สำรวจ 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม
ต่างกันอย่างไร? รู้คำตอบได้ในโพสต์เดียว

เป็นครั้งแรกของงานสถาปนิกที่มีการรวมตัวกันของ 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม เรียกได้ว่าปีนี้จัดเต็มยิ่งใหญ่มากกว่าครั้งไหน ๆ อย่างแน่นอน และที่สำคัญ ยังเป็นปีที่ครบรอบ 35 ปีของงานสถาปนิกอีกด้วย เป็นงานเดียวในประเทศไทยที่มีการรวมกลุ่มสถาปนิกและบุคคลในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ครอบคลุมและครบถ้วนทุกสาขา พร้อมการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจากแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก

แต่ก็ยังมีหลายคนสงสัยว่า 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมนั้นมีอะไรบ้าง ประกอบด้วยหน่วยงานใด และแต่ละประเภทนั้นทำอะไร หรือดูแลด้านไหนบ้าง วันนี้เราจะมาสรุปให้ฟังในโพสต์เดียวกัน

สาขาสถาปัตยกรรมหลัก / Architecture

ตัวแทนความคิดและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมในแต่ละยุค โดยทำหน้าที่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยในฐานะปราการปกป้องผู้อยู่อาศัยจากสภาพแวดล้อม และตอบสนองความต้องการทางจิตใจหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

ที่มาของความมั่นคงสวยงามทั้งหมดเกิดขึ้นจาก “สถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมหลัก” นักสร้างสรรค์อาคารบ้านเรือนจากองค์ประกอบทางศาสตร์ศิลป์ ได้แก่ การจัดวางที่ว่าง ทัศนศิลป์ และวิศวกรรมการก่อสร้าง นำมาผสมผสานกันอย่างลงตัวเพื่อสร้างสมดุลตอบสนองความต้องการด้านวัตถุและจิตใจของมนุษย์

สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง / Urban Architecture

วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมทางกายภาพของการเมือง ชุมชนเมือง ชุมชน และโครงการกลุ่มอาคารที่มีการใช้งานประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท รวมถึงการวางผังเพื่อกำหนดกิจกรรม พื้นที่ ขนาด ความหนาแน่น ความสูง ที่โล่งหรือที่ว่างระหว่างอาคาร และโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการภายในพื้นที่ดังกล่าว

เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะด้านการบริหารจัดการพื้นที่ ความลงตัวของการใช้งาน ความสวยงามที่จะเป็นภาพลักษณ์ ความสะดวกสบายของประชากรในการใช้พื้นที่ การจัดสรรพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยโดยรอบ

ทั้งนี้ การออกแบบวางผังทางกายภาพของสถาปัตยกรรมผังเมืองจะใช้ข้อมูลของแผนเมืองและชุมชน ที่ได้มาจากการศึกษาวิจัยในมิติต่าง ๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ของเมืองและชุมชนนั้น ๆ เพื่อความรอบคอบสูงสุด

การกำหนดพื้นที่เมืองอย่างครอบคลุมของสถาปนิกนักออกแบบผังเมืองก่อนปลูกสร้างอาคารจริง มีบทบาทต่อการกำหนดการดำเนินชีวิตองค์รวมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม การสร้างสรรค์จึงรัดกุมและมีข้อผูกพันทางกฎหมายในการพิจารณาร่วมด้วยเสมอ

สาขาภูมิสถาปัตยกรรม / Landscape Architecture

วิชาชีพที่สถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังบริเวณ เพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบกายภาพของสภาพแวดล้อมทางภูมิทัศน์ในชุมชน และพื้นที่ธรรมชาติทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับอาคาร ครอบคลุมพื้นที่ที่มีทั้ง ลักษณะ การใช้งาน และขนาดที่หลากหลาย จากพื้นที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ เมือง ชนบท รวมไปถึงพื้นที่ธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่มากๆ ด้วย

ดังนั้นงานภูมิสถาปัตยกรรมจึงมีตั้งแต่การศึกษา การออกแบบ การวางผัง และการวางแผน การใช้งานพื้นที่ที่เน้นการรักษา ฟื้นฟูและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ที่สมดุลกันระหว่างธรรมชาติและความต้องการของมนุษย์เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ / Interior Architecture

วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบเพื่อสร้างองค์ประกอบทางกายภาพและสภาพแวดล้อมภายในอาคาร สร้างความสมบูรณ์ให้พื้นที่พร้อมอยู่อาศัย สวยงาม ครบทุกฟังก์ชันความต้องการ เชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบเครื่องกล ระบบสุขาภิบาล และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสาธารณะ

สถาปัตยกรรมภายในที่ดีต้องเริ่มต้นทำงานพร้อมกับสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมและอาจต้องพิจารณาถึงภูมิสถาปัตยกรรมและเงื่อนไขของสถาปัตยกรรมผังเมืองด้วย โดยเน้นการจัดการองค์ประกอบภายในที่ว่างของสถาปัตยกรรมที่สนองต่อประโยชน์ใช้สอยและความงามที่เกิดจากความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้ที่มีความแตกต่างกันตามแต่ละบริษัทของสังคม และสภาพแวดล้อมประเภทต่าง ๆ

พอจะเห็นภาพของการทำงานแต่ละสาขา ว่าพวกเขาต้องดูส่วนไหนบ้างในโปรเจกต์ และสำหรับงานสถาปนิก’66 ที่กำลังจะมาถึง ก็เป็นครั้งแรกที่รวบรวมเอาทั้ง 4 สาขาสถาปัตยกรรม ผนึกกำลังครั้งสำคัญเพื่ออัปเดตองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างครบถ้วนทุกสาขา และเป็นการรวมตัวกันที่เยอะที่สุดของสถาปนิกทุกสาขาจากทุกภูมิภาค เป็นอีกหนึ่งอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของปี 66 เลยก็ว่าได้

ส่อง Concept หลักของงานสถาปนิก’66 “ตำถาด : Time to Togetherness” คลิกที่นี่เลย!!

สำหรับงานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เม.ย. 66 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts