29 เม.ย. - 4 พ.ค. - อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์
29 เม.ย. - 4 พ.ค. - อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์
#architect’25

‘กลับสู่จุดเริ่มต้น เพื่อไปข้างหน้า’ สำรวจแนวคิดของ อเส สุขยางค์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ คนที่ 39

     เพราะอดีตคือรากฐานของปัจจุบัน จากปัจจุบันสู่อนาคต กระแสความนิยม เทรนด์ในวงการสถาปัตยกรรม-ออกแบบที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยมีผลอย่างไรต่อวงการสถาปนิกไทย ย้อนมองอดีต ปัจจุบัน ก่อนต่อยอดไปสู่อนาคตของวงการ จากมุมมอง คุณอเส สุขยางค์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 39 ที่จะมาขยับความคิด ความคาดหวัง และไอเดียใหม่ ๆ ในวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบให้แตกต่างออกไป

ความคาดหวังต่อวงการสถาปนิกไทย

“วงการที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย” คือประโยคเริ่มต้นบทสนทนาจากคุณอเส เมื่อกล่าวถึงความคาดหวังที่มีต่อวงการสถาปนิกไทย เนื่องจากปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น และเข้าถึงผู้คนทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจากการแพร่หลายของชุดข้อมูลผ่านสื่อก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับวงการสถาปัตยกรรมเช่นกัน

“เราคาดหวังว่าในความ Global นั้น เราอยากเริ่มต้น create สิ่งที่มาจากเมืองไทย” คุณอเสกล่าว การใส่ตัวตน เอกลักษณ์ หรือกลิ่นอายความเป็นไทยลงไป ผ่านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ก็สามารถกลายเป็นหนึ่งในกระแสหลักที่แพร่กระจายไปทั่วโลกได้เช่นกัน ซึ่งต่อยอดไปสู่ปัจจัยที่สถาปนิกไทยควรให้ความสำคัญ

“เราจะเห็นถึง postmodern, modern architecture ที่กลับมาอีก เราก็จะเห็นตึกเป็นกล่อง ๆ หลังคาแบบ loft ซึ่งประเทศไทยเรามี architecture ในโซน Tropical เราต้องดึงความเป็นภูมิภาคกลับมา”

การเชื่อมโยงแต่ละเจเนอเรชัน: ความท้าทายงานสถาปนิก’68

     เมื่อกล่าวถึงความท้าทายในการจัดงานสถาปนิก’68 คุณอเสแชร์ว่า ความท้าทายในการจัดงานสถาปนิก’68 มาในรูปแบบของการตีความหรือเปลี่ยนแนวคิดให้น่าสนใจ

“ถ้าเรามีโจทย์แบบนี้ ธีมแบบนี้ เราจะเปลี่ยนมัน ตีความให้น่าสนใจได้อย่างไร”

     โดยจากงานสถาปนิก’67 ที่ผ่านมา นอกจากส่วนของงานนิทรรศการแล้วนั้น ยังเป็นปีครบรอบ 90 ปีของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งภายในงานสถาปนิก’68 นี้ ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็จะนำคีย์เวิร์ด ‘ 90 ปี’ มาขยายเพิ่มเติม

“อีกหนึ่งความท้าทายคือเราพยายามเอาสิ่งเก่า ๆ กลับมาทบทวน ให้สถาปนิกรุ่นใหม่กลับมาดูว่า ที่ผ่านมาเฉพาะสมาคมฯ ตลอดเวลา 90 ปี เราก็มีสิ่งที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามแฟชั่นอยู่เหมือนกัน งาน ASA Night ที่มีมา 90 ปี ซึ่ง ASA Night เป็นงานที่มีความสำคัญในวิชาชีพสถาปนิก 1 ปีก็มารวมกัน 1 ครั้ง ในงานช่วงแรก ๆ ในหลวงก็เสด็จ เราก็ดึงภาพเหล่านั้นมาทำนิทรรศการด้วย” คุณอเสเสริม

“มันอาจดูน่าเบื่อในสายตาคนรุ่นใหม่ อันนี้ก็เป็นอีกความท้าทายนึง ว่าเราจะเชื่อมไปถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร” เพราะรากฐานปัจจุบันคืออดีต ที่สามารถนำทางไปสู่อนาคตได้ และนำมาสู่คอนเซปต์ ‘ ทบทวน ทิศทาง : Past Present Perfect’ อีกหนึ่งความท้าทายคือ การนำสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วมาปัดฝุ่น และนำเสนอให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มดีไซเนอร์ และประชาชนทั่วไปได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นการเชื่อมต่อสถาปนิก-นักออกแบบหลายช่วงอายุเข้าด้วยกันผ่านงานสถาปนิกก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อสมาคมเช่นกัน

‘Back to Origin’ หวนคืนสู่ต้นฉบับ

     จากบทสัมภาษณ์ข้างต้น พอจะทราบถึงทิศทางของงานสถาปนิก’68 โดยสังเขปแล้ว ซึ่งทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ เริ่มกลับไปสู่รากฐานเริ่มต้นเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ASA Night จะหวนกลับไปสู่ต้นแบบแรกซึ่งเป็นงานมอบรางวัลสำคัญต่าง ๆ ในวงการสถาปัตยกรรม-ออกแบบ

“งาน ASA Night ไม่เรียกว่าเปลี่ยนแปลงแต่กลับไปสู่ของเดิม แต่ในพวกกลุ่มของงานบันเทิงก็มีอยู่ แต่เราจะเรียกว่า ASA Day Hey”

     ต่อมาในประเด็นของศักยภาพของงานสถาปนิก จากทัศนะของสมาคมสถาปนิกสยามฯ มองว่าเป็นงานจัดแสดงเดียวที่ Parallel ความเป็น Trade Fair กับการให้ความรู้ ความเข้าใจในวิชาชีพ ควบคู่กับการนำเสนอเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ส่งผลให้ทั้งประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกัน เพราะเมื่อเข้าใจคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม และเข้าใจว่าการเลือกใช้สินค้าคุณภาพดี ๆ เหล่านี้ จึงจะสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ โดยงานสถาปนิกที่จัดขึ้นทำให้เห็นภาพของสิ่งเหล่านี้ได้ ในระดับนานาชาติ งานสถาปนิกมี international forum, trade fair เสริมทัพด้วยภูมิภาคที่เปี่ยมด้วยศักยภาพทำให้งานสถาปนิกจากเมืองไทยเป็นจุดศูนย์กลางทั้งความรู้และเทคโนโลยี

เชื่อมต่อทุกยุคสมัย เข้าถึงทุกภูมิภาค: ทิศทางของสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ

“อยากเห็นสมาคมที่เข้าถึงประชาชนทั่วไปมากขึ้น ทั่วทุกพื้นที่ เขาเรียกว่ามีกิจกรรมเพื่อพื้นที่ท้องถิ่นทุกภูมิภาคหรือมีส่วนในการพัฒนาเมือง และประเทศ” นอกจากงานสถาปนิกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีแล้ว ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ นั้นยังเข้าถึงเมืองรองต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาครวมเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสถาปนิกและภูมิภาค

“ในปีนี้งานสถาปนิกภูมิภาคก็ไปจัดเมืองรองมากขึ้นคือ ภาคเหนือจัดที่เชียงใหม่ ภาคอีสานก็ไปสกลนคร และบูรพาไปจันทบุรี ภาคใต้ไปปัตตานี บางทีงบประมาณในการจัดงานพื้นที่ห่างไกลไม่ได้ match กับต้นทุน แต่เราพยายามสัก 10 ได้มาสัก 2 ก็มีประโยชน์ต่อพื้นที่”

     พบกับความประทับใจที่กลับมาอีกครั้ง เตรียมตัวให้พร้อม และพบกันในงานสถาปนิก’68 Past Present Perfect: ทบทวน ทิศทาง ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

อย่าพลาดงานปีหน้า เพราะมีเซอร์ไพร์สและอีเวนต์สุดพิเศษรออยู่!

ป้ายกำกับ :
แชร์

บทความอื่นๆ