‘สร้าง MOMENTUM จากการลงมือทำ’ แนวคิดการทำงานของ ‘โอ๋’ – ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ คนที่ 38

การลบภาพ One man show ให้กลายเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่ายกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ของการจัดงานสถาปนิกในช่วงเวลาที่ ‘พี่โอ๋’ – ชนะ สัมพลัง ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 38 (2564-2567) หลังชนะแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้ง

นอกจากการพลิกขนบเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา นโยบายข้ออื่นทั้งการชูด้านการสร้างความภาคภูมิใจและความเสมอภาคแก่คนในวงวิชาชีพ การให้ความสำคัญกับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น (ASA Architectural Design Award) หรือการให้ความรู้แก้ไขปัญหาที่บรรดาสมาชิกมี ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สมาคมฯ จัดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้เช่นกัน ทว่าน้อยคนจะรู้ว่าที่มาของแนวคิดและวิธีการลงมือให้สำเร็จทั้งหมดนี้ เริ่มต้นและเกิดขึ้นได้อย่างไร

Start with ‘Why

จากนักตั้งคำถาม สู่ผู้ขับเคลื่อนคำตอบ

จากนักศึกษาที่คลุกคลีช่วยงานสมาคมฯ และสภาฯ จนถึงวันเข้าทำงานเป็นสถาปนิกที่ A49 กระทั่งวันหนึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานจัดงานสถาปนิกในปี 2558 ประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาทุกระยะ ทำให้พี่โอ๋มีโอกาสเห็นภาพปัญหาจากต่างมุมมอง โดยเฉพาะการสวมบทบาทของประธานจัดงานสถาปนิกฯ ในอดีตที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมการทำงานที่ทุกคนร่วมมือกันเป็นทีม เหน็ดเหนื่อยร่วมกัน คนที่ถูกจดจำและได้รับเครดิตกลับมีเพียงคนเดียว ควบคู่กันกับความรู้สึกอยากเห็นงานอาษาเป็นการทำงานในรูปแบบ Collaboration

“Team Player คือส่วนสำคัญ แต่กลับไม่มีใคร Mention จดจำคนเหล่านั้นได้เลยสักคนหนึ่ง ในวันนั้นตัวตนที่คนจำคือคุณชนะคนเดียว นั่นคือจุดที่ทำให้แอบรู้สึกว่าตัวเองดังอยู่คนเดียวได้อย่างไร

เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ คำถามนี้จึงเปลี่ยนเป็นคำตอบด้วยการเพิ่มจำนวนประธานจัดงานเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยกระจายสปอตไลต์ ให้ความสำคัญกับคนทำงาน ขณะเดียวกันวิธีนี้ยังส่งเสริมการกระชับความสัมพันธ์ ลดกำแพงการแบ่งแยกระหว่างสถาบันหรือภูมิภาคไปในตัว เพราะการลงเรือลำเดียวกัน กระตุ้นให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันตามธรรมชาติ แถมยังช่วยแบ่งเบาทั้งความกดดันและภาระงานของประธานจากแบบเดิมที่ต้องรับผิดชอบคนเดียวได้ด้วย

Make a Move
ให้เหตุการณ์ สร้าง Momentum

บางอย่างน่ะมันยากตรงที่ว่า ถ้าเราไปบอกว่าเราอยากได้อย่างนี้ คนก็จะต่อต้าน สู้เราทำอะไรบางอย่างแล้วให้เขานึกเอง อย่างที่เราอยากให้เขารู้สึกเป็นวิธีของพี่ เช่น ถ้าอยากให้เขารู้สึกว่าสถาปนิกทั้งประเทศเหมือนกัน ไม่มีหรอกต่างจังหวัด ไม่มีหรอกกรุงเทพฯ เราไม่ต้องพูดคำนี้เลย เราทำให้เหตุการณ์มันเล่าเองว่าทุกๆ คนคือสมาคมสถาปนิกสยามฯ มันก็ไม่ต้องเล่าแล้วว่าแต่ละภาคไม่ได้มีเส้นแบ่ง (Boundary) ไม่ต้องเล่าแล้วว่าสถาบันคืออะไร ทุกคนลืมพี่ไปด้วยซ้ำว่าพี่จบจากไหน ทุก ๆ คนที่อยู่ในทีมก็ไม่ได้มีใครอยากถามใคร”

“ในปีแรกทำไมเราต้องเลือกคนจาก 3 ภูมิภาค มารวมกันอยู่ตรงกลาง แน่นอนว่าความคิดถึงกันมันเป็นจุดหลักของการเริ่มต้น (ช่วงสถานการณ์โควิด) แต่จุดที่ซ่อนอยู่ ไม่เคยเล่าให้ใครฟังก็คือ หลายๆ ครั้งส่วนกลางจะเป็นคนจัดงาน ภูมิภาคเหมือนเป็นคนรับลูก จัดต่อ ผมก็นั่งคิดว่าทำไมไม่เอาภูมิภาคมาจัดเสียเลยตรงกลาง ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสมาคมฯ ด้วยกัน ความเป็นพี่น้องมีมากขึ้น ทุกคนมีสิทธิ์เป็นผู้เล่น มันคือความงดงามของตรงนั้น

หลังจากปีนั้น คนที่ทำภูมิภาคยกระดับงานภูมิภาคให้น่าสนใจขึ้น เท่ขึ้น สวยขึ้น มันเป็นกลไกเชิงจิตวิทยาที่พาทุกคนไปพัฒนาตัวเองมากขึ้น ถ้ามองภาพใหญ่ของทั้งประเทศตอนนี้ ทุกคนจะมาโดยไม่ต้องขอ ทุกๆ ภาคจะไปภาคเหนือ ทุกๆ ภาคจะไปอีสาน แล้วก็มาส่วนกลาง จะสังเกตได้ว่าไม่ต้องบอกว่าช่วยมาหน่อยนะ เดี๋ยวงานไม่มีคน”

“มันเกิดขึ้นเพราะครั้งแรกนั่นแหละ พอครั้งแรกมันเกิด คราวนี้ Momentum มันไปเรื่อย ๆ ความ Collaboration มันมีจริง ๆ”

ทิศทางสมาคมสถาปนิกฯ ในอนาคต

ในฐานะนายกสมาคมฯ การให้ความสำคัญกับ “สมาชิก” คือแก่นแท้ของการทำงานเสมอ เมื่อถามเรื่องทิศทางสมาคมฯ ในอนาคต คำตอบที่ได้ทั้งมุมมองที่มีหรือสิ่งที่อยากฝากนายกสมาคมฯ สมัยหน้าสานต่อจึงเป็นเรื่องของผู้คน

“พี่ว่าสมาคมฯ ในอนาคต ‘ผู้คน’ คือสิ่งที่เป็นคำตอบ สุดท้ายเราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะพัฒนาไปในเชิงที่เราจะรวยขึ้น หรือจะมีความยิ่งใหญ่มากขึ้น
สมาคมฯ เกิดมาเพื่อดูแลสมาชิก ความยั่งยืนของสมาคมฯ ในอนาคต มันก็จะเกิดจากการที่ทุกๆ คนในวิชาชีพเห็นว่าสมาคมมีประโยชน์กับเขา อันนี้คือ Keyword หลัก”

“สุดท้ายสิ่งที่พี่ยังทำไม่ได้คือการเชื่อมระหว่าง 3 กลุ่ม คือ วัย เพศ และกิจกรรม ให้เกิดขึ้นด้วยกัน อนาคตก็คงจะฝากนายกท่านใหม่ว่าช่วยต่อที เพราะว่าเขาน่าจะเก่งกว่าพี่ในเรื่องของการรวมผู้คนเข้าด้วยกัน นายกแต่ละคนจะมีจุดแข็งที่ต่างกัน สิ่งที่สำเร็จแล้ว ท่านใหม่มาก็คงเดินหน้าทำต่อและคงจะมาเสริมจุดอื่นที่เรายังต้องการอยู่”

มุมมองวงการสถาปนิกจากการระบาดโควิดถึงวันคลี่คลาย

“ช่วงก่อนโควิดเนี่ย พี่ว่ามันเป็นช่วงความสุข ทุกคนมีพลังเต็มที่เลย อยากทำอะไรก็ทำสุดๆ แล้วก็เกิดอาการช็อก ตัดช่วงโควิด ทุกคนมีปัญหาหมด บริษัทใหญ่ ๆ อย่างพี่ก็มี แต่มองย้อนกลับไปมันคือ Learning Point ที่ทำให้เรา Slow ตัวเองลง ทั้งครอบครัว ทั้งการทำงาน ทั้งการใช้ชีวิต แล้วก็ระมัดระวังมากขึ้น ทุกคนเจ็บหมด แต่ว่าทุกคนก็ผ่านได้ ทีนี้ถ้าเรามองย้อนกลับ มันก็เป็นบทเรียนที่น่าสนใจว่า ถ้ามีอีกแสดงว่าเราจะรอด”

สรุป 3 บทเรียนสำคัญ หลังโควิดสำหรับสถาปนิก

  1. การวางแผนการทำงานและระบบบัญชีต้องมีขั้นตอน รัดกุม พร้อมรับความเสี่ยง
  2. ช่องทางออนไลน์คือโอกาสสร้างการเติบโต ทุกคนขยายธุรกิจได้ด้วยการสร้างโปรไฟล์รับงานต่างประเทศ
  3. หมั่นพัฒนาทักษะในรูปแบบที่ถนัด เลือกได้ว่าจะ “ก้าวออกจากซอยตัน” หรือเป็น “ร้านดังซอยลึก”
 
  • ก้าวออกจากซอยตัน คือ การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้ทันโลกอยู่เสมอ นำมาต่อยอดการทำงาน
  • ร้านดังซอยลึก คือ การพัฒนาทักษะการสร้างอัตลักษณ์งานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เริ่มจากการมองหาจุดแข็งที่มีอยู่และพัฒนาให้แข็งแรง โดดเด่น มีเสน่ห์เหมือนร้านดังซอยลึกที่ดึงดูดผู้คนเข้าหา

คิดว่าอนาคตวงการสถาปนิกจะมุ่งไปในทิศทางไหน?

“พี่ว่ามันไม่ใช่ความสุขแบบเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มันจะเป็นความสุขอีกแบบหนึ่งที่ยังไม่มีใครรู้ในวันพรุ่งนี้ เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตอนนี้เลย ซึ่งมันก็มีได้หลายเรื่อง เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด เราเริ่มจินตนาการภาพผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาใน 5-10 ปี ได้ว่าจะซับซ้อนขึ้น ทุกอย่างเป็นของใหม่ที่ต้องเรียนรู้

วันนี้แม้แต่โต๊ะก็แสดงข้อมูลได้ มีผนังที่เราสามารถอ่านอะไรบางอย่างได้ ฉะนั้นวันข้างหน้าเราอาจจะพบว่าสถาปัตยกรรมจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้นอกจากการเป็นพื้นที่อาศัย มันจะน่าสนใจขึ้น ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงวันนี้ เช่น อากาศ มลพิษ ที่ก่อนหน้าไม่มีใครเคยพูดถึงว่าจะกันฝุ่นอย่างไร และเมื่อก้าวไปอีกระดับหนึ่ง บางทีอาษาในปีนั้น วิศวกรรมศาสตร์อาจมีบทบาทใหม่ที่สำคัญกว่าสถาปัตยกรรม สถาปนิกคงต้องเรียนรู้เรื่องราวเทคโนโลยีอาคารที่ละเอียดขึ้น เหมาะสมขึ้น เพื่อทำให้ตึกของเรานั้นมันเหมาะสมกับสภาวะของโลกที่จะแปรเปลี่ยน”

มุมมองงานสถาปนิกปีที่ผ่านมาและไฮไลต์ที่ต้องติดตามในปีหน้า

หลังการจัดงานสถาปนิก’66 ภายใต้แนวคิด ตำถาด: Time of Togetherness สิ้นสุดลง กระแสการตอบรับทางการตลาดเป็นไปในทิศทางที่ดี มีจำนวนผู้เข้าชมและผู้จัดแสดงงานเพิ่มขึ้น เสน่ห์ของการร่วมมือร่วมใจจากพี่ ๆ น้อง ๆ ทั้งวงการได้หวนคืนมาอีกครั้ง เพราะทุกคนต่างร่วมมือร่วมใจจัดเต็ม ไม่ปล่อยเวทีว่าง สร้างบรรยากาศงานที่ทรงพลัง สนุกสนาน จึงเป็นอีกปีที่เรียกได้ว่าเติมเต็มความเป็นแฟร์อย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ว่าจะดีแค่ไหน พี่โอ๋ยืนยันว่า สิ่งที่เกิดแล้วจะไม่เกิดซ้ำอีกในปีหน้า และต้องติดตามกันต่อว่างานสถาปนิก’67 ใครบ้างที่จะมาผนึกกำลังกันรับหน้าที่เป็นประธานจัดงาน

“เราเคยเอาคนทุกภูมิภาคมาแล้ว เอาคนทั้งประเทศมาแล้ว เอาคนทุกวิชาชีพมาแล้ว โจทย์ปีนี้คือเราจะโกอินเตอร์ ก็กลายเป็นที่มาของธีมงานสถาปนิก’67 Collective Language: สัมผัส สถาปัตย์ เล่าเรื่องภาษาสถาปัตยกรรม ภาษาที่เป็นภาษาสากล โดยเราจะเริ่มจากเพื่อนบ้านของเราก่อนคือการร่วมมือกับ ARCASIA

ตลอด 6 วันของการจัดงาน คนในวิชาชีพและคนทั่วไปจะได้รับความรู้จากการออกแบบเมือง พื้นที่อาศัย เครื่องมือที่นำมาใช้งาน ตลอดจนมุมมองความสนใจของคนในโลกที่แตกต่างจากเรา โดยฟังจากปากของพวกเขาจริงๆ การชมนิทรรศการนี้คือการเติมคลังความรู้ในหัวให้เราสามารถปรับใช้ได้ในอนาคต และอัปเดตผลิตภัณฑ์แปลกๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจซึ่งจะเปิดตัวและจัดแสดงในงาน

หากคุณเคยประทับใจกับงานสถาปนิก’66 เตรียมตัวให้พร้อม จัดตารางให้ว่างมาพบกันปีหน้าที่งานสถาปนิก’67 Collective Language: สัมผัส สถาปัตย์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 และเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 8 ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

อย่าพลาดงานปีหน้า เพราะมีเซอร์ไพรส์สุดพิเศษที่ทั้งใหม่และจัดใหญ่รออยู่!