เปิดโปรไฟล์ประธานจัดงานสถาปนิก’67 ทั้ง 4 ท่าน

รอคอยกันอีกไม่นานเราก็จะได้ไปเยือนและสัมผัสประสบการณ์แห่งไอเดียและนวัตกรรมออกแบบก่อสร้างแล้วกับงานสถาปนิก’67 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี และเพื่อเป็นการทำความรู้จักประธานจัดงานสถาปนิก’67 ร่วมทั้ง 4 ท่านที่พร้อมผนึกกำลังสร้างสรรค์งานที่จะมาถึงนี้ เรามาทำความรู้จักแต่ละท่านกันเลยดีกว่า

01

กลิ่นอายของความเป็นพื้นถิ่น ภูมิปัญญา ประเพณี และวัฒนธรรมของภาคอีสานที่ถูกขมวดรวมแล้วต่อยอดเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรม

ภายใต้งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival) สำหรับใครที่คุ้นหน้าคุ้นตากับเทศกาลนี้ คงต้องมามุงดูเบื้องหลังของผู้จัดงานอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA (Creative Economy Agency) ที่ได้ คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น ณ ขณะนั้น มาขับพลังความเป็นท้องถิ่นอีสานในแบบที่ซึมลึกถึงรากเหง้า แล้วเติมเต็มด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดทางเศรษฐกิจ

สำหรับงานสถาปนิก’67 นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเซอร์ไพรส์และเป็นเกียรติที่ได้ผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลที่ผสมผสานตัวตนของคนท้องถิ่นมารวมกับความคิดสร้างสรรค์ของคนต่างสายอาชีพอย่าง คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ มาเสริมสร้างบรรยากาศของงาน อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะล่วงรู้ว่าคอนเซ็ปต์ของงานสถาปนิก’67 คืออะไร เราลองมาทำความรู้จักกับคุณชุตยาเวศกันก่อน

คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ที่เรารู้จักกันในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น ทว่าพอลองตามติดเบื้องหลังแล้วกลับพบถึงหมวกหลายใบที่เขาสวมใส่ในหลากวาระ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์พิเศษด้านสถาปัตยกรรมและนักวิจัยด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง รวมไปถึงเป็นสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Site-Specific: Architecture & Research (SS:AR) ดีไซน์สตูดิโอที่สนุกไปกับการลองผิดลองถูกเพื่อเชื่อมการออกแบบเข้ากับวงการก่อสร้าง

ปัจจุบัน คุณชุตยาเวศ เป็นผู้ก่อตั้ง สถาบันเกษตรกรรม และสถาปัตยกรรมธรรมชาติ เพื่อระบบนิเวศน์เมือง และชนบท (N.A.A.T.U.R.E.) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่เน้นถึงการอยู่ร่วมกันของ ธรรมชาติ มนุษย์ อาหาร และสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ภาพจาก ArchDaily

การสร้างสเปซสำหรับส่วนรวมนับว่าเป็นจุดเด่นของสไตล์การออกแบบที่เรามองเห็นจากตัวตนของเขา เห็นได้ชัดจากผลงาน Bangkok CityCity Gallery พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินท้องถิ่นและศิลปินหน้าใหม่ ตั้งอยู่ใจกลางย่านการค้าของกรุงเทพมหานคร เมื่อเดินผ่านสามารถมองเห็นความโดดเด่นของตัวอาคารรูปทรงเรียบง่าย ในขณะเดียวกัน หากหยุดสังเกตเพื่อกักเก็บรายละเอียดก็รู้สึกถึงการเกิดปฏิสัมพันธ์และเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่ดังกล่าว เสมือนว่าสเปซแห่งนี้ได้ผสานเอาความเป็นธรรมชาติและความเรียบง่ายไว้ในผืนผ้าใบที่ว่างเปล่า (Blank Canvas) ซึ่งแฝงไปด้วยความหมายอย่างแยบยล

02

สถาปนิกจากเชียงใหม่ผู้มีความหลงใหลในความเป็นพื้นถิ่น ถ่ายทอดเป็นงานดีไซน์ในสไตล์ล้านนาผสานไปกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้อย่างลงตัว

อาร์ท – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ สถาปนิกผู้ที่เกิด เติบโต และบ่มเพาะความหลงใหลในสายอาชีพนักออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนตัดสินใจบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ Illinois Institute of Technology และปริญญาเอกที่ The University of Hawaii at Manoa ในด้านเดียวกัน ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ศิษย์เก่าและวิชาชีพสัมพันธ์ และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลังจากทำความรู้จักกับเขาได้สักพักจะเห็นถึงความถนัดทางด้านวิชาการอย่างแรงกล้า แต่ขณะเดียวกัน สายเลือดของความเป็นสถาปนิกล้านนาก็ยังไหลเวียนในตัวเขาอย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน L.A.P.D. (Lanna Architects Party Department) หรือ ลาบ คือ กลุ่มของสถาปนิกรุ่นใหม่ในท้องถิ่นภาคเหนือที่ถอดแบบมาจาก ลาบ’ อาหารเหนือชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการคลุกเคล้าผสมผสานของวัตถุดิบ แล้วแบ่งปันกันในวาระต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนได้พบปะแล้วตีวงสนทนา แลกเปลี่ยนมุมมอง เชื่อมรอยต่อในการส่งมอบประสบการณ์ และร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและพื้นที่สาธารณะ โดยสมาชิกที่รวมกลุ่มกันมีตั้งแต่สถาปนิก อินทีเรียดีไซเนอร์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ กราฟิกดีไซเนอร์ นักดนตรี ผู้รับเหมา ซึ่งแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีภูมิหลังในด้านสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น

L.A.P.D. (Lanna Architects Party Department) หรือ ลาบ คือ กลุ่มของสถาปนิกรุ่นใหม่ในท้องถิ่นภาคเหนือที่ถอดแบบมาจาก ‘ลาบ’ อาหารเหนือชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากคลุกเคล้าผสมผสานของวัตถุดิบ แล้วแบ่งปันกันในวาระต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนได้พบปะแล้วตีวงสนทนา แลกเปลี่ยนมุมมอง เชื่อมรอยต่อในการส่งมอบประสบการณ์ และร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและพื้นที่สาธารณะ

หากมองทัศนคติในการออกแบบของเขา การสำรวจผ่าน Collaborative Architects Studio (CAST) สตูดิโอที่สร้างงานดีไซน์ตอบโจทย์ในหลายมิติ ทั้งด้านสุนทรียศาสตร์ บริบทของเมือง เศรษฐศาสตร์ และที่สำคัญคือตอบโจทย์การใช้งาน แล้วด้วยบทบาทที่เป็นทั้งสถาปนิก นักออกแบบ และอาจารย์ การประยุกต์ใช้กระบวนการทำงานและประสบการณ์ของบทบาทที่หลากหลาย เช่น การวิจัยมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน จึงเสมือนการผูกตัวตนลงในงานออกแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในทุกบริบท คงจะเป็นนิยามที่บ่งบอกได้อย่างเห็นภาพ

ภาพจาก สำนักสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง

นอกจากนี้ ความเป็นล้านนายังซุกซ่อนอยู่ในงานออกแบบของเขาได้อย่างกลมกลืนและมีเสน่ห์เฉพาะตัว ตัวอย่างโปรเจกต์ที่ครอบครองเอกลักษณ์เหล่านี้ คือ โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง อาคารแบบล้านนาที่ถูกขับเสน่ห์ด้วยฟังก์ชันการออกแบบให้เข้ากับบริบทและสภาพแวดล้อม เริ่มด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่มองแล้วก็รับรู้ถึงแรงบันดาลใจในสไตล์อาคารแบบล้านนาจากหลังคาปั้นหยา เพิ่มศักยภาพในรายละเอียด ตั้งแต่หลังคาลาดชันที่ช่วยในเรื่องการระบายน้ำฝน ฟาซาด (Façade) ที่ลดขนาดช่วยกรองแสงและความร้อน ทั้งยังเพิ่มความสวยงามให้กับตัวอาคารอีกด้วย เมื่อเดินเข้ามาภายในก็รู้สึกปลอดโปร่ง เพราะการวางผังที่เน้นให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และสามารถรับแสงธรรมชาติได้อย่างพอเหมาะ

ตัวตนที่เด่นชัด สไตล์การออกแบบที่สื่อสารความเป็นท้องถิ่นภาคเหนือ เพียงเท่านี้เราก็สามารถเดาได้ว่างานสถาปนิก’67 คงจะถูกดึงเสน่ห์แล้ว sketch ภาพลักษณ์ใหม่ให้ฉีกจากขนบเดิม ๆ ในมุมที่เราคาดไม่ถึงอย่างแน่นอน

03

สถาปนิกมากบทบาท ผู้สร้างความรู้สึกใหม่ให้กับวัสดุแบบเดิม ๆ แฝงมากับประสบการณ์การทำงาน คิดค้น ระดมไอเดียกับเพื่อนร่วมงานหลากสัญชาติ จนสั่งสมมาเป็นสตูดิโอที่จับมือกับพาร์ทเนอร์ชาวไต้หวัน เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ที่ให้ความสนใจและศึกษาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน

ป้อ – กุลธิดา ทรงกิตติภักดี หนึ่งในหัวเรือใหญ่แห่ง HAS design and research จากนิสิตสถาปัตย์ฯ รั้วจามจุรีที่กอบกุมความฝันของการเป็นสถาปนิกตั้งแต่วัยเยาว์ เดินทาง เรียนรู้บนเส้นทางของนักออกแบบจากจุดเริ่มต้นที่บริษัทสถาปนิก 49 จนคว้ารางวัล Renzo Piano Foundation จากการคัดเลือกทั่วโลก ได้รับทุนให้ไปฝึกงานที่ Renzo Piano Building Workshop (RPBW) บริษัทสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อที่กรุงปารีส ก่อนจะบินกลับมายังเอเชียร่วมงานกับ Rocco Design Architects Associates ในฮ่องกง แล้วค่อยขยับเขยื้อนมาที่ NBBJ ในตำแหน่ง Associate ของบริษัทสถาปัตยกรรมสัญชาติอเมริกันในเมืองเซี่ยงไฮ้

กว่า 12 ปีของประสบการณ์ในต่างแดน กุลธิดาเริ่มหันมาค้นคว้าเรื่องราวใกล้ตัวในเรื่องของพัฒนาการสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยอย่างจริงจัง จนได้รับเชิญให้เป็นบรรณาธิการนิตยสารสถาปัตยกรรมทั้งในจีนและไต้หวันและอาจารย์พิเศษในหลายสถาบัน กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐานของ HAS design and research ห้องทดลองของนักออกแบบที่ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ของวัสดุ ผสานกับการสร้างธรรมชาติใหม่จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว นำมาสู่งานสถาปัตยกรรมที่ต่อยอดความคิด เพิ่มคุณค่าให้กับผู้ใช้อาคาร และสร้างจินตนาการได้อย่างไม่จำเจทั้งในประเทศไทยและจีน ตัวตนและสไตล์การออกแบบของเธอได้สะท้อนออกมาในตัวอย่างผลงาน MoMA Thailand พื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมอะลูมิเนียมที่แสดงออกผ่านทางเปลือกอาคาร โดยการดัดแปลงรูปทรง จัดวางอย่างมีระบบแต่หลากหลายในการสร้างมิติและนำเสนออัตลักษณ์ใหม่ของวัสดุโลหะได้อย่างชาญฉลาด ทั้งยังตีความพื้นที่แวดล้อมแล้วซุกซ่อนลงในแท่งโลหะอย่างเฉียบคม

ภาพจาก ArchDaily

คนอาจมองว่างานออกแบบคือตัวตนของเธอ แต่หากเปิดไดอารี่อีกด้านเรากลับพบว่า การจับปากกาเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์ในฐานะนักเขียนก็เป็นสิ่งที่เธอหลงใหลไม่แพ้งานออกแบบเช่นกัน โดยในปี 2559 กุลธิดาเขียนหนังสือที่ชื่อว่า ตึก ตึก โป๊ะ จังหวะชีวิต สถาปนิก ทุนเปียโน สู่แดนมังกร ไดอารี่ขนาดกะทัดรัดที่บอกเล่าเรื่องราวของเธอในต่างแดน

และ “THE improvised” Phetkasem Artist Studio | อัตลักษณ์ใหม่ที่เป็นไปได้ในความอัปลักษณ์ ที่เล่าถึงกระบวนการงานออกแบบของเธอ ในปี 2564 ตามลำดับ

พออ่านหนังสือชีวิตของเธอมาจนถึงบรรทัดนี้ เราเชื่อว่าคงมีนักอ่านหลายท่านที่อยากจะรู้จักตัวตนและงานออกแบบของเธอมากยิ่งขึ้น งานสถาปนิก’67 จะขอทำหน้าที่เป็นเวทีให้คุณได้เสาะหาแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ๆ ในวิถีนักออกแบบ ควบคู่ไปกับเส้นขนานอีกทางในสายนักเขียนกับเธอคนนี้ ป้อ – กุลธิดา ทรงกิตติภักดี

04

ดร.พร้อม อุดมเดช อาจารย์หนุ่มไฟแรงจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ภาคอินเตอร์ ที่ตกตะกอนความหลงใหล และความสนใจต่อยอดในงานด้านสถาปัตยกรรม จนตัดสินใจมุ่งเข้าศึกษาต่อในด้าน Project and Enterprise Management ที่ The Bartlett School of Sustainable Construction, University College London (UCL) ณ ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางสังคมที่รายล้อมไปด้วยวัฒนธรรม ผู้คนที่หลากหลาย และงานสถาปัตยกรรมที่ถอดแบบมาจากเทพนิยาย

หลังจากที่ใช้เวลาเพิ่มพูนประสบการณ์ และความรู้เฉพาะทางจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว จึงกลับมาทำงานเป็นระยะเวลา 1 ปี ในฐานะนักออกแบบที่ A49HD บริษัทสถาปัตยกรรมที่รวมนักออกแบบจากหลากหลายสาขา ซึ่งได้รับการยอมรับมากที่สุดในประเทศไทย จากนั้นเขาก็โยกย้ายมาช่วยกิจการของครอบครัว ก่อนหวนกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดิมคือ UCL ในสาขา Construction and Project Management

เคลื่อนย้ายเข็มนาฬิกามาที่ขณะนี้ ในส่วนของภาคการศึกษา เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหลักสูตรสถาปัตยกรรมสหวิทยาการนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) แล้วพ่วงด้วยตำแหน่งอาจารย์พิเศษประจำหลักสูตร Creative Communication Design (CCD) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาคอินเตอร์

ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้น เขาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร บริษัท 47P Collaboration ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในด้าน Building Information Modelling (BIM) ให้กับโครงการและบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และคณะกรรมการร่างมาตรฐานการใช้งาน BIM สำหรับงานออกแบบ และงานก่อสร้างในประเทศไทย

ในงานสถาปนิก’67 นี้ เราจะได้รู้จักตัวตนของเขาที่ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม และขอรับรองเลยว่าจะช่วยเติมไฟให้เหล่านักศึกษาสถาปัตย์ และผู้ที่ใฝ่ฝันจะจับดินสอนั่งเขียนแบบจนไม่มีทางดับมอดอย่างแน่นอน

สำหรับงานสถาปนิก’67 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://architectexpo.com/ และทาง Facebook งานสถาปนิก: ASA EXPO

สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2024/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

ที่มาข้อมูล