ความร่วมมือคือคำตอบ?
เมื่อ “สถาปัตยกรรมไม่ได้จบแค่ที่สถาปนิก”

เพื่อประโยชน์ผู้ใช้สอย

ขั้นตอนแรก ๆ ในการทำงานของสถาปนิกเพื่อออกแบบอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ คือการทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้งานจากข้อมูลที่ลูกค้าให้ผ่านการพูดคุยหรือวิธีการต่าง ๆ  เพื่อนำมาสร้างแนวคิดหลักในการออกแบบ ให้ได้สถาปัตยกรรมอย่างที่ลูกค้าต้องการ ก่อนจะนำมาสู่การออกแบบ อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำงานเช่นนี้ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวที่เป็นหลักยึดถือไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังไม่ได้แปลว่าสถาปนิกต้องเป็นผู้ดำเนินการทุกขั้นตอนลำพังคนเดียวเท่านั้นเสมอไป ประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ของโลกตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดในการพัฒนาชุมชนไปจนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้หลายสถาปนิกหันมองแนวทางการสร้างสรรค์รูปแบบที่ต่างไปจากเดิม เช่น การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม

สู่การออกแบบร่วมกัน

แนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบโดยมีส่วนร่วม (Participatory Design) และแนวคิดการออกแบบร่วมกัน (Co-design) มีลักษณะคล้ายกันอยู่ที่การปฏิเสธความหมายแบบเดิมของนักออกแบบที่เป็นผู้มีบทบาทสร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียวเพื่อตอบโจทย์ของผู้ใช้งาน แต่คือการให้ผู้ที่ไม่ได้มีพื้นฐานในการออกแบบมามีส่วนร่วมในการออกแบบ เช่น ในระดับเล็กน้อยอย่างการประเมินผลงานการออกแบบหรือการทดสอบการใช้สอย ในกรณีของการออกแบบโดยมีส่วนร่วม และการออกแบบที่พลิกวิธีคิดแบบเดิมโดยสิ้นเชิงด้วยการมองว่าผู้ใช้งานเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในประสบการณ์นั้น ๆ จึงต้องมีบทบาทการสร้างแนวคิดการออกแบบด้วย โดยนักออกแบบมีหน้าที่ช่วยเหลือ

สถาปัตยกรรมที่ต้องการความรู้เฉพาะทางจึงไม่ได้ต้องการสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเสมอไป เพราะความรู้นั้นสามารถมาจากสาขาวิชาอื่นหรือแม้แต่ตัวผู้ใช้งานเองก็ได้ เช่น

“เขตส่งเสริมการเดินเท้า” โรงเรียนอนุบาลระนอง เป็นผลงานจากกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มครู นักเรียน ประชาชน และหน่วยงานรัฐ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้โดยมีกลุ่มนักเรียนขับเคลื่อนการจัดการปัญหาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้

การพัฒนาแบบบ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยโดยสุชน ยิ้มรัตนบวร สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับผู้สูงอายุ เพราะมีส่วนร่วมในการออกแบบ ส่งเสริมสภาวะทางจิตใจ

“สถาปัตยกรรมจะสมบูรณ์ได้ ไม่ได้จบแค่ที่สถาปนิก”

“ผมมองว่าการจะทำให้งานสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งมันสมบูรณ์ได้มันไม่ได้จบแค่ที่สถาปนิก” คุณอิศรา อารีรอบ หนึ่งในประธานการจัดงานสถาปนิก’65 กล่าวในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวคิดการจัดงาน นอกจากการทำงานลำพังทุกขั้นตอนจะเป็นขีดจำกัดที่ทำให้สถาปัตยกรรมไทย “ไปไม่สุด” แล้ว เขายังเห็นว่างานสถาปัตยกรรมยังต้องพึ่งพาผู้คนจากสาขาวิชาชีพอื่น ๆ เพื่อนำเสนอคุณลักษณะของสถาปัตยกรรมออกมาให้เต็มศักยภาพอีกด้วย ตัวอย่างเช่นช่างภาพ ผู้นำเสนอสถาปัตยกรรมอย่างเข้าใจแนวคิด สามารถมองเห็นในสิ่งที่สถาปนิกหวังให้เป็นได้ “งานบางงานดูในหนังสืออลังการมากเลย แต่พอได้ไปเห็นของจริงแทบไม่มีมุมที่ผมเห็นในหนังสือเลย คนที่เก่งที่สุดที่นำเสนอตรงนั้นออกมาได้ดีคือช่างภาพ”

ผลงานการถ่ายภาพของ Berenice Abbott ช่างภาพสถาปัตยกรรมชื่อดัง
อ่านเพิ่มเติม: บทสัมภาษณ์ประธานจัดงานทั้ง 3 ท่าน https://architectexpo.com/2022/9864/

นอกเหนือจากช่างภาพแล้ว ยังมีคนอีกมากที่มีส่วนช่วยให้สถาปัตยกรรมสำเร็จสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอย่างวิศวกรและช่างในพื้นที่ ฝ่ายที่เกี่ยวกับการออกแบบบสร้างสรรค์อย่างนักออกแบบตกแต่งภายในหรือนักออกแบบสาขาอื่น ๆ ไปจนถึงนักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมได้มากไปกว่าแค่การให้ข้อมูลและรับผลงานการออกแบบมาใช้งาน ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมและการออกแบบร่วมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโดยความร่วมมือกับช่างก่อสร้างในพื้นที่ การร่วมมือกับนักวิจัยสายวิทยาศาสตร์เพื่อทำให้สถาปัตยกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน ดังที่จะเกิดขึ้นในงานสถาปนิก’65 นี้ ตอกย้ำแนวคิดในการจัดงานคือ “CO – WITH CREATORS” หรือ “พึ่งพา – อาศัย”

งานสถาปนิก’65 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts