ย้อนชม Key Visual งานสถาปนิก ก่อนเผยโฉมปีล่าสุดเร็ว ๆ นี้!!

เป็นประจำทุกปีที่งานสถาปนิกจะมี Key Visual ที่สับเปลี่ยนไปตามเรื่องราว เหตุการณ์ หรือกระแสสังคมโลกในปีนั้น แต่ละปีก็จะมีลูกเล่นซ่อนอยู่ เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หากใครติดตามและมาเดินงานสถาปนิกทุกปี ต้องชอบอกชอบใจเป็นแน่แท้กับความสนุกที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่เรื่อย ๆ

ก่อน Key Visual งานสถาปนิก’66 จะเผยโฉมหน้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปดูความเป็นมาของ Key Visual ในแต่ละปีว่าสมาคมสถาปนิกสยามจะหยิบอะไรมาเป็นคอนเซปต์? จะสนุกแค่ไหน? แตกต่างกันมากอย่างไร? หรือมีเรื่องราวอะไรที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ บ้าง? ติดตามกันได้เลย!

สถาปนิก’57 “สิบแปด | แปดสิบ : Eighteenth | Eighty”

“ภาพชีวิตประจำวัน สะท้อนภาพสถาปนิก:
การใช้กิจกรรมของคนทั่วไป สื่อสารบทบาทหน้าที่ของสถาปนิกกับคนทั่วไป”

นี่คอนเซปต์หลัก ๆ ของ Key Visual ในปีนี้ นำเสนอผ่านลายเส้นที่เรียบง่าย แต่ชัดเจนในการสะท้อนกิจกรรมต่าง ๆ ที่คนทั่วไปมีความสัมพันธ์ต่องานสถาปัตยกรรมในมิติของการดำเนินชีวิตประจำวัน

เราจึงได้เห็นภาพผู้คนและลายเส้นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่โยงกลับไปหาความสัมพันธ์ต่องานสถาปัตยกรรม อันเป็นบทบาท หน้าที่ ความสำคัญ และประโยชน์ของ “สถาปนิก” นั่นเอง

LOGO CONCEPT

ลดทอนรูปแบบให้เรียบง่าย แต่ยังสร้างความเชื่อมโยงกับคอนเซปต์หลัก ซึ่งเน้นไปที่ “พื้นที่ระหว่าง 18 และ 80” โดยสื่อความหมายคือ “ช่วงระยะเวลาระหว่าง 18 (ตัวเลขของช่วงเข้าอุดมศึกษาและวันก่อตั้งสมาคมฯ) และ 80 (การครบรอบของสมาคม)”

สำหรับโลโก้นั้น เป็นการนำเอารูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีโครงสร้างแบบ Isometric มาปรับให้สอดคล้องกับรูปแบบของ Key Visual โดยเปรียบเสมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้คนและพื้นที่ สิ่งปลูกสร้าง

สถาปนิก’58 “ASA NEXT | ตัวตน คนไทย”

“การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องเริ่มที่ตัวเรา”

ในปีนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดกับ “คน” ในทุกภาค ในฐานะ “สถาปนิก” ที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลัดเปลี่ยนนี้ ก็ได้ตั้งคำถามที่ว่า ศักยภาพของตัวเราดีพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ที่ระดับไหน?

หากเชื่อว่าสถาปนิกไทยมีความโดดเด่นในหลายด้านและมีมาตรฐานทัดเทียมหรือสูงกว่าหลายประเทศ งานสถาปนิกน่าจะเป็นเวทีประชาสัมพันธ์ที่ดีสู่เวทีโลก ทำให้เกิดพื้นที่ที่ทุกคนสามารถออกมาแสดงผลงาน ได้เปรียบเทียบ และเรียนรู้

ในปี 2015 งานสถาปนิกจะต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นเวทีที่สถาปนิกเอเชียทุกคนต้องมา โดยมีประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลาง เพื่อมาร่วมแสดงศักยภาพของสถาปนิกและพัฒนาความสามารถในการออกแบบร่วมกัน ไม่เพียงแต่แวดวงสถาปนิกไทย แต่ครอบคลุมไปในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความมุ่งมั่นสูงสุดคือ ปี 2015 งานสถาปนิกจะต้องแสดง ตัวตน ของ ‘คน’ ไทย อย่างแท้จริง

สถาปนิก’59 BACK TO BASIC | สู่สามัญ

“ตีความในแง่ของ BASIC ทางสถาปัตยกรรมที่คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้”

สถาปัตยกรรม คือการออกแบบพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ใช้สอย หากนักออกแบบมองย้อนกลับไปดู Basic ที่ทำให้คนเข้าใจง่ายและเกิดเป็นสถาปัตยกรรมได้นั้น คือ “แบบ Drawing” ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ใน drawing เหล่านั้นมากมาย

จึงหยิบเอา element เหล่านั้นมาสร้างให้เกิด typeface ใหม่ ๆ โดยพัฒนามาจาก plan ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งมีน้ำหนักของเส้นที่แสดงให้เห็นเป็น circulation / wall / void และสามารถพัฒนามาเป็น diagram ต่าง ๆ ได้ มีทั้ง positive / negative space และ element ต่าง ๆ ที่พัฒนาและประกอบร่างกันเป็น Key Visual ใหม่ ๆ

แต่ละ Key Visual ก็จะมี process ของ diagram ที่เป็นเรื่องราวของตัวเอง และต้องการสื่อสารให้เห็นว่า จาก Basic ของ Architecture สามารถพัฒนาต่อได้ไม่รู้จบ ไร้ซึ่งรูปแบบตายตัว ซึ่งสอดคล้องกับ Theme ของงานในปีนี้

สถาปนิก’60 “บ้าน บ้าน : BAAN BAAN Reconsidering Dwelling”

“เพราะ ‘บ้าน’ คือสถาปัตยกรรมพื้นฐานแรก ที่ทุกคนใช้ชีวิตและอยู่อาศัย เริ่มต้นและสิ้นสุดในแต่ละวัน”

“บ้าน” สามารถทำหน้าที่นอกเหนือจากพักอาศัยได้ นำมาใช้ทำประโยชน์อื่น ๆ เช่น เปลี่ยนเป็นสำนักงาน ร้านอาหาร คาเฟ่ หรือแม้กระทั่งโรงแรม ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่พัฒนาก็ทำให้บ้านฉลาดมากขึ้น ทั้งควบคุมบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมถึงเทคโนโลยีการก่อสร้าง ความซับซ้อนของความเชื่อ วัฒนธรรม ทั้งหมดคือความหมายใหม่ของบ้านที่เพิ่มเติมขึ้น

เมื่อบ้านในความหมายดั้งเดิมต้องมารวมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและนวัตกรรม เป็นปัจจัยที่เสริมมิติของคำว่า “บ้าน” ราวกับเป็น Plug-in ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ขยายความสามารถและขอบเขตของการอยู่อาศัยให้เพิ่มมากขึ้น

การถอดรื้อโครงสร้างของความหมายเดิมของคำว่า “บ้าน” และพิจารณามันใหม่อย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อให้การประกอบสร้าง “บ้าน” ขึ้นมาใหม่นี้ ตอบสนองต่อชีวิตในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

LOGO CONCEPT

ตัวอักษรคำว่า “บ้าน บ้าน” มีลักษณะสำคัญคือเส้นเฉียง 24 องศา ที่ลากจากสระอาตัดตัวอักษร บ และ น เป็นเสมือนเส้นหลังคาทำให้เกิดรูปทรงของบ้านในตัวอักษร ที่เป็นตัวอักษรภาษาไทยแบบมีหัว โดยที่หัวตัวอักษรจะมีช่องว่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะช่องเปิดแบบประตูหรือหน้าต่างบ้าน ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างลักษณะเฉพาะตัวของตราสัญลักษณ์นี้

นอกจากนี้ การเลือกใช้ตัวอักษรแบบมีหัวเป็นการสะท้อนความหมายของลักษณะความเป็นพื้นบ้าน ความเรียบง่าย หรือความเป็นลักษณะแบบไทย ๆ ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า บ้าน บ้าน (หรือบ้าน ๆ) นั่นเอง

สถาปนิก’61 “ไม่ธรรมดา : BEYOND ORDINARY”

ปะปะ โปะโปะ คำนิยามที่สร้างขึ้นเพื่อนิยามการแก้ปัญหาแบบไทย ๆ”

ความคิดสร้างสรรค์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สารพัดไอเดีย ร้อยแปดพันเก้า จนกลายเป็นทักษะ เป็นความเชี่ยวชาญของคนไทย

แต่ทักษะและความครีเอทที่ถูกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้ ก็มีผลในทางตรงข้ามกัน ทำให้แก่นของปัญหาถูกหลีกเลี่ยงในการเอ่ยถึง และพิจารณาแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทำให้ลักษณะความเป็นอยู่แบบไทย ๆ มีความทับซ้อนกันในหลายมิติ และนับวันยิ่งดูซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ลักษณะภาพตัดปะหรือ Collage จึงเป็นการแสดงออกทางศิลปะที่ทำให้ภาพที่ชัดเจนของความเป็นอยู่แบบไทย ๆ ที่ดูซับซ้อนแต่แฝงไปด้วยนัยยะสำคัญ ไอเดียแปลก ๆ ที่ “ไม่ธรรมดา” เอาไว้ให้ค้นหา

LOGO CONCEPT

จากการค้นคว้าหาสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันต่าง ๆ หนึ่งในงานที่น่าประทับใจคือ “ป้ายงานวัดริมทาง” ที่แยกคำเพื่อให้รถที่แล่นผ่านอย่างรวดเร็วสามารถรับรู้ถึงสารและข้อมูลในการสื่อสารได้

เกิดเป็นไอเดียในการออกแบบ Logo “ไม่ธรรมดา” มีลักษณะแบบ Perspective ซึ่งให้ความรู้สึกของการเคลื่อนที่ อาจตีความได้ถึงการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า (อนาคต) หรือถอยกลับ (ไปในอดีต) ซึ่งสอดคล้องไปกับเนื้อหาของงานสถาปนิก’61 ว่าด้วยเรื่องของการค้นคว้าภูมิปัญญาดั้งเดิม (อดีต) ทั้งด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นรวมถึงเชาว์ปัญญาในการดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้เข้ากับการดำรงชีวิตของคนไทย ว่าจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้หรือไม่?

สถาปนิก’65 “CO – WITH CREATORS : พึ่งพา – อาศัย”

“เพราะ ‘การสร้างสรรค์ร่วมกัน’ ย่อมทำให้ผลงานที่ออกมา มีศักยภาพมากกว่าเดิม”

คอนเซปต์หลักคือการหยิบเอางานสถาปัตยกรรมที่ใช้กระบวนการออกแบบในลักษณะ “พึ่งพา อาศัย” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมองเห็นความน่าสนใจของกระบวนการทำงานออกแบบในลักษณะ “การสร้างสรรค์ร่วมกัน” (Co – Creation) ของเพื่อน ๆ ต่างสาขาอาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกและภูมิสถาปนิก ศิลปิน นักออกแบบแสง แฟชั่นดีไซเนอร์ ช่างภาพ หรือนักออกแบบสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน

ตัว Key Visual ได้ศิลปินสตรีทอย่าง BENZILLA มาร่วมออกแบบ คาแรคเตอร์สำคัญอยู่ที่ตัว Three Ball ซึ่งปรากฏอยู่ในทุก Element ตัวหัวใหญ่สุดถูกนิยามถึง Living Space ที่หากมองลึกลงไปในเส้นสายลวดลาย จะพบว่ามันคือตัวแทนของผู้คนที่ในเมือง ที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกันออกไป แต่มีความร่วมสมัย ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เลี้ยงสัตว์ ทำงาน ปั่นจักรยาน เล่นเซิร์ฟสเก็ต เป็นต้น

มองโดยรวม Key Visual งานปีนี้มีความเป็นศิลปะสูงมาก กลิ่นอายของความเป็นสตรีทอาร์ทมาเต็ม และที่สำคัญคือมันเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น กลุ่มคนใหม่ ๆ กลุ่มสตรีทอาร์ท กระตุ้นให้พวกเขามาหาคำตอบของ Key Visual ตัวนี้ที่งานสถาปนิก

LOGO CONCEPT

“เรียบง่าย อ่านง่าย และเข้าใจง่ายที่สุด” ความที่ Key Visual ของงานมีสีสันสดใส ลวดลายที่จัดเต็ม ทำให้ LOGO ไม่จำเป็นต้องหวือหวามากนัก ผู้ออกแบบจึงไม่ต้องการให้แข่งกับ Key Visual หลัก เราจึงเห็นความเรียบง่ายจาก LOGO สำหรับฟอนต์ เลือกออกแบบให้เหมือนกับ “Box Logo” ตามสไตล์ไฮเอนด์แบรนด์ ที่เวลาอยู่บนเสื้อแล้วมันดูเท่ และเข้าใจง่ายไม่ว่าจะใช้แบบหนึ่งหรือสองบรรทัดก็รู้ว่านี่คืองานอะไร

สำหรับงานสถาปนิก’66 ที่กำลังจะมาถึงนั้น ถือเป็นครั้งที่น่าจับตามองอย่างมาก เพราะเป็นการครบรอบงานสถาปนิกครั้งที่ 35 ขณะนี้สมาคมสถาปนิกฯ ก็กำลังดำเนินการเฟ้นหาผู้ที่จะมาออกแบบ Key Visual ในงานปีนี้ อดใจรอกันอีกนิดเดียว เดี๋ยวจะได้รู้แล้วว่าใครจะเป็นผู้มารังสรรค์ Key Visual ในวาระครบรอบ 35 ปีสุดยิ่งใหญ่

สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

แล้วพบกันในงาน “สถาปนิก’66” ระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่เดิม! ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Similar Posts