วิธีการของนักออกแบบ 2 สาขา เพื่อสร้างนิทรรศการสุดเท่ จากวัสดุธรรมดา

พลาดไม่ได้กับนิทรรศการรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ในงานสถาปนิก’65 นี้ เมื่อนักออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นสุดเท่จากภาคอีสานมาออกแบบนิทรรศการร่วมกับสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมจากภาคเหนือ ก่อนจะไปพบนิทรรศการจริงในงาน คุณชาติ – ธนชาติ สุขสวาสดิ์ และ คุณกานต์ – กานต์ คำแหง สองสถาปนิกจาก pommballstudio และ คุณชมพู่ – กาญจนา ชนาเทพาพร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ BWILD ISAN ได้มาอธิบายวิธีคิดและกระบวนการการออกแบบที่สร้างขึ้นจากจุดร่วมของทั้งสองในบทสัมภาษณ์นี้ พร้อมเผยเคล็ดลับของการทำงานร่วมกันที่นักสร้างสรรค์ไม่ว่าจะจากสาขาอาชีพใดก็สามารถนำไปใช้ได้

มองจากแผนที่ ภาคเหนือและภาคอีสานมีพื้นที่อยู่ใกล้กัน
มองจากแนวทางการออกแบบสร้างสรรค์ ทั้งสองภูมิภาคก็มีจุดร่วมที่สามารถพบได้ทั้งในงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบแฟชั่นอีกด้วย

“โจทย์ที่ได้รับก็น่าจะเข้ากับทางเราทั้งสองคน คือชูความเรียบ ๆ ของดีไซน์เรา เพื่อชูงานที่ได้รับรางวัลให้โดดเด่นขึ้นได้” คุณชมพู่เล่า ความรู้สึกแรกเมื่อได้เห็นงานของ pommballstudio คือเห็นความเท่ เรียบ มินิมอล การใช้สิ่งที่ธรรมดาให้เป็นสิ่งที่พิเศษด้วยการจัดวาง ทำซ้ำ ๆทำให้เกิดอิมแพค มีพลัง  และความกล้าที่จะหยิบสิ่งธรรมดามาดีไซน์คล้ายๆกัน ถ้าได้เข้าสู่กระบวนการการสร้างสรรค์ร่วม เอกลักษณ์ของทั้งสองก็ยิ่งปรับเข้าหากันมากขึ้น พบจุดร่วมกันมากขึ้น งานนี้จึงเลือกที่จะเชื่อมสิ่งที่มีเหมือนกันทั้งคู่ ไม่ใช่แค่การดึงเอาสัญลักษณ์ความเป็นอีสานหรือความเป็นเหนือที่เห็นชินตาของแต่ละภูมิภาคมา

ซึ่งจุดร่วมที่ทั้งสองที่สนใจร่วมกัน คือความเป็นท้องถิ่น (Local) ที่ทั้งคู่กล้าที่จะเล่นสนุกกับ สิ่งธรรมดา สิ่งที่คนมองข้าม ใช้สิ่งใกล้ตัวเป็นแรงบันดาลใจ โดยเลือกที่จะหยิบเอาเรื่องราวจากธรรมชาติ ที่มักแอบซ่อนความหมายบางอย่างไว้เสมอ มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ เริ่มจากข้อจำกัดของพื้นที่ ไปจนถึงความหมายบางอย่างที่อยากจะซ่อนเอาไว้ในงานออกแบบ ว่าในความท้องถิ่นทั้งอีสานและเหนือ ต่างเต็มไปด้วยความโอบอุ้ม ทับซ้อนกัน คือการเกื้อกูล ปกป้องกันตามธรรมชาติ และถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของมนุษย์ จึงตีความออกมาเป็น รูปแบบ (Form) ของการห่อและการซ้อนกัน เพื่อปกป้องสิ่งที่มีคุณค่าที่อยู่ด้านในเสมอ ที่ทั้งความเป็นสถาปัตยกรรมและความเป็นแฟชั่นของทั้งคู่ ก็มักจะมีคุณค่าในงานที่ซ่อนอยู่

หยิบรูปแบบจากธรรมชาติมาสร้างเป็นฟอร์ม

สำหรับกระบวนการออกแบบ คุณชาติเล่าว่าพวกเขาเริ่มจากการคิดถึง “กล่องสี่เหลี่ยมปกติ” ที่ได้มาในพื้นที่ แล้วเรียงขั้นตอนไปจากการหาจุดร่วมเกี่ยวกับตัวตนของทั้งสอง เรื่องวัสดุ เรื่องความเป็นสถาปัตยกรรมและความเป็นแฟชั่น และนำมาสู่การแนวคิดเรื่อง Circulation และการสร้าง Layer สะท้อนฟอร์มแบบธรรมชาติ และสะท้อนโจทย์การนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัล

จากลักษณะการใช้งานพื้นที่ที่จะมีการเดินผ่ากลางออกมุม ทั้งสองผ่าพื้นที่กล่องสี่เหลี่ยมของพวกเขาออกเพื่อให้เป็น Circulation หลักตรงกลาง และซอยย่อย Circulation รองออกเป็นแฉกไปด้านนอก โดยแรงบันดาลใจของรูปแบบนี้ก็มาจากธรรมชาติที่เป็นแนวทางการสร้างสรรค์ของทั้งสอง โดยเลือกรูปทรงของใบตองกุง คือใบไม้ขนาดใหญ่ ที่ชาวอีสานมักจะนำมารองอาหาร หรือแม้แต่ใช้เป็นส่วนประกอบของบ้านในสมัยก่อน

เมื่อผ่าออกเป็น Circulation รอง รูปทรงที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเป็น Layer ตามมา ในส่วนนี้ก็สอดคล้องกับรูปทรงในธรรมชาติเรื่อง “การห่อหุ้ม” ไม่ว่าจะเป็นกลีบดอกไม้หรือหน่อไม้ที่มีการซ้อนกัน หรือการห่อในบรรจุภัณฑ์ท้องถิ่นหรือการห่ออาหารด้วยใบไม้ ใบตอง เป็นเรื่องของ “ธรรมชาติมักจะห่อหุ้มคุณค่าบางอย่างไว้ งานที่นำมาจัดแสดง จะถูกจัดให้อยู่ด้านใน เปรียบเสมือนสิ่งที่มีคุณค่าที่ถูกห่อหุ้มเอาไว้ และเมื่อมาเป็นงานออกแบบพื้นที่ จะทำให้ง่ายในการรับชมด้วย” คุณชมพู่อธิบาย นอกจากนี้ ยังถูกออกแบบให้ผนังที่จัดแสดง นุ่มนวลขึ้นด้วยการเสริมความเป็นธรรมชาติ ด้วยความสูง ต่ำ เส้นของผนังที่เลียนแบบธรรมชาติในอีกมิติเข้าไปอีกด้วยการเล่นกับมุมมองของคนที่มาชมงาน กับความทับซ้อนกันในแต่ละผนัง เส้นผ้าโปร่ง ที่ถูกซ้อนกัน จัดวางในแนวตั้งและแนวนอนอย่างละเอียด เมื่อมาผสมกับการออกแบบจัดไฟ จะทำผู้ชมงานเกิดมุมมองไม่เหมือนกันเลยในแต่ละมุม ไม่ว่าจะเดินเข้าจากทางไหนก็จะสามารถรับรู้ถึงความสวยงามได้แตกต่างกัน

“แคทวอล์คที่คนทั่วไปเข้าถึงได้”

มุมมองที่เกิดจากการทับซ้อนกันของเส้นผ้าที่มีความโปร่งแสงในแต่ละผนัง มีแรงบันดาลใจมาจากลายของผ้าขาวม้าของคนอีสาน ที่มีการทับกันของเส้นที่ตัดกันในแนวตั้ง และแนวนอน ที่ไม่หยิบจับผ้าขาวม้าจริงๆมาจัดแสดง แต่เป็นการดึงเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้าอีสานมาทำใหม่ ในมุมมองใหม่

คุณชมพู่อธิบายว่าสิ่งนี้เองคือผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกัน ซึ่งยังแสดงความเป็นอีสานและแฟชั่นออกมาให้เห็นอยู่

“คนอีสานจริง ๆ จะมีความให้เกียรติกัน เราออกแบบพื้นที่ เพื่อให้งานที่จัดแสดงนั้นมีความโดดเด่นที่สุด และเพื่อให้คนที่มาร่วมชม ได้ถ่ายรูปกับพื้นที่ของเราได้ภาพออกมาสวยที่สุด มากกว่าการแสดงตัวตนของเราใหญ่โตจนบดบังคุณค่าของสิ่งที่ต้องจัดแสดง ” คุณชมพู่กล่าว “สีของอีสาน คนจะนึกถึงสีสัน ที่สร้างความสนุกสนาน แต่อีสานนั้นมีหลายมิติ แฟชั่นไม่ยึดติดกับสีใดสีหนึ่ง ดูตามความเหมาะสมของผู้ใช้ กาลเทศะ เราจึงอยากใช้สีที่เรียบที่สุดในการออกแบบนี้ เป็นสิ่งที่ทั้ง pommballstudio และ BWILD ISAN เห็นตรงกัน

“จุดประสงค์แรกเราอยากให้บูธเท่ ถ่ายรูปได้ ให้บูธมีลักษณะแบบประติมากรรมด้วย เรื่องการใช้วัสดุ สี เรื่องพื้นที่ภายใน” คุณชาติเสริมเกี่ยวกับ “ความเท่” ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ทั้งสองเห็นตรงกันในการออกแบบนี้ เพราะ “เราก็อยากให้เป็นงานที่เขาถึงคนทั่วไปได้ แม้ว่าเขาจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเลย”

“แต่ละคนก็ทำงานคล้ายเรา แค่เขาอยู่ในธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง”

แล้วการสร้างสรรค์ร่วมกันของสองผู้คนจากสองวิชาชีพสองภูมิภาคที่คล้ายคลึงกันจะนำมาสู่อะไร? สำหรับคุณชมพู่สิ่งนี้คือโอกาสที่เปิดให้เห็นว่ามีคนที่ทำสิ่งที่คล้ายกัน เพียงแต่อยู่คนละอุตสาหกรรม เมื่อได้มามองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ร่วมกันก็สามารถเกิดการขยายการตื่นตัวออกไป แฟชั่นหรือธุรกิจอื่น ๆ ก็รู้จักสถาปนิกมากขึ้น เกิดการผสมผสานกัน ได้ร่วมมือกัน เช่นการร่วมทดลองวัสดุใหม่ ๆ เป็นต้น “งานครั้งหน้าก็น่าจะสนุกขึ้นด้วย เพราะทุกอย่างเป็นไปได้ตลอดเวลาแล้ว”

“สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เรามีเพื่อนที่ทำงานสร้างสรรค์เยอะขึ้น การได้ดูแรงบันดาลใจในการสร้างงานของคนอื่น เราจะได้เรียนรู้ เพื่อมาพัฒนางานตัวเองได้ด้วย ทุกคนต่างก็ทำหน้าที่สร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ”

ทั้งสองจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมชม เพื่อให้เห็นด้วยสายตาจริง ๆ ว่าการดีไซน์ที่ทำจากน้อย ๆ ให้ทรงพลังได้เป็นอย่างไร อยากให้มาเจอมาสนุกกันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ “บางทีอาจจะได้ไอเดียใหม่ๆไปปรับใช้ในการทำงานของหลาย ๆ ธุรกิจเองที่จะเปลี่ยนไปหลังจากโควิด” “ความหลากหลาย แตกต่างจึงน่าจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับปีนี้”

งานสถาปนิก’65 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ https://bit.ly/3t73Fzw สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts