THEMATIC PAVILION: เปิดตัว ART PIECE สุด HYPE จาก HYPOTHESIS ในงานสถาปนิก’66

สมมติฐาน การตั้งคำถาม ความแปลกแหวกแนว คือลายเซ็นที่ชัดเจนเสมอในงานของ ‘Hypothesis’

เรียกได้ว่าครั้งไหนที่มีชื่อของสตูดิโอนี้ปรากฏขึ้นในงานใดก็ตาม เรามักจะได้เห็นอะไรตื่นตาตื่นใจเสมอเพราะเขามักจะมีดีไซน์ที่จัดจ้านมาให้เราดู ครั้งนี้เมื่อประกาศชื่อของ Hypothesis มาเป็นหนึ่งในรายชื่อนักออกแบบ Thematic Pavilion พรีเซนต์วัสดุจาก 2 แบรนด์ชั้นนำทั้ง TOA และ VG ในพื้นที่เดียวกัน คงมีหลายคน รวมทั้งเราที่ตั้งตารอดูกันว่า “ปีนี้เขาจะเล่นอะไร พรีเซนต์วัสดุออกมาแบบไหน”

ถ้าคุณคิดว่ามีชื่อ TOA ซึ่งเป็นผู้นำวัสดุสีกับ VG ที่มีผลิตภัณฑ์สีสันให้เลือกใช้เช่นกัน รวมแล้วต้องมีดีไซน์สีสันจัดจ้าน

Thematic pavilion ปีนี้สีขาว

ถ้าคุณคิดว่าการโชว์ดีไซน์ของ Thematic เน้นโชว์ภาพความแกร่งของวัสดุและฟังกชันเน้นๆ

Thematic Pavilion ปีนี้โชว์พลิ้ว ใส่เอฟเฟ็กต์แพรวพราวให้ Vibe ในรูปแบบงานศิลปะ

“ถ้าเห็นภาพจากดีไซน์แล้วคุณคิดว่า สิ่งนี้อยู่ในงานสถาปนิก’66 จริงเหรอ ทำไมแปลกตาจัง งานแบบนี้น่าจะอยู่ตามอีเวนต์ศิลปะมากกว่านะ?” เราอาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า แล้วทำไมจะเกิดสิ่งนี้ ในงานสถาปนิกไม่ได้ เมื่อพวกเขาทำให้มันเกิดขึ้นแล้ว

มาเจาะลึกคำตอบไปแนวคิดนี้ไปพร้อมกัน เพราะวันนี้เรานัดคุยกับบุคคลเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้จาก Hypothesis ทั้ง 2 ท่าน คุณพล พลสิทธิ์ แซ่เฮ้ง ตำแหน่ง senior architect และ คุณเบ็น จัตรินทร์  สูงสุมาลย์ ตำแหน่ง architect

2 BECOME 1

ก่อนอื่น เราต้องบอกคุณว่าปีนี้มีเพียง Thematic Pavilion บูธนี้บูธเดียวเท่านั้นที่ 2 แบรนด์ผลิตภัณฑ์มาจับมือใช้พื้นที่จัดแสดงร่วมกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตำแหน่งของ Thematic หรือการออกแบบจะต้องถูกคิดเพื่อนำเสนออย่างสมดุล ไม่เอนเอียง ไม่ข่มกัน และต้องตอบโจทย์ได้ครบ

เราต้องมาประสานทั้งสองแบรนด์เข้าด้วยกัน โดยที่ให้ทั้งสองแบรนด์ไม่ข่มกัน ต้องมีความสมดุลตรงกลาง บูธมันต้องมีไดนามิกด้วยและต้องโชว์ผลิตภัณฑ์ของทั้งสองแบรนด์ด้วย โดยสุดท้ายความยากมันก็คือต้องทำให้มันกลมกลืนกัน

จากแนวคิดตามโจทย์ เมื่อนำมาตกผลึกข้อมูล ประกอบกับการวางแผนการออกแบบและประชุมร่วมกันในการพัฒนาผลงานตามคำบอกเล่าของพวกเขา เราสรุปเป็นคีย์สำคัญของผลงานออกมาเป็น 5S ด้านล่าง ดังนี้

symmetry / symbolic / sensory / synchronized / sustainability

  • Symmetry (สมมาตร) : ในแง่การออกแบบพื้นที่ Hypothesis เลือกใช้พื้นที่ Thematicในรูปทรงจัตุรัสที่ไม่ยาวหรือสั้นเกินไป วางอยู่ในตำแหน่งตรงกลางระหว่างทั้ง 2 บูธสินค้าของ TOA และ VG โดยดีไซน์ให้ภายนอกดูกลมกลืนกัน แต่ถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นการแบ่งพื้นที่การติดตั้งวัสดุที่แบ่งฝั่งกันอย่างสมมาตรชัดเจน เพื่อให้ตอบโจทย์ฟังก์ชันในแง่ของการเป็น showcase และแง่ Journey เข้าชม
เมื่อเดินเข้าไปใน Pavilion หากช่องทางเดินออกติดตั้งวัสดุชิ้นไหน ปลายทางของคุณจะพบ exhibitor วัสดุนั้น ส่วนพนักงานแนะนำสินค้าฝั่ง exhibitor ที่ไม่ได้เข้ามาในพื้นที่โซน Thematic ก็สามารถใช้ประโยชน์โดยชี้ชวนให้ผู้ชมมองเห็นผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้จากฝั่งบูธตนเอง

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าการออกแบบแบ่งเป็น 4 node 4 ขา ที่มีช่องว่างทางเดินตัดผ่านเป็นรูปตัว + ถ้าคุณลากเส้นตรงตัดผ่านตรงกลางสี่เหลี่ยมจัตุรัสของ Thematic ในแนวตั้ง วัสดุที่ออกแบบติดตั้งในฝั่งซ้ายทั้งหมดเป็นบูธของ Exhibitor ในฝั่งซ้าย ขณะที่วัสดุในซีกขวาของ Thematic ทั้งหมดก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ของบูธ Exhibitor ทางฝั่งขวา เพื่อให้ตอบโจทย์ฟังก์ชันทั้งแง่ Journey ของผู้เข้าชม และพนักงานแนะนำสินค้า

  • Symbolic (สัญลักษณ์) : พีระมิดและน้ำผุดที่ตั้งอยู่กลาง Pavilion คืออะไร น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามที่ทุกคนสงสัย ที่มาของสัญญะนี้มาจากจุดร่วมที่ Hypothesis พบว่าทั้ง TOA และ VG มีร่วมกันคือความเป็นแบรนด์ต้นน้ำในเชิงผลิตภัณฑ์จึงสื่อสารผ่านตาน้ำที่ผุดออกมาจากยอดของพีระมิดกระจก

ความเป็นต้นน้ำ มาจากการที่พอเราคุยแล้วเรารู้สึกว่าทั้ง 2 แบรนด์ ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง แล้วก็มี resource ของต้นทางอื่นๆ ของตัวเอง รวมทั้งเมื่อได้ฟีดแบ็กมาพวกเขามักรับฟีดแบ็กมาคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกไปเพื่อให้ทุกคนได้ใช้งานเสมอ ยอดพีระมิดที่เป็นตาน้ำจึงสื่อถึงความเป็นต้นทางและในอีกทางคือทั้งสองเจ้าเป็นผู้ริเริ่มด้วยเราเลยรู้สึกว่าอยากให้ต้นน้ำสื่อถึงทั้ง 2 ความหมายนี้ครับ

  • Sensory (ประสาทสัมผัส) : ภาพจากแบบที่เห็นการนำเอฟเฟ็กต์แสง ควันและน้ำผุดเข้ามาใช้ช่วยสร้างไดนามิก บรรยากาศ และใช้เพื่อสื่อสารคอนเซ็ปต์ผลงานให้ชัดเจน

“เราอยากให้บูธมีไดนามิกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพอเราพูดถึงความเป็นต้นน้ำมันสื่อถึงความเป็นธรรมชาติ น้ำที่เราเอามาใช้ แสงหรือแม้กระทั่งควัน ทุกองค์ประกอบมันเป็นส่วนเล็กๆ ของคำว่าธรรมชาติที่เราเลือกใช้ อยากให้คนเข้าไปแล้วตีความตัวนี้เอง แต่เราไม่ได้ไปบอกเขานะครับ เราจะไม่ได้มีป้ายเขียนกำกับไว้ อยากให้คนที่เข้า เข้าไปเสพ เข้าไปถ่ายรูป ได้รับประสบการณ์เหล่านี้และตีความเองครับ”

  • Synchronized (ความสอดประสาน) : หลังได้จุดร่วมทางคอนเซ็ปต์แล้ว สิ่งถัดมาคือการเลือกวัสดุเพื่อใช้ในการออกแบบที่ให้ความกลมกลืน สอดคล้องกัน Hypothesis เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบที่ให้ภาพคล้ายกันทั้งรูปทรงและสีสัน นำมาจัดวางให้น่าสนใจ ดังนี้



รูปร่างวัสดุเชิงเส้น 2 เสาฝั่ง VG ใช้รางน้ำและหลังคานวัตกรรม iR-uPVC ส่วน 2 เสาฝั่ง TOA ใช้ผลิตภัณฑ์โครงคร่าวผนังตัวซีกับยิปซัม ติดตั้งด้วยการแขวน และปูพื้นด้วยกระเบื้องจากผลิตภัณฑ์ TOA

การเลือกสีที่เลือกใช้สีขาวเพราะนอกจากจะเป็นสีกลางที่มีร่วมกันในวัสดุของทั้ง 2 แบรนด์แล้ว ยังทำให้ภาพ Thematic สมดุลไม่เอนเอียงหรือสื่อไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป (หากใช้สีเยอะ ภาพ Thematic อาจสื่อทาง TOA มากเกินไป ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ Pavilion ไม่โดดเด่นเพราะบูธ Exhibitor ที่ประกบทั้งสองด้านต่างก็ใช้สีสันในการออกแบบ)

วัสดุที่เราเลือกมาจริงๆ ค่อนข้างยากและท้าทายเรามาก จะเห็นว่าจริงๆ ทาง TOA มีวัสดุที่หลากหลายมาก และ VG เองก็มีวัสดุที่เยอะ หลากหลายเหมือนกัน เราใช้เกณฑ์ในการเลือกวัสดุที่แสดงถึงเส้นสายจากวัสดุที่ทั้งสองเจ้ามี เพื่อจะได้นำมาผ่านการดีไซน์แล้วให้ภาพรวมไปในทิศทางเดียวกัน แล้วลองมา explore ดูว่าวัสดุแบบไหนจะเห็นเอฟเฟ็กต์ดีที่สุดและมองแง่ของการติดตั้งด้วย

  • Sustainability (ความยั่งยืน) : วัสดุที่นำมาใช้ในงานครั้งนี้ทั้งหมดติดตั้งและออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานหลังจนงาน การเลือกวัสดุจึงเป็นวัสดุที่ทนต่อเอฟเฟ็กต์ ไอน้ำ ควัน และวิธีการติดตั้งที่ปกป้องตัววัสดุ กว่า 90% ของชิ้นงานสามารถถอดเพื่อนำกลับไปใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง ส่วนที่เหลือที่ได้รับความเสียหายก็สามารถ reuse หลอมเพื่อนำกลับมาผลิตอีกครั้ง ซึ่งผลของสิ่งนี้มาจากการร่วมกันวางแผนร่วมกับทาง TOA และ VG ซึ่งเสนอแนะเรื่องวิธีการติดตั้งที่เปลี่ยนจากการเจาะเป็นการยึดจับที่สามารถถอดออกได้

Lesson Learned

Hard to SAYS ‘DITTO’

คุณได้เรียนรู้อะไรจากการคอลแลปส์งานร่วมกับแบรนด์วัสดุในครั้งนี้บ้าง

“เรียนรู้ว่ายากมากเลยครับ ยากในที่นี้คือแง่ทั้งการดีไซน์ ข้อมูล โดยเฉพาะการต่อรองเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ปกติเราทำโครงการแล้วมี owner รายเดียวการต่อรองจะเกิดขึ้นและจบลงได้ทันที แต่พอมี 2 ราย…ถ้ายกมาเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายคือเหมือนเราออกแบบบ้านที่มีทั้งสามีและภรรยาเป็นเจ้าของ

บางทีอาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติด ไม่ชอบ เราทำหน้าที่ตัวกลางรับคอมเมนต์ของแต่ละฝ่ายไปบอกกันและกันเพราะเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน เวลานัดรวมตัวก็เหมือนการนัดประชุมครอบครัวเพื่อคุยกันอีกครั้ง จุดยากจะอยู่ตรงที่ข้อมูลหรืออะไรหลายๆ อย่างที่เรารับมาก่อน ต้องนำมากลั่นกรองอีกที ค่อยๆ เกลา โดยที่เราจะต้องทำยังไงก็ได้ให้เกิดความสมบูรณ์ตรงกลาง ต้องไม่เอียงเอนไปด้านในด้านหนึ่ง เพราะไม่งั้นเราจะไม่มีทางได้รับความเห็นชอบจากลูกค้าทุกฝ่าย เรารู้สึกว่าสิ่งที่ยากที่สุดเป็นส่วนของข้อมูลและการต่อรองกันทั้ง 3 ฝ่าย แต่ก็ต้องบอกว่าผ่านไปได้ด้วยดีครับ”

แต่ภายใต้ความยากของการหาความสมดุล การร่วมงานที่เปิดกว้างก็สนับสนุนการสร้างสรรค์นี้ให้กลายเป็นความสนุก และเป็นที่มาของสิ่งที่เราจะได้เห็น

“ค่อนข้างโชคดีครับเพราะว่า owner ทั้งสองท่านค่อนข้างเปิดกว้าง ตั้งแต่บรีฟแรกที่เราไปดีไซน์ เราเสนอว่าเราอยากนำวัสดุนั้นนี้ลองมาเล่นดู ทาง owner เปิดให้เราเอาไปใช้ได้เลย ทดลองได้เต็มที่ สามารถใช้งานนอกฟังก์ชันได้ เอามาเล่นให้มันมีความเป็น Abstract หน่อยก็ได้ เราก็เลยเอาตัวนั้นมาทดลองในการ rearrange มันใหม่

แต่เราก็ไม่อยากให้ถึงขั้นเปลี่ยนไปทั้งหมด เช่น ถ้าเอารางน้ำมาเปลี่ยนจนจำไม่ได้เลยว่าเป็นรางน้ำ เราก็ไม่รู้จะเอารางน้ำมาใช้ทำไม เราก็ใช้เป็นวัสดุอื่นแทนก็ได้ เป้าหมายเราคือเลือกใช้วัสดุนั้นมาออกแบบจัดเรียงใหม่ให้น่าสนใจและย้ำให้เห็นต้นทางว่าจริงๆ ว่ามันคือรางน้ำนะ หรือจริงๆ มันคือวัสดุอะไร”

Your Place, Your Experience

สำหรับงาน Thematic Pavilion ครั้งนี้นะครับ ทาง Hypothesis ก็พยายามเต็มที่ที่จะสื่อสารโจทย์ที่เราได้รับออกมาให้คนที่เข้ามาร่วมชมงานได้ตีความกัน เราอยากให้คนเข้าไปสัมผัส ลองเข้าไปใช้มัน ไป experience มันและลองตีความว่ามันเหมือนกับที่เราได้สื่อสารออกไปรึเปล่า

ได้ยินการเชิญชวนมางานครั้งน้ีจาก Hypothesis แล้ว เชิญมาปล่อยใจจอย สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ในงานสถาปนิก’ 66 “ตำถาด: Time of Togetherness” จัดขึ้นระหว่างวันอังคารที่ 25 – วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

คุณก็รู้ว่างานนี้ไม่ควรพลาด!

Similar Posts