคตการใช้งานแผ่นอลูมิเนียม
เมื่อสอบถามถึงทิศทางการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในอนาคต คุณบัญญัติมองว่าจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ FAMELINE อยู่ที่คุณสมบัติที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ซึ่งตอบสนองต่อทิศทางสถาปัตยกรรมในอนาคต จึงมีแนวโน้มการใช้งานที่ยังคงเติบโต สดใส ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการออกแบบในยุคใหม่
“ทิศทางการใช้ผลิตภัณฑ์ในอนาคตจะให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โชคดีที่วัตถุดิบหลักของสินค้าของ FAMELINE เป็นอลูมิเนียม ซึ่งถือว่าเป็นวัสดุที่ยั่งยืน ด้วยคุณสมบัติพิเศษหลายประการ เช่น รีไซเคิลได้หลายครั้งโดยไม่เสียคุณสมบัติ, ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน, น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงจึงลดพลังงานในการขนส่งได้มาก, การใช้อลูมิเนียมรีไซเคิลช่วยลดพลังงานได้ถึง 95% จากการผลิตอลูมิเนียมใหม่ เป็นต้น
ดังนั้นแนวทางการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ น้ำหนักเบา อายุการใช้งานยาวนาน และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และสินค้าที่ Prefab จากโรงงาน ติดตั้งง่าย จะเป็นที่นิยมมากขึ้นในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องหลักที่สินค้าของ FAMELINE ทุกตัวให้ความสำคัญและอยู่ในกระแสนี้อยู่แล้ว เพื่อความยั่งยืนในวงการสถาปัตยกรรมและก่อสร้างในระยะยาวต่อไป”
ซึ่งสอดคล้องกันกับข้อมูลจาก Global Market Insights (GMI) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลกที่กล่าวว่า ตลาด Aluminum Cladding ทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 6.6% ในช่วงปี 2024 – 2032 และมีแนวโน้มจะแตะมูลค่าสูงถึง 94.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2032 ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครองสัดส่วนสูงถึง 35.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนเพียงโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังชี้ให้เห็นถึงกระแสการเลือกใช้วัสดุยั่งยืนที่ ‘อลูมิเนียม’ ติดลิสต์หนึ่งในวัสดุดาวรุ่งดวงใหม่ที่ได้รับความนิยมในฐานะทางเลือกที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเหมาะสมแก่การใช้งานในโครงการอาคารสีเขียว
ท้ายนี้ สำหรับใครที่อยากเปิดมุมมองการใช้วัสดุตามแนวคิด Circular Economy และตื่นตาตื่นใจกับการก้าวข้ามขีดจำกัดวัสดุในรูปแบบสถาปัตยกรรม นับถอยหลัง เตรียมตัวให้พร้อม และแวะมาเยี่ยมชม Thematic Pavilion จาก FAMELINE ได้ที่บูธ TP-06 ชาเลนเจอร์ฮอล์ อิมแพ็กเมืองทองธานี ภายในงานสถาปนิก’68 จัดแสดงระหว่างวันที่ 29 เม.ย. – 4 พ.ค. 68 เวลา 10.00 – 20.00 น.
“ขอเชิญทุกท่านมาเยี่ยมชม Fameline Pavilion มาสัมผัสประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ ใน Thematic Pavilion ที่ท่านจะได้เรียนรู้ว่าการใช้วัสดุที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม และเรียนรู้ถึงคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ของเราว่าสามารถตอบสนองในเรื่องของความยั่งยืนได้อย่างไร รวมถึงมุมมองการใช้อลูมิเนียมคอมโพสิตในแนวทางที่แตกต่างออกไป และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เรานำเสนอ เช่น ฝ้าเพดาน แผ่นตกแต่งผนังภายนอก ระแนงกันแดด ไปจนถึง กระจกที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืนเพื่องานสถาปัตยกรรมโดยตรง จึงหวังว่าสถาปนิกที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมจะได้ประโยชน์กลับไปอย่างแน่นอน”