ภูมิสถาปัตยกรรมไม่ได้มีแค่เรื่องต้นไม้? คุยกับมังกร ชัยเจริญไมตรีจาก TALA หนึ่งในประธานจัดงานสถาปนิก’66
เปิดฉากแล้วกับงานสถาปนิก’66 ที่มาในแนวคิด ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ ครั้งแรกของการผสมผสานรสชาติจากสถาปนิกทุกแขนงด้วยความร่วมมือของ 5 องค์กรวิชาชีพได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก แต่ละองค์กรจะมาทำอะไร แต่ละสาขาเขาทำงานกันอย่างไร ประธานการจัดงานทั้ง 5 ท่านจะมาเล่าให้ฟังใน 5 บทสัมภาษณ์นี้ ก่อนไปเจอกันในงาน
พื้นที่สีเขียวในสวน พื้นที่สีฟ้าในคลอง ภูมิสถาปัตยกรรมเป็นสาขาวิชาของสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ทำงานกับพื้นที่ภายนอกอาคาร อย่างไรก็ตามในบทสัมภาษณ์นี้ คุณมังกร ชัยเจริญไมตรี อุปนายกฝ่ายวิชาชีพ จากสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (Thai Association of Landscape Architects : TALA) และกรรมการ บริษัท Ixora Design หนึ่งในประธานจัดงานสถาปนิก’66 ได้ชี้ให้เห็นว่างานของภูมิสถาปนิก นอกเหนือจากการจัดพื้นที่ธรรมชาติรอบๆ อาคารแล้ว ยังมีมิติอื่นที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของเราทุกคน มีอะไรเกี่ยวกับภูมิสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับเราแล้วเรายังไม่รู้บ้าง? อยากหาความรู้เรื่องภูมิสถาปัตยกรรมต้องทำอย่างไร? และทำไมเขาจึงอยากชวนซัพพลายเออร์วัสดุมานั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์นี้ก่อนมาเจอกันในงานสถาปนิก’66
“ภูมิสถาปนิกเราเป็นสาขาวิชาชีพที่เข้าใจค่อนข้างยาก”
หากให้นึกถึงภูมิสถาปนิก ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นพื้นที่สีเขียวเต็มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิดในสวน ซึ่งคุณมังกรก็ตอบว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะงานของภูมิสถาปนิกจริง ๆ มีมากมายตั้งแต่การวางแผน มองภาพรวม การวางผังในระดับโครงสร้างใหญ่ เรื่อยไปจนถึงงานพืชพรรณธรรมชาติ งานวัสดุ หรืองานก่อสร้างในภาพเล็กแบบที่เรียกได้ว่า “แทบจะนั่งขุดดินเองหรือสั่งลายกระเบื้องมาปูเรียงซ้ายเรียงขวาเอง” เลยก็ว่าได้
เนื้องานที่กว้างตั้งแต่ภาพเล็กจนภาพใหญ่นี้เองที่อาจเป็นสาเหตุให้ภูมิสถาปนิกมีภาพจำว่าเป็นการออกแบบ plant material เพราะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากสถาปนิกสาขาอื่นอย่างชัดเจน
“การทำงานจริง ๆ จะทำเป็นทีม ก็มีผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ร่วมกัน
ภูมิสถาปนิกทำตั้งแต่การวางผังจนถึง detail design เรียกได้ว่ามีหลายเซกเตอร์
มาสเตอร์แพลนก็ทำ วางผังสวนสาธารณะ วางผังจัดสรร สวนตามหมู่บ้าน
หรือ site plan ต่าง ๆ ก็ทำ ซึ่งก็ทำงานร่วมกับสถาปนิกด้วย”
“อย่างงาน landscape master plan ใหญ่ ๆ ระดับเมือง ที่ต่างประเทศก็ต้องทำตั้งแต่ต้น ซึ่งก็รวมทั้ง urban planning, urban design ซึ่งทีมงานจะต้องมีทั้งภูมิสถาปนิก, สถาปนิก, วิศวกร มีหมด มาวางแผนกัน จึงเกิดเมืองที่มีระบบพื้นที่สีเขียวที่วิ่งแทรกไปทั่วเมืองได้ เป็นที่รับน้ำ ที่ขี่จักรยานหรือสันทนาการต่าง ๆ แต่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ต้น ไม่งั้นก็ไม่มีพื้นที่เหลือให้ทำ”
เขายกตัวอย่างพื้นที่รับน้ำที่ Bishan ประเทศสิงคโปร์ ว่ามีพื้นที่กันน้ำรองรับน้ำเมื่อฝนตกเพื่อป้องกันน้ำท่วม เพื่อรอการระบายน้ำรอบ ๆ ออกให้หมด ซึ่งเขาชี้ว่าปัจจัยที่เปิดให้ทำเช่นนี้ได้ก็มาจากการวางแผนตั้งแต่ต้น โดยความร่วมมือของหลายสาขาวิชา
พื้นที่ที่ภูมิสถาปนิกอยากสื่อสารกับทุกคน
“Landscape เราเป็นผักกับแกล้ม” เขาเฉลย เมื่อถามว่าในงานสถาปนิก’66 ที่มากับแนวคิด ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ นี้พวกเขาจะเป็นอะไรในถาด “เราพยายามที่จะกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ให้มีการแทรกสีเขียวสีฟ้าหรือระบบน้ำกับระบบต้นไม้ เราเป็นผักพวกนี้ที่เสียบอยู่ตามที่ต่าง ๆ เป็นตัวกลางที่จะดึงอะไร ๆ เข้ามา เป็นผักแกล้มที่ประดับอยู่ข้างจาน แต่ผักเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และทำให้ร่างกายเราแข็งแรง เมืองก็เหมือนกัน ”
โดยภายในพื้นที่จัดแสดงของ TALA คุณมังกรเผยว่าจะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับงานของภูมิสถาปนิก “งานนี้เป็นงานโชว์เคสที่สำคัญทางด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรม ของเมืองไทยและภูมิภาค ผมค่อนข้างดีใจว่างานสถาปนิกมันสามารถอยู่มาถึง 35 ปีและมีประชาชนทั่วไปสนใจด้านนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะให้พวกเขาเข้าใจภาพรวมของวิชาชีพมากขึ้นก็อยากให้มาดู หลาย ๆ คนโดยเฉพาะประชาชนทั่วไป ถ้ามางานนี้ จะพอนึกออกได้เลยว่า สถาปนิกที่สวมหมวกทั้ง 4 ใบนี้ มีการทำงานร่วมกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร แล้วเขาควรเรียกใช้งานพวกเราอย่างไร
เขาเล่าถึงกรณีที่ต่างประเทศอย่าง Bishan Lake ในสิงคโปร์ ที่มีการจัดการน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งแม้ส่วนตัวจะอยากให้มีในกรุงเทพฯ แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ที่ในกรุงเทพฯ มีกรรมสิทธิ์หมดแล้ว สะท้อนให้เห็นการขาดการวางแผนจัดการพื้นที่สำหรับพักน้ำที่ควรดำเนินการตั้งแต่ต้น หรือในโครงการ Residential ที่เขาทำเองก็ได้พยายามสอดแทรกเรื่องระบบน้ำ เรื่องระบบพืชพรรณพื้นที่สีเขียวให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
“อย่างเรื่องกำแพงกันคลื่น ก็พยายามจะบอก ชี้แจง สร้างความเข้าใจ เพราะสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีข้อมูลไม่ได้ศึกษามาด้านนี้ก็อาจจะชอบก็ได้ แต่จริง ๆ มันสร้างปัญหาชายหาด พื้นที่ของเราเสียหายไปเรื่อย ๆ เราก็อยากชวนมาทำความเข้าใจกันหน่อยดีไหม”
“มันเป็นพื้นที่ที่ให้เราได้อธิบาย ถ้าไปในพื้นที่ของ TALA อย่างน้อยก็มีผมอยู่ เราก็พร้อมที่จะตอบคำถาม อธิบายไปเรื่อย ๆ พยายามให้เข้าใจ หรือจะเริ่มโครงการใด ๆ ก็ตามก็มาคุยกันก่อนได้ ว่ามันมีโอกาสอะไรในการทำอย่างนี้ขึ้นมา มันจะช่วยอะไรกับบ้านเมืองได้ไหม โครงการ Residential แต่ละโครงการ อาจจะมีพื้นที่สีเขียว พื้นที่รับน้ำที่ละนิดละหน่อย แต่พอมารวมกันแล้วก็ช่วยได้ในภาพใหญ่ สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเห็นภาพรวมเดียวกันก่อนว่าโครงสร้างระบบพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สีฟ้านั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องวางแผนทั้งแต่ต้น”
“เราอยากจะคุยกับทุกคน คนที่ไม่ได้มีความรู้ด้านสถาปนิกเลยก็มาได้ ทุกวิชาชีพเลย อย่างเรื่องน้ำท่วมก็เป็นเรื่องของคนทั่วไปไม่ใช่แค่สถาปนิก เราอยากคุยกับ end user ไม่ได้คาดหวังว่าแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเลยขนาดนั้นหรอก แต่อยากให้เข้าใจกลไกโดยรวมคร่าว ๆ ก่อน แล้วเวลาจะทำอะไรจะได้เห็นภาพเดียวกันได้ง่าย เป็นการร่วมมือแบบ multidisciplinary จริง ๆ ไม่ใช่นักวิชาชีพ นักเทคนิคเดินมาบอกว่าเอาอย่างนู้นอย่างนั้น แต่เกิดจากทางคนทั่วไปเขาเข้าใจก่อนแล้วเสนอว่าเป็นอย่างนี้ก็น่าจะดี เราค่อยมาดูกันว่าทางเทคนิคแล้วทำอย่างนี้ดีไหม”
โอกาสเพื่อให้เข้าใจองค์รวมของกลไกในสี่สาขาวิชาชีพ
“โลกมันเปลี่ยนไปเป็น Multidisciplinary ขึ้นเรื่อย ๆ”
คุณมังกรอธิบายจุดมุ่งหมายหลักของการจัดงานคราวนี้ว่าคือการสร้างความเข้าใจ ว่ากลไกของสี่สาขาวิชาชีพมีการทำงานอย่างไร แต่ละคนมีความพิเศษหรือทักษะที่พิเศษด้านไหนบ้าง โดยมีที่มาจากแนวคิดเรื่อง Multidisciplinary “ไอเดียของสี่สาขาอาจจะไม่ใช่อุดมคติ (ideal) อีกต่อไป มันจะไปโฟกัสว่าใครทำอะไรเก่ง ไม่จำเป็นว่าใครต้องทำอะไรเป็นกล่อง ๆ อีกต่อไป ไม่ใช่ว่ามีงานอะไรแล้วเอามาใส่แต่ละกล่อง แต่จะสานกันเป็นพื้นที่เทา ๆ มากกว่า แน่นอนมันมีผู้เชี่ยวชาญในงานบางส่วน แต่คนรอบข้างก็อาจทำเหมือนกันได้”
สำหรับเขาการแบ่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมออกเป็นสี่สาขาจึงเป็นเสมือนเพียงไกด์ไลน์ที่ผู้ศึกษาสาขาใดก็อาจไปทำงานสาขาอื่น ๆ ก็ได้ เหมือนที่คนจบวิศวกรรมศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร คนที่เรียนมาด้านภูมิสถาปัตยกรรมก็อาจมีทักษะสามารถทำงานกราฟิกได้ดี งานนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีทั้งสำหรับคนในวิชาชีพเองและประชาชนผู้เข้าชมทั่วไปด้วย เพื่อคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับแต่ละสาขาวิชาชีพ
“คอนเซปต์ของสี่สาขาจริง ๆ แล้วอาจเป็นเพียงด้านกฎหมายเท่านั้น แต่การปฏิบัติตอนนี้มันเริ่มเบลอไปหมด ไม่จำเป็นว่าใครต้องทำอะไร คนที่เข้ามาชมก็จะได้มองภาพวิชาชีพสถาปนิกโดยรวม” “สถานศึกษาจนถึงภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวไม่ใช่ทำอย่างที่เคยเป็นมา เพราะธรรมชาติของคนมันเปลี่ยนไปแล้ว”
โอกาสที่ซัพพลายเออร์และสถาปนิกได้มาทำความรู้จักกัน
“ทำไมดีไซเนอร์จะไม่อยากได้สินค้าเยอะ ๆ มาดู”
งานสถาปนิก’66 จะเป็นโอกาสที่ผู้คนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ จะได้มาเจอกัน พูดคุยแลกเปลี่ยน ดังนั้นสำหรับซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้าง นี่เป็นโอกาสที่จะได้มาทำความรู้จักและทำความเข้าใจร่วมกับสถาปนิกด้วย โดยเฉพาะวัสดุสำหรับงานภูมิสถาปัตยกรรม จะมีความต้องการที่ค่อนข้างแตกต่างกับงานสถาปัตยกรรมทั่วไป
สำหรับซัพพลายเออร์งานสถาปนิก’66 ก็เป็นโอกาสที่ดีในการเปิดตลาด นำผลิตภัณฑ์ไปให้เป็นที่รู้จักในสาขาวิชาชีพอื่น การเอาผลิตภัณฑ์ไปคุยกับภูมิสถาปนิกเองก็จะได้เข้าใจ Criteria และข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งก็มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้มาก
ตัวอย่างเช่นกระเบื้อง เป็นวัสดุที่ภูมิสถาปนิกมี Criteria ความต้องการใช้งานที่แตกต่างไปจากกระเบื้องทั่วไป หากเสนอแบบธรรมดามาแบบไม่เข้าใจกันก็ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะกระเบื้องสำหรับใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรมต้องทั้งแข็งแกร่ง ต้องทนรังสี UV ต้องมีค่ากันลื่นสูง R10 ขึ้นไป ต้องเป็นเนื้อเดียว homogenous สีเดียวกันทั้งที่ผิวด้านนอกและด้านใน ประเด็นเหล่านี้ที่ทางซัพพลายเออร์และภูมิสถาปนิกต้องมาคุยกันเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งคุณมังกรเล่าว่าจะเป็นการเปิดตลาดได้ ซึ่งตลาดของภูมิสถาปนิกเองก็ยังมีพื้นที่ให้ขยายอีกเยอะ
“ทำไมดีไซเนอร์จะไม่อยากได้สินค้าเยอะ ๆ มาดู แต่ตอนนี้ไม่รู้จะไปดูที่ไหน เพราะยังไม่ได้เจอกัน” “เรื่องพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราไปเดินดูแล้วจะซื้ออย่างเดียว สิ่งที่เราอยากได้คือมาคุยกัน ว่าจริง ๆ ความต้องการ และข้อจำกัดของงานภูมิสถาปัตยกรรมคืออะไร แล้วจึงมาปรับกัน หาจุดยืนร่วมกัน เราพยายามทำให้อุตสาหกรรมมันคุยกันง่ายเพราะเราเชื่อว่า Communication is the key”
คุยเรื่องภูมิสถาปัตยกรรมกับภูมิสถาปนิกในงานสถาปนิก’66
ในงานสถาปนิก’66 นี้ TALA เตรียมพื้นที่ “ห้องเรียน” ให้นั่งคุย นั่งเล่น นั่งฟัง ในรูปแบบอารีน่า ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับภูมิสถาปนิก “ด้วยความตื่นเต้นเราก็อยากใส่เยอะ คอนเซ็ปต์ของเราคืออยากให้มัน flexible ที่สุดสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เลยเป็นอารีน่าที่คนนั่งอยู่รอบ ๆ ก็สามารถได้อะไรด้วยไม่ใช่ลักษณะกระดานมีสูตรคำนวณ”
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ อย่างการจัดสวนถาด “อยากให้ส่วนของพื้นที่สมาคมฯ เป็นเหมือน Pocket park ในหมู่บ้าน ให้ทุกคนเดินเมื่อย ๆ มานั่งพักได้ ถึงเวลาเราจะมี Symposium กรอกหูเอง”
งานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]