เจาะลึก “สถาปนิก’65” เดินหน้ากระตุ้นอุตสาหกรรมออกแบบ-ก่อสร้างเต็มรูปแบบ กับนิทรรศการ งานจัดแสดง และนวัตกรรม

พิเศษกว่าเดิม ยิ่งใหญ่กว่าเดิม! เปิดรายละเอียด นิทรรศการ—งานจัดแสดง—นวัตกรรม ในงานแถลงข่าว “สถาปนิก’65 (Architect’22)” กับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบไฮไลต์มากมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อพร้อมกระตุ้นพลังสร้างสรรค์ กับสถาปนิกและนักสร้างสรรค์จากต่างภูมิภาคทั่วไทย

คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานในพิธีแถลงข่าวฯ

คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานในพิธีแถลงข่าวฯ กล่าวเปิดงานพร้อมชี้ให้เห็นความสำคัญของงานสถาปนิก’65 ว่าเป็นปีที่พิเศษ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการออกแบบ-ก่อสร้างและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้เดินหน้าต่อจากยุคโควิด ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน “สร้างสรรค์ร่วมกัน” ตามแนวคิดการจัดงาน ทั้งยังเปิดพื้นที่โชว์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และเป็นสื่อกลางที่ดีที่สุดให้คนในแวดวงและผู้บริโภคได้มาเจอกัน

“สำหรับงานสถาปนิก’65 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “CO-WITH CREATORS พึ่งพา-อาศัย” โดยมีที่มาจากประธานจัดงานร่วมทั้ง 3 ท่าน จาก 3 ภูมิภาค ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการ “พึ่งพา-อาศัย” จากการที่ได้ทำงานร่วมกันท่ามกลางแนวคิด ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่มุ่งสู่เป้าหมายร่วมกันคือการผลักดันให้การจัดงานสถาปนิก’65 นั้นประสบผลสำเร็จตามที่วางไว้”

“งานนี้จะเป็นเสมือนเวทีและสื่อกลางที่ดีที่สุดให้กับอุตสาหกรรมออกแบบ-ก่อสร้าง ในการนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ในวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม ตลอดจนเป็นเวทีสำหรับตั้งคำถามและค้นหาคำตอบถึงการพึ่งพาอาศัยระหว่างสถาปนิกและนักสร้างสรรค์ในสาขาอื่นๆ เพื่อค้นหาความเป็นได้ใหม่ๆ ผ่านการพึ่งพาศักยภาพของกันและกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ”

แนวคิด

คุณปองพล ยุทธรัตน์ ประธานจัดงาน
ตัวแทนสถาปนิกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อถามถึงที่มาของแนวคิดการจัดงาน “CO-WITH CREATORS พึ่งพา-อาศัย” คุณปองพล ยุทธรัตน์ ประธานจัดงาน ตัวแทนสถาปนิกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชี้ให้เห็นถึงความ “เยอะ” มาก ๆ ของปีนี้ ตั้งแต่จำนวนประธานจัดงานถึง 3 ท่าน จาก 3 ภูมิภาค พวกเขายังชวนเพื่อน ๆ จากแต่ละภูมิภาคให้มาร่วมสร้างสรรค์พาวิลเลียนในงานอีกเยอะ

ความหมายที่ซ่อนอยู่ในความเยอะเหล่านี้คือการ “พึ่งพาอาศัย” เขาเห็นว่าสถาปนิกต้องทำงานร่วมกับคนจากวิชาชีพที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง และปัจจุบันยิ่งมีแนวโน้มจะเกี่ยวข้องกับอาชีพที่ต่างกันมากอีกด้วยอย่างอาชีพต่าง ๆ ที่พวกเขาชวนมาร่วมสร้างสรรค์กับสถาปนิกในปีนี้ จึงนำมาสู่เป้าหมายของงานในปีนี้ที่ต้องการตั้งคำถามว่าวิธีการทำงานเช่นนี้เป็นแนวทางที่ดีจริง ๆ หรือไม่สำหรับการออกแบบ และถ้าดีเราจะช่วยกันใช้เครื่องมือนี้อย่างไรได้บ้างในอนาคต

นิทรรศการ

คุณอิศรา อารีรอบ ประธานจัดงาน
ตัวแทนสถาปนิกภาคเหนือ

จากแนวคิดสู่นิทรรศการ คุณอิศรา อารีรอบ ประธานจัดงาน ตัวแทนสถาปนิกภาคเหนือ เล่าว่าพวกเขาได้เชิญนักสร้างสรรค์มาทั้งหมด 12 คู่ จากต่างภูมิภาค ต่างสาขาอาชีพ มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน มาร่วมกันออกแบบนิทรรศการหลักของสมาคม “ก็ต้องดูว่าจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร แล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เป็นโปรเจกต์เชิงทดลองที่เราคาดว่าน่าจะสัมฤทธิ์ผลได้” คุณอิศรากล่าว

นิทรรศการที่น่าสนใจมีอย่างเช่น “CO-WITH COVID” ซึ่ง คุณราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานจัดงาน ตัวแทนสถาปนิกภาคใต้ อธิบายว่า เป็นการตีความการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และโควิดผ่าน “นิทรรศการเชิงนามธรรม” โดย สาริน นิลสนธิ จาก D KWA Architectural Design Studio ที่เชียงใหม่ และ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ จาก Patani Artspace เล่าเรื่องสัจธรรมของชีวิต ผ่านผ้า ผ่านรูปทรง และแท่งไฟ ด้านนิทรรศการ “LOCAL INNOVATION” เป็นการตีความมุมมองที่คุณจีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์ใช้ในการถ่ายภาพจนโด่งดัง มาเป็นพื้นที่แสดงผลงานออกแบบเปลือกอาคารจากวัสดุพื้นถิ่นจากแต่ละภาคโดยคุณคำรน สุทธิ จาก Eco Architect ซึ่งน่าสนใจในแง่การแสดงศักยภาพของสถาปนิกจากแต่ละภูมิภาค “สำหรับซัพพลายเออร์ผมว่าบูธนี้น่าสนใจมาก เพราะเขาไปคุ้ยวัสดุจากภูมิภาคที่บางทีเราก็นึกไม่ถึงว่าสามารถใช้อย่างนี้ได้ อาจสามารถต่อยอดเป็นวัสดุหลักใช้ในตัวอาคารก็น่าสนใจมาก” คุณปองพลกล่าว

คุณราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานจัดงาน
ตัวแทนสถาปนิกภาคใต้

กระบวนการทำงานร่วมกันของนักสร้างสรรค์และสถาปนิกทั้ง 12 คู่ใน “โปรเจกต์เชิงทดลอง” นี้ จะถูกศึกษา บันทึก และจัดแสดงในนิทรรศการ “PROFESSIONAL COLLABORATION” ซึ่งเผยแพร่ทั้งผลสัมฤทธิ์ กระบวนการพูดคุยของคนต่างอาชีพ ต่างภาษา ต่างแนวความคิด โดยมีคุณปกรณ์ อยู่ดี จาก INLY STUDIO และ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ถ่ายทอดปัญหาขยะจากทะเลด้วยงานออกแบบรองเท้าในชื่อ “ทะเลจร”

คุณปองพลยังกล่าวด้วยว่างานนี้มีความคึกคักมาก สถาปนิกจากต่างจังหวัดรู้สึกได้รับเกียรติมาก จึงคาดว่าจะมีผู้เข้าชมจากต่างจังหวัดเยอะ รวมทั้งกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้นจากการรวบรวมองค์ความรู้หลากหลายสาขา

นิทรรศการ CO-WITH COVID
นิทรรศการ LOCAL INNOVATION
นิทรรศการ PROFESSIONAL COLLABORATION

งานจัดแสดง

ศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ
บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล

ครั้งแรกของงานสถาปนิก กับพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ร่วมกัน “THEMATIC PAVILION” ที่ดีไซเนอร์รุ่นใหม่และซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้างจะได้มาจับมือกันออกแบบพื้นที่จัดแสดง คุณศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะผู้จัดงานฯ นำเสนอพื้นที่จัดแสดงรูปแบบใหม่นี้ ว่า “ถือเป็นครั้งแรกของงานสถาปนิกในการนำเสนอพื้นที่จัดแสดงรูปแบบใหม่ที่เทียบเคียงงานดีไซน์ระดับโลก เป็นผลงานการสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างดีไซเนอร์รุ่นใหม่อายุไม่เกิน 40 ปี กับซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้าง ถือเป็นไฮไลต์พิเศษสุดของงานสถาปนิก’65 โดยในปีนี้พื้นที่ Thematic Pavilion มีจำนวนทั้งหมด 4 พาวิลเลียน ได้แก่ EDLxSher Maker, WDCxACa, TOAxARiA Design Architects และ VGxPHTAA โดยทั้ง 4 คู่นี้มีความพิเศษและน่าสนใจทั้งในด้านของตัวผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการรังสรรค์พื้นที่ และตัวนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีมุมมองในการทำงานที่มีเอกลักษณ์และมีผลงานเป็นที่รู้จักในแวดวง โดยทั้ง 4 คู่จะมาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันผ่านการนำวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของซัพพลายเออร์มาออกแบบ”

ก่อนจะไปชมพาวิลเลียนทั้ง 4 แบบขนาดจริง ประสบการณ์จริง ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ก็มีการจัดแสดงโมเดลจำลองของทั้ง 4 พาวิลเลียนไว้ให้ชม ทั้งยังได้รับเกียรติจากตัวแทนผู้แสดงสินค้าและนักออกแบบรุ่นใหม่มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ Thematic Pavilion นี้อีกด้วย

สำหรับ Thematic Pavilion ของ VGxPHTAA คุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง PHTAA Living Design และ คุณไพโรจน์ โชคนันทิพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็นพี พลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด เล่ากระบวนการออกแบบให้ฟังอย่างสนุกสนาน พวกเขานำวัสดุจากทาง VG ที่เดิมมีฟังก์ชันชัดเจนอยู่แล้วอย่างรางน้ำและหลังคา มาเปิดศักยภาพไปใช้ทำหน้าที่ใหม่ ๆ จากรางน้ำเป็นหลังคา จากหลังคาเป็นฟาซาด ยิ่งไปกว่านั้นคือการออกแบบเป็นบ้านที่มีลักษณะพื้นถิ่น (vernacular) แม้จะสร้างขึ้นจากวัสดุที่เป็นเคมีหรือพลาสติก “พอมันผสมกันก็จะมีจุดที่ต้องคิดหลายจุด เปลี่ยนฟังก์ชันของมันเพื่อเพิ่มโอกาสการใช้งานในรูปแบบอื่น ๆ ให้กับวัสดุของเขา ตามแนวคิด co – with creator” คุณพลวิทย์กล่าว ก่อนเผยว่ายังซ่อนการค้นพบสำคัญไว้ใน Windtower ของพาวิลเลียนนี้อีกด้วย จากการศึกษากระบวนการผลิตพลาสติกของ VG ที่นำไปใช้ประโยชน์สูงสุดได้แม้ไม่ใช่วัสดุท้องถิ่น “ก็ต้องขอบคุณ PHTAA ที่ใช้วัสดุเหล่านี้ เพราะทุกครั้งที่ออกงานมันยากมากที่จะแสดงให้เห็นว่าเราขายรางน้ำ” คุณไพโรจน์สรุปปิดท้าย “เป็นการดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาเห็นตัวสินค้าได้ดีขึ้น เพราะความแปลกตา การทำให้อะไรไทย ๆ มารวมกับพลาสติกที่ไม่ได้เป็นตามฟังก์ชันเลยมาเป็นบ้านหนึ่งหลังได้”

คุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง PHTAA Living Design และ
คุณไพโรจน์ โชคนันทิพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็นพี พลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด

ด้าน TOAxAria Design Architects คุณนันทพล บุญเหลือ ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าที่มาของแนวคิดการออกแบบว่าต้องการสื่อสารเรื่องนวัตกรรม มากขึ้นไปอีกจากเรื่องสีทาบ้านหรือซีเมนต์ ยิปซัม หรือกระเบื้อง แต่คือนวัตกรรมที่พัฒนามาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1997 คุณกฤต อภิบาลปฐมรัฐ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง ARiA Design Architects จึงตีความแนวคิดมากมายมาเป็นแนวคิด “Circle of Sustainable Life” สื่อความหมายเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันของ creature และ nature ด้วยการสร้าง Unique Form แสดง DNA ของแบรนด์ TOA เพื่อสร้าง Visual Impact รอบตัว เป็นการรับรู้ใหม่ ๆ ที่เน้นเรื่องความงามด้วย โดดเด่นด้วยรูปทรงแบบงานศิลปะประติมากรรม

คุณกฤต อภิบาลปฐมรัฐ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง ARiA Design Architects และ
คุณนันทพล บุญเหลือ ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

นวัตกรรม

ด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจในปีนี้ คุณศุภแมนยกส่วนหนึ่งจากกองทัพผู้แสดงสินค้าที่เตรียมมาจัดแสดงโดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท Hygienic Product, นวัตกรรมจากต่างประเทศ และนวัตกรรมที่เตรียมมาเปิดตัวครั้งแรกในงาน

“ตอนนี้มีผู้แสดงสินค้าตอบรับเข้าร่วมงานแล้วประมาณ 450 บริษัท หรือคิดเป็น 90% ของพื้นที่ และมีสัดส่วนผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศ ประมาณ 5% อาทิ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย มาเลเซีย ฯลฯ” คุณศุภแมนกล่าว พร้อมสร้างความมั่นใจว่าในวันงานจะมีผู้แสดงสินค้าเต็มทุกพื้นที่อย่างแน่นอน เพื่อให้เป็นงานที่รวบรวมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ
บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล

สำหรับนวัตกรรมกลุ่ม Hygienic Product ถือว่าสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันมาก เพราะมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพ เช่น TOA Organic Care ที่ผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติ Greenlam Laminates ที่ต้านไวรัสได้ 100% เป็นรายแรกของโลก และผ้าจาก Pasaya ที่ยับยั้งแบคทีเรียและไวรัสได้เช่นกัน

ด้านนวัตกรรมจากต่างประเทศ พิเศษสุดกับ Tesla Powerwall และ โซลาร์เซลล์จาก Solar D ผลิตภัณฑ์หินตกแต่งจากบราซิล โดย RICA STONE & MARBLE และชุดครัว อ่างล้างมือ และแผ่นตกแต่งปิดผิวดีไซน์ญี่ปุ่นจาก sanwacompany

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมเตรียมเปิดตัว การประชันกันระหว่างเครื่องมือช่างแบรนด์อันดับหนึ่งจากฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่น BLACK+DECKER และ MAKITA และ Aptico วัสดุปิดผิวจากออสเตรเลีย เป็นต้น โดยคุณศุภแมนคาดว่าตลอดการจัดงาน 6 วันจะมีผู้เข้าชมกว่า 300,000 คน ที่หลากหลายกว่าการจัดงานที่ผ่านมาจากฐานผู้ติดตามกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่มาเข้าร่วม ซึ่งการจัดงานก็จะดำเนินตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามมาตรฐานที่ ศบค. กำหนด

งานแถลงข่าวครั้งนี้ยังมีแบรนด์ดังมาร่วมจัดแสดงด้วย คือ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด คุณปรวรรณ มหัทธนะสุข Customer and Brand Management Director กลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี นำเสนอว่าในงานสถาปนิก’65  SCG จะมากับแนวคิด “SCG for Smart Living, Smart City” ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยทั้งในบ้านและอาคาร พร้อมด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างจาก SCG ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าสำหรับวันนี้และอนาคต โดยมีไฮไลต์เป็นนิทรรศการ “Dwell Well อยู่ได้ อยู่ดี” ที่จัดแสดงโซลูชันที่หลากหลาย ซึ่งทั้งตอบสนองโจทย์การอยู่อาศัยและการก่อสร้างในยุคปัจจุบัน ทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เมืองที่น่าอยู่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

นอกจากนี้ คุณนรวีร์ เศรษฐิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็เสนอผลิตภัณฑ์ “สี JORAKAY BIOSPHERE PREMIUM” ที่อยู่ในกลุ่มของสี Natural Color ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับต้นไม้ใหญ่ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ Lime Base ระบายและถ่ายเทความร้อนดี ทนทานทุกสภาพอากาศ มลภาวะ และรังสี UV ปราศจากกลิ่นของสารระเหยและสารก่อมะเร็ง ปลอดภัยต่อสุขภาพ เหมาะสำหรับงานทาสีบ้านใหม่และรีโนเวต และยังมีนวัตกรรมเพื่อการก่อสร้าง ซ่อมแซม และตกแต่งแบบครบวงจรอีกมาก เพื่อให้สมกับที่ว่า “ใช้จระเข้ปกป้องทั้งบ้าน” ให้ทุกท่านได้รู้ว่าจระเข้สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการเกี่ยวกับการก่อสร้างได้อย่างมืออาชีพ

คุณปรวรรณ มหัทธนะสุข Customer and Brand Management Director
กลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี
คุณนรวีร์ เศรษฐิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

แล้วพบกับงานสถาปนิก’65 CO-WITH CREATORS พึ่งพา – อาศัย ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2565 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าเพื่อลุ้นรับรางวัลมากมายมูลค่ารวมกว่า 200,000 บาทได้แล้วที่ https://bit.ly/3pbNbFm

สอบถามรายละเอียดส่วนพื้นที่จัดแสดงสินค้า โทร 02-717-2477 หรือ www.ArchitectExpo.com

ส่วนงานนิทรรศการสมาคมฯและกิจกรรม โทร 02-319 6555 หรือ www.asaexpo.org

Similar Posts