สำรวจไทม์ไลน์ไล่สายตาแล้วซึมซับคอนเซ็ปต์และ Key Visual ของงานสถาปนิก

การสื่อสารคอนเซ็ปต์ของงานสถาปนิกในแต่ละปีนอกจากจะสื่อผ่านตัวอักษรและการบอกเล่าแล้ว การสื่อสารผ่านภาพของงานออกแบบที่หยิบจับเอา Key Message มาจัดวาง จัดสรร หรือผสมผสานกันออกมาเป็น Key Visual กุญแจหลักไขจินตนาการแล้วสร้างภาพจำของงานสถาปนิกที่พ่วงมากับคอนเซ็ปต์ในแต่ละปี ก็นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสื่อสารที่สร้างความประทับใจจนตราตรึงในความทรงจำของผู้เข้าชมงานไปไม่น้อย

แล้วคอนเซ็ปต์และภาพจำของงานสถาปนิก’67 ที่จะถึงนี้เป็นอย่างไร ลองมานั่งย้อนไทม์ไลน์ไล่สายตาเพื่อซึมซับคอนเซ็ปต์และ Key Visual งานสถาปนิกปีที่ผ่านมา เผื่อจะเกิดไอเดียว่าปีนี้รูปแบบงานจะมาในธีมใด และภาพลักษณ์แบบไหนกัน

สถาปนิก’57

สิบแปด | แปดสิบ: Eighteenth | Eighty

by Practical Design Studio

สำหรับงานสถาปนิก’57 ได้ริเริ่มมาในคอนเซ็ปต์ที่โน้มเอียงมาสู่ชุมชนและสังคม ถ่ายทอดคุณค่าทางวิชาชีพสถาปนิกในแง่ของบทบาท หน้าที่ และความสำคัญ ไปจนถึงประโยชน์ที่มีต่อชุมชนและสังคม ฉะนั้นการยกบทบาทของ ‘สถาปนิกชุมชน’ ที่ให้ความหมายคร่าว ๆ ถึงนักออกแบบอาคารให้กับชุมชนจึงเป็นการเผยมุมมองของนักออกแบบที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้

สัมพันธ์กับ Key Visual ที่ได้ Practical Design Studio มาดีไซน์ โดยการนำเสนอผ่านลายเส้นที่เรียบง่าย แต่ชัดเจนในการสะท้อนกิจกรรมต่าง ๆ ของคนทั่วไปที่มีความสัมพันธ์ต่องานสถาปัตยกรรมในมิติของการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ความรู้สึก Practical สอดคล้องไปกับชื่อสตูดิโอ

เราจึงได้เห็นภาพผู้คนและลายเส้นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่โยงกลับไปหาความสัมพันธ์ต่องานสถาปัตยกรรม ผูกโยงไปกับคอนเซ็ปต์ของงานสถาปนิก’57

 

Logo Concept

ลดทอนรูปแบบให้เรียบง่าย แต่ยังสร้างความเชื่อมโยงกับคอนเซปต์หลัก ซึ่งเน้นไปที่ “พื้นที่ระหว่าง 18 และ 80” โดยสื่อความหมายคือ “ช่วงระยะเวลาระหว่าง 18 (ตัวเลขของช่วงเข้าอุดมศึกษาและวันก่อตั้งสมาคมฯ) และ 80 (การครบรอบของสมาคม)”

สำหรับโลโก้นั้น เป็นการนำเอารูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีโครงสร้างแบบ Isometric มาปรับให้สอดคล้องกับรูปแบบของ Key Visual โดยเปรียบเสมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้คน พื้นที่ และสิ่งปลูกสร้าง

สถาปนิก'58

ASA NEXT | ตัว คนทย

by Farmgroup

มาถึงงานสถาปนิก’58 ที่คอนเซ็ปต์ยังคงวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัว ‘คน’ ในฐานะนักคิดผู้สร้างสรรค์ดังเช่นเคย ทว่าในปีนี้การโฟกัสไปที่คนไทยในกระแสท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและการเดินหน้าเพื่อเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC กลับเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจไม่น้อย

การย้อนกลับมามองและนำเสนอตัวตนของนักออกแบบไทยผ่านเวทีของงานสถาปนิก ตัวกลางในการแสดงศักยภาพ ผลงาน และการแลกเปลี่ยนไอเดียร่วมกันของสถาปนิกจากทั่วเอเชีย เรียกได้ว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาความสามารถด้านการออกแบบเพื่อนำเสนอตัวตนและศักยภาพที่โดดเด่นของสถาปนิกไทย

เมื่อคอนเซ็ปต์งานต้องการนำเสนอ ‘ความเป็นตัวตน’ Farmgroup สตูดิโอที่ชูจุดเด่นเรื่องการสร้าง Branding จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานในฐานะผู้ออกแบบ Key Visual ที่สื่อถึงตัวตนของคนไทยผ่านลายเส้นที่เสมือนถอดแบบมาจากจิตรกรรมฝาผนังของวัดวาอาราม ตามด้วยการใส่คาแรกเตอร์และตัวตนลงไปให้มีความแตกต่างแต่ยังสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของงาน

สถาปนิก'59

ASA BACK TO BASIC | อาษาสู่สามัญ

by Ductstore the Design Guru

ย้อนกลับสู่แนวคิดพื้นฐานที่หลากหลายของสถาปนิกผ่านการออกแบบ เพื่อกลับมามองสิ่งสำคัญรอบตัวในยุคที่โลกได้เผชิญกับความซับซ้อน เช่นเดียวกับ Key Visual ของงานที่ได้ Ductstore the Design Guru มาถ่ายทอดความเป็นพื้นฐาน หรือ Basic ในรูปแบบเส้นตรงที่จัดวางตัวให้เกิดความหมายต่าง ๆ แฝงอยู่

Basic ที่ทำให้คนเข้าใจง่ายและเกิดเป็นสถาปัตยกรรมได้นั้น คือ “แบบ Drawing” ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ใน drawing เหล่านั้นมากมาย Ductstore the Design Guru จึงหยิบเอา Element เหล่านั้นมาสร้างให้เกิด Typeface ใหม่ ๆ โดยพัฒนามาจาก Plan ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งมีน้ำหนักของเส้นที่แสดงให้เห็นเป็น Circulation / Wall / Void และสามารถพัฒนามาเป็น Diagram ต่าง ๆ ได้ มีทั้ง Positive / Negative Space และ Element ต่าง ๆ ที่พัฒนาและประกอบร่างกันเป็น Key Visual ใหม่ ๆ

แต่ละ Key Visual ก็จะมี Process ของ Diagram ที่เป็นเรื่องราวของตนเอง และต้องการสื่อสารให้เห็นว่าจาก Basic ของ Architecture สามารถพัฒนาต่อได้ไม่รู้จบ ไร้ซึ่งรูปแบบตายตัว ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของงานในปีนี้

สถาปนิก'60

บ้าน บ้าน: BAAN BAAN Reconsidering Dwelling

by P.Library Design Studio

เมื่อนึกถึงงานสถาปนิก ผู้อ่านบางท่านคงจินตนาการถึงภาพ ‘บ้าน’ ในหลากหลายรูปแบบ ทว่าสถาปนิก’60 จะมากางตำราแล้วแกะชิ้นส่วนของบ้านให้เห็นทุกมุมมอง ทุกฟังก์ชันที่ไม่ใช่เพียงที่อยู่อาศัย แต่เป็นบ้านในความหมายใหม่ที่อาจประกอบไปด้วยธุรกิจ เทคโนโลยี และความเชื่อ

P.Library Design Studio จึงมาสานต่อไอเดียผ่านการออกแบบ Key Visual ที่ให้ความหมายของ “บ้าน” ที่ฉีกจากนิยามเดิม ๆ มาเปลี่ยนบ้านให้เป็นสำนักงาน ร้านอาหาร คาเฟ่ หรือแม้กระทั่งโรงแรม ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดก็ทำให้บ้านฉลาดมากขึ้น ทั้งควบคุมบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมถึงเทคโนโลยีการก่อสร้าง ความซับซ้อนของความเชื่อ วัฒนธรรม ทั้งหมดคือความหมายใหม่ของบ้านที่เพิ่มเติมขึ้น

เมื่อบ้านในความหมายดั้งเดิมต้องมารวมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและนวัตกรรม ทำให้หลอมรวมเป็นปัจจัยที่เสริมมิติของคำว่า “บ้าน” ราวกับเป็น Plug-in ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ขยายความสามารถและขอบเขตของการอยู่อาศัยให้เพิ่มมากขึ้น

การถอดรื้อโครงสร้างของความหมายเดิมของคำว่า “บ้าน” และพิจารณาใหม่อย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อให้การประกอบสร้าง “บ้าน” ขึ้นมาใหม่นี้ ทำให้ที่อยู่อาศัยสามารถตอบสนองต่อชีวิตในปัจจุบันของผู้คนมากยิ่งขึ้น

Logo Concept

ตัวอักษรคำว่า “บ้าน บ้าน” มีลักษณะสำคัญคือเส้นเฉียง 24 องศา ที่ลากจากสระอาตัดตัวอักษร บ และ น เป็นเสมือนเส้นหลังคาทำให้เกิดรูปทรงของบ้านในตัวอักษรที่เป็นตัวอักษรภาษาไทยแบบมีหัว โดยที่หัวตัวอักษรจะมีช่องว่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะช่องเปิดแบบประตูหรือหน้าต่างบ้านที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างลักษณะเฉพาะตัวของตราสัญลักษณ์นี้

นอกจากนี้ การเลือกใช้ตัวอักษรแบบมีหัวเป็นการสะท้อนความหมายของลักษณะความเป็นพื้นบ้าน ความเรียบง่าย หรือความเป็นลักษณะแบบไทย ๆ ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า บ้าน บ้าน (หรือบ้าน ๆ ) นั่นเอง

สถาปนิก'61

ไม่ธรรมดา: BEYOND ORDINARY

by P.Library Design Studio

ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทเข้าสู่สังคมเมือง การหวนคืนอดีตเพื่อรำลึกถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นและความเป็นตัวตนเสมือนการย่างก้าวไปในวิถีชีวิตร่วมสมัยของสังคมไทยจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ ฉะนั้น ‘ไม่ธรรมดา: BEYOND ORDINARY’ คอนเซ็ปต์ของงานสถาปนิก’61 จึงกลายเป็นเวทีที่ให้คุณค่าและความหมายกับความเป็นตัวตนโดยสอดแทรกใน ‘สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น’ ที่ไม่จำกัดเพียงรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรม กระตุ้นให้กลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบได้ตั้งคำถามต่อการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสังคม ณ ช่วงเวลาดังกล่าว

P.Library Design Studio ได้กลับมาในฐานะผู้ออกแบบ Key Visual อีกครั้งในสไตล์ที่ต่างออกไปจากปีที่ผ่านมา การหยิบยกกลวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากความคิดสร้างสรรค์ที่ขมวดมาจากสารพัดไอเดียร้อยแปดพันเก้า จนกลายเป็นทักษะและความเชี่ยวชาญของคนไทย ผสานไปกับผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามที่ทำให้แก่นของปัญหาถูกหลีกเลี่ยงในการเอ่ยถึง ทำให้ลักษณะความเป็นอยู่แบบไทย ๆ มีความทับซ้อนกันในหลายมิติ และนับวันยิ่งดูซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งหมดถูกจัดเรียงและตัดแปะมาใช้ในงานสไตล์ Collage สื่อถึงการแสดงออกทางศิลปะที่ทำให้ภาพที่ชัดเจนของความเป็นอยู่แบบไทย ๆ ที่ดูซับซ้อนแต่แฝงไปด้วยนัยยะสำคัญ ไอเดียแปลก ๆ ที่ “ไม่ธรรมดา” เอาไว้ให้ค้นหา

Logo Concept

จากการค้นคว้าหาสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันต่าง ๆ หนึ่งในงานที่น่าประทับใจคือ “ป้ายงานวัดริมทาง” ที่แยกคำเพื่อให้รถที่แล่นผ่านอย่างรวดเร็วสามารถรับรู้ถึงสารและข้อมูลในการสื่อสารได้

เกิดเป็นไอเดียในการออกแบบโลโก้ “ไม่ธรรมดา” มีลักษณะแบบ Perspective ซึ่งให้ความรู้สึกของการเคลื่อนที่ อาจตีความได้ถึงการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า (อนาคต) หรือถอยกลับ (ไปในอดีต) ซึ่งสอดคล้องไปกับเนื้อหาของงานสถาปนิก’61 ว่าด้วยเรื่องของการค้นคว้าภูมิปัญญาดั้งเดิม (อดีต) ทั้งด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นรวมถึงเชาว์ปัญญาในการดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้เข้ากับการดำรงชีวิตของคนไทยว่าจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้หรือไม่

สถาปนิก'65

CO – WITH CREATORS: พึ่งพา – อาศัย

by Ductstore the Design Guru

จุดยืนหนึ่งของคอนเซ็ปต์งานสถาปนิก’65 คือ การหยิบเอางานสถาปัตยกรรมที่ใช้กระบวนการออกแบบในลักษณะ “พึ่งพา อาศัย” มาตอกย้ำให้เด่นชัด เพราะการมองเห็นถึงความน่าสนใจของกระบวนการทำงานออกแบบในลักษณะ “การสร้างสรรค์ร่วมกัน” (Co – Creation) ของเพื่อน ๆ ต่างสาขาอาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกและภูมิสถาปนิก ศิลปิน นักออกแบบแสง แฟชั่นดีไซเนอร์ ช่างภาพ หรือนักออกแบบสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน

ตัว Key Visual ได้ศิลปินสตรีทอย่าง BENZILLA มาร่วมออกแบบกับ Ductstore the Design Guru ฉะนั้นคาแรกเตอร์สำคัญจึงอยู่ที่ตัว Three Ball ซึ่งปรากฏอยู่ในทุก Element ตัวหัวใหญ่สุดถูกนิยามถึง Living Space ที่หากมองลึกลงไปในเส้นสายลวดลาย จะพบว่ามันคือตัวแทนของผู้คนที่อยู่ในเมืองที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกันออกไป แต่มีความร่วมสมัย ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เลี้ยงสัตว์ ทำงาน ปั่นจักรยาน เล่นเซิร์ฟสเกต เป็นต้น

มองโดยรวม Key Visual งานปีนี้มีความเป็นศิลปะสูงมาก กลิ่นอายของความเป็นสตรีทอาร์ตมาเต็ม และที่สำคัญคือมันเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งกลุ่มคนใหม่ ๆ กลุ่มสตรีทอาร์ต กระตุ้นให้กลุ่มคนเหล่านี้มาหาคำตอบของ Key Visual ที่งานสถาปนิก (อ่านเพิ่มเติม)

Logo Concept

“เรียบง่าย อ่านง่าย และเข้าใจง่ายที่สุด” ความที่ Key Visual ของงานมีสีสันสดใส ลวดลายที่จัดเต็ม ทำให้โลโก้ไม่จำเป็นต้องหวือหวามากนัก ผู้ออกแบบจึงไม่ต้องการให้มาแข่งกับ Key Visual หลัก จึงปรากฏความเรียบง่ายจากโลโก้ สำหรับฟอนต์ เลือกออกแบบให้เหมือนกับ “Box Logo” ตามสไตล์ไฮเอนด์แบรนด์ที่เวลาอยู่บนเสื้อแล้วมันดูเท่ และเข้าใจง่ายไม่ว่าจะใช้แบบหนึ่งหรือสองบรรทัดก็รู้ว่านี่คืองานอะไร

สถาปนิก'66

ตำถาด: TIME OF TOGETHERNESS

by Integrated Field หรือ IF

การฟิวชันของวัตถุดิบจนรังสรรค์ออกมาเป็นเมนู “ตำถาด” อาหารรสชาติจัดจ้านที่ถูกหยิบยกให้เป็นคอนเซ็ปต์ที่สื่อถึงการผสมผสานและร่วมมือกันของสี่สมาคม ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) และสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) กับสภาสถาปนิก (ACT) โดยจะมาคลุกเคล้าองค์ประกอบและส่วนผสมของเมนูให้มีความนัวและความกลมกล่อมยิ่งกว่าเดิมในงานสถาปนิก’66

อย่างไรก็ตาม ความนัวของตำถาดรสนี้ยังสามารถจัดจ้านได้อีก เมื่อได้วัตถุดิบเสริมความกลมกล่อมอย่าง InFO ทีมกราฟิกภายใต้ร่มใหญ่ของ IF มาชูรสของการคลุกเคล้าทุกวัตถุให้กลมกล่อมจนสามารถโดดเด้งบน Key Visual ประจำงานสถาปนิก’66 ได้

“สถาปัตยกรรมรสนัว” คือ หนึ่ง Key Word ที่ IF ใช้ยึดโยงกับการดีไซน์ สื่อมาในลักษณะของความยุ่งเหยิง กลมกล่อม พัวพันกันในฉบับของนักออกแบบ โดยการโยน Element จำพวกองค์ประกอบของงานออกแบบของทุก ๆ สมาคม เช่น ประตูหน้าต่าง หลังคา เฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ สะพาน ไฟจราจร และอื่น ๆ จัดวางให้เด้งออกมาจากถาดซึ่งเปรียบเสมือนสภาสถาปนิกที่โอบรับทุกสมาคม

การเลือกใช้โทนสีเหลือบก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ IF ต้องการให้สอดรับกับความนัวของรสตำถาด ผลักดัน Key Element โดดเด่นเด้งออกมาจากถาด ให้คนได้รู้สึกสนุกไปกับงานในปีนี้ (อ่านเพิ่มเติม)

จากตัวอักษรถ่ายทอดลงสู่งานอาร์ต
Key Visual ที่สื่อถึงภาพลักษณ์ของงานสถาปนิก

คอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันในแต่ละปีของงานสถาปนิกได้ถูกถอดความหมายแล้วตีความใหม่ในหลากหลายมุมมอง เพื่อถ่ายทอดแนวความคิดและตัวอักษรเหล่านั้นลงสู่ Key Visual งานอาร์ตที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์สุดติสท์ ผู้มาขัดเกลาคอนเซ็ปต์และดึงเอาอัตลักษณ์ของนักออกแบบมาผสานกันเป็นภาพจำของเวทีแห่งการสร้างสรรค์ หรือ Architect Expo

อย่างไรก็ดี ในปี 2024 ที่จะถึงนี้ สถาปนิก’67 กำลังจะกลับมาในคอนเซ็ปต์ที่แปลกใหม่เพื่อรีเฟรชมู้ดและสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ให้กับวงการออกแบบ-ก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์ สำหรับสายอาร์ตก็อย่าพลาดที่จะรอชม Key Visual โฉมใหม่ว่าจะออกมารูปลักษณ์แบบใด และดีไซเนอร์จะตีความคอนเซ็ปต์ออกมาในทิศทางใด ก่อนมาเจอกันที่สถาปนิก’67 ในวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://architectexpo.com/ และทาง Facebook งานสถาปนิก: ASA EXPO

สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2024/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

ที่มาข้อมูล