THEMATIC PAVILION: PAVA X WOODDEN ปลูกป่าสักในอิมแพ็ค ปลุกการหลับใหลของ ‘ไม้สัก’ ในแง่ sustainability

WOODDEN คือแบรนด์ผู้ผลิต แปรรูปและจัดจำหน่ายไม้สักคุณภาพจากประเทศพม่า มีประวัติการดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า 60 ปี และมีโกดังขนาดใหญ่สำหรับเก็บไม้สักปริมาณมากในลำดับต้นๆ ของประเทศ

PAVA Architects คือสตูดิโอสถาปนิก Young Blood ที่อยู่ในสปอตไลต์ของใครหลายคนจากผลงาน Kaomai Estate 1955 ที่คว้ารางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก ในปี 2018 ที่ผ่านมา

เมื่อทั้งคู่มาจับมือกัน นี่จึงเป็นหนึ่งในการคอลแลปส์คู่สำคัญระหว่างสถาปนิกกับแบรนด์ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ Thematic Pavilion ไฮไลต์ประจำงานสถาปนิก’66 ในปีนี้ ก่อนจะถึงวันงานที่ทุกคนสามารถร่วมสำรวจพื้นที่จริงด้วยตาตัวเอง เราชวนคุณมานั่งพูดคุยกับ 2 ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบผลงานชิ้นนี้ คุณวา -วารัตน์ ลิ่มวิบูลย์ และคุณทริส – พชรพรรณ รัตนานคร ถึงเบื้องหลังผลงาน แรงบันดาลใจ และแนวคิดการออกแบบพื้นที่ครั้งนี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมด้วยไม้จากโกดังไม้สักนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาของ WOODDEN

TEAK CONCEPT

“เราเคยมีโปรเจกต์ที่เคยได้ทำงานกับงานไม้มาบ้าง จะเห็นข้อดีของการใช้ไม้ว่าเป็นยังไงหรือมีข้อจำกัดในการใช้ไม้ยังไงบ้าง เราเลยมองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ทุกคนจะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับไม้ในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งผู้ออกแบบ สถาปนิก ผู้รับเหมา คนที่อยากจะสร้างบ้านสร้างอาคารขึ้นมา”

‘ทริส’ และ ‘วา’  เล่าเป้าหมายของ Thematic Pavilion ที่พวกเขาวางแผนในปีนี้ หลังจากรู้ว่าวัสดุที่ออกแบบคือไม้สัก สิ่งแรกที่ลงมือทำคือการศึกษาทำความเข้าใจตัววัสดุ เกาะติดกระบวนการผลิตไม้จากจุดเริ่มต้นและลงพื้นที่มาซึมซับวัสดุจากโรงงานในพื้นที่จริง ทั้งหมดนี้นำเขาไปพบเรื่องราวที่น่าสนใจหลายอย่างที่แม้จะเป็นคนในแววดวงสถาปนิกก็อาจยังไม่รู้มาก่อน และเพื่อให้การออกแบบตอบโจทย์ตามที่ต้องการ จึงเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ไอเดีย “ป่าสู่คน” ที่ทำให้ผู้ที่เข้าชมงานได้ตามรอยกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของไม้สัก และเห็นวงจรชีวิตไม้จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เราว่าคีย์หลักคือการใช้ไม้ไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ และเราคาดหวังว่าถ้าเกิดเขาเห็นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เขาจะมีความเข้าใจว่า เราใช้ไม้ได้ แต่เราทดแทนเขา เราอยู่กับเขา เราใช้เขาแบบพึ่งพากัน อันนี้มันจะทำให้เรากับ Ecosystem ทั้งหมดยั่งยืนขึ้น และเราคิดว่าคนน่าจะกล้าที่จะใช้ไม้มากขึ้นในยุคปัจจุบัน

เราไม่อยากให้คนมองว่าไม้เป็น Privilege item ไม่ใช่แค่คนรวยที่จะใช้ได้ แต่เรามองว่าจะทำยังไงให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้ไม้ในงานดีไซน์ อันนี้เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ที่ทาง PAVA อยากทดลองในการทำ Thematic Pavilion”

KEEP CALM AND FEEL WOOD

เมื่อได้คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนแล้ว แง่การออกแบบพื้นที่ PAVA เลือกสร้าง Thematic Pavilion ในรูปแบบพื้นที่ปิดล้อม (enclosed space) ด้วยไม้สักเพื่อมอบประสบการณ์คอนทราสต์กับผู้เข้าชม ภายนอกคุณอาจพบบูธที่ผู้คนจอแจ เสียงดัง แต่เมื่อก้าวเข้าไปในพื้นที่นี้ ตำแหน่งการจัดวางและการออกแบบจะช่วยลดเสียงรบกวน กลายเป็นพื้นที่สงบพร้อมพักใจ แวะชิล เพื่อให้คุณได้เสพเรื่องราวได้เต็มที่

โซนนิ่งของพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักเชื่อมต่อกัน ได้แก่

  • พื้นที่ Thematic Pavilion ที่ถือเป็นโซนต้นน้ำ โชว์ภาพรวมของป่าสัก ทั้งแง่ Native Species ไม้สักในโลก ระบบนิเวศของไม้สักในป่า การขยายพันธุ์ และคุณสมบัติของต้นสักที่ทำให้รู้ว่าสามารถนำมาใช้งานในด้านใดได้บ้าง
  •  พื้นที่ Exhibitor โซนปลายน้ำ แสดงปลายทางของไม้สักที่ผ่านกระบวนการผลิต เป็นพื้นที่แสดงสินค้าและให้คำปรึกษาจาก WOODDEN

นอกจากนี้ภายในบูธยังมีโซนคอมมูนิตี้เล็กๆ อบอุ่นให้คุณสร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องราวและเทคนิคของการใช้ไม้อย่างเป็นกันเอง รับองค์ความรู้ดีๆ กลับบ้านอีกด้วย

Deconstructing the Perception of ‘TEAK’

หลังวอร์มกันด้วยคำถามคอนเซ็ปต์การออกแบบพื้นที่แล้ว ตอนนี้ถึงเวลาเพิ่มความร้อนแรงในคำถามที่เชื่อว่าหลายคนรวมทั้งตัวเราสงสัยเกี่ยวกับวัสดุ การออกแบบ รวมถึงความยั่งยืนในการใช้งานกับบ้าง

ทำไมต้องใช้เปลือกไม้ที่คนทิ้งในดีไซน์?

Raw wood is sexy. Meet Natural Aesthetic

“ตำหนิ” เป็นเพียงคำนิยามจากเส้นมาตรฐานของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ แต่ในความเป็นจริงร่องรอยของไม้ทุกชิ้น กับสีสันที่หลากหลายซึ่งเกิดจากอิทธิพลของสภาพพื้นที่ปลูกและสภาพอากาศ PAVA บอกกับเราว่ามันคือเทคนิคความงามที่ธรรมชาติสร้างไว้ เป็นเสน่ห์อีกด้านที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัส

ไม้สักเป็นต้นไม้ที่ใช้งานคุ้ม ตั้งแต่ใบจนถึงลำต้นเอามาใช้ในงานก่อสร้าง ใบก็เอามามุงหลังคา ใบใหญ่ ลักษณะของต้นสักเขาจะสูงและใบเขาจะใหญ่ เขาก็เอาใบมามุงหลังคาเพราะว่าวัสดุพอมันใหญ่ น้ำก็มีโอกาสรั่วเข้ามาน้อย ไม้ตัดออกปุ๊บ แกนกลางเอามาทำเสา เปลือกเขาอาจจะไม่ได้เห็นคุณค่ามากแต่เนื้อไม้ก็มาทำพื้น เอามาทำฝาผนังบ้าน คือทุกส่วนของไม้สักเนี่ยสามารถเอามาใช้งานได้หมด”

การย้อนรอยจากป่าสู่คนจึงเป็นการโชว์ความสวยงามของไม้สักในรูปแบบ Raw Material ด้วย คุณจะเห็นไม้สักในมิติต่างๆ นับตั้งแต่เป็นไม้ท่อนแล้วค่อยๆ เปิดเปลือยออกทีละชั้น จากส่วนเปลือกไม้ – กระพี้ – เนื้อไม้ – แก่นไม้ ไปจนถึงการผ่านกระบวนการผลิตที่เป็น End Product

การนำส่วน ‘เปลือกไม้’ ที่มักโดนกำจัดออกในกระบวนการผลิตและกลายเป็น waste ซึ่งผู้คนไม่ต้องการกลับมาคืนชีวิตชีวา จึงเป็นความ rare ที่คุณหาดูไม่ได้ง่ายๆ และเป็นสิ่งที่คุณคาดหวังได้ใน Pavilion นี้

ตัดไม้สัก แต่ไม่ทำลายป่า?

Renewable Material from Sustainable Harvesting

หลายคนคงคิดว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง แค่ไม้ถูกตัดจากป่า ฟังแล้วเหมือนโดนกรีดหัวใจ เพราะกว่าต้นไม้จะโตมาก็หลายปี ทำไมไม่ปล่อยดูดคาร์บอนฯ ไป ยิ่งเป็นไม้สักที่อายุยืน ถ้าเราตัดเอามาใช้แล้วบอกว่าสร้างความยั่งยืนได้มันจะเป็นไปได้จริงเหรอ?

PAVA ตอบเราว่าสิ่งนี้สามารถเป็นไปได้จริงและเกิดขึ้นแล้ว มีการวางกลไกสร้างความยั่งยืนด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “Sustainable Harvesting” จึงทำให้เราสามารถใช้ไม้ที่เป็นวัสดุหมุนเวียนได้อย่างยั่งยืนและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด

“Sustainable Harvesting” เป็นกระบวนการควบคุมป่าธรรมชาติที่ใช้ในพม่าด้วยการวางแบบแผนโครงสร้างการเก็บเกี่ยว การปลูกทดแทนที่เหมาะสม ไปจนถึงการกำหนดวิธีตัดนำมาใช้เพื่อให้รบกวนระบบนิเวศของป่าน้อยที่สุด โดยระบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมสมัยที่ชาวอังกฤษเข้าครอบครองพื้นที่พม่า พวกเขาวางรากฐานการสร้าง Sustainable Harvesting ให้กับป่าไม้สักในพม่าและระบบนี้ยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นวงจรการนำไม้สักจากป่าธรรมชาติมาใช้ในงานก่อสร้างและเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่เฟื่องฟู สร้างมูลค่าสูงในพม่า

นอกจากนี้สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ แม้ต้นสักจะมีอายุได้นับร้อยปี แต่ธรรมชาติการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตเมื่อไปถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่ลูปความเสื่อม ดังนั้นการสร้างกลไก วางวงจรการปลูกทดแทนและเลือกใช้ไม้ที่เติบโตเต็มที่จึงเป็นวิถีการบริโภคที่ช่วยสร้างความยั่งยืนได้

สำหรับวงการก่อสร้างที่เป็นอุตสาหกรรมบริโภคทรัพยากรเป็นอันดับต้นของโลก พอเจอคำรณรงค์ที่เมื่อพูดว่า “ตัดไม้” แล้วต้องมีคำสร้อยต่อท้ายทันทีว่า “ทำลายป่า” น่าจะทำให้หลายคนกังวลใจและกลัวการใช้งานไม้สัก หันไปเลือกใช้วัสดุอื่นทดแทน

เราตั้งคำถามกับวาและทริสว่า “การใช้ไม้ที่มีอายุยืนเป็น 100 ปีมาเป็นวัสดุก่อสร้าง จะไม่เท่ากับการบริโภคทรัพยากรโลกที่เกินความจำเป็นใช่ไหม เราควรใช้วัสดุอื่นทดแทนไม้หรือเปล่า” คำตอบที่เราได้จากเขาทั้งคู่ช่วยพลิกภาพจำเดิมที่เคยมี และคิดว่าน่าจะสร้างมุมมองใหม่ให้กับทุกคนที่อยู่ทั้งในวงการและนอกวงการอุตสาหกรรมนี้

เราก็อยากแชร์นะ พอคนได้ยินว่าไม้สักอายุ 100 ปี 120 ปี มักจะรู้สึกว่า โห อายุยืนมากเลย นานมาก แล้วเราไปตัดเขาเนี่ย แต่ว่าคนเราไม่เคยรู้เลยว่า 100 ปี หรือ 120 ปี มันสั้นมากนะ เมื่อเทียบกับ Life cycle ของวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพียงแค่เราไม่เคยหยิบมาคุยกันจริงๆ จังๆ 

100 ปีอาจจะดูยาวเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตของเรา แต่ว่าวัสดุอื่นบางชิ้นอาจจะต้องใช้เวลาหลายพันปีเลยนะ กว่าจะฟอร์มตัวขึ้นมา และเป็นวัสดุที่ไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ใหม่ ลองมองว่าไม้อายุ 100 ปี ถ้าเกิดว่าเราไม่ต้องตัดทั้งหมด เราตัดบางส่วน แล้วปลูกทดแทน ระยะเวลา 100 ปีนี้ถือว่าสั้นมาก”

ในแง่ของ Carbon footprint การใช้ไม้จริงๆ Carbon footprint น้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้วัสดุก่อสร้างชนิดอื่น บางทีถึงขั้นว่าในบาง Ecosystem อยู่ในระดับติดลบ ติดลบในที่นี้คือดีนะคะ เพราะว่ามันสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ยิ่งเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายในพื้นที่ใกล้เคียงยิ่งดีเข้าไปใหญ่เลย แล้วยังเป็นวัสดุที่สามารถ Reuse และ Recycle ได้เกือบจะ 100% ด้วย” ทริสเสริม

เราอย่าไปมองว่าการรักษามันคือการห้ามตัด เราต้องอย่าไปติดกับดักที่เราสร้างขึ้นมาด้วยเจตนาที่ดีของเรา แต่ว่าเราต้องถอยออกมาแล้วเรามองให้เห็นในภาพที่ใหญ่กว่านั้น แล้วใช้อย่างเหมาะสม ผมว่ามันน่าจะสร้างโอกาสให้เราอยู่กับไม้ได้นานยิ่งขึ้น ยิ่งกว่าการไม่ไปยุ่งกับเขาเลย”

คุณคงได้ยินเสียงสะท้อนของวัสดุและนักออกแบบแล้ว หากยังลังเลว่าควรมางานนี้ไหม

เราขอทิ้งท้ายด้วยการให้เขาบอกคุณว่าทำไมถึงควรมางานสถาปนิกในปีนี้

“เราว่างานสถาปนิกปีนี้ เป็นโอกาสที่เขาจะได้เห็นงานออกแบบในหลายๆ วิชาชีพ คืองานสถาปนิกที่ผ่านๆ มาบางครั้งก็พูดถึงสถาปัตยกรรมเป็นหลัก แต่ว่าในปีนี้จะพูดถึง Landscape Architecture, Interior Architecture, Urban Design Scale ซึ่งเราไม่ควรจะมองงานดีไซน์เป็นสิ่งแยกส่วนกัน คือทุกอย่างมันเป็น ecosystem หรือ holistic system เดียวกันทั้งหมด​ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและอยากจะเชิญชวนทุกคนมางาน

ส่วนวัสดุที่เกิดขึ้นของ Thematic Pavilion ของ WOODDEN เอง เราก็อยากให้เข้ามาสัมผัสกัน มันไม่ได้เป็นแค่การมาซื้อเฟอร์นิเจอร์กลับบ้าน แต่ว่าเราอยากให้เขาเข้ามาเข้าใจกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ อยากให้เขาเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยน perception เปลี่ยน mindset ตัวเองต่อไม้ ว่าไม้เป็นสิ่งที่ดีต่อธรรมชาติ แล้วทำดีๆ มันอยู่ได้ไปอีกนานนะ ใช้มันเถอะ แต่ว่าใช้ให้ถูกและปลูกทดแทนแล้วมันจะดีต่อเรา ดีต่อมนุษย์ เราเชื่ออย่างนั้น”

แล้วพบกับทั้งหมดนี้ได้ที่งานสถาปนิก’66  “ตำถาด: Time of Togetherness” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันอังคารที่ 25 – วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Similar Posts