สถาปนิกผังเมืองจะแก้สารพันปัญหาเมืองอย่างไร? คุยกับผศ. คมกริช ธนะเพทย์ จาก TUDA หนึ่งในประธานจัดงานสถาปนิก’66

เปิดฉากแล้วกับงานสถาปนิก’66 ที่มาในแนวคิด ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ ครั้งแรกของการผสมผสานรสชาติจากสถาปนิกทุกแขนงด้วยความร่วมมือของ 5 องค์กรวิชาชีพได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก แต่ละองค์กรจะมาทำอะไร แต่ละสาขาเขาทำงานกันอย่างไร ประธานการจัดงานทั้ง 5 ท่านจะมาเล่าให้ฟังใน 5 บทสัมภาษณ์นี้ ก่อนไปเจอกันในงาน

ปัญหารถติด ปัญหาน้ำ ปัญหาไฟ ปัญหาขยะ และอีกสารพันปัญหาที่เปิดประเด็นมาก็คงเป็นที่เข้าใจกันดีด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ในขณะที่ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่คุณรู้จักสาขาวิชาที่ทำงานกับเรื่องนี้อย่างสถาปัตยกรรมผังเมืองแค่ไหน? ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คมกริช ธนะเพทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในประธานการจัดงานสถาปนิก’66 ตัวแทนจากสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (Thai Urban Designers Association : TUDA) ตอบทุกข้อสงสัยยอดฮิตเกี่ยวกับเมือง เล่ากระบวนการทำงานกับหลายฝ่ายของสถาปนิกผังเมืองที่สนุกเหมือนกับตำถาด พร้อมแง้มข้อมูลการจัดแสดงที่เตรียมไปพบกันในงานสถาปนิก’66

สถาปนิกผังเมืองในหลากรสชาติของสถาปนิกต่างสาขา

งานสถาปนิก’66 นี้จะเป็นครั้งแรกที่ทาง TUDA ได้เป็นผู้ร่วมจัด คุณคมกริชย้อนอดีตก่อนจะมาถึงปีนี้ ว่าตนเองแม้จะเป็นสถาปนิกผังเมืองแต่ก็มีความคุ้นเคยกับงานสถาปนิกอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนด้านสถาปัตยกรรมด้วยซ้ำ “ก่อนผมเข้าเรียนก็ไปงานนี้แล้วก็มีการประกวดจินตนาการกรุงเทพฯ 2000 เป็นสิ่งที่ผมจำได้ จนได้พานิสิตเข้ามาจัดแสดงผลงาน มารับรู้ความเป็นสถาปนิก จนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ถามว่าแปลกใจไหมที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่ เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงโตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเป็นคนอายุ 35 ปีก็หนุ่มใหญ่แล้ว”

เขาเล่าที่มาของแนวคิด ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ ของงานครั้งนี้ว่าเกิดจากความต้องการนำเสนอการทำงานของ 4 สมาคมและ 1 องค์กรที่ร่วมมือกัน โดยมีความทีเล่นทีจริงเหมือนเหล่าสถาปนิกด้วย มีการพูดถึงแนวคิดทางสังคมอย่าง Melting Pot หรือ Salad Bowl โดยเขาเห็นว่าตำถาดสะท้อนลักษณะเนื้องานของทั้ง 4 สาขาของสถาปนิกที่มีความแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งมีการทำงานร่วมกันแต่ก็ไม่ได้หลอมเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนเรื่องภาพ “ผมรู้สึกว่า Visual เป็นอาหารก็ขอให้มันน่ากิน แล้วดึงให้คนมาสนใจได้เพราะตำถาดเป็นสิ่งที่คนรู้จัก การออกแบบ Key Visual ก็ให้ความเห็นว่าด้านหนึ่งต้อง “ดูแล้วไม่เป็นอะไร” ก่อน ดูแล้วกระตุ้นจินตนาการ ยกตัวอย่างเด็กถ้าเราทำอะไรสักอย่างเป็นรูปทรงโค้ง ๆ ไปวางไว้ เด็กก็จะจินตนาการว่ามันคือปลาแล้วขึ้นไปขี่ปลาก็ได้ หรือจะเล่นเป็นโขดหินหรืออะไรก็ได้ แต่ถ้าเราทำเป็นปลาวางไว้เขาก็จะเล่นกับมันอย่างที่เล่นกับปลาอย่างเดียว”

เช่นนั้นแล้ว สถาปนิกผังเมืองจะเป็นอะไรในตำถาด? เขาตอบว่า “ตอนแรกก็มีการคุยกันในสมาคมฯ [TUDA] ว่าเราจะเป็นถาดไหม แต่มีคนเสนอมาว่ามันไปไกลกว่าถาดแล้ว เหมือนร้านลาบ/ร้านส้มตำหน้าปั๊ม เป็นสถานที่ที่มีคนนั่งกิน ทำให้เมนูมันเติบโต เพราะจุดเริ่มต้นของตำถาดมันมาจากศาลาการเปรียญ การจัดสำรับเลี้ยงพระ การแชร์อาหารกัน มีความสนุกร่วมกัน การแบ่งปันกัน ผมเห็นแพทเทิร์นตรงนี้ พฤติกรรมแบบนี้ เมนูที่อยู่ในตำถาดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาหารอีสาน อาหารข้างทาง คุณจะเอามารวมกันยังไงก็ได้ จะเลือกกินยังไงก็ได้ เหมือนกับที่คนมาเดินงานสถาปนิกครั้งนี้ก็จะได้ความหลากหลาย”

“สิ่งที่ครั้งนี้แตกต่างไปจากปีอื่นคือรสชาติที่เพิ่มเติมเข้ามาให้แตกต่างไป” หากเดิมส้มตำเป็นเพียงจุดเด่นเดียวในมื้ออาหาร ตำถาดคือการเพิ่มอย่างอื่นเข้ามาอย่างเหนือจินตนาการ (จนอาจพาให้สงสัย) งานสถาปนิก’66 ก็คือการนำเสนอสถาปนิกในมิติอื่น ๆ นอกเหนือไปจากที่มักเข้าใจกันเพียงว่าสถาปนิกคือผู้ออกแบบอาคาร

เสน่ห์ของงานสถาปัตยกรรมผังเมืองในประเด็นปัญหาและกระบวนการหาคำตอบ

งานของสถาปนิกผังเมืองต้องทำร่วมกับหลายฝ่าย ในขณะที่สถาปนิกอาจมีลูกค้าเป็นผู้ว่าจ้างอย่างเจ้าของบ้านผู้อยู่อาศัย เขาเห็นว่า “ลูกค้า” ของสถาปนิกผังเมืองคือสาธารณะ “มันบอกได้ยากว่าใครเป็นเจ้าของเมือง แต่บอกได้ว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียกับกระบวนการพัฒนาเมือง”

ในแง่นี้การทำงานของสถาปนิกผังเมืองจึงมีความสนุกไม่แพ้ตำถาด “ประชุมประชาชนสนุก มันเหมือนการตำถาดตรงที่รู้ว่าเวทีไหนมีใครเข้าร่วมบ้าง และได้คำตอบไม่เหมือนกับที่เราคาดหวังเสมอไป มันจะมีส่วนผสมใหม่ ๆ อย่างเช่น สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาที่จุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากสถาปนิกอยากทำสวน แต่เกิดจากการประชุมประชาชนแล้วบอกว่าพื้นที่บริเวณคลองสานจะถูกพัฒนาอย่างไรดี ก็มีชาวบ้าน มีสถาปนิก มีผู้ดำเนินการพัฒนาเมือง มีสถาปนิกผังเมือง ภูมิสถาปนิก ความสนุกคืออยู่ ๆ ก็มีลุงคนหนึ่งบอกว่ามีสะพานหนึ่งไม่ได้ใช้อยู่ เขาถามว่าทำไมไม่เอามาใช้ประโยชน์ นี่คือเสน่ห์ของงานเมือง เขาไม่ได้บอกให้เป็นสวนนะ แต่บอกว่ามีสิ่งที่ไม่ได้ใช้อยู่ เราก็ไปกระตุ้นไปดำเนินการ ชี้จนเขาเข้าใจและมองเห็น เหมือนตำถาดที่สิ่งต่าง ๆ ในนั้นทำให้เกิดจินตนาการของผู้เสพตามมา”

มิติด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีการก่อสร้างเองก็เกี่ยวข้องกับงานผังเมืองอย่างที่คุณอาจคาดไม่ถึง

มุมสถาปนิกผังเมืองเองก็มีที่เริ่มมอง issue ต่าง ๆ กับวัสดุ เช่นด้านวิศวกรรมเมือง พลังงานของเมือง พลังงานของอาคาร การจัดการพลังงานในภาพใหญ่ ก็อยากฝากถึงกลุ่ม District Cooling เช่นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแก๊สตามเมือง เรื่องไฟฟ้าที่ไม่ต้องมาจากเสาไฟอีกต่อไป อาคารไม่ต้องรับไฟฟ้ามาจากถนนแต่สร้างขึ้นมาเองแล้วแจกจ่ายไปให้คนอื่น มันจะมีเทคโนโลยีเหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นบนโลกมานานแล้วแต่มุมมองจากฝั่งผังเมืองจะเป็นการใช้งานในภาพรวม เป็นรสชาติที่เติมเต็มเข้ามา

อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่าเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาด้านผังเมืองนั้น “มันไม่มีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหรอก” เพราะบริบทเฉพาะของไทยก็มีปัญหาเฉพาะของไทย เช่นแบตเตอรี่รถไฟฟ้าที่ออกแบบให้ไว้ใต้สุดของรถก็จะสอดคล้องกับเมืองที่ไม่มีน้ำท่วมให้ต้องขับฝ่ามากกว่า “เทคโนโลยีมันมีอยู่ แต่ต้องคิดว่าปัญหาแบบนี้ต้องการนวัตกรรมแบบไหน” แต่หากพูดถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเมืองก็มีทั้งด้านพลังงาน, การกำจัดของเสีย และด้านแสงสว่างและความปลอดภัย นอกจากนี้นวัตกรรมยังไม่ได้มีความหมายถึงแค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่คือกลไก เช่นกลไกทางสังคมหรือกลไกการจัดการ

โอกาสเพื่อช่วยให้คนเข้าใจเมือง (ที่เขาอยู่) มากขึ้น

พื้นที่การจัดแสดงของ TUDA ในงานสถาปนิก’66 มีประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องการเล่าคือการพัฒนาเมือง ทั้งในแง่ปัญหาและโอกาสในการแก้ไขพัฒนา “ปัญหาที่คุ้นเคยกันเรื่องน้ำเรื่องสิ่งแวดล้อมเราก็ทำให้มันชัดเจนขึ้น และเรื่องโอกาส มาพูดกันว่ามีแบบไหนบ้าง โอกาสที่มีอยู่มันมีอุปสรรคด้านไหนบ้างพูดให้มันชัด” ทั้งนี้สถาปนิกผังเมืองเองไม่ได้มีหน้าที่สร้างคำตอบสำเร็จรูป แต่เป็น “คนช่วยจินตนาการเรื่องเกี่ยวข้องกับเมือง” ต่างหาก

“จะพูดถึงกรณีตัวอย่างต่าง ๆ ว่าเขาประสบความสำเร็จกันเพราะอะไร มีเงื่อนไขอะไร สิ่งที่เขาคุยกันระดับเมืองเขาคุยกันเรื่องอะไรบ้าง เช่นสิงคโปร์ล่าสุดก็เริ่มจากการสร้างจินตนาการของเมืองให้กับรุ่นเด็ก เหมือนที่เล่าว่าผมก็เดินงานสถาปนิกตั้งแต่เด็ก”

“เราอยู่เป็นกรุงเทพฯ กันมานานแล้ว
แต่เราเพิ่งเรียนรู้หัดอยู่กันเป็นเมืองสมัยใหม่”

“เราอยู่เป็นกรุงเทพฯ กันมานานแล้ว แต่เราเพิ่งเรียนรู้หัดอยู่กันเป็นเมืองสมัยใหม่” เขากล่าวพร้อมเน้นว่าเป็นเรื่องต้องทำความเข้าใจอย่างเร่งด่วน ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ การจัดการพื้นที่อยู่อาศัย ฯลฯ เขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่แต่ละสาขาก็เห็นพร้อม ๆ กัน แต่คำตอบแบบสาขาผังเมืองก็จะพูดถึงกลไกภาพใหญ่ ส่วนสาขาอื่น ๆ ก็อาจมีวิธีตอบของเขาซึ่งก็เชื่อมโยงกัน เช่นการกำหนดระบบของเมืองให้มีพื้นที่สาธารณะ สถาปนิกก็อาจออกแบบอาคารให้สอดคล้อง มีชั้นที่เชื่อมกับพื้นที่สาธารณะนั้น หรือเรื่องสวนภายนอกอาคารแทนที่จะเป็นที่ว่างก็อาจเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกันได้เป็นต้น

“เข้าใจว่าธรรมชาติการทำงานของสถาปนิกอยู่บนที่ดินมีขอบเขตชัดเจน อยู่บนฐานผลประโยชน์ของใครชัดเจน แต่มันมีกลไกเชื่อมต่อแล้วทำให้ชีวิตทุกคนดีขึ้นเขาก็ต้องทำงานกับเจ้าของที่นั้น ๆ” “ในการสื่อสารก็ต้องทำให้เห็นกลไกว่าเมืองทำงานอย่างไร สิ่งที่ทำอยู่มันทำให้เกิดการติดขัดไม่ลื่นไหลอย่างไรบ้าง เราอาจจะเห็นปัญหาแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ก็ต้องทำให้เห็นว่าโครงสร้างปัญหาพอลงมามันเจอเรื่องอะไรบ้างและเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ยังไง แล้วจึงค่อยคุยเรื่องทางออกวิธีการแก้ไขต่อ”

เข้าใจกว้างขึ้นเห็นมิติเพิ่มขึ้นด้วยการสานความรู้ข้ามสาขาวิชา (Cross-Disciplinary) ในงานสถาปนิก’66

แม้งานสถาปนิกเองจะมีการบรรยายจากสถาปนิกระดับโลกอยู่แล้วดังในงานที่ผ่านมา แต่ความพิเศษของการร่วมมือกัน 4 สมาคมและอีก 1 สภา คือการสร้างเนื้อหาแบบข้ามสาขาวิชาหรือ Cross-Disciplinary แบบเป็นรูปธรรมซึ่งยังไม่ค่อยมีนัก งานสถาปนิก’66 เป็นโอกาสที่จะได้พบการ “ตำถาด” ที่น่าตื่นตาตื่นใจ หลากหลายรสชาติ สามารถเดินเข้าเดินออกเวียนเยี่ยมชมแต่ละพื้นที่ได้ ตามเจตนารมณ์ของผู้จัดที่อยากดึงผู้เข้าชมไว้ในงานให้นานขึ้นและกระจายตัวออกไปดูพื้นที่อื่น ๆ รอบข้างด้วย ผู้เยี่ยมชมเองก็จะได้ความรู้ความเข้าใจที่กว้างขึ้น ได้เห็นมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะมิติของเมือง ที่เราอาจลืมไปแล้วว่าใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากกว่าในบ้านเสียอีก

งานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts