แตกต่างอย่างกลมกลืน: วัสดุจากไม้ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของธรรมชาติจาก KEEREE และ KTHWOOD ในงานสถาปนิก’66

มาค้นหาเสน่ห์ของงานไม้ที่แฝงอยู่ภายใต้งานฝีมือสุดประณีต ถ่ายทอดมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ ไม้พื้น ประตูไม้ และวัสดุจากไม้ จาก KEEREE และ KTH WOOD สองแบรนด์ที่คงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของภูมิปัญญาชาวบ้านและความงามอย่างเป็นธรรมชาติจากผืนป่า ผ่านบทสนทนาที่เราจะได้เรียนรู้ถึงเบื้องหลังการทำงานที่ให้ความสำคัญในทุกกระบวนการ กับ คุณชนัญญา พนากิจกุล Managing Director และ คุณอัญชนา
สิงห์รัตนพันธ์ุ Managing Director พร้อมทั้งทีมนักออกแบบ จาก บริษัท คีรีดอร์แอนด์พาเนล จำกัด และ บริษัท เคทีเอชวู๊ด จำกัด ที่จะมาตอบทุกคำถาม ไขทุกข้อสงสัยของวัสดุไม้ไปกับเรา

จุดเริ่มต้นของการส่งมอบเสน่ห์ให้กับงานไม้

จากภูมิหลังที่ได้คลุกคลีกับวงการไม้มาเป็นระยะเวลานานจนซึมซับเสน่ห์ของงานไม้ ก่อตั้งเป็นแบรนด์ประตูและเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างสรรค์จากช่างฝีมือที่มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปี แล้วเสริมด้วยงานดีไซน์จากทีมออกแบบที่ขับเน้นจุดเด่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของทางแบรนด์ที่ลูกค้าให้ความไว้วางใจ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ KEEREE และ KTH Wood ยังคงยืนหยัดอยู่ในวงการไม้คือหัวใจหลักของการทำงานที่ว่า Beyond Just Selling, Giving the Best Service “เราจะบริการลูกค้าอย่างดีที่สุด ทุกความต้องการ ทุกความชอบของลูกค้า เราพยายามทำความเข้าใจเพื่อสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองลูกค้าในทุก ๆ กลุ่มได้” คุณชนัญญากล่าว เท่านั้นยังไม่พอ การที่จะเข้าใจถึงวิสัยทัศน์หรือหัวใจหลักของการทำงานของแบรนด์ เราจึงไม่รอช้าที่จะเจาะลึกในอีกหลายประเด็นที่จะทำให้ผู้อ่านหลงในมนต์เสน่ห์ของงานไม้เฉกเช่นกับผู้อยู่เบื้องหลังของแบรนด์แน่นอน

ตามรอยวัตถุดิบจากผืนป่า
จนมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่โชว์เสน่ห์ของลายไม้

กว่าจะออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ตั้งเรียงรายอยู่ในบ้านและเป็นส่วนหนึ่งของที่พักอาศัย สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับมุมพักผ่อน จำต้องผ่านกระบวนการคัดสรรวัตถุดิบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกไม้สักพม่าแล้วทำการอบแห้ง (Kiln Drying) เป็นเวลา 30 วัน จนมาสู่มือนักออกแบบเพื่อส่งต่อไปที่โรงงานผลิต

“กว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะไปสู่มือลูกค้าต้องมีการคัดสรรวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางแล้วจึงส่งต่อไปสู่ดีไซเนอร์ในกระบวนการออกแบบ”

เมื่อเข้าใจถึงกระบวนการตั้งแต่ท่อนไม้มาสู่งานเฟอร์นิเจอร์กันพอให้เห็นภาพแล้ว ผู้เขียนกลับสงสัยในกระบวนการผลิตสินค้าว่าทางแบรนด์ใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีประเภทใดในการสื่อสารความงามของแผ่นไม้ออกมาให้โดดเด่น ซึ่งคุณชนัญญาก็ได้เล่าว่า

“ด้วยความที่เราเป็นแบรนด์วัสดุไม้ เราจึงพยายามลดการแปรรูปหรือการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด ในทางกลับกัน เราเลือกที่จะผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดโดยช่างฝีมือที่มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปี ร่วมกับการคัดสรรวัตถุดิบอย่างประณีตและงานดีไซน์ที่ร่วมสมัยจากทีมดีไซเนอร์”

Perfectly Imperfect:
โชว์ความเป็นธรรมชาติผ่านเนื้อไม้
ไฮไลท์ที่จะเปิดตัวในงานสถาปนิก’66

AYLA: เนื้อแท้ที่เผยคุณค่าของธรรมชาติ

AYLA (ไอลา) มีรากศัพท์มาจากภาษาตุรกี มีความหมายว่าแสงจันทร์ สื่อถึงความบริสุทธิ์ ความสงบ และแรงดึงดูด แนวคิดการออกแบบมาจากการตีความคำว่า ‘Perfectly Imperfect’ หรือ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบที่สมบูรณ์แบบ’ เกิดเป็นการเลือกใช้วัสดุ 2 ประเภทที่แตกต่างกันอย่างไม้และหินอ่อน มาผสมผสานกันอย่างลงตัว แสดงถึงความงามของเนื้อแท้ของวัสดุโดยปราศจากการแต่งเติม พื้นผิวของหินอ่อนมีคุณสมบัติสะท้อนแสงก่อให้เกิดความน่าหลงใหลและดึงดูด ในขณะเดียวกันพื้นผิวของไม้แสดงถึงความอบอุ่นและเรียบง่ายตามธรรมชาติ เปรียบเสมือนแสงจันทร์ที่ส่องลงมาผ่านช่องหน้าต่างยามค่ำคืน รวมกันกลายเป็น Art Piece ที่สร้างความโดดเด่นและน่าดึงดูดให้กับบานประตู

“เราเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ 2 ชนิดที่แสดงถึงเนื้อแท้ มีทั้งความสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบในตัวของมันเองมาผสานกันให้กลมกลืน จนเกิดเป็นงาน Masterpiece ที่มีจุดเด่นและน่าดึงดูด” หนึ่งในทีมดีไซเนอร์กล่าว

การรวมกันระหว่างความสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบอย่างกลมกลืน ทำให้ AYLA กลายเป็น Art Work จากงานไม้ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่หลงใหลในความงามของงานศิลปะและรักในความเป็นธรรมชาติ ยอมรับในตำหนิของลวดลายและผิวสัมผัสที่สรรค์สร้างโดยธรรมชาติ

ÄERD: เศษวัสดุที่สร้างจุดเด่นให้กับบานประตู

ÄERD (เอิร์ธ) เป็นคำศัพท์ภาษาลักเซมเบิร์ก มีความหมายว่า “โลก” มีแนวคิดในการออกแบบคือการผสมผสานระหว่าง 2 วัสดุ คือ ไม้แปรรูปอุตสาหกรรมและปีกไม้ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกันแต่ความต้องการของตลาดต่างกัน เปรียบเสมือนกับสิ่งต่าง ๆ บนโลกที่ล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ แม้แตกต่างและไม่สมบูรณ์แต่ก็มีความสวยงามในตัวเอง

“จุดเริ่มต้นของการออกแบบบานประตูรุ่น ÄERD มีที่มาจากบานประตูหลาย ๆ แบบส่วนใหญ่ที่เรารู้จักจะเป็นไม้แปรรูปที่ผ่านกระบวนการหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ไม้ที่ยังอยู่กับธรรมชาติจนมาถึงปลายทางที่เป็นผลิตภัณฑ์ เราจะเห็นว่าต้นไม้หนึ่งต้นมันผ่านกระบวนการมาเยอะมากจนทำให้ห่างไกลจากแหล่งกำเนิด ฉะนั้นเราจึงสร้างความเป็นธรรมชาติให้กับรุ่น ÄERD โดยการโชว์ความดิบของไม้และแต่งเติมให้น้อยที่สุด” หนึ่งในทีมดีไซเนอร์เล่า

“การเลือกใช้เศษวัสดุอย่างปีกไม้ในงานดีไซน์ได้เพิ่มคุณค่าและตอกย้ำคอนเซ็ปต์ Perfectly Imperfect ของเราในปีนี้”

“การเลือกใช้เศษวัสดุอย่างปีกไม้ในงานดีไซน์ได้เพิ่มคุณค่าและตอกย้ำ
คอนเซ็ปต์ Perfectly Imperfect ของเราในปีนี้”

เผยเนื้อแท้ โชว์ความดิบของเปลือกไม้ กลายเป็นการสร้างความแตกต่างทั้งในเรื่องของที่มาของวัตถุดิบและสีสัน ทำให้เปลือกไม้โดดเด่นจนเป็นวัสดุชิ้นเอกของประตูรุ่น ÄERD ไปโดยปริยาย แถมยังผสานกันจนเรียกได้ว่าเป็นงานผลงานศิลปะชิ้นเอกที่เกิดจากลวดลายของธรรมชาติ อีกทั้งยังมองดูรวม ๆ แล้วให้คาแรกเตอร์ของความเป็นชายที่ไร้ซึ่งการประดิษฐ์และเติมแต่ง

YUGEN: ความงามหลากมิติกับรูปลักษณ์ที่ตอบสนองในทุกฟังก์ชัน

YUGEN มาจากคอนเซ็ปต์ของการออกแบบที่ต้องการโต๊ะทำงานที่มาพร้อมกับฟังก์ชันและความสวยงาม โดยในแง่ของความสวยงามทางแบรนด์อยากจะโอบรับมุมมองความงามที่แตกต่าง จึงกลายมาเป็นโต๊ะทำงานที่สามารถ Customize รูปลักษณ์ตามความต้องการได้

แต่พอมองในอีกมุมหนึ่ง YUGEN คือแนวคิดทางสุนทรียภาพแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่หมายถึงความงามที่ลึกซึ้งอยู่ภายใน สอดคล้องไปกับรูปลักษณ์และฟังก์ชันของโต๊ะที่หากมองจากภายนอกจะพบกับรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย ในขณะเดียวกันการออกแบบที่ซ่อนเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มฟังก์ชันให้กับผลิตภัณฑ์กลับเสริมให้ YUGEN มีรูปลักษณ์และฟังก์ชันเปลี่ยนไปตามมุมมองของผู้ใช้งาน

เสน่ห์ของงานไม้ที่สอดแทรกในลวดลายที่แตกต่าง

ลวดลายที่แตกต่าง ผิวสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ในทุก ๆ ชิ้น เป็นสิ่งที่เรามองว่าคือเสน่ห์ของงานไม้ ทว่าทางแบรนด์ได้ขับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์โดยการหยิบเอาสัจจะวัสดุอย่างหิน มาผสานกับวัสดุไม้อย่างกลมกลืนจนเกิดเป็นงาน Masterpiece ขึ้น ประกอบกับงานฝีมือที่พิถีพิถันในทุกขึ้นตอน จึงทำให้ลูกค้าไว้วางใจในความชำนาญของช่างฝีมือ

อีกหนึ่งเสน่ห์ที่เรามองเห็นอย่างได้ชัดของงานไม้จากทางแบรนด์ คือ งานดีไซน์ที่เลือกสรรวัสดุที่มีเอกลักษณ์อยู่ในตัวมาเพิ่มคาแรกเตอร์บางอย่างให้กับบานประตูไม้ แม้จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างในตัววัสดุที่ถูกหยิบจับมาใช้ในชิ้นงานทว่ากลับผสมผสานกันอย่างลงตัว ดังที่ คุณชนัญญา ได้เล่าถึงคอนเซ็ปต์ของวัสดุที่ถูกเลือกใช้ในบานประตู AYLA ว่า “ไม้จะให้ความรู้สึกอบอุ่นและเรียบง่าย ในขณะที่หินเป็นตัวเพิ่มลูกเล่นให้บานน่าดึงดูดและมีเอกลักษณ์ แล้วด้วยลวดลายของวัสดุทั้ง 2 ชนิด จึงเสริมรูปลักษณ์ให้บานประตูแต่ละบานมีมิติของความงามที่แตกต่างกัน

“ไม้จะให้ความรู้สึกอบอุ่นและเรียบง่าย ในขณะที่หินเป็นตัวเพิ่มลูกเล่นให้บานน่าดึงดูดและมีเอกลักษณ์ แล้วด้วยลวดลายของวัสดุทั้ง 2 ชนิด จึงเสริมรูปลักษณ์ให้บานประตูแต่ละบานมีมิติของความงามที่แตกต่างกัน

มุมมองของแบรนด์ที่มีต่อความยั่งยืน

พอพูดถึงเศษวัสดุที่ทางแบรนด์เลือกมาใช้ในงานดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ผู้เขียนจึงอยากเข้าใจถึงมุมมองของแบรนด์ที่มีต่อ “ความยั่งยืน” ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งหนึ่งในทีมดีไซเนอร์ได้เผยทัศนคติที่มีต่อประเด็นนี้ว่า “ในมุมมองของเราที่มีต่อความยั่งยืนคือการทำให้คนเห็นคุณค่าของเศษวัสดุ อย่างเช่นในกรณีของปีกไม้หรือเศษหินที่เรานำมันกลับมาใช้โดยการสร้างคุณค่าผ่านงานดีไซน์ ร่วมกับกระบวนการผลิตที่ลดการแปรรูปให้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารเพื่อให้คนมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของเศษวัสดุเหล่านี้”

นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุที่หลากหลายและท้าทายคุณสมบัติของวัสดุในการออกแบบยังมีผลต่อการแสดงศักยภาพใหม่ ๆ ของแบรนด์ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ใช้งานและตอบสนองความต้องการทุก ๆ ด้านของผู้บริโภค

“ในมุมมองของเราที่มีต่อความยั่งยืนคือการทำให้คนเห็นคุณค่าของเศษวัสดุ อย่างเช่นในกรณีของปีกไม้หรือเศษหินที่เรานำมันกลับมาใช้โดยการสร้างคุณค่าผ่านงานดีไซน์ ร่วมกับกระบวนการผลิตที่ลดการแปรรูปให้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารเพื่อให้คนมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของเศษวัสดุเหล่านี้

– ทีมนักออกแบบ
บริษัท คีรีดอร์แอนด์พาเนล จำกัด และ บริษัท เคทีเอชวู๊ด จำกัด

กิจกรรมพิเศษที่มีเฉพาะในงานสถาปนิก’66

อ่านบทสัมภาษณ์มาจนเกือบจะจบ ผู้เขียนก็อยากจะสอดแทรกความพิเศษที่ทางแบรนด์ได้บอกต่อเรามาทั้งกิจกรรมพิเศษและโปรโมชั่นดี ๆ ที่มีเพียงในงานสถาปนิก’66 นี้ โดยเริ่มกันที่กิจกรรมพิเศษซึ่งเป็นการเปิดรับไอเดียงานดีไซน์จากลูกค้าที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ให้กับวงการไม้

ในส่วนของโปรโมชั่น คุณชนัญญา ได้กระซิบกับเราถึงการมอบส่วนลดสำหรับบานประตู 3% แบบ Exclusive และ 5% แบบ Standard ยังไม่พอ สำหรับเฟอร์นิเจอร์รับส่วนลดถึง 20% พร้อมด้วยโปรโมชั่นจัดส่งฟรีและของสมนาคุณถ้าซื้อสินค้าภายในงาน

คุณค่าของไม้ที่ถูกถ่ายทอดมาเป็นงานศิลปะชิ้นเอก
คืออะไร เชิญมาสัมผัสที่งานสถาปนิก’66

หลังจากที่อ่านบทความสัมภาษณ์จบแล้ว หวังว่าผู้อ่านจะได้เปิดมุมมองใหม่ที่มีต่อเศษวัสดุรวมถึงการดึงเอาตัวตนของสิ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้างมาถ่ายทอดให้ผู้คนได้ซึมซับถึงคุณค่าของไม้แต่ละชิ้น ทว่าเรื่องราวเหล่านี้มีให้เราได้ค้นหาและสัมผัสอย่างใกล้ชิดจากแบรนด์วัสดุจากไม้อย่าง KEEREE และ KTH WOOD ที่บูธหมายเลข F408 ในงานสถาปนิก’66 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Similar Posts