4+1 ประธานจัดงาน กับ การเพิ่มรสนัวของ “ตำถาด”
การฟิวชันของวัตถุดิบจนรังสรรค์ออกมาเป็นเมนู “ตำถาด” อาหารรสชาติจัดจ้านที่ถูกหยิบยกให้เป็นคอนเซ็ปต์ที่สื่อถึงการผสมผสานกันของสี่สมาคมกับสภาสถาปนิก โดยจะมาคลุกเคล้าองค์ประกอบและส่วนผสมของเมนูให้มีความนัวและความกลมกล่อมยิ่งกว่าเดิมในงานสถาปนิก’66
แต่ก่อนอื่นลองมาดูกันว่า สี่สมาคมกับสภาสถาปนิกได้เข้ามาเพิ่มรสนัวให้กับคอนเซ็ปต์ “ตำถาด : Time of Togetherness” อย่างไรกันบ้าง
ส่วนประกอบที่ชูรสเมนูตำถาด
จากสมาคมสถาปนิกสยาม
ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA)
เริ่มกันที่สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ The Association of Siamese Architects (ASA) ที่เปรียบเสมือนพระเอกของเมนูตำถาดที่ขาดไม่ได้อย่าง “ส้มตำ” อันเกิดจากการผสมผสานกันขององค์ประกอบอื่น ๆ ภายในตำถาดให้เกิดเป็นรสชาติที่ครบรส ทั้งเปรี้ยว เค็ม เผ็ด และนัว จนเป็นเมนูอาหารที่ชวนกระตุกต่อมน้ำลายให้ชิมและลิ้มลอง
ภาชนะที่รวมทุกวัตถุดิบของ
ตำถาดไว้ให้พร้อมเสิร์ฟ
จากสภาสถาปนิก (ACT)
ท่ามกลาง 4 สมาคม ก็ยังมีอีกหนึ่งองค์กรที่ขาดไปไม่ได้หากอ้างอิงถึงเมนูตำถาด เพราะถ้าพูดถึงการทำงานร่วมกันของทั้ง 4 สมาคมหรือทั้ง 4 ส่วนประกอบของเมนูตำถาดก็จำต้องคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน เพื่อให้ตำถาดที่พร้อมเสิร์ฟได้รสชาติที่ครบในทุกมิติ ฉะนั้นสภาสถาปนิก หรือ Architect Council of Thailand (ACT) จึงได้เข้ามามีบทบาทในฐานะ “ถาด” ที่รองรับทุกสาขาหรือรวมทุกวัตถุดิบเอาไว้ เพื่อรังสรรค์เมนูตำถาดให้มีรสชาติที่จัดจ้านในแบบที่คาดไม่ถึง
เพิ่มความสมบูรณ์แบบของ
ตำถาดด้วยของหวาน
จากสมาคมมัณฑนากร
แห่งประเทศไทย (TIDA)
สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Interior Designers’ Association (TIDA) เป็นอีกหนึ่งสมาคมที่เข้ามาเติมเต็มความกลมกล่อมให้กับเมนูตำถาดผ่านรสชาติของของหวานที่เป็น “ขนมรวมมิตร” ที่เปรียบดั่งส่วนประกอบที่จะเข้ามาเติมเต็มความกลมกล่อมให้กับเมนูตำถาด เช่นเดียวกับการออกแบบภายในที่ช่วยให้งานสถาปัตยกรรมสมบูรณ์แบบ
ส่วนเติมเต็มสายเขียว
ข้างจานในเมนูตำถาด
จากสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA)
หากมองสังคมแบบมุมกว้าง แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ภายนอกอาคารหรืองานสถาปัตยกรรม ซึ่งคือส่วนสำคัญต่อการสร้างความสมบูรณ์ให้แก่เมือง ก็เป็นดังที่สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย หรือ Thai Association of Landscape Architects (TALA) ต้องการจะสื่อความหมายผ่าน “ผักแกล้ม” ประดับอยู่ข้างจานในเมนูตำถาดที่เปรียบเสมือนส่วนเติมเต็มที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
พื้นที่แห่งการแบ่งปัน
และลิ้มลองรสชาติ
จากสมาคม
สถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA)
เดินทางมาถึงส่วนประกอบสุดท้ายของคอนเซ็ปต์ตำถาดซึ่งสำคัญไม่แพ้กันกับส่วนประกอบอื่น ๆ ของเมนู นั่นก็คือ “ร้านส้มตำ” สถานที่ที่ทำให้เมนูเติบโต สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งปันอาหาร และการสร้างความสนุกสนานในการกิน ซึ่งเปรียบได้กับสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย หรือ Thai Urban Designers Association (TUDA) อันมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันปัญหาของเมืองด้วยกระบวนการแก้ไขปัญหาในหลากหลายรูปแบบที่เป็นอีกหนึ่งสีสันและความสนุกของการทำงาน
มาลิ้มลองความแซ่บ มาสัมผัสรสนัว ที่จะถูกคลุกเคล้าในงานสถาปนิก’66
“สี่สมาคมกับสภาสถาปนิก” การรวมตัวของวัตถุดิบและรสชาติที่จะเพิ่มความกลมกล่อมให้กับเมนูตำถาด ซึ่งพร้อมแล้วที่จะให้คุณมาซึมซับความนัวและความจัดจ้านที่ไม่เหมือนใครภายใต้คอนเซ็ปต์ตำถาด : Time of Togetherness คอนเซ็ปต์ที่เกิดจากการผนวกส่วนประกอบอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกหยิบจับและคลุกเคล้าไว้ในถาดเดียวที่งานสถาปนิก’66
งานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]