ส่อง 4+1 ความร่วมมือในการจัดงานสถาปนิก’66 “สมาคมวิชาชีพสถาปัตยกรรมในไทย” และ “สภาสถาปนิก” แตกต่างกันอย่างไร? หาคำตอบได้ที่นี่
คอนเทนต์ก่อนหน้านี้เราพาไปรู้จัก 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมกันมาแล้ว วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ 4+1 ประธานจัดงาน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง 4 สมาคมวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทยและ 1 สภาสถาปนิก ที่ผนึกกำลังกัน ยกระดับงานสถาปนิกให้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในวาระที่งานสถาปนิก ครบรอบ 35 ปี จะมีอะไรบ้างนั้น ไปชมกันเลย
ทำความรู้จักกับ 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม คลิกที่นี่เลย!!!
Short Read
- สภาสถาปนิกก่อตั้งขึ้นเพื่อควบคุมวิชาชีพทั้ง 4 สาขาสถาปัตยกรรม ให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนด
- ASA เป็นสมาคมที่ก่อตั้งมายาวนานที่สุด ดูแลสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมหลัก
- TIDA สมาคมที่ดูแลสมาชิกในสาขาออกแบบภายในและมัณฑนศิลป์
- TALA สมาคมที่ดูแลสมาชิกในสาขาภูมิทัศน์ (Landscape) รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
- TUDA สมาคมที่ดูแลสมาชิกในสาขาผังเมือง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อาษา)
The Association of Siamese Architects Under Royal Patronage (ASA)
สมาคมที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2477 ได้รับอนุญาตจดทะเบียนให้เป็นสมาคมวิชาชีพถูกต้องตามกฎหมายวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2477
สมาคมสถาปนิกสยามฯ ในยุคแรก ได้ร่วมกันร่างข้อบังคับและระเบียบการของสมาคม จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินงานประจำของสมาคม อาทิ ประเภทธนาการ ประเภทธุรการ กรรมการผังเมืองและผังประชาชาติ นอกจากนี้สมาคมได้ออกจดหมายเหตุสมาคม เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรม และเป็นสื่อกลางระหว่างสมาคมกับสมาชิกอีกด้วย
สมาคมสถาปนิกสยามฯ แสดงบทบาทที่ชัดเจนในสังคมและอุดมคติ เป็นที่เชื่อถือของประชาชนและสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้วิชาชีพสถาปัตยกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นองค์กรกลางทางวิชาชีพที่จะศึกษาค้นคว้า และสร้างมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพของสถาปนิกอีกด้วย
สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย / Thailand Interior Designers’ Association (TIDA)
อดีตนั้นใช้ชื่อว่า “มัณฑศิลป์สมาคมแห่งประเทศไทย” ก่อตั้งเมื่อปี 2528 ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเพื่อให้มีการดำเนินการการบริหารที่ชัดเจนกับสมาชิกในสาขาวิชาชีพออกแบบภายใน ให้ครอบคลุมกับสมาชิกที่มีพื้นฐานการศึกษาจากหลายสถาบัน อันเป็นการดำเนินการของสมาคมในแนวทางเดียวกันกับที่ต่างประเทศมีอยู่
และในชื่อใหม่นี้ สมาคมฯ ได้รับการติดต่อ แลกเปลี่ยน ทั้งด้านวิชาชีพ วิชาการ และความร่วมมือต่าง ๆ จากสมาคมฯ ในระดับนานาชาติทั้งในย่านเอเชีย และอื่น ๆ
ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี สมาคมมัณฑนากรฯ พยายามผลักดันให้วิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์เติบโตและเป็นที่ยอมรับของสังคม จนปัจจุบันได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงนานาชาติอีกด้วย
สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย / Thai Association of Landscape Architects (TALA)
ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ในเครื่องหมายของสมาคมฯ ประกอบด้วยสัญลักษณ์ของผืนดิน แผ่นน้ำ พืชพันธุ์ และสิ่งก่อสร้าง และมีคำว่า “สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย 2530”
โดยมีเป้าหมายคือ
- ต้องการพัฒนาการศึกษาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยยึดหลักการพิทักษ์ทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- ยกระดับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม
- เป็นสื่อกลางในการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการประกอบวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม
- ผลักดันและส่งเสริมสมาชิกให้ได้รับผลดีในการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานและระเบียบแบบแผน
- เผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม ด้วยการออกจดหมายข่าวสาร วารสาร ร่างกฎระเบียบ บัญชีรายชื่อและอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสมาคม แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย / Thai Urban Designers Association (TUDA)
ชื่อเดิมคือ “สมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย” ได้ใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2545 โดยเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยมีเป้าหมาย 5 อย่าง คือ
- ตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติสถาปนิก พุทธศักราช 2543
- ส่งเสริมความรักความสามัคคี มีจรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง
- ส่งเสริม สร้างสรรค์ พัฒนา วิทยาการ ความรู้ วิชาการ และทักษะของสมาชิกเพื่อให้ประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง
- เผยแพร่ บริการ และให้ความรู้ ข้อมูลและความเข้าใจเรื่องชุมชนเมือง ต่อสาธารณชน และหน่วยงานราชการ
- ประสาน เสริมสร้าง ร่วมมือในกิจกรรม กับผู้ร่วมวิชาชีพสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พุทธศักราช 2543
บทบาทหน้าที่สำคัญคือ สนับสนุนการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง เพื่อให้มีความปลอดภัยและเกิดประโยชน์สุขต่อสาธารณะ สนับสนุนทางวิชาการให้ความรู้ความคิดเห็นที่เกี่ยวเนื่องกับสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Design) หรือการออกแบบชุมชนเมืองให้กับหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชนและต่อสาธารณชนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาเมือง และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน บ้านเมือง และประเทศชาติ ดังคำขวัญสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยที่ว่า “สถาปนิกผังเมือง เราสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อทุกคน”
สภาสถาปนิก / Architect Council of Thailand (ACT)
ถือกำเนิดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 ที่ควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้ง 4 สาขา ASA, TIDA, TALA และ TUDA รวมถึงสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
สภาสถาปนิกมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบการวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
- พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
- รับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
- รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
- เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดและการเลิกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
- ออกข้อบังคับสภาสถาปนิก
- ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก
คงจะพอเข้าใจกันแล้ว ว่าแต่ละสมาคมนั้นทำหน้าที่อะไร ดูแลส่วนไหนบ้าง และสภาสถาปนิก ก่อตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ในบทความต่อไป เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 4+1 ประธานจัดงาน ก่อนจะไปเจอกันในงานแถลงข่าวที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน
สำหรับงานสถาปนิก’66 ที่กำลังจะมาถึง ก็เป็นครั้งแรกที่รวบรวมเอาทั้ง 4 สาขาสถาปัตยกรรมและ 1 สภาสถาปนิก ผนึกกำลังครั้งสำคัญเพื่ออัปเดตองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างครบถ้วนทุกสาขา และเป็นการรวมตัวกันที่เยอะที่สุดของสถาปนิกทุกสาขาจากทุกภูมิภาค เป็นอีกหนึ่งอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของปี 66 เลยก็ว่าได้
ส่อง Concept หลักของงานสถาปนิก’66 “ตำถาด : Time to Togetherness” คลิกที่นี่เลย!!
สำหรับงานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เม.ย. 66 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]