ต่อบทสนทนาต่างเจนเนอเรชั่น กับประธานจัดงานสถาปนิก’67 ที่หวังสร้างจุดยืนให้วงการออกแบบผ่านภาษาทางสถาปัตยกรรม

สถาปนิกทำอะไรบ้าง?
สถาปนิกเขาคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างไร?
แล้วงานสถาปนิก’67 ซึ่งมาในคอนเซ็ปต์ Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ มีความพิเศษอย่างไร?

คำถามส่วนหนึ่งที่ให้ 4 ประธานจัดงานสถาปนิกต่างเจนเนอเรชั่น ที่พ่วงมากับบทบาทของอาจารย์ ได้ตอบคำถามด้วยเสียงหัวเราะ เรื่องราวที่ชวนให้สำรวจและสัมผัสภาษาที่ไร้ขอบเขตของสถาปนิกและนักออกแบบ บนเวทีแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่จำกัดรูปแบบการสรรสร้าง ‘งานสถาปนิก’67’

อาจารย์กิฟท์ – ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์, อาจารย์อาร์ท – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์, อาจารย์ป้อ – กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และ อาจารย์พร้อม – ดร. พร้อม อุดมเดช ทั้ง 4 ประธานจัดงาน จะมานั่งล้อมวงขยายที่มาที่ไปของการจัดงานสถาปนิก’67 จาก 4 มุมมอง เคล้าไปด้วยเสียงหัวเราะและเรื่องราวชวนให้ขบคิดตาม

ก่อนจะเข้าสู่คำถาม อยากทราบว่าแต่ละท่านเคยร่วมงานกันมาก่อนไหม ?

อาจารย์กิฟท์ : เราร่วมงานกันอยู่ตลอดเวลา เราและอาจารย์อาร์ท เป็นอุปนายกสาย Foreign Affair (ความสัมพันธ์ต่างประเทศ) จะเจอกันอยู่ตลอด แต่ไม่เคยร่วมงานกันในลักษณะโปรเจกต์

อาจารย์อาร์ท : กับอาจารย์ป้อ เรารู้จักเพราะทำงานในสมาคมสถาปนิกฯ ด้วยกัน แต่ยังไม่เคยร่วมงานกันอย่างเป็นทางการ

อาจารย์ป้อ : เรารู้จักอาจารย์พร้อม ผ่านกิจกรรม ทำนิทรรศการแล้วเชิญอาจารย์มาร่วมบรรยาย

อาจารย์กิฟท์ : ทุกคนเป็นอาจารย์ในแวดวงวิชาการ

พอมาพูดถึงงานสถาปนิก เราอยากรู้ว่าแต่ละท่านให้คำนิยามกับคำว่า ‘งานสถาปนิก’ ไว้อย่างไร ?

อาจารย์กิฟท์ : เมื่อก่อนงานสถาปนิกจะถูกมองว่าเป็นงานสังคมของกลุ่มสถาปนิก แต่ปัจจุบันจะเป็นงาน Public มากขึ้น โดยงานเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้สื่อสารกับคนทั่วไป ว่าพวกเราสถาปนิกทำอะไรบ้าง มีบทบาทต่อสังคม, ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ อย่างไร รวมถึงสถาปัตยกรรมมีผลต่อชีวิตเขาอย่างไร ซึ่งคิดว่างานนี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่จะเชื่อมโยงการทำงานของสถาปนิกให้คนได้เข้าใจมากขึ้น

อาจารย์ป้อ : สมัยก่อนมองว่างานสถาปนิกเป็นงานเฉพาะกลุ่ม ตอนมางานสถาปนิกครั้งแรก เป็นเพราะต้องพาลูกค้ามาเดินดูวัสดุในงาน แล้วพองานเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีธีมในการจัดงานที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น ความเกร็งของเราที่มีต่องานสถาปนิกก็เริ่มหายไป กลายเป็นเป็นความผูกพันกับงาน และทำให้อยากมางานสถาปนิกทุกปี

อาจารย์อาร์ท : ผมมาร่วมงานสถาปนิกตั้งแต่เป็นนักศึกษา ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจ คิดว่าเป็นงานหนึ่งที่ทำให้สถาปนิกมารวมตัวกัน จนกระทั่งหลังจบก็ได้มางานสถาปนิกบ่อยขึ้น โดยสิ่งที่น่าดึงดูด คือ Forum ดี ๆ ที่มีสถาปนิกดัง ๆ ที่เราชอบ และพอเราเริ่มเข้ามาเป็นทีม ได้ช่วยงานบางส่วน ก็รู้สึกว่าแวดวงสถาปนิกมีความเฉพาะกลุ่มมาก เราจึงอยากให้คนอื่นได้เห็นว่างานสถาปนิกเป็นพื้นที่สำหรับทุกกลุ่ม ทุกวัย และการมาเจอเพื่อนในงานสถาปนิก สำหรับผมมันเป็นเหมือนงานเช็งเม้ง เหมือนงานเลี้ยงรุ่นที่ไม่มีสถาบัน เพราะทุกคนคือสถาปนิกเหมือนกัน

ทุกคน : (หัวเราะ)

อาจารย์ป้อ : จริง ๆ ประธานทั้ง 4 คนก็คือคนละรุ่นเลย

อาจารย์อาร์ท : คนละ Gen เลย อย่างอาจารย์กิฟท์ คือ Gen X ตอนต้น, ตัวเอง (อาจารย์อาร์ท) คือ Gen X ตอนปลาย, อาจารย์ป้อ Gen Y และอาจารย์พร้อม คือ Gen Z ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะแต่ละรุ่นมาทำงานด้วยกัน

อาจารย์พร้อม : งานสถาปนิกสำหรับ Gen ผม (Gen Z) เราจะมีคำถามที่ถามกันบ่อยว่า สถาปนิกมีไว้ทำไม และมุมมองของงานสถาปัตย์ส่วนใหญ่ จะโตมากับ Infrastructure Work (โครงสร้างพื้นฐาน) อย่างรถไฟฟ้า ทางด่วน มันเป็นยุคที่ตอนเราเป็นเด็ก เรามองขึ้นมาจะรู้สึกว่า วิศวกรสำคัญที่สุด แต่เมื่อได้มางานสถาปนิกครั้งแรกก็ได้มุมมองที่แตกต่างมากขึ้น เพราะฉะนั้นในมุมมองของผม ในงานสถาปนิก ผมรู้สึกว่ามันเป็นจุดยืนที่มั่นคงมาก เราเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่ทำให้การพัฒนาประเทศมันหมุนไปข้างหน้า เป็นเหมือนตัวแทนที่สร้างสรคค์ความครีเอทีฟในด้านกายภาพ

ที่มาของคอนเซ็ปต์ Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ คืออะไร ?

อาจารย์อาร์ท : มันมีคำพูดหนึ่งที่ว่า สถาปนิกไทยมาตรฐานเทียบระดับโลกได้ เราเลยฉุกคิดว่า อะไรที่เป็นตัวตั้งตัวตี ที่จะสร้างคอนเซ็ปต์ในการนำไปสู่ความเป็น International ได้

อาจารย์ป้อ : เราจึงได้หาข้อมูลย้อนหลัง 15 ปี ว่ามีชื่อธีมอะไรบ้างที่ผ่านมา ไปจนถึงเทรนด์ระดับโลก แล้วจึงเป็นที่มาของเราที่พยายามหาคำกลางที่เราสามารถพูดถึงประเทศอื่นได้ด้วย และก็พูดถึงประเทศเราได้เช่นกัน เลยกลายมาเป็นการพูดถึงภาษากลางของสถาปัตยกรรม

อาจารย์กิฟท์ : ภาษามีความแตกต่างกัน คือ ไม่ได้ถูกแปลกันมาตรงตัว เราต้องการสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีความต้องการต่างกัน อย่าง Collective Language เราพยายามศึกษา International Audience ในส่วนของสถาปนิกมากกว่า ในขณะที่สัมผัส สถาปัตยกรรม คำนี้ เราอยากให้คนเข้าใจว่าสถาปนิกต้องทำอะไร พยายามสื่อสารให้คนในวงกว้างเข้าใจ และอยากให้พวกเขาเข้ามาสัมผัสโดยใช้เซนส์ต่าง ๆ มาเรียนรู้และทำความเข้าใจ

อาจารย์พร้อม : เมื่อเราพูดถึงภาษาสถาปัตย์ หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ผู้คนกับสถาปัตย์ ล้วนเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา หากนำคำว่าสัมผัสกับภาษา มาร้อยเป็นโจทย์ บางทีเราผ่านจุดบางจุดในวัด เราก็อาจมีอาการขนลุกขึ้นมา นั่นก็อาจจะเป็นเพราะสถาปัตยกรรม ที่เป็นสิ่งที่ดึงคนให้เข้ามาสัมผัส กลายเป็น Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์

อยากให้งานสถาปนิก’67 สร้างเรื่องราวอย่างไรให้กับวงการสถาปนิกไทย และวงการ

ออกแบบ-ก่อสร้าง ?

อาจารย์ป้อ : งานในปีนี้ จะเป็นการยกระดับทุกวงการ ทั้งในและต่างประเทศ แลกเปลี่ยนกันดูผลงาน และกระบวนการแลกเปลี่ยนนี้ ทำให้องค์ความรู้ของเราเกิดการยกระดับมากขึ้น

อาจารย์อาร์ท : อยากจะเชิญชวนเพื่อนบ้านของเรามาร่วมงานด้วย ซึ่งเราจะมีส่วนที่เป็น Exhibition หลักของงาน จะพูดถึงงานสถาปัตยกรรมดีเด่นของประเทศที่ได้หยิบยกมาจัดแสดง และการนำผลงานมาจัดแสดงนั้น ก็เป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่จะสามารถช่วยดึงพวกเขาเข้ามาได้

อาจารย์กิฟท์ : ผมอยากให้เวทีนี้เปลี่ยน หากเราเชิญทั้งกลุ่ม Supplier และผู้ชมงานจากต่างประเทศเข้ามาได้ งานสถาปนิกก็จะสามารถยกระดับให้คนที่มาชมงานได้เห็นว่าสถาปนิกไทยทำอะไรได้ และอยากจะให้งานนี้ ได้เป็นแพลตฟอร์มให้สถาปนิกไทยใช้ประลองความสามารถของตัวเอง เพื่อไปเรียนรู้งานในระดับนานาชาติต่อไป

อาจารย์พร้อม : สำหรับในมุมมองของ Gen ผม ส่วนใหญ่เพื่อน ๆ ที่รู้จักกัน เขาจะรู้สึกไม่อยากมางาน เพราะคิดว่ายุคสมัยนี้ สามารถทำงานทุกอย่างได้ในคอมพิวเตอร์ งานในปีนี้ จึงอยากจะดึงคนกลุ่มนี้กลับมามีส่วนร่วมในการจัดงานจากความร่วมมือกันของเด็กรุ่นใหม่ เนื้อหาใหม่ ๆ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ทั้งในการนำงานมาจัดแสดงงาน และการจัดงานเพื่อเชื่อมต่อให้มีการต่อยอดไปข้างหน้า

สุดท้ายนี้ อยากฝากอะไรกับคนที่จะมางานสถาปนิก’67

อาจารย์ป้อ : เชิญชวนบุคคลทั่วไปมาร่วมชมงาน เพราะนอกจากคุณจะได้มาเดินดูวัสดุแล้ว คุณจะเหมือนได้มาท่องเที่ยวด้วย เพราะจะมีผลงานของประเทศอื่น ๆ ให้ได้ชมอย่างใกล้ชิด และได้ต่อยอดเชิงความรู้ของงานออกแบบได้

อาจารย์อาร์ท : งานสถาปนิกเหมือนเป็นงานรวมรุ่น จึงอยากเชิญชวนสถาปนิกที่ยังไม่เคยมา ลองมางานสถาปนิกสักครั้ง มาเจอเพื่อนพี่น้องในวงการ ผมว่าเจอกันปีละครั้งรู้สึกอบอุ่นดี แล้วมาเจอกันครับ

อาจารย์พร้อม : อยากให้มางานสถาปนิกเพื่อมาสนับสนุนสถาปนิกไทย สนับสนุนธุรกิจ สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ สามารถให้สถาปนิกและนักออกแบบมีพื้นที่และจุดยืนที่มั่นคงมากขึ้น

อาจารย์กิฟท์ : ในงานนี้จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นไป

จบบทสนทนาที่ผ่านช่วงเวลามาพอสมควร เป็นอะไรที่เกินคาด เพราะเต็มไปด้วยแง่มุมที่ให้เราได้เห็นการร้อยเรียงเรื่องราวของนักออกแบบที่ต่างก็มีบทบาทการเป็นอาจารย์ควบคู่ไปด้วย และการเปิดมิติด้วยมุมมองจากต่างเจนเนอเรชั่น ทำให้บทสัมภาษณ์นี้ชวนให้เข้าไปสัมผัสถึงคอนเซ็ปต์ของงานสถาปนิก’67 Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี