Architecture Trend 2023: 5 เทรนด์สถาปัตยกรรมโลกที่นักออกแบบไม่ควรพลาด
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/ARC23_ARCH2_Cover-1200x800.jpg)
กระแสการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุค คือภาพสะท้อนบริบทของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ เพราะไม่ว่าเป็นเรื่องของค่านิยม สังคม หรือสภาพแวดล้อม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการกำหนดเทรนด์การออกแบบเสมอ สำหรับปี 2023 โลกกำลังให้ความสนใจเรื่องอะไร มีอะไรที่คนในวงการสถาปนิกและวงการก่อสร้างต้องอัปเดตบ้าง เรามาเช็กไปพร้อมกัน
Sustainable Architecture (สถาปัตยกรรมแห่งความยั่งยืน)
สถาปัตยกรรมหนึ่งแห่งมีอายุยาวนาน ใช้งานกันหลายชั่วอายุคน สถาปัตยกรรมที่สร้างในวันนี้จึงเป็นทั้งเรื่องของผู้คนในวันนี้และในอีกหลายสิบปีหรือหลายร้อยปีข้างหน้า ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและปริมาณทรัพยากรที่ลดน้อยลง หางเสือของวงการก่อสร้างตอนนี้จึงมุ่งมาที่การบริโภคทรัพยากรให้น้อยลง ใช้งานคุ้มค่า และลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ปีนี้ทั้งนวัตกรรมวัสดุ การออกแบบ การก่อสร้างทั้งหมดที่อยู่ภายใต้กรอบ ‘ความยั่งยืน’ จึงเป็นสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญ
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/230317-arch2-Trend-2023-1.jpg)
Sara Cultural Centre โปรเจกต์อาคารไม้ 20 ชั้น สูง 80 เมตร เมืองเชลเลฟเตโอ (Skellefteå) ประเทศสวีเดน เป็นหนึ่งในตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมแนวยั่งยืนที่น่าสนใจ และเป็นงานที่ได้รับการเสนอในงานการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) จุดเด่นของงานคือการใช้ไม้ ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่น ทำให้ทั้งการผลิตการขนส่งและการก่อสร้างสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ขณะเดียวกัน ‘ไม้’ ยังเป็นวัสดุที่นำกลับมาใหม่ได้ และด้วยเทคโนโลยีการออกแบบผู้ออกแบบกล่าวว่าตัวอาคารนี้จะมีอายุการใช้งานได้อย่างน้อยถึง 100 ปี
Tiny Home (สถาปัตยกรรมไซซ์เล็ก)
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่มุมไหนของโลก อสังหาริมทรัพย์อย่างที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง นับวันล้วนเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูงขึ้นและมีโอกาสครอบครองยากขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ขาดไม่ได้ ทำให้แนวคิดการสร้างสถาปัตยกรรมใช้พื้นที่น้อย ประกอบกับมีราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ กลายเป็นเทรนด์สำคัญในยุคนี้
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/230317-arch2-Trend-2023-2-800x1200.jpg)
Jewel อาคารสีดำดีไซน์ร่วมสมัยที่มีด้านเล็กสุดแสนสลิมจากหน้ากว้างเพียง 1.4 เมตรนี้เป็นอีกตัวอย่างของ Tiny house ซึ่งเป็นผลงานของ Apollo Architects and Associates ที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น งานนี้ออกแบบให้ตอบโจทย์ที่ดินที่มีพื้นที่จำกัดและราคาสูง สถาปนิกจึงออกแบบผังเป็นรูปตัว L เพื่อใช้พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ โดยด้านแคบที่เราเห็นนั้นเป็นด้านที่เชื่อมต่อกับย่านที่มีชุมชนหนาแน่น สะดวกกับผู้อยู่อาศัย
Floating Buildings (สถาปัตยกรรมลอยน้ำ)
หมีขั้วโลกจะขาดที่อยู่อาศัย ส่วนพื้นดินเดิมจะถูกท่วมทับด้วยแหล่งน้ำ การส่งสัญญาณของวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนผ่านความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ทั้งปีนี้และต่อไปในอนาคตสถาปนิกต้องปรับตัว ปรับโครงสร้างอาคารให้พร้อมกลายเป็นเรือโนอาห์ที่ลอยได้ทุกเมื่อหากพบเจออุทกภัย
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/230317-arch2-Trend-2023-3-1200x1200.jpeg)
‘Land of Water’ คือผลงานของ MAST สตูดิโอสถาปัตยกรรมในประเทศเดนมาร์ก ที่ออกแบบระบบสิ่งปลูกสร้างเหนือผิวน้ำ โดยอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ต้องเหมาะสำหรับการเคลื่อนย้าย ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้และสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วิธีนำพลาสติกเหลือใช้ในท้องถิ่นมารีไซเคิลเสริมแรงเพื่อสร้างฐานในรูปแบบ Modular ที่สามารถประกอบเชื่อมต่อกันและรองรับน้ำหนักสิ่งปลูกสร้างด้านบนได้ตามความต้องการ
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/230317-arch2-Trend-2023-4.jpeg)
งานดีไซน์ของ MAST เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นกระแสเทรนด์สถาปัตยกรรมลอยน้ำ มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้นำกลับมาใช้งานใหม่ ตอบโจทย์ทั้งแง่ความยั่งยืนและพร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
3D-printed Architecture (สถาปัตยกรรมล้ำจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ)
กรุงโรมอาจจะสร้างเสร็จได้ในวันเดียว ถ้าได้พบเทรนด์นี้ก่อน เพราะการสร้างสถาปัตยกรรมจาก 3D Printing นอกจากจะช่วยร่นเวลาในการก่อสร้างให้น้อยลง การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลที่ผ่านการคำนวณยังช่วยลดปริมาณวัสดุเหลือใช้และแรงงานสำหรับก่อสร้างได้ อีกทั้งยังมีศักยภาพยืดหยุ่นสามารถทำได้ตั้งแต่งานตกแต่งสเกลเล็กไปถึงงานสเกลใหญ่ โดยงานที่ออกมาหน้าตาตรงดีไซน์เป๊ะ ชนิดไม่ต้องลุ้นด้วย
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/230317-arch2-Trend-2023-5-1200x894.jpeg)
ตัวอย่างงานเชิงโครงสร้างปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีหลายโปรเจกต์ที่เริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน เช่น โปรเจกต์การออกแบบ El Cosmico โรงแรมกลางแจ้งในเท็กซัสที่เตรียมดำเนินการในปี 2567 ไม่ว่าจะเป็นตัวโดม ห้องพัก รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสระว่ายน้ำและสปา สถาปนิกใช้เทคโนโลยีนี้มาร่วมในการออกแบบทำให้ตัวงานมีความกลมกลืน สวยงาม
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/230317-arch2-Trend-2023-6-1200x675.jpeg)
หรือในแง่สถาปัตยกรรมแห่งอนาคต เทคโนโลยี 3D Printing ก็มีบทบาทสำคัญ พบได้จากการเซ็นสัญญาระหว่าง NASA กับบริษัท ICON ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 3D Printing ซึ่งร่วมมือกันในโปรเจกต์การสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนพื้นผิวดวงจันทร์และดาวอังคาร เช่น ฐานลงจอด ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงถนน เป็นต้น
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/230317-arch2-Trend-2023-7-1200x797.jpg)
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/messageImage_1679556140470-1200x1200.jpg)
ส่วนอีกตัวอย่างของการนำงาน 3D มาใช้ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ผสมผสานงาน 3D printing เข้ากับวัสดุอื่น นับเป็นอีกผลงานที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เก้าอี้ตัวนี้ออกแบบโดย Johannes Steinbauer Office For Design ตัวงานเรามองเห็นความซับซ้อนที่ตอบโจทย์นักออกแบบ ควบคู่มากับความยั่งยืนด้านฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสำหรับยุคนี้ เพราะเทคโนโลยี 3D Printing ออกแบบชิ้นงานให้สามารถถอดประกอบได้ ตอบโจทย์ในแง่การเคลื่อนย้ายและการจัดการเฟอร์นิเจอร์เมื่อเสื่อมสภาพ เพราะคุณสามารถแยกชิ้นส่วนไปกำจัดได้อย่างสะดวกตามประเภทของวัสดุนั้นๆ
Biophilic Architecture (สถาปัตยกรรมเชื่อมระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ)
ถึงปีนี้จะเป็นปีที่เราเริ่มหายใจหายคอและกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น แต่บทเรียนราคาแพงจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เรารับรู้ว่าสถาปัตยกรรมสำคัญขนาดไหนในวันที่ต้องกักตัว โครงสร้างของอาคารที่มีลักษณะเป็นกล่อง มอบรอบด้านมีแต่ผนัง เป็นฝันร้ายที่ส่งผลกับสภาพจิตใจและสุขภาพที่แย่ลง การออกแบบสถาปัตยกรรมปีนี้จึงยังให้ความสำคัญกับการแชร์พื้นที่อาคารร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่สีเขียว ผสานต้นไม้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร
![](https://architectexpo.com/2023/wp-content/uploads/2023/03/messageImage_1679556179440-1200x675.jpg)
The Greenary ผลงานการออกแบบของ Carlo Ratti Associati และ Italo Rota เป็นอีกภาพแทนของเทรนด์นี้ ลักษณะของผลงานคืออาคารที่ผสานธรรมชาติเข้ากับที่อยู่อาศัย โดยให้พื้นที่ส่วนกลางเป็นตำแหน่งของต้นไทรขนาดสูง 10 เมตร ผนังอาคารใช้วัสดุประเภทกระจก อิฐช่องลม รวมทั้งสร้างช่องแสงจากด้านบนหลังคาเพื่อให้ต้นไม้สามารถเติบโต
สำหรับใครที่กำลังวางแผนออกแบบโปรเจกต์ต่างๆ และมองหาไอเดียทั้งด้านการเลือกใช้วัสดุและเลือกคอนเซ็ปต์คมๆ ไปใช้งาน หวังว่าจะได้อะไรติดไม้ติดมือไปจากบทความนี้ ส่วนใครที่อยากได้ไอเดียที่ลึกกว่าและใช้ได้จริงกว่านี้ แนะนำให้แวะมาเยี่ยมชมกันได้ในงานสถาปนิก’ 66 ในธีมตำถาด : Time of Togetherness
งานนี้มีทั้งสปีกเกอร์ดีๆ วัสดุและนวัตกรรมเจ๋งๆ รวมถึง Thematic Pavilion ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบขึ้นโครงสร้างพาวิลเลียนจริงๆ ให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์ที่ถ่ายทอดจากสถาปนิกไทย เจ้าของผลงานเจ๋งๆ มากมาย ได้แก่ Pava Architects, Hypothesis, ACa Architects และ Context Studio บอกเลยว่าปีนี้เป็นปีที่คุณไม่ควรพลาด!
อ้างอิงข้อมูล
- https://www.arch2o.com/9-architectural-trends-for-2023/
- https://thermory.com/blog-and-news/5-architecture-trends-for-2023/
- https://www.yankodesign.com/2023/01/11/top-10-architecture-trends-of-2023/