ค้างคาวเล็บกุด ต้นเพกา และสถาปนิก:
ทฤษฎีวิทยาศาสตร์นำมาสู่แนวคิด
การจัดงานสถาปนิก’65 ได้อย่างไร

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สายพันธุ์พืช แมลง และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ดำรงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้? การแก่งแย่งแข่งขัน เบียดเบียนเท่านั้นหรือที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอด? ในระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตไม่ได้มีแต่เพียงการแก่งแย่งแข่งขันกัน แต่ตรงกันข้าม การแก่งแย่งแข่งขันเป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตท่ามกลางความสัมพันธ์แบบอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลในระบบนิเวศ หนึ่งในรูปแบบความสัมพันธ์ที่สำคัญคือ ภาวะการพึ่งพาอาศัยกัน (Mutualism) เพราะนอกจากจะทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้แล้ว ยังสร้างสรรค์การพัฒนาเปลี่ยนแปลงลักษณะของทั้ง 2 สิ่งมีชีวิตในความสัมพันธ์นั้น สอดคล้องกับแนวคิดการจัดงานสถาปนิก’65 ที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์การจัดงานให้ไม่เหมือนที่เคยเป็นมา

ความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์

ภาวะพึ่งพาอาศัยกัน เป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยต่างก็ได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์นั้น หรือที่เขียนเป็นสัญลักษณ์ได้ว่า (+/+) เช่นเดียวกับ ภาวะการได้ประโยชน์ร่วมกัน (Protocooperation : +/+) แต่การพึ่งพาอาศัยกันคือความสัมพันธ์ระยะยาวที่ทั้ง 2 สิ่งมีชีวิตไม่สามารถแยกจากกันได้เลยตลอดช่วงชีวิต เช่น ราที่ให้ความชุ่มชื้นและแร่ธาตุแก่สาหร่าย ส่วนสาหร่ายสร้างอาหารให้รา แตกต่างจากภาวะการได้ประโยชน์ร่วมกันที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถดำรงชีวิตอยู่ตามลำพังได้แม้แยกตัวออกจากกัน เช่น ผึ้งที่ผสมเกสรขยายพันธุ์ให้ดอกไม้ และดอกไม้ก็ผลิตน้ำหวานเป็นอาหารให้แก่ผึ้ง

ค่อย ๆ เปลี่ยนลักษณะบางประการเพื่อกันและกัน

ความสัมพันธ์เหล่านั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นทันที ณ ปัจจุบัน แต่เกิดจากการค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงผ่านช่วงเวลายาวนาน ในกระบวนการที่เรียกว่า ‘วิวัฒนาการร่วม

เพกาเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถผสมเกสรเองได้ เพกาวิวัฒนาการมาจนมีลักษณะที่อนุญาตให้ค้างคาวเล็บกุดเป็นผู้ผสมเกสรเท่านั้น เพราะกลีบดอกและก้านชูดอกของเพกาแข็งแรงแต่ยืดหยุ่น ค้างคาวสามารถเข้ามาเกาะ ทำให้ดอกโค้งรับน้ำหนักและเทน้ำหวานที่กักไว้ตรงโคนดอกออกมาให้กินได้ ในขณะที่ค้างคาวเล็บกุดเองก็มีน้ำหนักพอดี สามารถทำให้ดอกเพกาโค้งเทน้ำหวานออกมาได้ และสามารถเข้าไปกินน้ำหวานได้สะดวกที่สุด ต่างจากค้างคาวชนิดอื่น ๆ

เพกาและค้างคาวเล็บกุดเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่แสดงให้เห็นการวิวัฒนาการร่วมในธรรมชาติ ซึ่งคือการปรับเปลี่ยนลักษณะรูปร่างและพฤติกรรมให้สอดคล้องกันและกันเพื่อความอยู่รอดของทั้งสองเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการวิวัฒนาการร่วมอีกมากมายที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย ไม่ว่าจะระหว่างพืชกับแมลง พืชกับสัตว์ หรือระหว่างสัตว์ต่างชนิดกัน เป็นต้น

เปิดพื้นที่สำหรับตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ

การร่วมมือหรือการพึ่งพาอาศัยกันอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้บนโลกนี้ แต่ยิ่งไปกว่านั้นการพึ่งพาอาศัยยังอาจนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมอีกด้วย เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันทั้งสองฝ่ายอย่างยั่งยืน เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับนักสร้างสรรค์จากสาขาวิชาชีพอื่นไม่ว่าจะเป็น ภูมิสถาปนิก ศิลปิน นักออกแบบแสง แฟชั่นดีไซเนอร์ ไปจนถึง หมอ พ่อครัว หรือพระสงฆ์ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ที่แตกต่างหลากหลายให้กับงานสถาปัตยกรรม เปรียบได้กับการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของพันธุ์ไม้ใหม่ ๆ จากการผสมเกสรของแมลง ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะการมีน้ำหวานให้ผึ้งทาน

งานสถาปนิก’65 จึงเลือกหยิบยกการ “พึ่งพา – อาศัย” หรือ “CO – WITH CREATORS” มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันนี้จะนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานด้านการออกแบบสร้างสรรค์ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังใช้แนวคิดการ “พึ่งพา-อาศัย” มาเป็นองค์ประกอบหลักในกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การร่วมมือกันของประธานจัดงานทั้ง 3 ท่านที่มาจาก 3 ภูมิภาค การร่วมสร้างสรรค์ Key Visual ที่ฉีกจากความเป็นงานสถาปนิกที่ผ่านมา โดย บริษัท ดัคท์สโตร์ เดอะดีไซน์กูรู จำกัด ร่วมกับ Benzilla ศิลปินแนวสตรีทอาร์ตชื่อดัง การร่วมออกแบบพื้นที่ Thematic Pavilion เพื่อนำเสนอคุณสมบัติของวัสดุจากซัพพลายเออร์ผ่านความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิก โดยบริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และการจับคู่การทำงานระหว่างสถาปนิกและนักสร้างสรรค์หรือ CREATOR จากสาขาอาชีพอื่นหรือภูมิภาคอื่นทั้งหมด 12 คู่ ในพื้นที่ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างรวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากรอให้คุณมาสัมผัส ในงานสถาปนิก’65 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Source :

Similar Posts