เปิดพรมแดนความร่วมมือข้ามวิชาชีพ:
ภาพลักษณ์ใหม่งานสถาปนิก’65
ในทัศนะของ 3 ประธานจัดงาน

การ “พึ่งพา – อาศัย” หรือ “CO – WITH CREATORS” เป็นแนวคิดหลักในการจัดงานสถาปนิก’65 ที่แสดงออกมาตั้งแต่ในกระบวนการทำงาน ด้วยการร่วมมือกันเป็นประธานจัดงานของสถาปนิกสามท่านจากสามภูมิภาคเป็นครั้งแรก ได้แก่ ราชิต ระเด่นอาหมัด สถาปนิกจากภาคใต้
อิศรา อารีรอบ สถาปนิกจากภาคเหนือ และ ปองพล ยุทธรัตน์ สถาปนิกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พวกเขาได้ให้เกียรติมาอธิบายถึงที่มาของแนวคิดหลักในการจัดงาน และเหตุผลที่งานสถาปนิก’65 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะทำให้ประสบการณ์ของคุณต่างไปจากเดิม ก่อนที่ทุกท่านจะได้สัมผัสงาน ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65

01
สมมุติฐานเรื่องการทำงานร่วมกัน

จากความพิเศษแรกของงานสถาปนิก’65 ซึ่งถือว่าเป็นปีแรกที่มีประธานจัดงานทั้งหมด 3 ท่าน ทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันของสถาปนิกระหว่างภูมิภาค และแนวคิดเรื่องการร่วมมือกันนี้เองก็ถูกหยิบยกนำมาเป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน คือ “พึ่งพา – อาศัย” หรือ “CO – WITH CREATORS” เพื่อต้องการสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่สถาปนิกมีการทำงานร่วมกับเหล่า “CREATOR” หรือ “นักสร้างสรรค์” หลากหลายสาขา เช่น สถาปนิกกับนักออกแบบแสง สถาปนิกกับเชฟ หรือนักออกแบบเค้ก เพื่อสร้างสรรค์รูปลักษณ์ของอาหารให้มีความโดดเด่น ไปจนถึงสถาปนิกกับนักบินอวกาศที่สร้างคอนเซ็ปต์ไอเดียเป็นยูนิตให้อยู่อาศัยในดาวเคราะห์อื่น

“เราคิดเหมือนกันว่าการทำงานร่วมกันแบบนี้ มันน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมในอนาคตหรือเปล่า เราจึงโยนคำถามนี้เหมือนกับตั้งสมมุติฐานว่า ถ้ามีการออกแบบร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับ CREATOR หรือนักสร้างสรรค์ในสาขาอื่น ๆ มันจะทำให้เกิดงานที่มีความน่าสนใจ และมีทางออกที่เป็นไปได้มากขึ้นหรือเปล่า ก็เลยใช้โอกาสในการจัดงานสถาปนิก’65 เป็นเวทีสำหรับตั้งคำถาม” คุณปองพลกล่าว

โดยขยายความเพิ่มว่าแนวคิดในการจัดงานมาจากมุมมองความเชื่อของคุณปองพลเกี่ยวกับ ‘วิวัฒนาการร่วม’ ซึ่งก็คือระบบในการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิตที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ดอกไม้ เมื่อประมาณร้อยล้านปีที่แล้วที่ยังผสมพันธุ์ด้วยตัวเองไม่ได้จึงมีวิวัฒนาการร่วมเพื่อดึงดูดแมลงให้มาดูดกินน้ำหวาน เพื่อให้แมลงช่วยผสมเกสรให้ดอกไม้ ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสองคงอยู่มาได้เป็นร้อยล้านปี

“ส่วนตัวก็เลยมีความเชื่อลึก ๆ ว่าเวลาเราทำอะไรคนเดียว มันอาจจะไม่ยั่งยืนมาก แต่ถ้าการทำงานที่มีแนวคิดของวิวัฒนาการร่วมกันมันน่าจะทำให้งานออกมามีความยั่งยืน ก็เลยใช้เวทีของงานสถาปนิก’65 เป็นการเสนอแนวทางและเสนอคำตอบว่า CO – WITH CREATORS จะเป็นงานที่เป็นทางออกของสถาปนิกในอนาคต”

การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งที่มาของชื่อแนวคิดหลักของงานสถาปนิกครั้งนี้ คุณอิศราเล่าว่าการทำงานร่วมกันของประธานทั้ง 3 ท่าน เป็นการแบ่งงานกันทำ ช่วยกันทำงานในแต่ละจุดเหมือนทำงานกลุ่ม จึงมองว่าโจทย์การพึ่งพาอาศัยมีอยู่ตั้งแต่เริ่มทำงานวันแรกอยู่แล้ว แต่คำว่า CO – WITH CREATORS เกิดขึ้นจากวิธีการทำงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงอยากบันทึกไว้ด้วยคำพ้องเสียงกับโควิด คือ CO-WITH รวมกับ CREATOR ซึ่งในที่นี้ใครก็สามารถเป็น CREATOR ได้หากมีความคิดสร้างสรรค์

ดังนั้นจุดเด่นของงานสถาปนิก’65 นี้ คือการเปลี่ยนแปลงภาพจำไปจากเดิม ทั้งความคิด ความรู้สึก รวมถึงบรรยากาศที่ดูเป็นกันเองมากขึ้น ทุกคนสามารถเข้าร่วมงานได้ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิกอย่างเดียว คุณราชิตสรุป

02
งานสถาปัตยกรรมไม่ได้ทำอยู่แค่สถาปนิกคนเดียว

เมื่อถามถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับสายงานอื่น คุณปองพลเล่าถึงการร่วมงานกับนักจิตวิทยาเด็กที่เขาเห็นว่าก็เป็น CREATOR สำหรับโปรเจคการออกแบบพื้นที่บ้าน เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับเด็กที่จะเติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อตอนทำงานคนเดียวที่ทำตามแบบแผนเดิม ๆ มาตลอด

ขณะที่ในกระบวนการทำงานทางสถาปัตยกรรม คุณอิศราเห็นว่าการทำงานไม่ได้อยู่ที่สถาปนิกแค่คนเดียวแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทุกฝ่าย เช่น สถาปนิกชื่อดังอย่าง Zaha Hadid เองก็เริ่มจากการร่างแบบแล้วมีทีมงานคอยสรรค์สร้างให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเขามองว่าเก่งกาจไม่น้อยกว่าตัวสถาปนิกเองเลย เพียงแต่เขาเหล่านั้นอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสถาปนิก ต่างจากการทำงานของสถาปนิกไทยที่แทบจะทำเองทุกขั้นตอน ซึ่งเขามองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมไทย “ไปไม่สุด” เพราะยังขาดทีมสนับสนุน คือเหล่า CREATOR ทั้งหลาย เราจึงให้ความสำคัญกับ CREATOR เหล่านี้ในการจัดงานครั้งนี้

“ผมมองว่าการจะทำให้งานสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งมันสมบูรณ์ได้มันไม่ได้จบแค่ที่สถาปนิก งานบางงานดูในหนังสืออลังการมากเลย แต่พอได้ไปเห็นของจริงแทบไม่มีมุมที่ผมเห็นในหนังสือเลย คนที่เก่งที่สุดที่นำเสนอตรงนั้นออกมาได้ดีคือช่างภาพ เราก็เลยรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วในการทำงานสถาปัตยกรรมมันต้องมีหลายคนที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเราด้วย แล้วเขาต้องเห็นในสิ่งที่เราหวังอยากให้มันเป็น เพราะฉะนั้นคนเหล่านั้นสำคัญไม่แพ้สถาปนิกเลย”

ในกระบวนการทำงานของสถาปนิกเองสัมพันธ์กับคนมากมาย ต้องสื่อสารเกี่ยวกับเทคนิคการทำงานซึ่งผลักดันความรู้ไปร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรหรือช่างในพื้นที่ที่ต้องทำงานด้วย คุณราชิตเห็นว่าประเด็นนี้เห็นได้ชัดในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือความรู้เชิงปฏิบัติการที่เข้าใจร่วมกัน จึงทำให้ต้องพึ่งพากันและกัน รวมทั้งการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เช่นในเรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

03
อีเวนต์ที่เล่าเรื่องกระบวนการคิด

“งานปีหน้าท่าจะมัน” คุณราชิตกล่าว ด้วยเห็นว่างานสถาปนิก’65 จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้พี่น้องได้กลับมาเจอกันอย่างคึกคักได้ด้วยบรรยากาศที่ดูไม่เป็นทางการ ไม่ดูเป็นสถาปนิกมาก หลังจากที่อยู่ในภาวการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 กันมานาน สอดคล้องกับไฮไลต์ของงานในพื้นที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่คุณอิศราเล่า

“จุดเด่นของงานสถาปนิก’65 น่าจะเป็นเรื่องของแนวคิดที่เราทำนี่แหละ เพราะว่าเราจะได้เจออะไรที่เหมือนงานอีเวนต์หนึ่งซึ่งพูดถึงกระบวนการคิดของนักคิด มากกว่าที่จะเป็นงานที่บอกว่าสถาปนิกทำอะไร จึงต้องการนำเสนอการระดมความคิด หลักคิดในการทำงาน และแนวความคิด มากกว่าเป็นงานที่จะกล่าวถึงเพียงแต่สถาปัตยกรรมหรือเกี่ยวกับการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีแนวทางนำเสนอออกไปอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่างานในครั้งนี้จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน”

“Now Normal” คือนิยามการจัดงานสถาปนิก’65 ตามคำนิยามของคุณปองพล เพราะนอกจากบรรยากาศภายในงานที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว งานสถาปนิก’65 ครั้งนี้ยังมีกิจกรรมออนไลน์ที่เตรียมเอาไว้ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มคิกออฟงาน เพื่อสร้างประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของผู้ชมงานที่ไม่ได้จำกัดแค่วันจัดงาน 6 วันเท่านั้น และไม่ได้มีกิจกรรมออนไลน์เพียงเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินในช่วงโควิด-19 ระบาดเท่านั้น แต่จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของงานเป็นปกติเลย

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญในงานสถาปนิก’65 เห็นได้จากการเป็นปีแรกที่มีการวัดค่า Carbon Footprint ในการจัดนิทรรศการ คุณปองพลเล่าว่าเขาตั้งใจจะเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการจัดนิทรรศการที่ได้จากการทำงานร่วมกับนักวิจัยสายวิทยาศาสตร์ให้สถาปนิกในฐานะนักออกแบบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไปได้รู้ด้วย ว่าการจัดนิทรรศการหนึ่งครั้งมีการปล่อยคาร์บอนไปเท่าไร และจะต้องใช้ต้นไม้กี่ต้นเพื่อทดแทน โดยจะพยายามย่อยองค์ความรู้ให้เข้าใจง่ายและนำมาเผยแพร่ในพื้นที่ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ด้วย

04
รูปแบบงานเพื่อให้คนเข้ามาเดินแล้วผ่อนคลาย

ลดความตึง–ความจริงจัง และทำให้คนทั่วไปมาเดินแล้วรู้สึกดี เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ของงานสถาปนิกที่ประธานจัดงานทั้งสามท่านอยากนำเสนอ เมื่อภาพจำของงานสถาปนิกเดิมเป็นงานเชิงวิชาการ ดังนั้นจุดประสงค์ของงานในครั้งนี้ที่อยากเปลี่ยนแปลงคือสร้างพื้นที่ผ่อนคลาย ให้คนจากวิชาชีพที่แตกต่างกันเข้าร่วม เพราะใครก็เป็น CREATOR ได้หากมองจากกิจกรรมที่เขาทำในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่คิดจะสร้างบ้านหรือสนใจเรื่องการก่อสร้างแต่เป็นคนที่คิดจะหาอะไรใหม่ ๆ จึงอยากขยายกลุ่มคนที่สนใจออกไปอีก

05
เจ้าของแบรนด์กระเป๋า ช่างภาพ ศิลปินสตรีทอาร์ต และสถาปนิก

ภายในพื้นที่ของสมาคมฯ จะเป็นการนำเสนอเรื่องราว กระบวนการคิด และหลักการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับเหล่า CREATOR โดยประธานทั้งสามท่านได้ทำการสรรหา CREATOR มาทั้งหมด 12 ท่าน และสถาปนิกอีก 12 ท่าน แบ่งเป็นจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ภูมิภาคละ 4 ท่าน เพื่อร่วมกันจัดแสดงผลงานที่นำเสนอการ “CO – WITH CREATORS” โดยจับคู่การทำงานแบบ Cross Culture อย่างคนจากภาคเหนือทำงานกับคนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Cross Function คือการทำงานร่วมกันระหว่างวิชาชีพที่แตกต่าง แสดงให้เห็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน ซึ่งการทำงานด้วยแนวความคิดนี้มีความน่าสนใจ

คุณอิศราเล่าว่าเขาคัดเลือกคนที่ได้รับการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมมาแต่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม เช่นผู้ที่ทำแบรนด์กระเป๋าหนัง Rubber Killer หรือผู้ที่ทำค่ายเพลง เป็นต้น หรืออย่างที่คุณปองพลเลือกมาเป็น CREATOR จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำงานเป็นผู้รับเหมาแต่มีงานอดิเรกเป็นการถ่ายภาพที่ “เวรี่ไทย” อย่างทุ่งนา พระสงฆ์ หรือเด็กเล่นน้ำ ด้วยไอโฟน จนได้ขึ้นบิลบอร์ดทั่วโลก ได้พบกับซีอีโอของบริษัทแอปเปิล มาจับคู่กับสถาปนิกจากภูเก็ตเพื่อรังสรรค์พื้นที่ LOCAL INNOVATION ซึ่งจะมีผลลัพธ์เป็นเนื้อหาเรื่องของนวัตกรรมวัสดุจากภูมิปัญญาในท้องถิ่น ผ่านมุมมองจากสถาปนิกและช่างภาพ ที่คาดว่าจะมีการจัดองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ที่แปลกไปจากปีก่อน ๆ นอกจากนี้ คุณปองพลยังเปรียบเทียบว่าแนวคิดนี้คล้ายกับการทำ Thematic Pavilion โดยบริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพราะเป็นการจับคู่ให้สถาปนิกและซัพพลายเออร์ไปศึกษาซึ่งกันและกันก่อนจะให้สถาปนิกออกแบบพื้นที่จัดแสดงเพื่อนำเสนอศักยภาพของวัสดุก่อสร้างแต่ละชนิดในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งแนวคิดการทำงานนี้สอดคล้องกับที่ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ทำ

Key Visual ของงานที่ออกแบบโดย บริษัท ดัคท์สโตร์ เดอะดีไซน์กูรู จำกัด ก็ใช้แนวคิดนี้ในการพัฒนางาน โดย “CO – WITH CREATORS” ด้วยการทำงานร่วมกับ Benzilla ศิลปินแนวสตรีทอาร์ตที่น่าจับตามองที่สุดของยุคสมัย ให้ออกแบบคาแรกเตอร์แหวกแนวใน Key Visual “ถ้าโปสเตอร์ออกไปคนน่าจะตกใจ ว่านี่งานสถาปนิกหรืองานสเก็ตบอร์ด” คุณราชิตกล่าว ก่อนที่ คุณปองพลจะเสริมว่าคาดหวังให้สถาปนิกเปิดใจรับความคิดเห็นจาก CREATOR ด้วย เมื่อการทำงานนี้ไม่ได้ทำคนเดียว อยากให้เกิดการเรียนรู้ของทั้งตัวสถาปนิกเองและ CREATOR เช่น สถาปนิก 12 ท่านที่เลือกมาก็จะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับ CREATOR เรียนรู้ข้อดีข้อเสีย และความรู้เรื่อง Carbon Footprint จากนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ทั้ง 12 คู่จะต้องเรียนรู้ร่วมกัน

06
เปิดพรมแดนให้นักสร้างสรรค์ทุกวิชาชีพได้ร่วมงานกัน

เมื่อประธานการจัดงานมาจากสามภูมิภาคแล้ว ประธานการจัดงานจึงอยากเชิญชวนสถาปนิกจากภูมิภาคต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงศักยภาพของตนและเจอนักสร้างสรรค์ในสาขาอื่นด้วย รวมทั้งเชิญชวนนักสร้างสรรค์เองให้เข้ามาดูผลลัพธ์ของโจทย์ที่ตั้งไว้เกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน เพื่อนำมาสู่การเปิดพรมแดนของสถาปนิกออกไปสู่สาขาวิชาชีพอื่น ให้ได้ร่วมงานกันมากขึ้น สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ที่สำคัญที่สุด งานสถาปนิก’65 จะเป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งของการจัดอีเวนต์ ด้วย Mood & Tone และคาแร็กเตอร์ที่ตั้งใจสร้างขึ้น เพื่อให้เข้าถึงง่ายทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า โดยหวังว่าจะเป็นงานสถาปนิกปีที่ทุกคนจดจำได้

07
ให้สถาปนิก ซัพพลายเออร์ และนักสร้างสรรค์ทั่วทุกทิศได้มาเจอกัน

นอกจากนี้ก็อยากเชิญชวนซัพพลายเออร์ให้เข้าร่วมจัดแสดงด้วย โดยคุณอิศราให้เหตุผลว่าเพราะเป็นบรรยากาศที่ดึงความรู้สึกเดิม ๆ ที่หายไปนาน ในขณะเดียวกันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดความน่าสนใจในกลุ่มคนที่กว้างขวางแพร่กระจายออกไปด้วย นับเป็นหมุดหมายที่ดีที่จะเริ่มเปิดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาชมงานสถาปนิก

คุณปองพลเองก็เห็นว่าโมเดลการจัดแสดงพื้นที่แบบ Thematic Pavilion เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับซัพพลายเออร์ที่จะทดลองออกแบบพื้นที่จัดแสดงให้มีความน่าสนใจ ตอบสนองความต้องการของสถาปนิกจากภูมิภาคที่เดินทางไปดูงานสถาปนิกในกรุงเทพฯ โดยให้ความสำคัญกับสัมมนาและงานจัดแสดงนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง ซึ่งพื้นที่ Thematic Pavilion จะทำให้ซัพพลายเออร์สามารถเพิ่มมิติการออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์เข้าไปด้วยได้ และยิ่งน่าสนใจเพราะเป็นการแสดงศักยภาพของวัสดุจากซัพพลายเออร์ได้ชัดเจน

ท้ายที่สุด สถาปนิกและ CREATOR ที่อยู่ต่างจังหวัดจะยิ่งเข้ามาพบปะสร้างความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ได้มากเป็นพิเศษในปีนี้ตามความเห็นของเขา เพราะบรรยากาศที่อัดอั้นมาจากสถานการณ์โควิด-19 ผนวกกับตัวสถาปนิกและ CREATOR ทั้ง 24 ท่าน จากภูมิภาคต่าง ๆ ที่เป็นเสมือนตัวดึงดูดให้เพื่อน ๆ เข้าร่วมงานสถาปนิก

08
เซอร์ไพรส์พิเศษ(!)

เพียงแค่การเคลื่อนไหวในช่วงเวลาก่อนวันงานสถาปนิก’65 ก็น่าจะเป็นเซอร์ไพรส์ไม่น้อยแล้ว ตั้งแต่โปสเตอร์หรือ Key Visual ที่แหวกแนว หรือการเคลื่อนไหวที่เตรียมไว้สำหรับช่วงหลังงานแถลงข่าวที่เตรียม “ลุยกันเลย” ไม่ต้องรอตลอดช่วงเวลายาวไปจนถึงวันจัดงาน

นอกจากนี้ทางประธานจัดงานยังได้เปรยมาว่าแนวคิดการพึ่งพาอาศัยของงานก็พ้องเสียงระหว่างคำว่า “พึ่ง” กับ “ผึ้ง” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ยกตัวอย่างเรื่องวิวัฒนาการร่วมด้วย แต่ทางประธานจัดงานทั้งสามจะสร้างเซอร์ไพรส์อะไร? จะใส่ชุดผึ้งในงานเปิดตัวหรือไม่? ก็เป็นเรื่องที่ต้องคาดเดากันต่อไป


งานสถาปนิก’65 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts