สภาสถาปนิกกับบทบาทในการพัฒนาทุกสาขาวิชาชีพ: คุยกับกรกช คุณาลังการ หนึ่งในประธานจัดงานสถาปนิก’66 จาก ACT

เปิดฉากแล้วกับงานสถาปนิก’66 ที่มาในแนวคิด ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ ครั้งแรกของการผสมผสานรสชาติจากสถาปนิกทุกแขนงด้วยความร่วมมือของ 5 องค์กรวิชาชีพได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก แต่ละองค์กรจะมาทำอะไร แต่ละสาขาเขาทำงานกันอย่างไร ประธานการจัดงานทั้ง 5 ท่านจะมาเล่าให้ฟังใน 5 บทสัมภาษณ์นี้ ก่อนไปเจอกันในงาน

หนึ่งสภาท่ามกลางสี่สมาคมสถาปนิก ‘สภาสถาปนิก’ หรือ Architect Council of Thailand (ACT) จะมีบทบาทอย่างไรในปรากฏการณ์รวมตัวครั้งสำคัญของวิชาชีพในงานสถาปนิก’66 ที่กำลังจะมาถึงนี้? คุณกรกช คุณาลังการ ตัวแทนจากทาง ACT อธิบายทุกรายละเอียดเรื่องบทบาทของสภาในฐานะ “ถาด” ที่รวมทุกสาขาเอาไว้ เรื่องกิจกรรมมากมายในงาน และเรื่องการทำงานแบบ Collaboration ของสถาปนิกในทุกสาขาวิชาชีพ

สภาสถาปนิกในฐานะ “ถาด” ที่รองรับทุกส่วนมารวมให้อร่อย

“มันน่าจะมีอะไรที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยจัดกันมา” แม้งานสถาปนิก’66 จะเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของ 5 องค์กรวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม แต่การจัดงานลักษณะนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสภาสถาปนิก ประสบการณ์จากการจัดงาน ACT Forum งานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรมและแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ครอบคลุมทั้ง 4 สาขาวิชาชีพ ในปีที่ผ่าน ๆ มาทำให้ทางสภาฯ มีทีมงานพร้อมดำเนินการจำนวนมาก รวมทั้งข้อมูลจากงานที่ผ่านมาว่าควรดำเนินการอย่างไร มีปัญหาอะไร ซึ่งคุณกรกชเล่าว่าสนุกมาก เพราะแต่ละปีที่จัดก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งการจัดงานแบบในสถานที่แบบออนไซต์ แบบผสมออนไลน์-ออนไซต์ หรือแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ นอกจากนี้คุณกรกชก็เล่าว่าโดยส่วนตัวแล้วการจัดงานสัมมนามีความท้าทายมาก เพราะเป็นบทบาทใหม่แตกต่างไปจากที่เคยจัดงานอีเวนต์ในรูปแบบอื่น ๆ

แนวคิด ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ อธิบายบทบาทของสภาสถาปนิกได้เป็นอย่างดี คุณกรกชอธิบายว่าหากเทียบกับตำถาดแล้ว “สภาฯเป็นถาด เพราะเรารวมทุกคนอยู่ใต้ร่มเรา เราเป็นถาดเพื่อรองรับทั้ง 4 สมาคม ทุกวัตถุดิบเอามาจัดวางรวมกันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร”

“จริง ๆ แล้วตำถาดแปลได้หลายอย่าง ทุกคนก็พูดเหมือนเป็นการเอาส้มตำหรืออะไรมาวางดูมั่ว ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการ Collaboration เอามาทานด้วยกันเพื่อให้มันอร่อย เพราะฉะนั้นมันอาจจะเป็นส้มตำอะไรก็ได้ มีหมูยอ มีกุ้งสด มียำ มีผัก มีไข่ มีขนมจีน เพื่อให้มันอร่อย การที่เราร่วมมือกันทำงานพี่คิดว่าจริง ๆ ด้วยอาชีพของเราทั้ง 4 สมาคมมันอยู่ในชีวิตประจำวันเราเลย เพราะสถาปนิกไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องร่วมมือกับวิศวกรโครงสร้าง วิศวกรงานระบบ อินทีเรีย ภูมิสถาปนิก นักออกแบบกราฟิก ในความเป็นจริงเราทำงานร่วมกับคนเยอะมาก ตำถาดเป็นข้อเปรียบเทียบที่ชัดมากในการ Collaboration ของเรากับทุกหน่วยงานแม้แต่กับเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา หรือผู้คุมงาน ทุกคนมีส่วน พี่ว่ามันค่อนข้างเหมาะและตรงประเด็นกับการทำงานในรูปแบบ Collaboration ที่ต่างคนต่างทำงานในหน้าที่ของตัวเอง”

“Collaboration”
หัวใจสำคัญที่อยากให้สถาปนิกทุกสาขาเข้าใจ

เมื่อถามถึงเนื้อหาในงาน คุณกรกชตอบว่า “เป็นหน้าที่ของสภาฯที่จะต้องเผยแพร่และสื่อสารให้คนทั่วไปหรือแม้แต่ดีไซเนอร์รู้จักวิชาชีพของเรามากขึ้นทั้ง 4 สาขา ดังนั้นในภาพใหญ่ก็อยากให้สังคมหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจกระบวนการทำงานของพวกเรา สถาปนิกหลัก, สถาปนิกภายใน, สถาปนิกผังเมือง, ภูมิสถาปนิก หรือนักออกแบบกราฟิก, นักออกแบบแสงสว่าง ว่าเราทำงานกันอย่างไร แต่ละคนมีความรับผิดชอบตามวิชาชีพตัวเองอย่างไร ให้เข้าใจว่าทุกวิชาชีพมีความถนัดของตัวเอง แต่มาทำงานร่วมกันเป็น Collaboration”

วิธีคิดเรื่องหัวข้อที่จะใช้พูดคุยในงานสัมมนาจะตั้งต้นจากโปรเจกต์ที่คาดว่ามีคนอยากฟังก่อน “ในโปรเจกต์หนึ่งพี่อาจจะเชิญมาหมดเลย ทั้งสถาปนิก, อินทีเรีย, เจ้าของโครงการ, ผู้รับเหมา เอามาคุยพร้อมกันเลยว่าโปรเจกต์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงมาเป็นแบบนี้ ช่วยเหลือกันอย่างไร ทำงานกันอย่างไร” ส่วนการเลือกโปรเจกต์คุณกรกชกล่าวว่าจะพิจารณาจากความสนใจของประชาชน จะเลือกโปรเจกต์ที่อยู่ในกระแส เพื่อเรียกคนเข้ามาฟัง

ด้านรายละเอียดของเนื้อหาในงาน เป้าหมายสำคัญของงานนี้คืออยากให้สถาปนิกได้รู้จักกันเองทุกวิชาชีพ เพราะการเข้าใจงานและเข้าใจความสำคัญของงานซึ่งกันและกันจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่อาจมีบ้างในการทำงาน ตัวอย่างเช่นหากสถาปนิกและอินทีเรียได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์ก็สามารถวางผังพื้นที่ (Space planning) ได้ดีขึ้นเพราะได้คิดไปพร้อมกัน ไม่เหมือนกับการเริ่มจากเพียงสถาปนิกแล้วอินทีเรียค่อยตามไปทีหลังซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาได้ หรืออีกตัวอย่างเช่นการทำงานของภูมิสถาปนิกและอินทีเรีย ที่จะทำให้งานภายในและภายนอกเข้ากัน กระเบื้องสีเหมาะสมกัน เป็นต้น จากนั้นจึงจะสามารถทำให้สังคมเข้าใจวิชาชีพทั้ง 4 ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“อันนี้เป็นความละเอียดอ่อนของวิชาชีพ ในฐานะสภาฯก็จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกัน พี่ว่ามันเริ่มจากการทำงานด้วยกัน อาจจะไม่ใช่โปรเจกต์แต่เป็นคณะทำงานอย่างนี้ มันเหมือนทำความรู้จักกันมากขึ้น แล้วเวลาคุยอะไรมันก็ชัดขึ้น”

“One Stop Shop”
อัปเดตความรู้และนวัตกรรม ครบ จบ ที่งานสถาปนิก’66

เดินทางมาสู่ปีที่ 35 งานสถาปนิก’66 ผ่านการพัฒนามาเรื่อย ๆ และยังคงพัฒนาต่อไป คุณกรกชเห็นว่าสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สามารถมีบทบาทในพัฒนาการของสมาคมอื่น ๆ ได้ โดยมีสภาฯ ช่วยดูแลทิศทางด้วยอีกแรง เช่นการจัดงานตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งสมาคมของสาขาอื่น ๆ ก็อาจจัดได้เช่นกัน นอกจากนี้งานสถาปนิกปีนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานตลอดจนกิจกรรมต่างๆในงานอีกด้วย เช่นรูปแบบของกิจกรรมสามารถทำให้สนุกสนานเพิ่มบรรยากาศที่เป็นกันเอง ลดความเป็นทางการลงเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำถาด

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่ของสภาสถาปนิกในงานสถาปนิก’66 ประกอบไปด้วย

  • ACT Shop มีหนังสือและของที่ระลึกจัดจำหน่าย
  • ACT Service เพื่อให้ข้อมูลและเปิดให้ลงทะเบียนต่ออายุใบอนุญาต เป็นต้น
  • สถาปนิกอาสา เป็นการบริการให้คำปรึกษางานออกแบบโดยสถาปนิกอาชีพทั้ง 4 สาขาวิชาชีพ ด้วยความเป็นกันเองและเข้าถึงได้มากขึ้น
  • ACT Forum ข้อมูลรายละเอียดงานสัมมนา เช่นตารางเวลา หรือประวิติ Keynote Speakers เป็นต้น

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง คุณกรกชอธิบายด้วยคำว่า “One Stop Shop” คือมาที่เดียวแล้วได้ครบทุกอย่าง ตั้งแต่ฐานรากจนถึงหลังคา เฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ ซึ่งหลายอย่างก็ใช้เหมือนกัน เช่นวัสดุสำหรับเอ็กซ์ทีเรียและอินทีเรีย ในขณะที่หลายอย่างก็มีรายละเอียดปลีกย่อยของ 4 สาขาวิชาชีพที่ต่างกัน เช่นสำหรับงานอินทีเรียก็จะมีวัสดุปิดผิวต่างๆ วอลล์เปเปอร์ สิ่งทอ ลามิเนต ฯลฯ

“พี่ว่ามันสนุก ก็อยากให้คนเข้ามาในงานได้ประโยชน์จริง ๆ อย่างคนหอบแบบมาคุยกับสถาปนิกอาสาก็จะได้เห็นวัสดุจริง ๆ หรือสถาปนิกเราอาจพาเขาไปเพื่ออธิบายก็ได้ว่าวัสดุต่าง ๆ ที่ว่าเป็นอย่างไร มีกระเบื้องประเภทไหนไม่รู้จักก็พาไปดูที่บูธ ถ้าผู้แสดงสินค้ามายิ่งเยอะเราก็ยิ่งแนะนำได้เยอะ มีม่าน มีผ้าบุ ฯลฯ คือไม่ถึงกับเลือกให้แต่ก็สามารถแนะนำได้ อย่างกระเบื้องลายหินอ่อนบางคนอาจอยากเห็นของจริงก็สามารถพาไปดูได้ คือถ้าเราทำให้เป็น One stop service จริง เขาก็จะไม่ไปไหน อาจจะมาสามวันติด วันนี้เลือกอย่างนี้ พรุ่งนี้เลือกอย่างนั้น พี่ว่ามันน่าสนุก และทำให้คนสนใจงานมากขึ้น”

งานสถาปนิกสำหรับทุก ๆ คน

จากกิจกรรมและการจัดแสดงดังกล่าว งานสถาปนิก’66 จึงเป็นงานสำหรับทุกคน ตั้งแต่นักเรียนที่สนใจศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรม ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ หรือแม้แต่ดีไซเนอร์รุ่นใหญ่

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรม สามารถมางานนี้เพื่อทำความรู้จักกับคำว่า “สถาปนิก” ให้เข้าใจได้มากขึ้น รวมถึงเพื่อทำความรู้จักแต่ละสาขาที่มีความรับผิดชอบแตกต่างกันออกไป

สำหรับสถาปนิกรุ่นใหม่ งานสถาปนิก’66 จะเป็นที่สำหรับอัปเดตนวัตกรรมและอัปเดตตัวเอง มาเจอพี่ ๆ ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว รวมทั้งมาโชว์ตัวพบปะสังสรรค์กันแบบสบายๆ

ส่วนพี่ ๆ สถาปนิกรุ่นใหญ่ ก็ต้องมาอัปเดตตัวเองให้ทันโลก มาพบน้อง ๆ จะได้ไม่หายหน้าหายตาไปจากวงการ

ไม่ใช่เฉพาะคนในวงการ งานสถาปนิก’66 เป็น One stop shop สำหรับคนทั่วไปที่จะได้มาเห็นนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ และได้พบนักออกแบบจากทุกสาขา

“ในส่วนของ ACT Forum จะจัดหัวข้อจากโปรเจกต์ที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ จะพยายามเน้น Keynote speakers ที่ทำโปรเจกต์แนวคิดใหม่ ๆ จัดเป็นรูปแบบของสัมนาและเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิง Collaboration”

งานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation  หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts