กำลังหาแนวคิดเทคนิคงานออกแบบ? ลองมองที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นดู

“ภูมิปัญญาท้องถิ่น” อาจมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับเทคนิคการก่อสร้างกว่าที่คุณคิด

เมื่อกล่าวถึงเทคนิคทางสถาปัตยกรรม สิ่งแรกที่หลายท่านนึกถึง (และสอดคล้องกับภาพแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นหากค้นหาคำนี้ในกูเกิล) อาจเป็นภาพอุปกรณ์ทันสมัย ให้ความรู้สึกถึงความก้าวหน้าของนวัตกรรม

ในขณะที่คำว่าภูมิปัญญา ให้ภาพของการอนุรักษ์สิ่งเก่าแก่สมัยโบราณที่กาลเวลาดำเนินผ่านมาแล้ว

แต่ภูมิปัญญากับเทคนิคในงานออกแบบก่อสร้างที่ใช้ในยุคปัจจุบันแตกต่างกันอย่างนั้นจริงหรือ? สำหรับนักสร้างสรรค์หลาย ๆ ท่าน คำตอบคือไม่

ภูมิปัญญา หรือ เทคนิค

การเลือกใช้วัสดุ การเข้าเดือยต่อไม้ การฉลุลาย และการกลึงไม้ ล้วนแต่เป็นเทคนิคในกระบวนการออกแบบและก่อสร้างที่ยังพบเห็นการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

ศุภชัย แกล้วทนงค์

และในกรณีของ ศุภชัย แกล้วทนงค์ วิธีการเหล่านั้นก็เป็นภูมิปัญญาที่เขาหยิบมาจากท้องถิ่นของเขาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มาพัฒนาต่อยอดจนสร้างสรรค์งานคราฟต์ระดับรางวัลมากมาย

หลังได้รับรางวัล The Winner Price of Innovative Craft Design Award 2015 by SACICT จากผลงานชื่อ “จาก” ซึ่งมีที่มาของแนวคิดทั้งจากรูปทรงอันซับซ้อนของธรรมชาติซึ่งพบได้ในลูกจาก ภูมิปัญญา – หรือเทคนิคทางหัตถกรรมของการทำกรงนกหัวจุกและนกเขาจากท้องถิ่นของเขา ผสมผสานกันออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รูปทรงสามมิติสมัยใหม่ เขาก่อตั้ง บริษัท นักคิด ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ด้านหัตถกรมท้องถิ่นใต้สร้างสรรค์ในชื่อ TIMA ซึ่งผลิตผลงานออกแบบระดับรางวัลอีกมากมายด้วยแรงบันดาลใจจากงานหัตถรรมท้องถิ่น

นอกจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจะเป็นแหล่งความรู้ ช่วยสร้างแนวความคิด ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังเป็นทุนทางวัฒนธรรมอีกด้วย หากมองในแง่มุมทางเศรษฐกิจ ในบทสัมภาษณ์กับ The Cloud เขากล่าวว่าอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเหล่านี้ทำให้งานออกแบบของเขาแตกต่างโดดเด่นจากงานออกแบบอื่น ๆ ด้วยภูมิหลังที่แตกต่างกัน บริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งสัมพันธ์กับกระบวนการ เทคนิค ซึ่งมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่แตกต่างกัน สามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ได้ เช่นในงานตกแต่งภายในสำหรับนักท่องเที่ยว

ที่สำคัญคือ เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของวัตถุดิบแบบท้องถิ่นว่าสามารถดู “ร่วมสมัย” ได้ ทั้งยังสร้างเอกลักษณ์ จากอัตลักษณ์เฉพาะตัวดังกล่าวอีกด้วย

จากบ้านไม้ตะเคียนสู่ที่พักบูติก

การเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของบ้านไม้และครอบครัวอีสานคือแนวคิดหลักที่ ธรรศ วัฒนาเมธี ดูแล ‘บ้านเสงี่ยม-มณี

แทนที่จะปล่อยทิ้งให้ร้าง ทรุดโทรมจนอยู่ไม่ได้ เขาเห็นว่าบ้านไม้เก่าในเมืองสกลนครนี้สามารถปรับปรุงเพื่อการอนุรักษ์ได้

ธรรศ วัฒนาเมธี

สิ่งที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านไม้ 3 ชั้นที่มีอายุกว่า 66 ปี หลังนี้ไปเป็นเพียงรูปแบบการใช้งาน จากบ้านสำหรับคนในครอบครัวอยู่อาศัยมาสู่ “Boutique Guesthouse + Craft Cafe’ & Library”

แม้โครงสร้างจะมีความแข็งแกร่งขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานใหม่ แต่สัดส่วน รูปทรง และวัสดุดั้งเดิมได้รับการรักษาไว้

เช่นเดียวกับ ‘BAAN SUAN SUKSAMAI’ บ้านเดี่ยวสำหรับผู้อยู่อาศัยวัยเกษียณและวัยทำงานรวม 6 คน ซึ่งเป็นผลงานของ ชานเฌอ บริการรับออกแบบบ้าน ออกแบบสวน ตกแต่งภายใน และออกแบบสถาปัตยกรรมทุกประเภทของเขา ที่มีแนวคิดในการออกแบบคือลักษณะการใช้พื้นที่แบบไทอีสาน โปร่งโล่ง อยู่สบาย และมีความเป็นส่วนตัว

คุณธรรศ วัฒนาเมธี แตกต่างจาก คุณศุภชัย แกล้วทนงค์ ตรงที่งานออกแบบของเขาสะท้อนความเป็นท้องถิ่นอีสาน มากกว่าท้องถิ่นแบบใต้

แต่เช่นเดียวกันทั้งคุณศุภชัย แกล้วทนงค์ และ คุณธรรศ วัฒนาเมธี พวกเขามีท้องถิ่นของตนเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ในแนวคิดการออกแบบสร้างสรรค์หรือปรับปรุง

ในงานสถาปนิก’65 นี้ นักออกแบบทั้งสองจะมา “สร้างสรรค์ร่วม” และจัดแสดงผลงานในนิทรรศการ PROFESSIONAL COLLABORATION เพื่อแสดงให้เห็นการ “พึ่งพา – อาศัย” ระหว่างสถาปนิกกับนักสร้างสรรค์จากสาขาอาชีพอื่น

นอกจากการทำงานร่วมกันของ ศุภชัย แกล้วทนงค์ และ ธรรศ วัฒนาเมธี จึงยังมีสถาปนิกและนักสร้างสรรค์จากสาขาอาชีพอื่นอีกมากมายที่ไม่ใช่แค่นักออกแบบมาผลิตผลงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ช่างภาพไอโฟนและสถาปนิกผู้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ อาจารย์ศิลปะและสถาปนิก พร้อมนำเสนอที่ งานสถาปนิก’65 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts