‘Aluminum Grotto’ หรือ ถ้ำอะลูมิเนียม ผลงาน Thematic Pavilion ที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์ประจำงานสถาปนิกปีนี้ คือผลงานการออกแบบของ HAS design and research ร่วมกับ S-ONE ที่ได้รับแรงบันดาลใจถอดแบบจากถ้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ นำมารังสรรค์ใหม่เพื่อสร้างสเปซที่ผสานระหว่างความล้ำสมัยและธรรมชาติเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ด้วยการนำระแนงอะลูมิเนียมมาจัดเรียงใหม่ เพื่อสร้างเส้นสาย ความโค้ง ลบภาพความเหลี่ยม แข็ง เดิมของวัสดุ แทนที่ด้วยบรรยากาศสมูท ผ่อนคลาย
ความน่าสนใจของการติดตั้งระแนงอะลูมิเนียมที่ไล่ระดับหลายเลเยอร์แบบลอยตัว จำลองสภาพหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ คือจุดเด่นที่สร้างความประทับใจทันทีให้แก่ผู้พบเห็น และหลายคนคงเกิดคำถามในใจว่า ‘ติดตั้งได้อย่างไร’ ภายใต้ระยะเวลาจำกัดและน้ำหนักของวัสดุ เนื่องจากวัสดุอะลูมิเนียมทั้งหมดของพาวิเลียนมีน้ำหนักสูงถึง 11.5 ตัน หรือ 11,500 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบแล้วจะเท่ากับช้างเอเชียที่โตเต็มวัยประมาณ 3-4 ตัว (เฉลี่ยน้ำหนักตัวละ 3-4 ตัน)
วันนี้เรามีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับคุณฐิตกร อุษยาพร ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการพาณิชย์ บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญด้านโครงสร้างเหล็กที่อยู่เบื้องหลังการเนรมิต ‘Aluminum Grotto’ ในครั้งนี้
บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Pacific pipe คือบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเหล็กรูปพรรณมาตรฐานสากลสำหรับงานวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 52 ปี ผลิตภัณฑ์เหล็กรูปพรรณที่มีความแตกต่างตามประเภทการใช้งาน อาทิ ท่อสำหรับงานระบบ ท่อสำหรับโครงสร้าง ที่มีทั้งเหล็กท่อกลม เหล็กกล่อง และเหล็กตัวซี (C Light Lip Channel)
“เราเคยร่วมงานกับ HAS มาก่อนในโปรเจกต์ Phetkasem Artist Studio รับรู้ว่าทั้งคุณเจอร์รี่และคุณป้อเป็นคนที่แพสชั่นด้านวัสดุเหล็ก ในมุมของเราที่ต้องการสื่อสารและยกระดับอุตสาหกรรมให้เติบโตเพื่อให้ผู้คนรับรู้คุณสมบัติและความสามารถของท่อเหล็ก จึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโปรเจกต์นี้เมื่อได้รับการติดต่อ โดยได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กแบรนด์ TMZ ของเรา ซึ่งเป็นท่อเหล็กคุณภาพ มาตรฐาน มอก. ภายใต้การผลิตของ Pacific Pipe เพื่อนำไปผลิตเป็นโครงสร้างสำหรับ Thematic Pavilion ให้มีความแข็งแรงและติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว” คุณฐิตกรเผยถึงที่มา
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เหล็ก TMZ เกรด SS400 ที่นำมาใช้ผลิตโครงสร้างได้แก่
- เหล็กกล่องขนาด 100x100x3.2 mm
- เหล็กกล่องขนาด 50x50x3.2 mm
- เหล็กตัว C ขนาด 75x45x15x2.3 mm
TRUSS to be Touched
ในแง่การออกแบบโครงสร้างเหล็ก เพื่อส่งมอบการสัมผัสสถาปัตยกรรมให้ได้ตรงตามความตั้งใจของ HAS และเสริมความโดดเด่นในการโชว์วัสดุเอกอย่างอะลูมิเนียมจาก S-ONE รูปแบบของโครงเหล็กที่วิศวกรที่ปรึกษาออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการติดตั้ง Aluminum Grotto ใช้โครงถัก (Truss) ที่สามารถถ่ายแรงกระจายน้ำหนัก มีความแข็งแรงและสร้างสมดุลได้ดี ตัวโครงได้รับคำนวณทางวิศวกรรมเพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักได้อย่างมั่นคง แข็งแรง ทั้งการจัดวางองศาและระยะความถี่ เพื่อให้พร้อมรองรับการเข้าชมทุกพื้นที่ของพาวิเลียนอย่างปลอดภัย
ส่วนลักษณะการติดตั้งใช้วิธีประกอบชิ้นงาน (Fabrication) จากภายนอก แยกเป็นกลุ่ม เพื่อนำไปประกอบติดตั้งภายในอาคารอีกครั้ง ซึ่งการติดตั้งโครงสร้างเหล็กร่วมกับทุกส่วนประกอบของพาวิเลียนใช้ระยะเวลารวม 3-4 วันเท่านั้น
จากภาพตัวอย่างด้านบนสังเกตได้ว่า ส่วนของเลเยอร์อะลูมิเนียมลอยตัวที่จัดวางเรียงให้เกิดเส้นโค้ง ยกลอยโดยใช้วิธีนำอะลูมิเนียมยึดเข้ากับโครง subframe ที่ทำหน้าที่เป็นคานเล็กเพื่อให้แขนอะลูมิเนียมมายึด จากนั้นโครง subframe จะยึดกลับไปที่โครงหลัก
Relearn and Have fun
ก่อนเข้าร่วมสัมผัสความสวยงามภายในงานปีนี้ที่ทุกคนเฝ้ารอในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คุณฐิตกรได้ฝากข้อความทิ้งท้ายถึงสถาปนิกและนักออกแบบที่มองหาไอเดียด้านการก่อสร้าง บนความท้าทายใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานไว้ดังนี้
“ในบ้านเรา การใช้วัสดุวันนี้ ผมว่ายังไม่หลากหลายโดยเฉพาะเรื่องของท่อเหล็กรูปพรรณ เราในฐานะผู้ผลิตวัสดุจึงอยากสื่อสารให้น้องๆ สถาปนิก รับรู้ว่าท่อเหล็กรูปพรรณนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง แม้น้องๆ ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้ที่เพียงพอก็ไม่เป็นไร มาหาเราเพื่อพูดคุยกันได้ เพราะเราเป็นผู้ผลิตที่มีองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและมีความพร้อมสูง ที่จะลองเล่นโจทย์ยาก
อย่าลิมิตการออกแบบหรือตีกรอบความคิด อย่าเพิ่งบอกว่าวันนี้ไม่มีเกมเล่น เพราะคิดว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องเหล็ก ถ้าวันนี้คุณออกแบบมาแล้วยังไม่มีเกมเล่น มาหาเรา เราจะมาช่วยกันดู มาลองเล่นไปกับเรา เพราะเรามั่นใจว่า เราสามารถทำให้ทุกจินตนาการในการออกแบบเป็นจริงได้”
ทั้งนี้ นอกจากการใช้งานเหล็กในรูปแบบโครงสร้างที่เห็นได้จาก Thematic Pavilion แล้ว ‘เหล็ก’ ยังเป็นวัสดุที่ได้รับการยอมรับและใช้งานในด้านอื่นๆ อีกมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะตอบโจทย์การนำไปประยุกต์ใช้ในงานออกแบบได้อย่างอิสระ ทั้งงานที่โชว์ความสวยงามของโครงสร้าง งานตกแต่ง รวมถึงงานพื้นต่างๆ ฯลฯ
สนามเด็กเล่นไอเดียเพื่อสถาปนิกเปิดแล้ว มาพบความเป็นไปได้ด้านวัสดุ นวัตกรรม และองค์ความรู้ระดับสากลด้านสถาปัตยกรรมจากวิทยากรในเวทีนานาชาติมากมายได้แล้วที่งานสถาปนิก’67: งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี