THEMATIC PAVILION: Metal Sheet ยูนิตสี่เหลี่ยมเท่านั้นที่ Knock Down Everything Thematic เมื่อ ACa นำเหล็กกว่า 10,000 ชิ้นต่อเป็นผลงาน

หลังจากปีที่แล้ว ACa Architects คว้ารางวัล Thematic Pavilion 2022 ไป ในปีนี้เขาได้กลับมาลงสนามสร้างความประทับใจบทใหม่ร่วมกับ Empower Steel นำวัสดุใหม่ ประเภทเหล็กสกรีนลายมาดีไซน์ แค่ดูจากแบบคงยืนยันได้ว่าครั้งนี้ไม่น้อยหน้าคราวที่แล้วแน่นอน

น่าสนใจตรงที่ว่าเมื่อคุณมองไปที่ตัว Thematic Pavilion แห่งนี้ให้ดี จะเห็นว่าไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ไม่มีโครงสร้างภายใน ไม่มีเสา ไม่มีคาน แต่ทั้งหมดที่ตั้งอยู่ เกิดจากยูนิตของชิ้นเหล็กรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดเดียวกันมากมายนำมาต่อขึ้นเป็นฟอร์มต่าง ๆ ในบูธ แนวคิดเบื้องหลังการออกแบบที่ละเอียดทั้งชิ้นงานและไอเดียมาจากอะไร วันนี้เรามานั่งคุยกับคุณโจ๊ก – อนนท์ จิตรานุเคราะห์  Founder and Director จาก ACa Architects กันถึงสตูดิโอ


ดีไซน์ Thematic Pavilion จาก ACa Architects ปีนี้ โชว์ความโดดเด่นและศักยภาพของวัสดุเต็มพื้นที่ ด้วยการนำแผ่นเหล็กเคลือบสีและพิมพ์ลาย ผลิตภัณฑ์จาก Empower Steel ที่ผ่านการตัดให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยม มาต่อเป็น Modular Structure โดยทั้งหมดใช้จำนวนกว่า 20,000 ชิ้น ครีเอตเป็นออร์แกนิกฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง ฝ้า เฟอร์นิเจอร์ เคาน์เตอร์ ประติมากรรม ชั้นวาง ฯลฯ ส่วนบริเวณพื้นก็ทำจากแผ่นเหล็กที่คัดเลือกทั้งสีสันและผิวสัมผัสให้สอดรับโครงสร้างลอยตัวด้านบน ทำให้ภาพบูธทุกส่วนมีเรื่องราวที่เชื่อมต่อกัน

ขณะเดียวกันการวางแปลนตำแหน่ง Thematic Pavilion แม้จากแบบร่างจะเห็นว่ามีการแบ่งครึ่งระหว่างส่วนของ Exhibition Space และ Thematic Pavilion ที่เป็น Public Space แต่ทาง ACa ใช้วิธีวางแกนของ Traffic ทางเดินเข้าที่เป็นส่วนแกนกลาง (Main Exis) ตัดผ่านในมุมทแยง ดังนั้นจึงทำให้ภาพของบูธที่แบ่งโซนเกิดความกลมกลืนกัน และไม่ว่าผู้เข้าชมจะเดินมาจากทิศทางไหนก็สามารถเดินผ่านทั้ง 2 โซนได้

‘PART of NATURE’
เหล็กคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เมื่อสอบถามถึงที่มาของคอนเซ็ปต์ กว่าจะเป็น Modular structure ที่สร้างจากเหล็ก 20,000 แผ่น นำมาประกอบและต่อเป็นผลงาน คุณโจ๊กเล่าให้ฟังว่าเป็นการถอดดีไซน์จากโครงสร้างโมเลกุลของเหล็ก เพราะหลังจากศึกษาวัสดุแล้วพบว่าเหล็กก็ประกอบขึ้นจากธาตุโลหะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ที่มา: Mild Steel Sheet Metal Closed Up, Wikipedia, https://en.m.wikipedia.org/wiki/File:Mild_steel_sheet_metal_close_up.jpg (ซ้าย), Steel Molecular Structure, Quizizz, https://quizizz.com/admin/quiz/5e266f649cf4d6001c0acb83/unit-bonding-quiz (กลาง 1), Body Centred Cubic (Ferrite),  Moodlemech, https://www.youtube.com/watch?v=XO6NNsy2Ijg (กลาง 2), Ferritic Cube, Nickel Institute, https://nickelinstitute.org/en/about-nickel-and-its-applications/stainless-steel/ (ขวา)

“ธรรมชาติกับเหล็กบางคนอาจจะมองเห็นว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน เหล็กมันมองดูแข็ง มันดูเป็น Industrial หน่อยใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ แล้วเหล็กก็คือธาตุ ๆ หนึ่งที่ถูกประกอบขึ้นมาจากธาตุเคมีของธรรมชาติ จริง ๆ เขาก็เป็นธรรมชาติในมุมนั้น”

ที่มา: Cells of the Leaf System, Let’s Talk Science,  https://letstalkscience.ca/educational-resources/backgrounders/specialized-cells-leaf-system (ซ้าย),  Honeycomb, Imgur,  https://imgur.com/lbdJ0mS (กลาง),
Sunflower: The Fibonacci Sequence, Flickr, https://www.flickr.com/photos/lucapost/694780262/ (ขวา)

“เราลองไปศึกษาดูว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ถ้า Zoom In เข้าไปในเซลล์จะเห็นว่าประกอบจากโมเลกุลเล็ก ๆ มี Module ของเขา อย่างรังผึ้งก็จะมี Module หกเหลี่ยมที่เขามาประกอบกันจนเป็นรังผึ้งรวงใหญ่ สิ่งต่าง ๆ เกิดจากรูปทรงเรขาคณิต (Geometric Form) ที่ประกอบกันโดยเป็นระเบียบและก่อให้เกิดฟอร์ม ๆ หนึ่งขึ้นมา เหล็กก็เหมือนกัน ถ้าในเชิงเคมีก็มีการประกอบ (Bonding) จากโมเลกุลเล็ก ๆ ของเขาเหมือนกัน

บูธของเราเลยหยิบเจ้าตรงนี้มาประยุกต์กับดีไซน์ ฟอร์มของเราจะเกิดจากเจ้าตัวชิ้นส่วนเล็ก ๆ เพียงแค่แบบเดียว แต่ว่ามันจะเกิดการต่อ วิธีการต่อนี่แหละที่จะเป็นตัวครีเอตฟอร์มโดยรวมทั้งหมดออกมา”

ด้วยแนวคิดนี้ ACa จึงตั้งต้นโดยเปลี่ยนเหล็กให้อยู่ในรูปแผ่นเหล็กเรขาคณิตทรงสี่เหลี่ยม บากช่องด้านข้าง 4 ด้านเพื่อให้สามารถต่อขึ้นเป็น Modular Structure โดยแบ่งรูปแบบออกเป็น 2 ยูนิต แบบ A และ B จากนั้นก็นำยูนิตเหล่านี้เป็นโมดูลพื้นฐานนี้ไปสร้างเป็นฟอร์มอื่น ๆ ของ
พาวิลเลียน

CHALLENGE YOUR IMAGINATION
IGNITE your CREATIVITY

อีกเป้าหมายของพาวิลเลียนคือ Vision ที่ส่งเสริมการจินตนาการ เพราะ Empower Steel คือแบรนด์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแผ่นเหล็กพิมพ์ลายและสร้างผิวสัมผัสซึ่งมีวิสัยทัศน์แบรนด์อย่าง ‘Empower your imagination’ เมื่อนำมารวมเข้ากับการตีโจทย์การออกแบบพาวิลเลียนของ ACa ที่ใช้การเชื่อมต่อยูนิตในทำนองเดียวกับการต่อ Lego องค์ประกอบทั้ง 2 ส่วนจึงช่วยทลายกรอบไอเดียเดิมของผู้มาเข้าชม เพราะทุกครั้งที่ชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกถอดออกและนำมาประกอบใหม่ (Reconstruct) คุณจะได้สนุกกับรูปแบบของโครงสร้างที่สามารถจินตนาการได้ไม่จำกัด

ไม่เพียงตัวบูธที่ท้าทายมุมมองการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากเหล็ก ภายในบูธ ACa Architects ยังเตรียมมุม Workshop ต่อโมดูลให้คุณได้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองจากชิ้นส่วนแผ่นสี่เหลี่ยมแบบเดียวกับที่ใช้ในพาวิลเลียนสำหรับให้ลองต่อด้วยตัวเองด้วย โดยพวกเขาจัดเตรียมแบบตัวอย่างของยูนิตที่ใช้จริงจากบูธที่คุณกำลังยืนอยู่ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีความรู้ทางสถาปนิกหรือไม่ก็ตาม คุณก็เข้าถึงความสนุกนี้ได้

“คนน่าจะสงสัยว่า มันต่อยังไง ตั้งอยู่ยังไง เราจะทำเป็นโต๊ะสำหรับให้คนต่อเป็น Mini Model สเกลเล็ก ๆ ให้มาเสียบต่อกัน โดยเราก็จะมีวิธีการ เหมือน Lego ว่าต่อขั้นที่ 1-2-3-4 ต้องเรียงแผ่นยังไง แล้วมีวิดีโอฉายให้ดูวิธีการต่อประกอบเจ้าตัวบูธตัวนี้ว่า ทำขึ้นมาได้ยังไงบ้าง”

ทุกอณูดีไซน์คือความปลอดภัย

จะออกแบบวัสดุอย่างไรให้ปลอดภัย? คุณโจ๊กชี้ว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเมื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ ในงานอาจมีผู้คนทุกวัยเข้ามาในพื้นที่ เขาจึงวางแผนรายละเอียดไว้รอบด้าน ดังนี้

  • แผ่นเหล็กทุกชิ้น เจียรลบมุมทั้ง 4 ให้มีความโค้งมน
  • แผ่นเหล็กแต่ละชิ้นสร้างให้มีความหนา โดยเกิดจากแผ่นเหล็กสี่เหลี่ยม 2 แผ่นประกบ HMR ที่เป็นแกนกลาง โดยตัดขอบของแผ่นเหล็กให้สั้นกว่า HMR เพื่อป้องกันการเผยอและลดความกังวลเรื่องความบางของแผ่นเหล็ก
  • สร้างพื้นเป็นโครงเพื่อให้พื้นพาวิลเลียนมีความเรียบเสมอกัน และตัวโครงช่วยยึดเสริมความแข็งแรงอีกชั้นให้เกิดความมั่นคงในการตั้งโมดูล แม้ทุกโมดูลจะสามารถตั้งอยู่ได้แล้วก็ตาม
  • พื้นติดตั้งปุ่มนูนเพื่อช่วยให้ผู้เข้าชมสามารถรับรู้ตำแหน่งการยืนเมื่อเดินเหยียบ ป้องกันไม่ให้เดินชนหรือเข้าใกล้ชิ้นงานมากเกินไป
  • ติดตั้งสายดินเพื่อความปลอดภัยในการเดินกระแสไฟภายในบูธ

จบงานนี้แล้วยังได้ ‘ไปต่อ’

สำหรับประเด็นความยั่งยืน ผลงานชิ้นนี้ออกแบบโดยคำนึงถึงจุดนี้มาทุกขั้นตั้งแต่เริ่มสร้างจนจบงาน เพราะให้ความสำคัญตั้งแต่การกำหนดขนาดแผ่นเหล็กที่ 40X40 ซม. เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เหล็กรีดม้วนที่มีหน้ากว้าง 90 เซนติเมตร ได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด (ตัดได้ 2 แผ่นแบบเผื่อการตัดที่อาจคลาดเคลื่อน โดยให้เหลือเศษน้อย) ลักษณะวัสดุที่ออกแบบรูปทรงเรขาคณิต ขนาดของโมดูลที่เชื่อมต่อสะดวกในแง่การขนส่ง และเมื่อจบงานแล้วยูนิตทั้งหมดนี้สามารถถอดได้

“วัสดุ” จึงมีอายุยาวขึ้น ได้ไปต่อทั้งแง่วัฏจักรการอายุการใช้งาน
และไปต่อเพื่อติดตั้งในงานต่อไป


‘เหล็ก’ กับ ‘ธรรมชาติ’ รวมเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างไร
มาไของค์ประกอบที่สถาปนิก’66

ปีนี้ Thematic Pavilion ร้อนแรงรับเดือนเมษา สุดกว่าเดิมในทุกผลงาน ไม่ว่าคุณจะมาจากวงการไหน อย่าพลาด! มาสาดไอเดียรับความสนุกไปด้วยกัน เพราะงานนี้เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วพบกับทั้งหมดนี้ได้ที่งานสถาปนิก’66 “ตำถาด: Time of Togetherness” มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Similar Posts