“ประวัติศาสตร์โรงภาพยนตร์ไทยในประวัติของ GOLDENDUCK” จากมัลติเพล็กซ์สู่ Cinemagica โรงภาพยนตร์ในบ้าน ในงานสถาปนิก’65

ประวัติศาสตร์ของ GOLDENDUCK GROUP บริษัททางวิศวกรรม (Engineering Company) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภาพและเสียง ก็เหมือนประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์ไทย

กว่าจะมาถึงยุคแห่งเอส เอฟ ซีเนม่าและเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ในปัจจุบัน GOLDENDUCK เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการออกแบบ วางระบบภาพ เสียง และรวมไปถึงงานอื่น ๆ เกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ทั้งหมดในระบบมัลติเพล็กซ์ตั้งแต่ครั้งอดีต มาถึงปัจจุบัน ขณะนี้ GOLDENDUCK พร้อมเปิดตัว “Cinemagica” โรงภาพยนตร์สำเร็จรูปในบ้านที่ “ไม่ต้องประนีประนอมอะไรทั้งนั้น” โดยใช้องค์ความรู้ทางเทคนิคที่รอบด้านต่าง ๆ  รวมถึงเครือข่ายทางธุรกิจที่สั่งสมมาจากประสบการณ์อันยาวนานในวงการ

ก่อนจะไปชมภาพยนตร์ในโรงจริง ๆ กันในงานสถาปนิก’65 คุณ สิทธิพร  ศรีสงวนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเด้นดั๊ก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด “เปิดบ้าน” พาเราชมกระบวนการทำงาน ตัวอย่างโรงภาพยนตร์ ไปจนถึงเทคโนโลยีอุปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงที่กำลังจะมาในอนาคต

“เราเป็นคนนำวิวัฒนาการพวกนี้เข้ามาในเมืองไทยเสมอ”

“เราเห็นก่อนเลยเอาเข้ามาในเมืองไทย” คุณสิทธิพรเล่า

ในฐานะ Dolby Sound Consult เขามองตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิควิศวกรรมหรือเป็น Technical Support ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีทั้งหมดของโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบเสียง Dolby ที่ทุกโรงภาพยนตร์ต่างก็ใช้งานกัน

ตั้งแต่ระบบสเตอริโอยุคแรกในประเทศไทย เรื่อยมาถึง Dolby Atmos รวมถึงระบบ THX บริษัท GOLDENDUCK เชื่อมต่อกับโลกภายนอกด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งเรื่องเทคนิคทั้งระบบภาพและเสียง จากการที่ไปอบรมหรือดูงานต่างประเทศ เช่นในการสัมมนาสำหรับ Dolby Sound Consult ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ ปีเพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องแผนหรือสิ่งที่จะทำในอนาคต ทำให้ GOLDENDUCK ได้เปรียบด้านข้อมูลสำหรับนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ในประเทศไทย

“เราจะมี connection มีข่าว เราไปเห็นแล้วเอามาวิเคราะห์ ก็ดูว่ามันเหมาะหรือไม่กับประเทศไทย”

แต่ไม่ใช่แค่นั้น GOLDENDUCK เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างโรงภาพยนตร์ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว บรูไน ติมอร์-เลสเต หรือที่อินโดนีเซีย ล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือของ GOLDENDUCK ด้วยทั้งนั้น

ตั้งแต่ห้องอัดจนถึงผู้รับชม
“ทุกคนมีส่วนช่วยให้ทุกอย่างโตขึ้นมา”

ถึงจะมีบทบาทมากเพียงใด GOLDENDUCK ก็ไม่ได้มองตัวเองเป็นเจ้าของความสำเร็จในการพัฒนาระบบโรงภาพยนตร์ไทยแต่เพียงผู้เดียว เพราะกระบวนการทำงานของเขาคือการประสานงานหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ห้องอัดเสียงไปจนถึงโรงภาพยนตร์ และยังไปต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในมือผู้รับชมอีกด้วย

สตูดิโออัดเสียง แล็บพิมพ์ฟิล์ม ห้องมิกซ์เสียง บริษัทผลิตภาพยนตร์ ผู้นำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ และโรงภาพยนตร์  GOLDENDUCK ให้ความรู้ ข้อมูล ประสานงาน  รวมถึงการนำเข้าและติดตั้งระบบเสียงจาก Dolby สำเร็จได้ ในฐานะ Dolby Consult เขาทั้งเข้าไปนั่งควบคุมคุณภาพการมิกซ์เสียงภาพยนตร์ แนะนำ จัดวางอุปกรณ์ในห้องอัดและในโรงภาพยนตร์ ไปจนถึงจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย ให้เอื้อต่อการเปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ในเมืองไทย

“ต้องช่วยดูแลให้สตูดิโอสามารถบันทึกเสียง Dolby ได้ และต้องคุยกับเจ้าของหนัง คือใครก็แล้วแต่ที่ผลิตหนัง ว่าเขาสนใจทำเสียง Dolby ไหม แล้วก็มีเรื่องค่า license เราก็ไปคุยกับ Dolby อย่าเพิ่งเรียกเก็บก่อนเพื่อให้ตลาดเกิด หลังจากนั้นก็เป็นราคาพิเศษ จนทุกอย่างนิ่งเข้าที่ ทุกคนชอบคุณภาพ และเป็นมาตรฐานจนถึงทุกวันนี้”

“เรามีความเข้าใจหมด ถึงสามารถอยู่ตรงกลางได้กับทุกคน”

“เช่นตอนนี้ Dolby กำลังจะออกตัวใหม่มาคือ Dolby Atmos Music เขาก็เอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาให้เราได้เห็น เราก็ดูว่าจะดันยังไงให้มันเกิดขึ้น ในเรื่องของการเข้ารหัส (encoding) และ ถอดรหัส (decoding)”

“ให้ผมเอาโรงหนังไปให้คุณเนี่ยสบายอยู่แล้ว เพราะมันคืออาชีพผม”

นอกจากนวัตกรรมข้างต้น GOLDENDUCK ยังเตรียมนวัตกรรมอีกมากมายไปโชว์ในงานสถาปนิก’65 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการเปิดตัว “Cinemagica” โรงภาพยนตร์สำเร็จรูปในบ้าน และ Smart Meeting Room ตัวแทนที่จะบอกสถาปนิกว่า GOLDENDUCK สามารถทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงได้ทุกอย่าง ด้วยองค์ความรู้ที่ครบครัน

Cinemagica

“เราไม่ได้ทำโฮมเธียร์เตอร์ แต่เราย่อโรงภาพยนตร์จริงมาอยู่ในบ้าน” แม้เขาเชื่อว่าโรงภาพยนตร์จะกลับมาหลังพบกับพิษโควิด-19 แต่ก็เล็งเห็นความต้องการของกลุ่มคนที่อยากจะชมภาพยนตร์ที่บ้าน ด้วยคุณภาพเช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์จริง ๆ  จึงเกิดแนวคิดว่าจะนำโรงภาพยนตร์จริงไปไว้ที่บ้าน

Cinema เป็นเทคโนโลยี เป็นเรื่องสเปก เป็นตลาด professional มีการออกแบบ การคิด ก่อนจะออกมาเป็นอะไรสักอย่าง” ส่วนสำคัญที่ทำให้ Cinemagica แตกต่างคือการไม่ยอมประนีประนอมด้านคุณภาพ ไม่ว่าจะด้วยการออกแบบจัดวางอุปกรณ์ให้สมกับสถานที่จริง การเลือกใช้อุปกรณ์แบบโรงภาพยนตร์ ที่สามารถรองรับไฟล์ DCP คุณภาพระดับโรงภาพยนตร์ ซึ่งเขาแอบกระซิบว่าจะมีภาพยนตร์ที่คุณอาจคาดไม่ถึงไปฉายในโรงภาพยนตร์ ในงานสถาปนิก’65 นี้ ทั้งยังมีคุณเฮนรี ทราน ผู้จัดการทั่วไป จากบริษัท วอร์เนอร์ บราเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และคุณวิจิตร บุญชู กูรูเรื่องระบบเสียงในบ้าน มาเป็นแขกรับเชิญอีกด้วย

Smart Meeting Room

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบูรณาการ (integrate) เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสั่งสมมาจากประสบการณ์อันยาวนาน GOLDENDUCK เตรียมสร้างห้องประชุมแบบ Smart Meeting Room ที่งานสถาปนิก’65

Smart Meeting Room เกิดขึ้นได้ก็ด้วยองค์ความรู้ที่รอบด้านและความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้เหล่านั้น ทั้งความรู้ที่ใช้ในการทำห้องส่งสำหรับถ่ายทอดสด การติดตั้งจอ interactive กล้องที่จับตามตำแหน่งคนได้ ไปจนถึงระบบเสียงและระบบไฟ สถาปนิกที่มาชมจึงจะสามารถมั่นใจได้ว่า GOLDENDUCK สามารถทำสิ่งที่พวกเขาคิดฝัน ให้ปรากฏในความเป็นจริงได้

“ถ้าอยากรู้จักมากกว่านี้ให้มาสัมผัสด้วยตัวเองดีกว่า เราเป็นมากกว่าที่คนรู้จัก” คุณสิทธิพร ชวนทุกคนมาชม (ภาพยนตร์ใน) Cinemagica และ Smart Meeting Room จาก GOLDENDUCK ได้ที่บูธหมายเลข L103 ใน งานสถาปนิก’65 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. 65 – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Similar Posts