รับคำปรึกษาจาก “หมอบ้าน” ผ่านคอนเซปต์การออกแบบที่ใช้วัสดุทั้งหมดได้อย่างคุ้มค่า ที่งานสถาปนิก’65
หน้าที่ของ “หมอ” คือให้คำปรึกษาและรักษาอาการของคนไข้ ให้กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง และสำหรับบูธ “หมอบ้าน” บนพื้นที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็มีหน้าที่ใกล้เคียงกัน คือให้คำปรึกษาและหาทางแก้ไข อาการของบ้านผ่านผู้อยู่อาศัย
แต่ในปีนี้ ความพิเศษจะเกิดขึ้นบนในพื้นที่ของ “หมอบ้าน” ผ่านการร่วมมือกันออกแบบของ “แนน – วีรดา ศิริพงษ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘carpenter” ผู้รับบทเป็น Creators และ “คู่รักสถาปนิก เล็ก – จักรพันธ์ บุษสาย และวาว – วาสิฏฐี ลาธุลี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ SOONTAREE+” ที่รับบทเป็นสถาปนิก ในนิทรรศการ PROFESSIONAL COLLABORATION พื้นที่การ CO – CREATE ข้ามภูมิภาค กำเนิดเป็น Pavilion สุดสร้างสรรค์ ที่จะเปลี่ยนหน้าตาของพื้นที่สมาคมสถาปนิกให้ฉีกแนวจากที่เคยเป็นมา
บทที่ 1
ร่วมงานข้ามถิ่น
หลังจากที่ได้รู้ว่าต้องทำงานร่วมกัน สร้างสรรค์พื้นที่ ‘หมอบ้านอาษา’ ทั้ง “แนน เล็ก และวาว” ก็มีแนวคิดที่จะสร้างมูลค่าให้กับวัสดุด้วยความคิดสร้างสรรค์ คือ From Waste To Worth และลดขยะจากการก่อสร้างให้น้อยที่สุด (Zero Waste) หมุนเวียนเอาวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เอามาออกแบบใหม่ให้ยั่งยืนขึ้น วัสดุหลักทั้งหมดก็คือไม้ที่สามารถหาได้ตามท้องตลาด (ลด Carbon Footprint จากการขนส่ง) ส่วนด้านการออกแบบก็จะให้ความสุนทรีย์ดั่งชื่อสตูดิโอของ “เล็กและวาว”
เมื่อนำทั้งแนวคิดและดีไซน์มารวมกันจึงเกิดเป็นไอเดียของพื้นที่หมอบ้าน ที่มองวัสดุให้ครบลูป “ปลายทาง > ย้อนกลับ > การออกแบบ” จนกลายเป็นบูธที่โดดเด่นด้วยแพทเทิร์น “สามเหลี่ยมด้านเท่า” ที่มาจากภาพจำของ “สเกลไม้” ที่ทำให้แบรนด์ ‘carpenter เป็นที่รู้จักในวงการสถาปัตยกรรม
บทที่ 2
จากไอเดียสู่กระดาษสู่งานไม้
แนน: “การทำงานร่วมกัน มันต้องสะท้อนตัวตนของเราทั้งสองคนไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง และคำว่า ‘หมอบ้าน’ เราไม่อยากให้ดูเป็นคลินิกเกินไป จึงใส่คาแรกเตอร์ของ SOONTAREE+ ลงไปในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามารับบริการรู้สึกผ่อนคลาย และในมุมของ ‘carpenter เองก็เลือกการหมุนเวียนของวัสดุ เพื่อให้สื่อสารกับประชาชนได้อย่างทั่วถึง
“การหมุนเวียนวัสดุ เราจะคิดจากปลายน้ำย้อนมาที่ต้นน้ำ ใจความสำคัญของ Pavilion แห่งนี้ คือคิดตั้งแต่ต้นว่าจะใช้วัสดุอะไร ออกแบบอย่างไร หลังจากเสร็จงานวัสดุจะไปที่ไหนต่อ พอมองย้อนกลับมาเราจะพบว่าเราทำโมดูลาร์เพื่อช่วยลด Carbon Footprint ขนส่งง่าย ผลิตตามจำนวน และปลายทางจะถูกกระจายต่ออย่างไร ตรงนี้เราก็คิดไว้แล้ว”
เล็กและวาว: “เราต่อยอดไอเดียของแนนว่า ‘สามเหลี่ยมด้านเท่า’ จะออกแบบอย่างไรได้บ้าง ตัวสามเหลี่ยมประกบกันสามด้านหรือสี่ด้าน อาจจะเอียงองศาขึ้นมาหน่อยจะมีภายในเป็นลักษณะเต็นท์ กระโจม ถ้าถอดส่วนประกอบออกมาแม้กระทั่งส่วนที่เล็กที่สุด ไปจนถึงส่วนที่ใหญ่ที่สุดของงานมันก็จะเป็นสามเหลี่ยม
“พอลองคำนวณพื้นที่ทั้งหมดและบริเวณโดยรอบ เราเลยคิดว่าอยากจะทำให้มันเหมือนจุดรวมพล ในเชิงของพื้นที่ภายนอกจะกระตุ้นการเข้าถึงตรงนี้ด้วยการมองเห็นรูปด้านของตัวอาคาร ภายในจะเป็นฟังก์ชันของบูธหมอบ้าน ในกรณีของคนที่เดินผ่านไปมา อาจจะเป็น Sculpture ที่ทำให้คนเดินผ่านรู้สึกว่ามาถึงงานนี้แล้ว
บทที่ 3
จากคาเฟ่สู่หมอบ้าน
เราอยากสร้างภาพจำของหมอบ้านให้ดูเท่กว่าเดิม โดยการเอาวัสดุที่เหลือจากการไดคัท Pavilion มาเป็นเฟอร์นิเจอร์ (Zero Waste) ภายในบูธ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่สามารถต่อยอดได้อย่างไม่รู้จบ ส่วนผ้าจาก moreloop ก็นำมาเป็นวัสดุของบูธด้วย แล้วจึงนำเศษที่เหลือมาทำผ้ากันเปื้อนอีกทีเป็นยูนิฟอร์มให้กับหมอบ้าน ให้รู้สึกว่าการมาปรึกษาหมอบ้านที่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ เป็นความรู้สึกที่ผ่อนคลายมากขึ้นเหมือนไม่ได้ตั้งใจมาหาหมอ
บทที่ 4
หมอบ้านลุคใหม่
“มองว่าการคุยแบบสบาย ๆ จะทำให้คนที่แบกปัญหามาน่าจะสบายใจมากกว่า ด้วยบรรยากาศ ความอบอุ่น รวมถึงภายในบูธนี้ หากดูโดยรวมแล้วบูธจะดูแข็งไปนิด วาวจึงมีดูด้านความชุ่มฉ่ำตรงนี้ ใส่ความผ่อนคลาย ใส่ต้นไม้ ให้พื้นที่มันดูไม่เครียด เพราะถ้าบรรยากาศเครียด เนื้อหาเครียด มันจะยิ่งเครียดกันไปทั้งหมดเลย”
บทที่ 5
วัสดุที่ไม่หลับใหล
หลังจากที่สิ้นสุดการจัดแสดง วัสดุเหล่านี้ก็จะถูกหมุนเวียนต่อไปยัง ‘เอ๋ WISHULADA’ ที่จะเปลี่ยนไม้สามเหลี่ยมด้านเท่าจาก Pavilion “หมอบ้านอาษา” ไปเป็น Installation Art ไปสร้างสรรค์ต่อในแบบที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่แค่เสร็จแล้วทำลายทิ้ง
บทที่ 6
CO – ร่วมกันมันส์ไอเดีย
เล็กและวาว: “Pavilion ในงานสถาปนิกครั้งนี้ไม่ได้ออกแบบแค่สถาปนิกเท่านั้น แต่ยังมีมุมมองจาก Creator เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ตั้งแต่การจัดงานที่แตกต่างจากงานสถาปนิกทั่วไป เราคิดว่ามันก็เหมือนเทศกาลที่มีศิลปินหลาย ๆ แนวมารวมกัน ไม่ใช่ส่วนของ Pavilion แต่ก็จะมีอย่างอื่นที่น่าสนใจ คนที่ไม่ใช่นักออกแบบมาเดินผมว่าน่าสนุก น่าตื่นเต้น”
แนน: : “ถ้าเราคาดหวังอะไรใหม่ ๆ แต่ใช้วิธีการเดิม ก็ไม่ได้อะไรที่ต่างไปจากเดิม ปีนี้ใช้แนวคิดใหม่ก็จะได้อะไรที่ใหม่และแตกต่าง น่าสนใจ Pavilion ต่าง ๆ ในพื้นที่สมาคมได้ Creators หลากหลายแขนงมาร่วมแสดงศักยภาพร่วมกับสถาปนิก ผู้เข้าชมงานอาจได้มุมมองและแรงบันดาลใจกลับไป เผื่อจะได้ไอเดียใหม่ ๆ ขึ้นมาดูว่าจะสร้างสรรค์ร่วมกับอาชีพที่ต่างไปอย่างไรได้บ้าง ในมุมของหมอบ้าน ก็เป็นหนึ่งเวทีที่จะสื่อสารแนวคิดกับคนหมู่มาก แค่จุดประกายให้ใครสักคนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ก็มีความสุขแล้ว”
ความจริงแล้ว การที่เราต้องไปหาหมอ(บ้าน) มันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด ยิ่งปีนี้เป็นปีที่หลายคนต้องการคำปรึกษาจากตัวจริงเรื่องนี้ ก็ไม่อยากให้พลาดพื้นที่ “หมอบ้าน” กับการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของการให้คำปรึกษาที่จะแตกต่างจากเดิมทุกปี แถมยังได้ Creators มาร่วมกันออกแบบกับ Architects ด้วย บอกเลยว่าจ๊าบแน่นอน
แล้วไปพบกันที่งานสถาปนิก’65 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ https://bit.ly/3t73Fzw