“อัตตา – ถาปัตย์ – ศิลปะ” เมื่อการโคจรของศาสตร์แห่งดีไซน์ก่อกำเนิดผลลัพธ์ที่มากกว่าความสวยงาม

อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์
เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า
ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา
เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย

ช่วงหนึ่งของบทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมาและสามัคคีเสวก

หากนับตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก…
…พวกเขาก็รู้จักกับคำว่า “ศิลปะ” ผ่านกิจวัตรนับแต่นั้น

ศิลปะนับเป็นหนึ่งศาสตร์ที่อยู่มนุษย์มาเนิ่นนาน ในประวัติศาสตร์เราอาจเห็นภาพวาดบนผนังถ้ำ ก้อนหินปริศนาที่ถูกจัดวางไว้ทั่วทุกมุมโลก เสียงเพลงที่ถูกสร้างขึ้น เสียงจากธรรมชาติ หรือใกล้ตัวเราที่สุดอย่างงานสถาปัตยกรรมที่อยู่กับเราตลอดเวลา

ศิลปะ เป็นสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ แสดงออกทางความรู้สึก ความคิด อารมณ์ จากความจริงหรือจินตนาการของผู้สร้างที่ปรุงแต่งขึ้นมาอย่างมีเจตนาและนัยยะสำคัญ โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางให้ผู้ที่เข้ามาชมเข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารออกไป

สถาปัตยกรรม คือการออกแบบสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทั้งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ เช่น บ้าน คอนโด อาคาร… และสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เช่น เจดีย์ วัด สถูปและอนุสาวรีย์… นอกจากนี้ยังรวมถึงการนำศาสตร์แห่งศิลปะมาใช้ในการตกแต่งเพื่อให้สิ่งก่อสร้างนั้น ๆ เกิดความสวยงาม ทั้งภายนอก (สถาปัตยกรรมหลัก) ภายใน (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์) รวมถึงภูมิทัศน์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) ของสถานที่นั้น ๆ

ศิลปะพลิกชีวิต

“ผมใช้เงินทั้งหมดเอางานศิลปะขึ้นรถไฟมา แต่ตอนขากลับไม่มีเงินเอากลับ บังเอิญได้ยินเขาคุยกันเรื่องการประกวด ผมก็เลยเลือกจากงานที่เอามาด้วยแล้วลองส่งประกวดไป ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 2 แสนบาท ก็เป็นทุนในการขนงานกลับบ้าน”

ผศ. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี และผู้ก่อตั้ง
Patani Artspace เล่ากับ Thepeople ให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนของเขา

“ผมอยากให้ปัตตานีมีหอศิลป์” ความใฝ่ฝันไว้เด็กของเขาคือการสร้างพื้นที่ศิลปะในแผ่นดินบ้านเกิด รวมถึงการส่งต่อคำตอบของคำถามที่ว่า “เป็นศิลปินจะทำอะไร จะเอาอะไรกิน?” เพราะเมื่อผ่านหลายยุคสมัย การร่วมมือกันหลาย ๆ ฝ่าย ทำให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปินมากขึ้น

“ดีกว่า” [ว.] คําใช้เปรียบเทียบในการประมาณ

“ทุกอย่างมันมีเหตุผล การออกแบบต้องตอบได้ว่า ทำไมผลลัพธ์จึงเป็นแบบนี้”

คำว่า “ดีกว่า” ในมุมมองของสาริน นิลสนธิ สถาปนิกเครางามอารมณ์ดีแห่ง D KWA STUDIO มีมากกว่านั้น เพราะนอกจากจะเป็นชื่อบริษัทของเขาแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมให้ดีมากขึ้น มากขึ้นกว่าเดิมเรื่อย ๆ

“สถาปนิกที่เก่ง คือพลาดมาเยอะ ถ้าเราไปจำของเขามาออกแบบของเรา มันก็ไม่เกิดการเรียนรู้ แค่อยากให้สวยเหมือนเขา แค่นั้น… แต่ถ้าเราทำเอง เราจะรู้ปัญหา ว่าที่เราคิดในหัวกับของจริงมันออกมาใช่หรือเปล่า” สารินกล่าวถึงสิ่งที่เขาเรียนรู้และนำมาพัฒนาตัวเอง

โคจรข้ามภาค
ปัตตานี X เชียงใหม่
ศิลปิน X สถาปนิก

นิทรรศการ PROFESSIONAL COLLABORATION  เป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปนิก’65 สถาปนิกและนักสร้างสรรค์หลากสาขาวิชาชีพจากภูมิภาคต่าง ๆ จะจับคู่ร่วมงานกันทั้งหมด 12 คู่ และนำเสนอผลงานในนิทรรศการนี้ ผ่านการสื่อสารข้ามภูมิภาคแบบ New Normal ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานร่วมกันไปเลยในอนาคต ไม่ใช่แค่ภาวะฉุกเฉินในช่วงโควิด-19

ศิลปะกับสถาปัตยกรรมล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบที่ต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างโดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งผศ. เจะอับดุลเลาะและสาริน จะมาสร้างผลงานที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างศิลปะและสถาปัตยกรรมอะไรในพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ พื้นที่แห่งการร่วมมือ และพื้นที่แห่งการพึ่งพา – อาศัย จะเป็นภาพวาดของงานสถาปัตยกรรม หรือจะเป็นโมเดลสิ่งก่อสร้างในรูปแบบศิลปะ ต้องติดตามกันต่อไป

ยังมีสถาปนิกและนักสร้างสรรค์ท่านอื่นพร้อมนำเสนอผลงานอีกที่ ในงานสถาปนิก’65 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/  หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts