‘น้อยแต่มาก เรียบง่ายแต่ซับซ้อน ไร้ขีดจำกัด’ เบื้องหลังแนวคิด ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ จาก Ductstore the Design Guru

ถ้าเทียบกับจักรวาลการออกแบบ Key Visual งานสถาปนิกตลอดหลายปีที่ผ่านมา Key Visual ของงานสถาปนิก’67 ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ ถือว่าแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะถ่ายทอดด้วยภาพ Abstract Art ที่ดูซับซ้อน แต่ครั้นจะเรียกว่านามธรรมเสียจนเข้าไม่ถึงก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะพอลองสำรวจให้ดี เราดันเจอส่วนที่น่าสนุก คล้ายกับตัวต่อ (puzzle) ที่ยิ่งดูก็ยิ่งเข้าถึงได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากภาพนี้ดันประกอบขึ้นจากสิ่งที่ชาวสถาปนิกทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี และแม้ว่าคุณไม่ใช่สถาปนิกก็ยังต้องเคยสัมผัส หรือรู้จักกับบางส่วนของ Key Visual นี้มาแล้ว

ก่อนอื่นเพื่อเพิ่มความสนุกของ Key Visual ชิ้นนี้ เราจะขอลบข้อความทุกอย่างออกไปให้เหลือเพียงกราฟิกเท่านั้น และท้าให้คุณลองทายดูว่ามองเห็นอะไรตรงหน้าบ้าง

หากคุณได้คำตอบแล้ว เก็บคำตอบนั้นไว้ในใจ แล้วมาเช็กไปพร้อมกันอีกครั้งว่า สิ่งที่เห็นกับเบื้องหลังแนวคิดนั้นต่างกันหรือไม่ จากคำตอบของ พี่หมู – นนทวัฒน์ เจริญชาศรี หัวเรือใหญ่แห่ง Ductstore the Design Guru

หลังจากได้รับโจทย์เป็น ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ พี่หมูเล่าว่าสิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือการถอดรหัสการ ‘สัมผัส สถาปัตย์’ ในภาษาสากลที่ทั้งสถาปนิกและคนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ร่วมกัน

“ที่มาที่ไปของการเริ่มต้น มันเริ่มจากคำถามที่ว่าพี่จะเข้าใจสถาปัตยกรรมได้อย่างไร และถ้าคนทั่วไปไม่ได้เรียนสถาปัตย์จะเข้าใจได้อย่างไร ฉะนั้นพี่ก็มาคิดว่าสถาปัตยกรรมเริ่มจากอะไร มันเริ่มจากที่ว่าง มันสามารถเป็นอะไรก็ได้ เพราะสไตล์ไม่ใช่ตัวกำหนดขอบเขตของสถาปัตยกรรม ทุกชนชาติ ทุกประเทศ หรือทุกวัฒนธรรม อาจมีเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในรูปแบบของตัวเอง แต่เรื่องของที่มาที่ไป มันก็เริ่มจากการแก้ปัญหาการใช้พื้นที่นี่แหละ”

เมื่อความเป็นสากลไม่ได้กำหนดจากสไตล์ กระบวนการเริ่มทำงานจึงมาจากการตกผลึก วิธีการสัมผัส รับรู้ ความเข้าใจทางสถาปัตยกรรม (Sense of Architecture) ก่อน จากนั้นนำมาพัฒนาเป็นการสื่อสารต่อด้วยเรขศิลป์ (Graphic Design) ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ตามแบบฉบับของ Ductstore the Design Guru ที่มีความเป็น Graphitecture (Graphic + Architecture) ส่งผลให้ Key Visual นี้ไม่ได้ใช้สไตล์นำ แต่ใช้สัญญะที่มีความเป็นสากลมาสื่อสาร

พี่ไม่ได้ออกแบบสไตล์ของกราฟิก แต่กราฟิกตัวนี้มันเล่าเรื่องของตัวมันเอง ด้วยภาษาภาพ หรือการตีความที่มันมีที่มาเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แล้วทุกอย่างประกอบรวมกันเป็น Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ครับ” 

Simplify Complexity

‘Collective Language’ in 60 secs

จากแนวคิด สู่การตีความ จนถึงการออกแบบจัดวางทุกองค์ประกอบ ที่ร้อยเรียงเป็น Key Visual จึงเป็นที่มาของ Concept Design & Art Direction ที่สรุปใจความครอบคลุมได้ว่า

สถาปัตยกรรมเริ่มต้นจากพื้นที่ว่างและการหาความเป็นไปได้ที่หลากหลาย การที่คนจะสัมผัส รับรู้ และเข้าใจสถาปัตยกรรม (SENSE OF ARCHITECTURE) เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม (ELEMENTS OF ARCHITECTURE) ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดพื้นที่และประโยชน์ใช้สอยตามความเหมาะสมและการใช้งานคอนเซ็ปต์ของงานออกแบบเรขศิลป์ ASA 2024 คือการตีความเพื่อถอดรหัสภาษาทางสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นสากล และคนสามารถเข้าใจถึงภาพรวมและนิยามของสถาปัตยกรรม ที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่คือภาษาที่สามารถแปรเป็นภาพ และมีการตีความที่สามารถปรับเปลี่ยน และพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ถ้าคุณอยากเข้าใจให้ง่ายกว่านั้น 60 วินาทีจากนี้คือคำตอบ

แง่องค์ประกอบศิลป์ด้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่าที่มาผ่าน Diagram อย่างสีขาว-ดำหรือการไล่สี (Gradient) มาจากส่วนหนึ่งของภาษาสถาปัตยกรรมที่ใช้ในการ Drawing หรือเขียนแบบ ส่วนการเลือกฟอนต์ที่เรียบง่ายมาจากการคำนึงถึงบาลานซ์ในงานที่ต้องส่งเสริมกัน เมื่อภาพมีความซับซ้อน อักษรที่เรียบง่ายจะช่วยสื่อสารให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

“บางที Basic ที่สุด Less is More ที่ Ludwig Mies Van Der Roh พูดมันก็ใช่ เพราะจริงๆ งานนี้มันเรียบง่าย แต่ซับซ้อน”

สถาปนิก’67 VS BKD 2024

เปรียบเทียบสเกลต่อสเกล ลอกไหม ทำไมคล้ายกัน

ประเด็นที่มีคนตั้งข้อสังเกตระหว่าง Key Visual ของงาน สถาปนิก’67 กับ Bangkok Design Week 2024 ว่า หน้าตาคล้ายกันไหม แฝดทางไอเดียหรือเปล่า เรื่องนี้เราก็ล้วงลึกมาให้แล้วเช่นกัน เพราะแม้ว่าผลงานทั้งคู่จะเป็นงานสร้างสรรค์ของ Ductstore the Design Guru แต่ทั้งจุดเริ่มต้นแนวคิดและกระบวนการเล่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

‘เรื่องเล่าต่างสเกล’ บอกเล่า ‘ต่างวิธี’

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธีมงานสถาปนิก’67 คือ Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ ส่วน BKD 2024 คือ Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี นั้นมีความสอดคล้องกันในแง่สถาปัตยกรรม เพราะ “เมือง” กับ “องค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่เราสัมผัส” เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ แต่ในแง่การตีความและการออกแบบ Key Visual พี่หมูอธิบายว่า เกิดขึ้นจากต่างรากทางความคิดเพราะถอดรหัสจากต่างสเกลกันและมีรายละเอียดที่ต่างกันชัดเจน

สถาปนิก’67 :

Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์

Bangkok Design Week 2024 :

Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

  • ออกแบบโดยถอดแนวคิดด้าน Sense of Architecture ใช้องค์ประกอบ Elements of Architecture เล่าเรื่อง
  • ลักษณะงานนำเสนอภาพที่มีความเป็น Abstract
  • ดีไซน์งานมีส่วนผสมของความเป็น 3D ซึ่งเกิดจากการ Extrude จากองค์ประกอบที่เป็น 2D
  • ออกแบบโดยถอดแนวคิดเรื่องเมือง (Urban Design) นำเสนอด้วยการใช้มุม Figure and Ground diagram เล่าเรื่องย่าน
  • ลักษณะงานนำผ่านดีไซน์ 2D ที่ใช้เส้น (Stroke) กับฟอนต์

สัมผัสไอเดียแล้ว

‘สัมผัส สถาปัตย์’ ผ่านประสบการณ์จริงงานสถาปนิก’67

นอกจาก Key Visual ที่ยืนยันว่าสดใหม่ ไม่เหมือนเก่าและเล่าความเป็นสากลขึ้น เซอร์ไพรส์สำคัญของงานสถาปนิก’67 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 36 ยังพาคุณไปสัมผัสสถาปัตย์ ในมุมที่แตกต่าง เพราะมีทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจ การเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้โดยกูรูทั้งในและต่างประเทศ เป็นแหล่งจุดนัดพบแห่ง Networking ที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต รวมทั้งการขนขบวนสรรพวัสดุและนวัตกรรมอัปเดตใหม่มาให้คุณดูไว้ในงานเดียว

โอกาสสำคัญที่หาฟรีจากที่ไหนไม่ได้ ยกเว้นที่งานนี้ อย่าลืมใส่ไว้เป็นหนึ่งใน New Year’s Resolution ปี 2567 เคลียร์ตารางให้พร้อม เรามีนัดกันระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี