เมื่อพูดถึง “ลิฟต์” เราคงนึกถึงห้องสี่เหลี่ยมทำจากวัสดุแผ่นเหล็กที่มีโครงสร้างทึบตัน จะถูกเรียกใช้งานก็ต่อเมื่อเราแตะปุ่มคำสั่งบริเวณด้านหน้า และกดหมายเลขชั้นบริเวณแผงด้านใน เพื่อให้เจ้าเครื่องทุ่นแรงชนิดนี้เคลื่อนที่ขึ้น-ลงตามคำสั่งของผู้ใช้งาน มองเผิน ๆ แล้วลิฟต์ก็เป็นได้เพียงห้องสี่เหลี่ยมดีไซน์ทื่อ ๆ แสนอุดอู้
แต่หากใครที่หลงเข้ามาอ่านบทความนี้ก็อย่าเพิ่งกดออกไป เพราะเราจะพาไปรู้จักลิฟต์ในดีไซน์และฟังก์ชันที่ไม่แข็งทื่อและไม่สามัญเหมือนอย่างที่รู้จักกันทั่วไป โดยการซักไซ้ทุกข้อสงสัยกับ “ARITCO” แบรนด์ตัวจริงเรื่อง “ลิฟต์บ้าน” หรือ “Home Lift” ที่ได้ คุณเสริมศักดิ์ ศรีพงษ์ธนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาริทโก้ (ประเทศไทย) จำกัด มาร่วมวงสนทนาเรื่องลิฟต์ไปกับเรา แถมสวมบทบาทเป็นไกด์พาทัวร์โชว์รูมแรงบันดาลใจโอโมเตนาชิที่ชวนให้อยากกลับไปนั่งเพลินและตีปิงปองกัน!
ลิฟต์บ้านที่มีได้ทุกบ้าน
ก่อนจะตีแผ่ในทุกประเด็นเรื่องลิฟต์บ้าน เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักกับแบรนด์ ARITCO ผ่านคำนิยามสั้น ๆ ที่สื่อถึงตัวตนของ ARITCO กัน
“ARITCO คือลิฟต์บ้านที่ติดตั้งได้ทุกที่ มีได้ทุกบ้าน เป็นลิฟต์บ้านที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ทุกกลุ่มเป้าหมาย” คุณเสริมศักดิ์กล่าวในท่วงท่าที่ดูเป็นมิตรและชวนให้เราสงสัยในเรื่องลิฟต์ต่อ
อย่างไรก็ดี ในเมื่อ ARITCO คือลิฟต์บ้านที่ติดตั้งได้ทุกที่ แล้วจุดเด่นในเรื่องใดที่ขับให้ ARITCO เป็นแบรนด์ที่ลูกค้าเลือกใช้ และให้ความไว้วางใจในเรื่องความปลอดภัยสำหรับการใช้งานขึ้น-ลงอาคาร คุณเสริมศักดิ์ให้คำตอบกับเราว่า “คนส่วนใหญ่มักติดภาพจำของลิฟต์ที่เป็นระบบสลิงซึ่งติดตั้งในตึกและอาคาร มีความซับซ้อนในการติดตั้ง การเจาะพื้น รวมถึงการติดตั้งโครงสร้างอื่น ๆ ดังนั้น ลิฟต์บ้านของ ARITCO จึงเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนนี้ ลิฟต์ของเราสามารถติดตั้งได้ทุกที่ ไม่ต้องมีเบาะลิฟต์ ใช้พื้นที่ไม่มาก ลิฟต์ตัวเล็กสุดสามารถติดตั้งในตู้เสื้อผ้าได้”
Universal Design ที่ ARITCO ไม่เคยมองข้าม
ลิฟต์ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผลักดันให้ Universal Design กลายเป็นหนึ่งในบรรทัดฐานที่เราควรให้ความสำคัญ เพื่อโอบรับให้ผู้สูงวัยและบุคคลทุพพลภาพสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้ เมื่อเป็นเช่น การนำเข้าลิฟต์จากสวีเดน ประเทศที่คำนึงถึงหลักการออกแบบอย่างเท่าเทียมมาเป็นลำดับต้น ๆ ในแวดวงดีไซน์ ส่งผลให้ ARITCO เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ส่งเสริมให้หลัก Universal Design เกิดขึ้นในทุกที่ของสังคมไทย
ลิฟต์บ้านระบบสกรูเป็นลิฟต์ที่ได้แรงบันดาลมาจาก Universal Design งานออกแบบที่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นการออกแบบที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงวัยและผู้พิการ นอกจากสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานแล้ว ลิฟต์บ้านของทางแบรนด์ยังสามารถเสริมความสวยงามให้กับบ้าน เป็นลิฟต์ที่สามาถติดตั้งได้ในอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว เสมือนการรีโนเวทอาคารไปในตัวจนกลายเป็นของตกแต่ง ประกอบกับในลิฟต์บางรุ่นมีไฟ LED ที่มีความทันสมัย มีผนัง Design Wall ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความปรารถนาของผู้ใช้งาน ลิฟต์บ้านของ ARITCO จึงทำหน้าที่ได้ทั้งในรูปแบบของฟังก์ชันการใช้งานและของตกแต่งบ้าน
ไลฟ์สไตล์คนไทยเพื่อหลัก Universal Design
เมื่อพูดถึงไลฟ์สไตล์ของคนไทยแล้ว การนำเข้าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมจากต่างประเทศก็คงเป็นประเด็นให้ต้องขบคิดถึงไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันระหว่างผู้ใช้งานในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง ลิฟต์บ้านที่นำเข้าจากประเทศสวีเดนก็เช่นกันที่ได้มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์เพื่อให้รองรับกับไลฟ์สไตล์ของคนไทย
“ลิฟต์ของเราเป็นลิฟต์สั่งตัด เราจะให้สถาปนิกไปดูแลและร่วมพูดคุยกับเจ้าของบ้าน แล้ววัดพื้นที่ วัดขนาด ความสูง และรับฟังความต้องของลูกค้าแต่ละราย เพราะเรามองว่าการที่ลิฟต์ของ ARITCO สามารถยืดหยุ่นในเรื่องการออกแบบ เช่น การเปิดประตูได้ทั้ง 3 ด้านอย่างอิสระ และปรับแต่งตามความต้องการของผู้ใช้งาน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับมัณฑนากรและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของลูกค้า”
สังคมสูงวัยในโลกที่เคลื่อนไปพร้อมกับความยั่งยืน
ในยุคที่สังคมไทยเริ่มมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและมีหลักความยั่งยืนตั้งเป็นพื้นฐานของการออกแบบ เราจึงร่วมสำรวจเบื้องหลังแนวคิดของ ARITCO กับลิฟต์บ้านว่ามีมุมมองต่อภาพอนาคตที่ตั้งมั่นอยู่บนสถานการณ์โลกเหล่านี้อย่างไรบ้าง
คุณเสริมศักดิ์ได้กลั่นกรองออกมาเป็นคำตอบให้ได้มองเห็นธุรกิจลิฟต์ในอีกแง่หนึ่งว่า “สำหรับเรื่องความยั่งยืนนั้นนวัตกรรมของเราก็สามารถตอบโจทย์ได้ โดยเฉพาะในประเด็นการประหยัดพลังงาน โดยเฉลี่ยแล้วเราใช้ไฟเพียง 50 สตางค์ต่อการขึ้นลิฟต์ แล้วผมเชื่อว่าในอนาคตลิฟต์จะสามารถต่อกับโซลาร์เซลล์ได้ หรือมากกว่านั้นคือใช้หุ่นยนต์มาเสริมให้มีล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น”
“แล้วเมื่อมองในประเด็นของสังคมผู้สูงอายุรวมถึงผู้พิการ ผมมองว่านวัตกรรมลิฟต์ได้เสริมสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้เกิดกับทุกคนในสังคม ซึ่งลิฟต์ของ ARITCO หลายตัวก็ถูกติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนทุกกลุ่ม”
สิ่งที่อยากบอกกับผู้ใช้งาน
“นวัตกรรมลิฟต์บ้านทุกตัวของเรายังเหมือนเดิม ทุกการออกแบบ ทุกการเลือกสรรเทคโนโลยี เราใส่ใจในทุกขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ และทุกวัย แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การบริการตลอด 2 ปีนับจากวันที่ซื้อสินค้า บริการในที่นี้คือเรามี on-call ตลอด 24 ชั่วโมง มีทีมวิศวะเข้าไปดูแลและให้คำแนะนำเรื่องการใช้งานอย่างทั่วถึง” คุณเสริมศักดิ์กล่าว
Total Hospitality: โชว์รูมที่เป็นมากกว่าพื้นที่แสดงสินค้า
ก่อนจะจากกันไปแล้วพบกันใหม่ที่งานสถาปนิก’67 นี้ คุณเสริมศักดิ์ได้พาเราเดินทัวร์ชมโชว์รูม ARITCO ที่ออกแบบมาเพื่อต้อนรับและให้บริการลูกค้าให้มากกว่าความคาดหวัง หรือจะเรียกตามหลักปรัชญาญี่ปุ่นที่ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ คือ โอโมเตนาชิ (Omotenashi) ที่แปลเป็นคำในภาษาอังกฤษได้อย่างสั้น ๆ ว่า Total Hospitality ที่ทางแบรนด์ใช้เป็นแนวทางในการบริการลูกค้า เพื่อสร้างความประทับใจตั้งแต่เริ่มต้นจนสุดสิ้นการขายและการใช้งานสินค้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ภายในโชว์รูมจะพบกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่เชิญชวนให้ทั้งลูกค้าและเหล่าสถาปนิกได้มาเยี่ยมเยือน เช่น โซนเครื่องดื่มที่มีทั้งกาแฟ น้ำหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารและของว่างอีกมากมายที่ถูกกักตุนไว้บริการลูกค้าและพนักงาน ในด้านของกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ทางโชว์รูมก็ได้จัดสรรพื้นที่ให้พนักงานอย่างไม่บกพร่อง ทั้งโต๊ะปิงปอง โต๊ะฟุตบอลมือหมุด หรือกระทั่งห้องซ้อมเต้นที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นห้องประชุมในยามที่เข้าสู่โหมดทำงานได้ทุกเมื่อ
ทดลองใช้และเข้าใจทุกรายละเอียดของลิฟต์บ้านที่งานสถาปนิก’67
เขียนมาจนจะจบบทความแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังติดค้างอยู่ในใจคือความปรารถนาที่จะกลับไปเยือนโชว์รูมของ ARITCO อีกครา ทว่าสิ่งหนึ่งที่รอช้าไม่ได้คือ การไปลองและไปสัมผัสทุกรายละเอียดของการออกแบบและเทคโนโลยีลิฟต์บ้านของ ARITCO ที่บูธหมายเลข L316 ในงานสถาปนิก’67 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 36 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี