ออกแบบ Stadium กระดาษลังครั้งแรกของโลก ผลงานจากสถาปนิกเมืองภูเก็ตและเจ้าของค่ายเพลง Minimal Records

ลบภาพจำ ASA Club แบบเดิม ๆ ไปได้เลยเพราะปีนี้ งานสถาปนิก’65 ได้จับมือ คุณแมท  – ปรัชญา สุขแก้ว สถาปนิกอารมณ์ดีจากเมืองภูเก็ตมาร่วมมือกับคุณเมธ – สุเมธ ยอดแก้วที่นอกจากจะมีอาชีพหลักเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นเจ้าของค่าย Minimal Records ด้วย งานนี้พวกเขาจะมาเนรมิตสถาปัตยกรรมสไตล์มินิมัลให้น้อยแต่มากอย่างไร วันนี้เราเลยชวนทุกคนมาพูดคุยกับทั้งสองคนก่อนที่จะไปนั่ง Stadium จริงในงาน

 “ที่ได้ร่วมงานกันเพราะว่าพี่ขลุ่ย (อิศรา อารีรอบ) เป็นรุ่นพี่ที่รู้จักกันชวนมาร่วมกับโปรเจค CO – WITH CREATORS ครับ เห็นว่าน่าสนใจก็เลยเข้าร่วม” คุณเมธกล่าว

“ผมได้รับการชวนจากคุณราชิต (ราชิต ระเด่นอาหมัด) มาก่อน เราเป็นสถาปนิกเหมือนกัน ทำงานอยู่ภูมิภาคเดียวกัน และเคยเจอกันตามงาน เขาเลยผมชวนมาทำโปรเจคนี้ครับ” คุณแมทเสริม

จับความเยอะ ความน้อยมาเจอกัน

“ผมพยายามดูแนวการทำงานของเมธว่าเป็นยังไง พยายามไปหาต้นตอของคำว่ามินิมัล ความน้อยในมุมของเมธว่าเขามองยังไง จริง ๆ ในเนื้องานของผมก็จะเป็นแนวมินิมัลมาทางสายน้อยเหมือนกัน สำหรับโจทย์ที่ได้ทำคือ ASA Club มันค่อนข้างยากเพราะว่ามันเป็น Pavilion เดียวที่บรรจุคนเยอะ เป็นที่ที่คนมากองรวมกันเยอะกว่าที่อื่นเพราะว่าบูธส่วนใหญ่จะเป็นแบบเดินเข้าและออก  แต่ ASA Club มันมีฟังก์ชันเยอะกว่าที่อื่น ๆ เลยพยายามจับความเยอะ ความน้อยมาเจอกัน ผมพยายามหาวัสดุอะไรที่ถ้าเอามาทำและพอจบงานก็ออกไปเป็นขยะน้อยที่สุด” คุณแมทกล่าว

นิยามคำว่ามินิมัลในมุมของแต่ละคน

คุณเมธได้ให้คำนิยามของมินิมัลว่า น้อย นิ่ง งาม มันใช้ได้หมดกับทุกเรื่อง เพราะชีวิตของเขาเป็นแบบ นิ่ง ๆ ค่อย ๆ ทำไปเดี๋ยวมันก็จะสวยงามในตัวของมันเอง ในขณะเดียวกันคุณแมทได้ให้คำนิยามของคำว่ามินิมัลว่าเป็นการจัดการความมากให้เหลือน้อย ทุกอย่างมันจะมีความมากอยู่แล้ว บางอย่างที่ไปแตกมันออกมา มันจะยิ่งมากกว่าเดิม การจัดการมันไม่มีทางน้อยเลยในแง่ของงบประมาณ เศรษฐกิจ การก่อสร้าง ดีเทลต่าง ๆ แต่มันมีการจัดการอีกแบบหนึ่งที่ทำให้ความมากลดเหลือนิดเดียว นั่นก็คือการประหยัด เมื่อจัดการออกมาแล้วผลคือมันง่าย คุณแมทยังเชื่อว่า มนุษย์มาตัวเปล่าเล่าเปลือย ฉะนั้นความน้อยเป็นสัจจะพื้นฐานของการเป็นมนุษย์อยู่แล้ว อะไรที่มันเป็นธรรมชาติมันจะอยู่ได้และยั่งยืน”

Touchless Pavilion
“ลดสัมผัส” ที่ได้”รสสัมผัส”

ทั้งคู่คิดว่าการที่ทำอะไรสักอย่างไว้ แล้วสุดท้ายก็เอาไปโยนทิ้ง มันน่าเสียดายเป็นการใช้งานที่ไม่คุ้มค่าและกลายเป็นขยะ คุณแมทอธิบายว่า “ตอนแรกผมคิดว่าจะเอาวัสดุที่เช่าแล้วคืนได้ พวกยางรถยนต์ แต่วิธีการติดตั้งมันค่อนข้างยุ่งยากและวุ่นวายพอสมควร เลยคิดว่าเอาเป็นกระดาษลังดีกว่า เพราะถ้าแยกส่วนแล้ว เอาไปให้สถานที่ที่เขาน่าจะใช้ได้นำไปใช้ต่อ คงจะเป็นประโยชน์กว่า ด้วยความที่ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่คลุมเครือว่าจะใกล้ชิดกันได้แค่ไหน เลยคิดว่า ASA Club มันต้องเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นแบบเดิม ๆ เมื่อคุยกับคุณเมธก็เกิดคอนเซ็ปท์ “รสสัมผัส” ที่เป็นการลดการใกล้ชิด ด้วยความที่คำมันพ้องเสียง คำว่า “รส” สัมผัส ทำให้นึกถึง texture ของพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นว่ามันมีอารมณ์ ความรู้สึก บอกรสชาติอะไรบางอย่างที่อยู่ข้างใน เลยกลายเป็นคอนเซ็ปท์หลักของ Pavilion นี้ครับ ตอนนั้นได้รับโจทย์ให้ทำที่นั่งรองรับได้ 200 คน บวกกับวันสุดท้ายจะมีการแสดงสดของวงดนตรี ผมเลยนึกเป็น Stadium ที่นั่งสลับกันโดยมีแผงกันด้านข้าง ด้วยความที่ Stadiumมีสเต็ปเป็นขั้น ๆ คนแรกสามารถนั่งข้างล่าง อีกคนนั่งเฉียงไปข้างบนก็ได้ เพื่อไม่ให้คนที่เข้ามารุมอยู่ที่เดียว เลยกลายเป็น Touchless Pavilion นี้ขึ้นมา” 

คุณเมธเล่าเสริมว่า “ผมคิดในส่วนของระบบเสียงที่มันอยู่ตรงไหนก็สามารถได้ยิน เพราะว่าในงานสถาปนิกน่าจะมีเสียงดังตีกันเยอะ ผมเลยปรึกษาที่พี่แมทว่ามันสามารถแทรกลำโพงไปข้าง ๆ ได้ไหม” ซึ่งคุณแมทเองก็เชื่อใจว่าเขาสามารถทำให้ Stadium ธรรมดาที่มีมิติทางเสียง มีความรู้สึกที่เชื่อมกันได้ แม้ว่าตัวจะห่างกัน

Stadium กระดาษลังไม่กลัวน้ำ

ถ้าถามถึงไฮไลท์ของ Pavilion นี้ ทั้งคู่ก็ได้ให้คำตอบว่าการใช้กระดาษลังที่เยอะที่สุดและคนเข้าไปได้เยอะที่สุด คุณแมทกล่าวว่า “ตั้งแต่ผมหาข้อมูลมาส่วนใหญ่ผมจะเห็นเป็นสถาปัตยกรรมตามผนัง หรือนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่นั่งได้คนต่อคน นี่ถือว่าเป็น Paper Stadium ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มันมีความยากเรื่องความแข็งแรง และซ่อนชิ้นส่วนที่มันไม่ค่อยแข็งแรงให้มันใช้งานได้ ด้วยความที่ตัวกระดาษไม่เหมาะกับการรับแรงที่มากระทำเยอะๆ เราเลยต้องมาออกแบบส่วนของข้อต่อว่าทำยังไงให้มันอยู่ได้ บางส่วนที่เป็นที่นั่งอาจจะไม่ได้ใช้กระดาษ แต่ใช้วัสดุใกล้เคียงมากที่สุดเพื่อสะท้อนให้เขาเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วสถาปัตยกรรมที่ใช้งานหนัก ๆ มันก็สามารถสร้างจากกระดาษได้ เราพยายามเรียบเรียงความเยอะให้ออกมาน้อยที่สุด พอมารวมกันแล้วให้มันดูเรียบ ๆ ให้กลับไปสู่คำว่า น้อย นิ่ง งาม ผมคิดว่าความงามกันเกิดจากความแข็งแรงของการใช้วัสดุเพียงอย่างเดียวทั้งงานออกแบบ ตัวที่นั่งเราจะใช้ เอสซีจี บอร์ด หรือ วีว่า บอร์ด เอากระดาษลังทับ และนำฟิล์มมาเคลือบเพื่อกันเปียกอีกที”

คุณแมทเสริมว่า “ASA Club จะมีข้อจำกัดที่ว่าถ้าไม่ใช่สมาชิก หรือไม่ได้ลงทะเบียนจะเข้ามาอยู่ในนี้ไม่ได้ ดังนั้นก็เลยให้ที่ลงทะเบียนมาอยู่ตรงมุมข้างนอกด้านซ้าย-ขวาเพื่อลดการสัมผัส และการแออัด”

การทำงานร่วมกัน

เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสองสาขาอาชีพที่มีความแตกต่าง คุณเมธให้คำตอบว่าไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนเลย “ผมสงสัยว่ากระดาษลังมันจะสามารถทำเป็น Stadium ได้จริงไหม (หัวเราะ) แต่ผมเชื่อใจว่ามันต้องทำได้ เขาอยู่กับงานตรงนี้มาเยอะ ผมดูที่พี่แมทส่งมาทุกอย่างโอเคหมด มีแค่บางส่วนที่เป็นประสบการณ์ใหม่ อย่างเช่นมีวงดนตรีอยู่ตรงกลาง มีคนล้อม ผมยังไม่เคยทำคิดว่าน่าจะสนุก” เมธกล่าว

คุณแมทหัวเราะ พร้อมกับเสริมขึ้นว่ามันสนุกมาก ในขณะเดียวกันก็เครียดมาก “ มันเป็นโจทย์ที่ยากเพราะมันเป็น Pavilion ที่มีการใช้สอยพื้นที่มากที่สุด มีฟังก์ชันจุกจิก อาทิ ร้านกาแฟ บาร์เครื่องดื่ม บาร์อาหาร เราต้องคิดว่าทำยังไงให้คนไม่รวมกันเป็นก้อน โดยปริมาณพื้นที่ต้องเท่าเดิม จากที่คิดไว้ตอนแรก กลายเป็นว่าทำไม Pavilion ของเรายากจังเลย (หัวเราะ) บวกกับที่เราคิดว่าไม่อยากให้มันกลายเป็นขยะ อยากให้วัสดุมันประกอบง่าย ถอดง่าย ตรงนี้เลยกลายเป็นความท้าทายใหม่เผื่อว่าส่งต่อแรงบันดาลใจตรงนี้ให้กับคนอื่นได้ ”

สุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายกันไปขอให้ทั้งคู่ชวนคนมางานสถาปนิก’65 “แนะนำให้มาลงทะเบียนกันเยอะ ๆ เราจะได้มาทดสอบว่านั่งได้กี่คน (หัวเราะ) ผมคิดว่าการมานั่งคุยกับเพื่อนบน Stadium เป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าจะเร้าใจ ผมว่ากระดาษลังน่าจะดีกับระบบเสียงด้วยเพราะว่ามันซับเสียงพอสมควร เสียงน่าจะเพราะ ดังนั้นฝากบูธ ASA Club ด้วยนะครับมาทดสอบด้วยกันในวันงาน” เมธกล่าว

“มาทดสอบว่า Paper Architecture ในพื้นที่จริง มันใช้งานหนักหน่วงได้หลายเท่าไหม เพื่อที่จะเอาไปต่อยอด ถ้าคุณทำสถาปัตยกรรมที่ใช้เพียงชั่วคราว ลองมองทางเลือกที่มากกว่าไม้อัดหรือเหล็ก กระดาษเป็นทางเลือกที่ใช้ได้และทำงานได้เยอะกว่าที่คุณคิด เชิญมาลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาในการก่อสร้างและลดสัมผัส รวมถึงการลดในอีกหลายๆ มิติ แต่เพิ่มมุมมองใหม่ๆ เราไม่เคยมี ASA Clubในรูปแบบของ Stadium หรือ arena มาก่อน อยากเชิญชวนให้มาลุ้นและท้าทายไปด้วยกันครับ”

งานสถาปนิก’65 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ https://bit.ly/3t73Fzw สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ArchitectExpo.com หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts