Y2K ARCH AESTHETIC: จะไม่ลืมที่เรามีกันและกันในวันนี้ จะไม่ลืมสไตล์งานเต็คที่เราเคยร่วมมี

เวลานี้คำว่า ‘Y2K’ หรือ ‘Year 2000’ เป็นคีย์สำคัญที่ทุกวงการพูดถึง ทั้งในแง่แฟชั่นและการออกแบบ แล้วในเชิงสถาปัตยกรรมล่ะ ถ้าพูดถึง Y2K คุณคิดถึงอะไรบ้าง
งานสถาปนิก’66 จะชวนคุณย้อนไปดูงานออกแบบตกแต่งสไตล์จากสถาปัตยกรรม 3 สาขา ลองไปดูกันว่าภาพเหล่านี้จะคุ้นตาคุณกันบ้างไหม
ARCHITECT STYLE

Photo by Thomas Mayer Image © ERCO www.erco.com
แง่สถาปัตยกรรมหลัก เมื่อพูดถึง Y2K หรือ ปี 2000 แม้จะเป็นช่วงที่ผ่านมาเพียง 22 ปีตามปฏิทิน แต่เชื่อว่าหลายคนคงยังคิดภาพไม่ออกว่าในช่วงนั้นสไตล์ของสถาปัตยกรรมหลักนิยมอะไรอยู่
ตามข้อมูลในเอกสาร “รอยเชื่อมต่อระหว่างสถาปัตยกรรมกับงานออกแบบภายในศตวรรษที่ 20” เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์
เอกชาติ จันอุไรรัตน์ ได้แบ่งกลุ่มสไตล์การออกแบบสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 20 ตามไทม์ไลน์เป็น 11 รูปแบบ โดยช่วงปลายศตวรรษที่ 20 (1990-2000) ซึ่งตรงกับยุค Y2K สไตล์สถาปัตย์ที่ได้รับความนิยมคือแนว Oriental ผสม 60s Retro
60s Retro เป็นงานที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวแฟชั่นและเพลงทั้ง Jazz, House, Hip Hop, Pop ที่มีในยุคนั้นซึ่งนิยมสร้างสรรค์ด้วยศิลปะสไตล์ Art Deco แต่ในทุกยุคแม้จะมีการหวนกลับมาของความนิยมจากแฟชั่นยุคก่อน เราก็มักจะเบลนด์สิ่งใหม่ที่เป็นบริบทสังคมของยุคสมัยปัจจุบันเข้าไปร่วมด้วย งานออกแบบในยุค Y2K จึงเป็น Neo Retro มีความลูกผสมระหว่างสไตล์ 60 กับความสมัยใหม่ที่เป็นยุค IT ใช้กราฟิกและเทคโนโลยีมาออกแบบงาน รูปทรงเป็นเส้นสายโค้งมนแบบอิสระ (Organic Form) ขณะเดียวกันความเป็น Futuristic ที่สืบเนื่องมาจากกระแสมิลเลเนียมเพื่อเตรียมก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 ก็ทำให้มีการเลือกใช้ผิวโลหะและวัสดุมันวาวมาใช้ ทั้งนี้หนึ่งในตัวอย่างผลงานที่โด่งดังด้านสถาปัตยกรรมช่วงเวลานั้นคือผลงานของ Frank Gehry เช่น พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลบาโอ ในเมืองบิลเบา ประเทศสเปน ซึ่งเป็นอาคารที่มีไทเทเนียมเป็นวัสดุหลัก
INTERIOR DESIGN

แง่การออกแบบตกแต่งภายในในสไตล์ Y2K ความโดดเด่นในยุคนั้นเน้นการเลือกใช้สีสันและลวดลายจัดเต็มในสไตล์ Maximalism สำหรับด้านสีสันความ Y2K ให้ภาพของ Retro Future (แนวคิดเกี่ยวกับโลกอนาคตที่เกิดจากในอดีต) ดังนั้นสีที่ใช้จึงดูมีความไซไฟ แวววาว เช่น สีเขียว Lime สีชมพู Magenta ที่มีความเป็น Hot Pink ส้ม Tangerine ที่มีความฉูดฉาด หรือสีที่มีส่วนผสมของความเมทัลลิก

ขณะในด้านการตกแต่ง ความเป็น Maximalism คือเอกลักษณ์สำคัญแห่งยุค อะไรที่มีความเป็นไอคอนิก โดดเด่น เน้นแพทเทิร์นและผิวสัมผัส ไม่ว่าจะเป็น ลายหนังสัตว์ กราฟิกแบบ Psychedelic Art หรือ Texture ลายไม้จะได้รับความนิยมสูง รวมทั้งบรรดาเฟอร์นิเจอร์ หากดูแปลกตา มีเรื่องราว ก็จะได้รับความนิยมเช่นกัน
LANDSCAPE
การจัดสวนแบบ Y2K หากใครอยากออกแบบให้มีความ Retro สามารถนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสียหรือไม่ใช้งาน หรือเหล่าของสะสมที่เคยมีในอดีตแต่สภาพไม่ดีดังเดิมมาประยุกต์ตกแต่งเป็นส่วนหนึ่งของสวน ก็ดูเก๋เป็นมุมน่านั่ง
แต่ถ้าใครที่ไม่มีพื้นที่ไว้ดีไซน์ภูมิทัศน์สถาปัตยกรรมในบ้าน ไม่มีสวน ไม่ได้อยากตกแต่งอะไร แต่อยากอินกับ Landscape Vibe ที่มีกลิ่นอายของ Y2K ในเชิงประวัติศาสตร์ แนะนำให้ไปที่ 2 สวนสาธารณะแห่งที่เปิดในปี 1999 (ใกล้ปี 2000 ที่สุดตามข้อมูลที่เราสืบค้นตอนนี้) ได้แก่
- ‘สวนรมณีนาถ’ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่เรือนจำและได้รับการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ สวนแห่งนี้เป็นสวนสุขภาพและมีดนตรีในสวนให้ประชาชนทั่วไป ตั้งอยู่บริเวณมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2542
- ‘สวนสันติชัยปราการ‘ สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่บริเวณป้อมพระสุเมรุ ความยูนีคของสวนแห่งนี้คือสนามหญ้าที่มีขั้นบันได มองเห็นวิวแม่น้ำ มีต้นลำพูเก่าแก่ยืนตระหง่านภายในและมีป้อมพระสุเมรุอยู่เคียงคู่ เปิดวันที่ 5 ธันวาคม 2542
มาตามหาแรงบันดาลใจในการเสริมสร้างกลิ่นอาย 90 ให้กับงานออกแบบที่สถาปนิก’66
ตามไปดูงานออกแบบสไตล์ Y2K แล้ว ถ้าอยากได้งานดีไซน์ดี ๆ วัสดุอุปกรณ์แต่งบ้านไอคอนิกไปเสริมกลิ่นอาย 90 หรือหานักออกแบบจากหลายสาขาไปออกแบบที่บ้านหรือให้คำปรึกษา ‘ไปตำ’ กันได้ที่ตำถาด – Time of togetherness งานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
อ้างอิง
http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/id/d4b82595-d4cb-4df9-9618-f17d7b455589/fulltext.pdf?attempt=2
https://www.architecturaldigest.com/story/y2k-aesthetic-design-trend
https://www.baanlaesuan.com/239777/ideas/garden-ideas/junk-garden