“เจอสิ่งกีดขวางก็ขึ้นไปนั่งได้” ASA SHOP แนวใหม่ที่เป็นทั้ง Concept Store และสนามเด็กเล่นแบบไซต์ก่อสร้าง!

ลืมภาพร้านหนังสือแบบเดิมไปได้เลย เพราะ ASA SHOP พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในงานสถาปนิก’65 ปีนี้ ตั้งใจเป็น Concept Store ที่เปิดให้คุณมาเจอ มาคุย มาอ่าน และมาสนุกกัน(!?) กับพื้นที่สีน้ำเงินโดดเด่นจากฝีมือการออกแบบร่วมของสถาปนิก ชารีฟ ลอนา ดีไซเนอร์และเจ้าของ Studio Act of Kindness และนักสร้างสรรค์ จ่อย – สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ เจ้าของแบรนด์ Rubber Killer

เมื่อคนเปิด ๆ มาเจอกัน

แม้ภูมิหลังจะห่างกันสุดขั้วแบบ “เหนือสุดใต้สุด” แต่นั่นทำให้ทั้งสองเป็นคนเปิดกว้างรับสิ่งต่าง ๆ มาสู่การออกแบบเหมือนกัน “เรามีความชอบคล้าย ๆ กันคือความผสมผสานหลากสาขาวิชา (Multidisciplinary)”

แบรนด์ Rubber Killer ปัจจุบันนี้ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่สินค้าประเภทใดเพียงอย่างเดียว แต่สร้างสรรค์ทุกอย่างตั้งแต่กระเป๋า หมวก ถุงเท้า ไปจนถึงไฟแช็ก ก่อนที่จะเป็นเช่นนี้ได้ คุณจ่อยเล่าให้ฟังว่าเขามีภูมิหลังมาจากการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม และความสนใจด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จนมาทำแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Green Design) ของตัวเอง ที่ใช้วัสดุจากการ Upcycling หรือ Recycling

ด้านคุณชารีฟเอง แม้จะจบการศึกษาด้านการออกแบบตกแต่งภายใน ผ่านการทำงานด้านสถาปัตยกรรม แต่ก็ “ไม่ได้รู้สึกว่าเราชอบศาสตร์ไหนศาสตร์เดียวแล้วต้องโฟกัสที่อย่างนั้น ทุกอย่างที่เราเสพที่เรารับเข้าไปมันเหมือนทำให้เรามีความชอบที่หลากหลาย” Studio Act of Kindness ของเขาจึงมีวิธีการทำงานและทีมงานจากหลากหลายสาขาวิชา

การใช้ชีวิตในคนละภูมิภาคของทั้งคู่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่สไตล์การทำงานเช่นนี้ คุณชารีฟเล่าชีวิตในอดีตของเขา ว่าโตมากับครอบครัวที่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ในจังหวัดที่ติดกับมาเลเซีย และยังศึกษาทั้งในโรงเรียนคริสต์ทั้งเรียนอิสลามในวันเสาร์อาทิตย์ “ผมก็ค่อนข้างเปิดเสรีสำหรับอะไรที่เป็นความต่างของหลาย ๆ วัฒนธรรม” เช่นเดียวกับคุณจ่อยที่ ใช้ชีวิตอยู่ทั้งที่บ้านบนภูเขาที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโทรศัพท์ ทั้งใช้ชีวิตที่โรงเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่ จึงทำให้ชอบทั้งความเป็นเมืองและธรรมชาติ

จากร้านขายหนังสือสู่พื้นที่เพื่อ Quality of Experience หลังโควิด

หลังได้รับโจทย์ให้ออกแบบ ASA SHOP ทั้งสองเลือกที่จะพลิกภาพการยืนต่อคิวซื้อหนังสือในร้านแบบเดิม และตีความใหม่ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนหลายกลุ่มมาอ่าน มานั่งเล่น มาคุย มาทำอะไรก็ได้ไม่จำกัดแค่เพื่อซื้อหนังสือ

“ตอนเรายังเป็นนักออกแบบเด็ก ๆ อยู่ เราจะเปิดหนังสือ ดูงานออฟฟิศนี้โคตรดีเลยอยู่ในเล่มนี้ ๆ ทุกคนจะมามุงดูกัน” คุณชารีฟอธิบายภาพที่เขาต้องการให้เกิดขึ้นอีกในพื้นที่ ASA SHOP ในงานสถาปนิก’65 นี้

ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 พื้นที่ ASA SHOP จะเป็นร้านหนังสือที่ขายของใหม่ – เก่า ต่าง ๆ ของสมาคม และการระบาดของโควิด-19 เองก็ดึงคนให้ห่างออกจากกัน พวกเขาเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนมั่นใจจะกลับมาคุยกัน ให้ทุกคนที่ทำงานกันหมดแล้วกลับมาเจอเพื่อนเหมือนมางานสถาปนิกในปีแรก หรือให้ใครก็ตามไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักอ่านเข้าไปยืนดูหนังสือ แต่จะดูหนังสือแล้วเปิดโทรศัพท์มือถือดูกับเพื่อนก็ได้ สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพลิกภาพในอดีตอีกด้วย

“เรามองว่านอกจากพื้นที่สำหรับขายมันยังเป็นพื้นที่สำหรับนักออกแบบที่จะนัดเจอกัน บางทีเราก็ไม่ได้อยากดูหนังสือหรอก เราดูเพื่อฆ่าเวลารอเพื่อนอะไรอย่างนี้” คือเหตุผลที่พวกเขาเลือกให้ ASA SHOP ไม่ติดอยู่กับคำว่า SHOP แต่เป็นพื้นที่ของ ดีไซเนอร์ สามารถเข้าไปดูหนังสือ ไปเจอเพื่อน ไปคุยกันว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างที่ผ่านมา หรือนักศึกษา และผู้เข้าชมงาน ก็สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ตรงนี้ได้

“ใช้คำว่า Concept Store คลี่คลายมากกว่าการเป็นแค่ร้านขายหนังสือหรือร้านขายของที่ระลึก”

3 โปรแกรมเพื่อสร้างความเป็น Concept Store

Retail พื้นที่สำหรับการซื้อขาย / Gallery เพื่อประสบการณ์การชมผลงาน / Playground ให้คนมาคุยมาเล่นกันอย่างอิสระ

เมื่อได้คำว่า Concept Store มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบเพื่อสร้างคุณค่าจากประสบการณ์ (Quality of Experience) แน่นอนว่าโจทย์ของการออกแบบพื้นที่นี้คือการเป็นพื้นที่สำหรับซื้อขายหนังสือและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ แต่นอกจากนั้น ASA SHOP ในปีนี้ยังมีความพิเศษคือผลิตภัณฑ์จากทีมนักออกแบบร่วม (Co-creators) คนอื่น ๆ ที่มาร่วมงานนี้ด้วย จึงนำมาสู่อีกโปรแกรมคือความเป็นแกลเลอรี่ เพื่อจัดแสดงผลงาน ด้วยการออกแบบให้องค์ประกอบ (Compound) ไม่ใช่แค่ชั้นวางสินค้า

ท้ายที่สุด พวกเขาอยากส่งเสริมให้เพื่อน รุ่นพี่ หรือคนต่าง ๆ มาเจอกันแล้วได้เลือกหนังสือ ได้เปิดงานในโทรศัพท์ดู ได้นั่งคุยกัน จึงนำเอาโปรแกรมของความเป็นสนามเด็กเล่น (Playground) มาใช้ด้วย

นอกจากนี้ประสบการณ์การทำงานอีเวนต์ของทั้งคู่ทำให้พวกเขาพบขยะที่เกิดจากชั้นวาง (shelf) ที่ยังสภาพดี ยังใหม่ ยังสวยอยู่ แต่ถูกนำไปทิ้งหรือย่อยเป็นวัสดุใหม่ (Raw Material) เมื่อรวมกับความสนใจเรื่องวัสดุกับสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่อง Reclaim Material และการ Upcycling พวกเขาจึงออกแบบให้วัสดุที่ใช้เป็น ASA SHOP สามารถนำไปใช้เป็นสิ่งต่าง ๆ ต่อได้อีกโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลอีก

เพราะการ Upcycling ไม่ใช่แค่การเลือกวัสดุมาใช้ แต่คือกระบวนการทั้งหมด

สร้างสนามเด็กเล่นด้วยวัสดุแบบไซต์ก่อสร้าง

“เวลาไปตรวจงานเรามีภาพจำว่าไซต์งานมันก็เหมือนสนามเด็กเล่นของเราอย่างหนึ่ง ที่เรารู้สึกว่าได้ใช้อิสระในการคิดทดลองถกเถียงงานได้อย่างเต็มที่ เลยอยากจำลองเหมือนไซต์งานที่ยังไม่เสร็จ”

ภาพการหมุนเวียน (Rotate) ของคนคือสิ่งที่พวกเขาต้องการสร้างแทนภาพแถวซื้อหนังสือเหมือนเมื่อก่อน นำมาสู่การออกแบบให้มีสิ่งกีดขวางที่ใช้นั่งก็ได้ หรือเดินขึ้นไปบนที่ต่าง ๆ เพื่อดูองค์ประกอบต่าง ๆ ก็ได้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของสนามเด็กเล่นในเมือง โดยวัสดุที่ใช้มีตั้งแต่ C-Line Framing / Metal Checkered Plate / Vinyl Tile / Laminate Mirror Finish / Hoarding Tarps

  • Metal Checkered Plate ใช้สร้างเคานต์เตอร์ ตัวท็อป หรือบริเวณที่ใช้วางหนังสือ
  • Vinyl Tile ใช้ในบริเวณที่สามารถนั่งได้ เพิ่มความน่าสนใจด้านพื้นผิว (textile) ทั้งยังชวนให้นึกถึงงานอื่น ๆ ที่ต้องการการกันไฟ กันกระแทก กันเจ็บ และยังเข้ากับชั้นวางต่าง ๆ ด้วย
  • C-line Framing เป็นโครงสร้างที่เหมือนยังไม่เสร็จกระบวนการดี สร้างบรรยากาศเหมือนไซต์งาน
  • Hoarding Tarps หรือแผ่นสำหรับกันฝุ่นที่ก็ใช้ในไซต์ก่อสร้าง
  • และในส่วนของพื้นก็จะยังเลือกด้วยแนวคิดที่จะให้ถอดไปประกอบใหม่ได้เลย จึงอาจเป็นวัสดุรองพื้นแบบที่ใช้ในพื้นที่ขนส่งสิ่งของ อาจเป็นแผ่นพลาสติกสีน้ำเงินมาเรียงเป็นโมดูล หรืออาจเป็นแผ่นยางที่ไว้ปูตามสนามเด็กเล่นก็ได้ ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป

ในเรื่องของสี เขาเลือกสีน้ำเงินมาจากสีของถังต่าง ๆ ที่ใช้ในไซต์ก่อสร้าง โดยใช้สีเดียวทั้งบริเวณเพื่อเรียกความสนใจและยังขับให้ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงทำงานได้ดีอีกด้วย

นอกจากนี้องค์ประกอบต่าง ๆ ยังสามารถเคลื่อนย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งได้ เช่นหนังสือที่เคยอยู่ด้านหลังสลับที่กับผลิตภัณฑ์ของนักออกแบบด้านหน้ากันเมื่อเปลี่ยนวันก็สามารถทำได้ เพื่อสร้างความรู้สึกแบบ Concept Store มากยิ่งขึ้น ให้ผู้เข้าชมได้รับความแปลกใหม่ทุกครั้ง เช่นสำหรับนักออกแบบที่มาชมหลายวันกับลูกค้าและกับเพื่อน ที่ก็สามารถปรับเปลี่ยนการนั่งได้ด้วยเช่นกัน

“เห็นเขาบินหากันก็แอบอิจฉา อยากบินไปบ้างเหมือนกัน”

การทำงานร่วมกันคนละพื้นที่ผ่านระบบออนไลน์ไม่ใช่ปัญหาสำหรับพวกเขา ด้วยบุคลิกที่เป็นกันเอง การเข้าใจความคิดของกันและกัน และการเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง “อารมณ์เหมือนไปโรงเรียนใหม่แล้วมองว่าคนนี้เป็นเพื่อนเราได้ คนนี้เราน่าจะชวนโดดเรียน”

เมื่อถามถึงการทำงานภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ คุณจ่อยตอบว่าไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย “โลกมันเปลี่ยนไปแล้วโควิดยิ่งทำให้เราเปลี่ยนไป ซูมกันแทบทุกวัน มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว การทำงานคนละที่จึงไม่ใช่ปัญหา จริง ๆ ก็คุยกันหลายรอบ เห็นเขาบินไปหากันก็แอบอิจฉาอยู่ อยากบินไปหาบ้างเหมือนกัน”

คุณชารีฟเสริมว่าความง่ายในการทำงานของพวกเขาเกิดขึ้นจากการเข้าใจกันและกัน “พี่จ่อยก็รู้ความคิดตัวเองว่าต้องการอะไร ผมที่เป็นนักออกแบบหลักก็พยายามตีความจากเขา และพยายามจำกัดให้มันใกล้เคียงกับความต้องการของทั้งสองคน”

ซึ่งความต้องการของพวกเขาทั้งสองคนก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือการไม่ทำร้านหนังสือให้ออกมาเป็นร้านหนังสือ แต่มีความกบฏ “พอเราไปเรียนแบบดีไซเนอร์มาก ๆ หรือหนักไปทางแบบวิทยาศาสตร์มาก ๆ มันจะอยู่บนตรรกะจนเหมือนทุกอย่างมันลงหนึ่งสองสามสี่ แต่พอเราสองคนแตกแถวบ้าง มันเหมือนไปโรงเรียนใหม่แล้วมองว่าคนนี้เป็นเพื่อนเราได้ คนนี้เราน่าจะชวนโดดเรียน”

“ก็อยากให้แวะมาดูบูธของพวกเรานิดนึง ผมเองก็ยังลุ้นว่าก่อสร้างมาจริง ๆ แล้วจะเป็นอย่างไร มองว่าเป็นงานเชิงทดลองตั้งแต่การออกแบบจนถึงงานก่อสร้าง อยากชวนมาดู มาให้ความเห็น มาสนุกกับพื้นที่ที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ มาเที่ยวเล่น เจอเพื่อนฝูงพี่น้องกัน ผมเองก็ตั้งใจไปจากเชียงใหม่เจอกับชารีฟอยู่แล้ว” คุณจ่อยกล่าวก่อนที่คุณชารีฟจะเสริมว่าความคาดหวังในงานนี้คือการเปิดประสบการณ์ใหม่ สร้างความประทับใจใหม่ เปิดความเป็นไปได้ว่าวัสดุเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นอะไรได้บ้าง และพื้นที่ร้านอย่าง ASA SHOP นี้สามารถออกแบบอย่างนี้ก็ได้

งานสถาปนิก’65 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ https://bit.ly/3t73Fzw สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts