‘Others see floor, we see MORE’
Motto ในการดำเนินธุรกิจที่เราคงเดาได้ว่าอาจจะมีความเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมตกแต่งพื้นและผนังที่พอได้ยินประโยคนี้จากคนในวงการ ก็กระตุ้นความอยากให้เสาะหา สืบถาม โยงใยประเด็นเพื่อ See More ในทุกมิติของนวัตกรรมนี้
เพราะจากการสั่งสมประสบการณ์ที่มีเบื้องหลังมาจากการเดินทางเฟ้นหา นำเข้า พัฒนา และจัดจำหน่ายวัสดุตกแต่งพื้นและผนังระดับพรีเมียมจนย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ของ WDC ผู้นำเข้าวัสดุตกแต่งพื้นและผนังจากทั่วทุกมุมโลก
จึงไม่เป็นเรื่องยากเลยที่เราจะส่งต่อบทสนทนาดี ๆ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างคำถามและคำตอบของผู้เขียนกับ คุณเบนซ์-บุญประเสริฐ ศิริโรจน์รัตนะ Senior Corporate Brand and Retail Marketing บริษัท เวสเทิร์น เดคอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจในการเล่าเรื่องและถ่ายทอดตัวตนของ WDC ได้อย่างลึกซึ้งจนเกินความคาดหมายจากผู้บริโภคตัวเล็ก ๆ อย่างเราได้
โดยเฉพาะประโยคตีตรงที่เขากล่าวออกมาด้วยรอยยิ้มและแววตาที่เต็มไปด้วยพลังของ Passion ว่า “Innovation is the Only Way to Win นวัตกรรมคือสิ่งที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดสามารถปักธงในการเป็นคนที่ Conquer ตลาดได้ ซึ่งถามว่าทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญขนาดนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์”
แค่เปิดด้วยประโยคนี้เราก็ขออวดอ้างถึงบทสนทนาที่เรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดา นำพาให้ผู้อ่านได้ See More ต่อจากบรรทัดนี้
ประสบการณ์ 20 ปี ที่มีจุดยืนใน 3 มิติ
‘นวัตกรรม ดีไซน์ ความคุ้มค่า’
“บริษัทเราปีนี้เข้าปีที่ 20 สำหรับการเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระเบื้อง แล้วสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการที่เราอยากให้กระเบื้องเป็นวัสดุตกแต่งพื้นและผนัง ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ไม่ใช่แค่เอาไปแปะแล้วสวยแต่มันต้องมีอะไรมากกว่านั้น”
พอนั่งฟังเขาเกริ่นด้วยประโยคนี้นักอ่านบางท่านอาจยังไม่เห็นภาพ คู่สนทนาของเราจึงขยายความถึงวิสัยทัศน์ที่ทาง WDC ใช้ชี้นำในการดำเนินธุรกิจอยู่เรื่อยมา สรุปอย่างรวบรัดเป็น 3 คำ คือ นวัตกรรม ดีไซน์ ความคุ้มค่า
“3 คำนี้มาจากความพยายามที่จะถอดรหัสว่าในกระเบื้อง 1 แผ่น ประกอบด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วในฐานะขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมันมีอะไรบ้างที่จะ Serve ลูกค้า สิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือเรื่องของความคุ้มค่า
เราอยากเอากระเบื้องสวย ๆ หน้าตาแบบ European แต่ราคาเอเชีย เพราะว่าเราอยากให้บริโภคได้รับของที่สวยงาม เอาไปใช้งานจริง ๆ ในราคาที่จับต้องได้ง่าย และเข้าถึงได้ง่าย
แล้วก็มิติสุดท้ายก็คือเรื่องของนวัตกรรม เรามองว่า Innovation is the Only Way to Win นวัตกรรมคือสิ่งที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดสามารถปักธงในการเป็นคนที่ Conquer ตลาดได้ ซึ่งถามว่าทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญขนาดนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ นวัตกรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิต ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สวยงามขึ้น แล้วก็มีคุณภาพมากขึ้น”
ดูเป็น 3 คำที่สั้น กระชับ แต่เมื่อคุณเบนซ์ได้แกะแต่ละคำแล้วมันกลับเป็นอะไรที่ครอบคลุมคุณประโยชน์สำหรับผู้บริโภคอย่างรอบด้าน
กระเบื้องที่ยกระดับคุณภาพชีวิตท่ามกลางสังคมผู้สูงอายุ
หลังจากจบประเด็นเรื่องจุดยืนทั้ง 3 มิติ ของ WDC ไปแล้ว เราก็จับประเด็นความสงสัยต่อกับเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตที่มองเห็นภาพค่อนข้างเลือนรางในส่วนของนวัตกรรมตกแต่งพื้นและผนัง แต่พอได้ฟังคุณเบนซ์เล่าต่อจากนี้เท่านั้นแหละ เราถึงกับอ๋อเลย เพราะไม่คิดว่าแค่กระเบื้อง 1 แผ่น ก็สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่ Aging Society (สังคมผู้สูงอายุ) โดยที่เราไม่รู้ตัว
“วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่ Aging Society อย่างเต็มตัว เพราะฉะนั้น Segment ของลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ ผู้สูงอายุค่อนข้าง Concern เรื่องของความปลอดภัยมาก ๆ
วันนี้นวัตกรรมจึงมาตอบโจทย์ในการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วยกระเบื้องกันลื่น มีผิวที่นุ่ม ไม่บาดเท้า ซึ่งกลไกการทำงานอยู่ที่การเคลือบผิวด้วยสารชนิดพิเศษที่ทำให้กระเบื้องผิวนุ่มตอนที่ยังแห้ง แต่เมื่อใดก็ตามที่กระเบื้องโดนน้ำ ผิวจะมีความหนืดขึ้น ทำให้กระเบื้องปลอดภัยและไม่เจ็บเท้า”
Raw Material ที่แตกต่างตามพิกัดภูมิศาสตร์
อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่แรกเริ่มของบทสัมภาษณ์ว่า WDC คือ ผู้นำเข้ากระเบื้องจากทั่วทุกมุมโลก เราจึงลองโยนข้อสงสัยไปว่าในแต่ละพื้นที่ที่มีการนำเข้ากระเบื้องนั้นมีเอกลักษณ์หรือความแตกต่างในขั้นตอนการผลิตที่สร้างอัตลักษณ์ของกระเบื้องแต่ละแผ่นหรือไม่ คุณเบนซ์ก็พาเราลงลึกไปถึงความรู้ในศาสตร์ธรณีวิทยาโดยการเล่าว่า
“ต้องบอกว่าหนึ่งอย่างที่เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของโรงงานในแต่ละประเทศ คือ ภูมิศาสตร์ที่แต่ละประเทศจะมี Raw Material ที่เป็นดินในการผลิตกระเบื้องที่ต่างกัน อินโดนีเซียมีภูเขาไฟเยอะ ก็มีจะแร่ธาตุเยอะ หรือถ้าเป็นประเทศจีนที่มีดินขาว เขาก็สามารถผลิตกระเบื้องในรูปแบบหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นลักษณะทางภูมิศาสตร์จึงเป็นหนึ่งตัวที่กำหนดว่ากระเบื้องในแต่ละประเทศจะผลิตออกมาได้ในรูปแบบไหน”
‘กระเบื้อง’ Item พิทักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม
‘ความยั่งยืน’ คุณอาจจะเห็นคำนี้จนชินชาและเอียนเสียจนอยากเลื่อนสายตาหนี อยากจะบอกว่าเราก็รู้สึกไม่ต่างกัน ทว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธและทำเมินเฉยได้ คือ ความยั่งยืนไม่ได้เป็นแค่หลักการที่มีขึ้นมาเพียงผิวเผิน แต่มันคือหลักที่ช่วยกอบกู้วิกฤตที่มนุษย์ได้สร้างให้กับโลกและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน
ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่ต้องใช้เครื่องกระจายเสียงให้อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในหลักการนี้ และ WDC เองก็ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมขบวนการผู้ประกอบการพิทักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม
“กระเบื้องเป็นวัสดุที่ค่อนข้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถรีไซเคิลได้ ต้องบอกว่ากระเบื้องถูกผลิตมาจากดินเหนียว วันหนึ่งที่หมดอายุการใช้งานเราก็นำไปป่นอีกครั้งแล้วกลับมาเป็นดินเหนียวและผลิตใหม่ ซึ่งก็ตอบคำถามในเชิง Product เองว่ากระเบื้องมีความ Sustainable มากแค่ไหน
ปัจจุบันเราอยากที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไป เพราะเรามองว่าทำธุรกิจได้กำไรมันก็เป็นอีกหนึ่งเรื่อง แต่ว่าทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมันก็สำคัญ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยั่งยืนกับตัวเราเองและโลกของเรา”
ดีไซเนอร์ที่เป็นเสมือน Influencer ของแบรนด์
เพียงพอแล้วสำหรับคำถามที่ค่อนข้างจะตึงและจริงจัง มาในประเด็นนี้เราจึงเอาใจกลุ่มคนที่หลงใหลในงานออกแบบที่อาจต้องนึกภาพย้อนไปในงานสถาปนิก’65 ที่ WDC ได้จับมือกับ ACA Architects ในการสื่อสารให้ผู้ชมหรือผู้บริโภคได้มองเห็นกระเบื้องในฐานะของ Element ทางสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างในรูปแบบสามมิติผ่าน Thematic Pavilion
ที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน คือ การ Collab กับดีไซเนอร์ชื่อเก๋าแห่งวงการออกแบบอย่าง คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ในการฉีกกฎงานดีไซน์และท้าทายศักยภาพของวัสดุกระเบื้องจนมาจบที่ใช้เวลาคิดค้นและออกแบบยาวนานถึง 3 ปี ถึงได้เผยคอลเลกชันที่มีชื่อว่า ‘Mediate’ กระเบื้องจำลองหินธรรมชาติที่ซุกซ่อนไปด้วยนวัตกรรมเหนือความเป็นธรรมชาติ
“เรามองว่าดีไซเนอร์เป็นเสมือน Influencer ของแบรนด์ เป็นผู้ใช้งาน เราเลยค่อนข้างที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า งานออกแบบ หรือผู้ให้บริการการออกแบบอย่างสถาปนิกเขามีส่วนสำคัญในการทำให้เจ้าของบ้าน หรือว่าทำให้ผู้ที่ใช้งานกระเบื้องมีความเข้าใจ
เรามองว่าพอดีไซเนอร์มีความเข้าใจในเรื่องเทรนด์ เรื่องดีไซน์ เราเลยคิดว่ามันคงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยถ้าเราได้เอาประสบการณ์ เราได้เอา Expertise ที่สถาปนิกที่มีความเข้าใจเรื่อง Space มาช่วยเราในการคิดค้นนวัตกรรม หรือว่าดีไซน์ใหม่ ๆ”
ในงานสถาปนิก’67 นี้ WDC ก็พร้อมที่จะกลับมาอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ใครที่เป็นลูกค้าของ WDC โดยตรงหรือเพิ่งรู้จักแบรนด์ผ่านบทสัมภาษณ์นี้ คุณเบนซ์ได้เผยกับเราว่าจะมีการขนนวัตกรรมหลาย ๆ อย่างที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่การใช้งานจริง ดีไซน์ที่ตรงกับความต้องการในยุคปัจจุบัน และความแปลกใหม่ที่มีให้สัมผัสในงานสถาปนิก’67
ฉีกกรอบวัสดุตกแต่งพื้นและผนัง
มาจนถึงปี 2023 แล้วกระเบื้องยังเป็นได้แค่วัสดุตกแต่งพื้นและผนังจริงหรือ ประเด็นก่อนหน้าที่เล่าถึงการออกแบบ Thematic Pavilion อาจจะตอบคำถามนี้ได้ดี แต่เราคิดว่ามันยังไม่ชัดเจนมากพอ เพราะเราอยากรู้ใน Detail เพื่อให้ผู้อ่านได้คุ้นเคยกับกระเบื้องที่เป็นมากกว่าวัสดุตกแต่งพื้นและผนังไปพร้อม ๆ กัน
“นวัตกรรมในยุคนี้สามารถนำกระเบื้องไปใช้ได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งในอดีตกระเบื้องที่สามารถแปะฟาซาดอาคารได้และมีน้ำหนักเบา โดนคราบสกปรกได้ และไม่รั่วไม่ซึมหาได้ยาก
แต่พอมีเทคโนโลยีที่เอื้อให้สามารถผลิตกระเบื้องที่มีความบาง น้ำหนักเบา มีลายที่สวยงาม แข็งแกร่ง ทนทานต่อสภาพอากาศทำให้ใช้ได้หลายอย่าง เช่น ใช้กระเบื้องในการกรุฟาซาด หรือนำมาตัดเป็น Basin (อ่างล้างหน้า)
บางคนก็นำมาใช้งานในรูปแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น Cantilever (โครงสร้างคานยื่น) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะหล่นลงมา แต่พอกระเบื้องมีน้ำหนักเบารวมกับนวัตกรรมในการติดตั้งที่ง่ายขึ้นเลยทำให้กระเบื้องออกจากกรอบที่ใช้ตกแต่งแค่พื้นและผนัง” คุณเบนซ์เล่า
กระเบื้องที่เรามองเห็นในเบื้องหน้า
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกระเบื้องยังถูกคิดค้นและพัฒนามาจนถึงขนาดนี้ แล้วอีก 30 – 40 ปีข้างหน้าล่ะ กระเบื้องจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบไปในทิศทางใด คำถามนี้ถูกตั้งขึ้นมาหลังจากได้รับฟังเรื่องราวของ WDC ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง ณ ปัจจุบัน
“เมื่อ 30 – 50 ปี ธุรกิจกระเบื้องมันถูก Monopolize (ผูกขาด) ด้วยผู้เล่นไม่กี่ราย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงทางเลือกได้เยอะขนาดนั้น
การเข้ามาของกระเบื้องนำเข้าทำให้ตลาดตื่นตัวมากขึ้นและไม่หยุดอยู่กับที่ ซึ่งคนขายกระเบื้อง ขายวัสดุตกแต่ง ก็ต้องไปเฟ้นหาสินค้าที่ดีที่สุด สวยที่สุด ราคาดีที่สุด
สุดท้ายมันก็จะทำให้บรรยากาศภาพรวมของตลาดน่าสนใจมากขึ้น ตัวเลือกมีเยอะขึ้น ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงโอกาสในการเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับตัวเองในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งมันก็คือการแข่งขันนั่นแหละ แต่ว่าสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์คือผู้บริโภค
และเราเชื่อว่ากระเบื้องที่มีความคล้ายคลึงกับหินตามธรรมชาติจะมีราคาถูกลง เพราะเรื่องการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นโดยทั่วกัน เพราะฉะนั้นการแข่งขันมันก็ย่อมนำพาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบภายในไปในทิศทางที่มีความน่าสนใจมากขึ้น และถูกยกระดับไปในมิติที่ดีมากขึ้น”
แล้วผู้อ่านล่ะมองเห็นกระเบื้องที่เป็นตัวละครในวงการออกแบบไว้อย่างไรบ้าง
บอกเล่าแบบเปรย ๆ ก่อนจัดเต็มในงานสถาปนิก’67
“WDC กำลังจะเปิดสาขาที่ 9 เป็นสาขา Flagship ที่ใหญ่ที่สุด ที่พร้อมมอบประสบการณ์ในการเลือกซื้อกระเบื้องอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะประกอบไปด้วยสินค้า Line-Up ที่มีขายอยู่แล้ว และนวัตกรรมที่จะนำเข้าเอามาขาย ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องที่มีลักษณะการพิมพ์ปั๊มนูนและจมแบบ Debossing แล้วก็ Embossing ทำให้ Surface มีความเหมือนจริงตามธรรมชาติ
นี่เป็นไฮไลท์ตัวแรกที่พูดถึง เรายังมีนวัตกรรมอีกมากมาย ถ้าให้เล่าวันนี้น่าจะถึงหกโมงเย็น (หัวเราะ) แต่หลัก ๆ แล้วสิ่งที่อยากบอกเล่าและนำเสนอในงานสถาปนิก คือ เราเปิด Flagship สาขาที่ 9 แล้ว ซึ่งมันจะอัดแน่นไปด้วยสินค้านวัตกรรมดีไซน์ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แล้วที่สำคัญคือความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับไปจาก WDC”
แวะไปเยือน WDC สาขาที่ 9 กันแล้วก็อย่าลืมมางานสถาปนิก’67 กันล่ะ เพราะเราได้ย้ำไปหลายคราแล้วว่า WDC จะขนความคุ้มค่าและความพิเศษมามากมายจนเราไม่สามารถพลาดงานนี้ได้
“ผมเชื่อว่างานสถาปนิกในแต่ละปีเป็นเหมือนกิจกรรมแห่งชาติ สำหรับคนที่สนใจมาอัปเดตนวัตกรรมและสินค้าใหม่ เราจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ในวงการสถาปนิก งานสถาปนิกถือเป็นอีกแพลตฟอร์มที่ช่วยยกระดับวงการออกแบบ ไม่ใช่แค่งานสถาปัตยกรรมแต่รวมไปถึงวงการของคนแต่งบ้าน วงการของ Developer และอื่น ๆ เลยไม่อยากให้พลาดงานสถาปนิก’67”
กลับมาคราวนี้พิเศษสุด ๆ แล้วโปรดจดจำตำแหน่งที่ตั้งของบูธ WDC ไว้เลยว่าบูธหมายเลข S108 ที่งานสถาปนิก’67 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 36 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี