IF เขย่าไอเดียสร้างสรรค์ ปรุง Key Visual 3D ให้มีความนัวภายใต้คอนเซ็ปต์ ตำถาด: Time of Togetherness ในงานสถาปนิก’66

คุณก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ Design Director จาก IF
(คนที่สองนับจากฝั่งซ้าย)

เมื่อได้ยินคำว่า “ตำถาด” ทุกคนมักจะนึกถึงหน้าตาของอาหารอีสานที่มีส่วนผสมของมะละกอและเครื่องเคียงหลากหลาย ผสมคลุกเคล้าจนได้เป็นอาหารที่มีรสชาติถูกใจคนทาน แล้วถ้าวันหนึ่งคำว่าตำถาดไม่ได้หมายถึงอาหาร คุณคิดว่าจะสามารถสื่อหรือหมายถึงอะไรได้อีกบ้าง

วันนี้เรามาฟังคำตอบของ คุณก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ Design Director จาก InFO ทีมออกแบบกราฟิกภายใต้ร่มใหญ่ของ “Integrated Field” หรือ “IF” ทีมนักออกแบบผู้สร้างสรรค์ Key Visual ของงานสถาปนิก’66 ว่าพวกเขามีแนวคิด การตีความ และการออกแบบอย่างไร จนได้ Key Visual ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจ

สไตล์แบบไหนที่เป็น IF

ก่อนจะมาแกะ Key Visual 3D ที่ล่องลอยอยู่บนภาชนะของตำถาด เราจะพามาไขข้อสงสัยว่าจริง ๆ แล้วสไตล์แบบไหนที่ IF ได้นิยามว่าเป็นตัวตนของพวกเขาที่จะใส่ลงไปในงานออกแบบ

“ถ้าว่ากันด้วยเรื่องสไตล์ที่เป็นภาพจำในเชิง Visual เลย เราคิดว่า IF ไม่มีภาพในลักษณะนั้น แต่เราจะมี Core วิธีคิดที่เรายึดถืออยู่ ซึ่งก็คือการพยายามตั้งคำถามจากโจทย์ที่ได้รับมาในมุมที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะที่สุดกับโจทย์นั้น ๆ โดยทีม InFO (ทีมกราฟิกของ IF) ก็จะยึดถือแนวคิดนี้เป็น Core ในการทำงานเช่นเดียวกัน แต่ว่าในรายละเอียดเวลาทำงานก็จะแตกต่างจากทีมที่ทำงานด้าน Architecture หรือ Interior Design ของ IF”

จากเมนูอาหารมาสู่วัตถุดิบของสถาปนิก

ตำถาด: Time of Togetherness” ธีมงานสถาปนิก’66 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ตำถาด” เพื่อแสดงถึงการผสมผสานกันของสี่สมาคมกับสภาสถาปนิก ซึ่งเปรียบได้กับการคลุกเคล้าวัตถุดิบและส่วนผสมไว้ในตำถาด แล้วค่อย ๆ นั่งชิมและลิ้มลองรสชาติแห่งความนัวไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ดี หลาย ๆ คนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าตำถาดกับงานสถาปนิก’66 นั้นจะสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าสนใจไม่น้อยและทางทีม InFO ก็สามารถตีความ Concept ออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ พยายามดึงเอาจุดเด่นและความนัวของตำถาดเพื่อสื่อออกมาเป็น Key Visual

“เราอยากสื่อสารมันให้ตรงไปตรงมาที่สุด โดยเรามองว่าการใช้ภาพของตำถาดแล้วใช้องค์ประกอบของงานออกแบบของทุก ๆ สมาคม เช่น ประตูหน้าต่าง หลังคา เฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ สะพาน ไฟจราจร และอื่น ๆ มาแทนที่วัตถุดิบของตำถาด มาคละเคล้ารวมกันให้เกิดความนัว (คำว่า “นัว” ในภาษาอีสานจะแปลว่า อร่อยกลมกล่อม หรืออาจแปลว่า ยุ่ง พัวพัน นัวเนียก็ได้) แล้วก็ใช้ถาดเป็นเหมือนตัวแทนของสภาสถาปนิกที่มาโอบรับทุกสมาคมอีกที เกิดเป็น ‘สถาปัตยกรรมรสนัว’ ขึ้นมา”

นอกจากนี้ทาง InFO ยังอยากที่จะเพิ่มรสชาติของความสนุกเข้าไปในความนัวด้วยการเลือกออกแบบ Element เป็นภาพ 3D ที่สื่อถึง Space ในงานสถาปัตยกรรมแถมยังคลุกเคล้าให้กลมกล่อมยิ่งกว่าเดิมด้วย Motion Graphics ที่กำลังลอยกระจัดกระจายขึ้นมาจากถาด ดูรวม ๆ แล้วทำให้สัมผัสถึงความสนุกสนานที่ชวนให้มาลิ้มลอง

เพิ่มความน่าดึงดูดด้วย
การเลือกสีให้ดูโดดเด่น
เด้งออกมาจากถาด

การเลือกสีให้ Key Visual เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทาง IF ต้องการจะออกแบบให้สอดรับกับความนัวของรสตำถาด ผลักดันให้ Key Element โดดเด่นเด้งออกมาจากถาดให้คนได้รู้สึกสนุกไปกับมัน

“ตอนที่ในทีมกำลังพัฒนาแบบกันอยู่ เรื่องสีก็เป็นประเด็นที่สำคัญที่เราไม่แน่ใจว่าควรจะใช้โทนสีไหนในการเป็นสีหลักของ Key Visual แต่พอได้ลองหลาย ๆ แนวทางแล้วพบว่า มี Option สีเหลือบที่เราไม่สามารถคาดเดาสีได้ ซึ่งดูแล้วให้ความรู้สึกนัว ๆ ไม่ได้เป็นสีใดสีหนึ่ง และไหลไปกับคอนเซ็ปต์ตำถาด”

เปลี่ยนบริบทจากการออกแบบสเปซ
มาลองออกแบบงานกราฟิก

เพราะงานสร้างสรรค์ไม่ได้มีเพียงแขนงเดียว IF จึงพยายามลองขยายขอบเขตการทำงาน และในโปรเจกต์นี้ก็เป็นโอกาสของทีม InFO ที่ได้มา
ทดลองงานกราฟิก ทำให้ได้ลองค้นหาวัตถุดิบและเครื่องมือ เพื่อจะถ่ายทอดงานชิ้นนี้ให้เข้าตากรรมการและผู้ชมข้างสนาม โดยคุณก่อเกียรติได้กล่าวเสริมว่า

“ด้วยความที่ผมเริ่มต้นทำงานจากการเป็นสถาปนิกมาก่อน และพอมาทำงานกราฟิกก็จะใช้การศึกษาเพิ่มเติมและวิธีเรียนรู้ด้วยการลองทำงานจริงเป็นหลัก เพราะฉะนั้นมุมมองอาจจะไม่ได้เหมือนกับคนที่เข้าใจงานกราฟิกที่เรียนสายตรงมา แต่ว่าในหลักการแล้วก็ยังเชื่อว่าสุดท้ายแล้วงานออกแบบไม่ว่าจะเป็นออกแบบอะไรก็ตาม การเข้าใจโจทย์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราเข้าใจดีแล้ว เราก็จะสามารถเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมในการตอบโจทย์นั้น ๆ ได้”

“…การเข้าใจโจทย์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราเข้าใจดีแล้ว
เราก็จะสามารถเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมในการตอบโจทย์นั้น ๆ ได้”


ประสบการณ์ใหม่ที่มีให้สัมผัสเฉพาะในงานสถาปนิก’66

หากถามว่างานสถาปนิก’66 ในปีนี้มีอะไรซ่อนอยู่ก็คงจะตอบได้ยาก นอกจากการรวมตัวกันของสี่สมาคมกับสภาสถาปนิกที่เตรียมมาปล่อยของกันอย่างเต็มที่แล้ว กิจกรรม Human Library ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน แต่ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมที่มีรสชาติความนัวและความกลมกล่อมของตำถาดมีให้นั่งชิมยืนชิมอยู่ที่นี่ที่เดียวในงานสถาปนิก’66 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เม.ย. 66 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts