สี่นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ที่จะมาร่วมดีไซน์ Thematic Pavilion ในงานสถาปนิก’66

ท่ามกลางสถาปนิกมากมายจากหลากประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลก คุณนึกชื่อสถาปนิกไทยเก่ง ๆ ได้มากแค่ไหน? สำหรับปี 2023 หน้านี้ เรารวบรวมชื่อสถาปนิกที่คุณควรจับตามองเอาไว้ให้ดีมาให้แล้ว เพราะพวกเขากำลังจะมาร่วมสร้างสรรค์ไฮไลท์ของงานสถาปนิกอย่าง Thematic Pavilion ที่เคยสร้างความตื่นตาตื่นใจไปแล้วในงานสถาปนิก’65 และจะกลับมาแบบยิ่งใหญ่กว่าเดิมกับงานสถาปนิก’66

Thematic Pavilion คือพื้นที่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกและนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างของซัพพลายเออร์แบรนด์ต่าง ๆ มารวมกันเป็นพาวิลเลียนที่ขับเน้นศักยภาพของวัสดุออกมาโชว์แบบไม่ธรรมดา ทั้งยังสร้างประสบการณ์ทางสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเช่นเดียวกับพาวิลเลียนในงาน Expo ระดับโลก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Thematic Pavilion ได้ที่ https://architectexpo.com/2023/19840/

 

หลังงานสถาปนิก’65 จบลงพร้อมกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมกับพื้นที่ Thematic Pavilion โดยมีผลงานของ WDC x ACa Architects คว้ารางวัล Thematic Pavilion of the Year 2022 ไปจากการโหวตของผู้เข้าชม ล่าสุดพร้อมเปิดเผยชื่อแล้ว กับสถาปนิกที่พร้อมจะมาร่วมสร้างสรรค์ Thematic Pavilion ในงานสถาปนิก’66 ที่ล้วนผ่านประสบการณ์สร้างผลงานน่าทึ่งด้วยเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันมาจำนวนมากทั้งนั้น ได้แก่

Hypothesis
“คึกคัก ช่างทดลอง และเปิดกว้างทางความคิด”

สมมติฐานเป็นสิ่งที่มักมาคู่กับการวิจัย สมมติฐานในชื่อของสตูดิโอ Hypothesis โดย มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา และเจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ แสดงให้เห็นถึงการทำงานแบบ Research – Based ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับกรอบหรือสไตล์เดิมใด ๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับโลก

ผลงานที่น่าสนใจของ Hypothesis มีอย่างเช่น SCB Money Expo งาน Exposition ขนาดกว่าพันตารางเมตรที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ออกมาอย่างโดดเด่น โดยในงานสถาปนิก’66 Hypothesis เตรียมร่วมกับ VG และ TOA สร้าง Thematic Pavilion ที่บอกแค่นี้ก็คงพอคาดได้แล้วว่าจะต้องยิ่งใหญ่ตื่นตาตื่นใจไปกับความเป็นแบรนด์ชั้นนำทั้งสองได้ขนาดไหน

PAVA architects
“ปฏิบัติการข้ามศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม”

“เราไม่เชื่อว่าสถาปัตย์จะจำกัดอยู่แค่สถาปัตย์ แต่เห็นความเชื่อมโยงของสเกลที่แตกต่างกัน” วารัตน์ ลิ่มวิบูลย์ กล่าวถึงการทำงานของเขากับพชรพรรณ รัตนานคร ในบทสัมภาษณ์ของพวกเขากับ art4d สตูดิโอ PAVA architects ที่ทั้งสองทำงานร่วมกันมีนิยามว่าเป็น “interdisciplinary practice in architecture studio” หรือปฏิบัติการสหวิทยาการในสตูดิโอสถาปัตยกรรม ซึ่งหมายถึงการทำงานค้นคว้าเพื่อถมสะพานที่ช่องว่างระหว่างสถาปัตยกรรม อินทีเรีย ภูมิสถาปัตยกรรม และการออกแบบชุมชนเมือง

ผลงานที่น่าสนใจของ PAVA architects มีอย่างเช่น Kaomai Estate 1955 กับพิพิธภัณฑ์ “เก๊าไม้” จากอาคารโรงยาที่กวาดรางวัลระดับโลกมามาก เช่นรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO เอเชีย-แปซิฟิก ในสาขาการออกแบบใหม่ในบริบทมรดก

ขณะนี้ PAVA architects ได้จับคู่แบบเหมาะสมสุด ๆ กับ Woodden แบรนด์ไม้สัก “ผู้นำด้านไอเดียงานไม้ของไทย” เรียบร้อยแล้ว รอติดตามกระบวนการดีไซน์กันได้เลย

ACa Architects “สร้างผลงานด้วยภาษาในการออกแบบ”

ACa Architects การออกแบบที่เป็นอิสระ มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมสำหรับงานสถาปัตยกรรมในปัจจุบันอย่างเช่นการปรับปรุงอาคารเก่าให้กลายเป็นอาคารใหม่ ในงานสถาปนิก’65 ACa Architects ได้เคยฝากผลงาน Thematic Pavilion ซึ่งได้ร่วมมือกับ WDC และได้คว้ารางวัล Thematic Pavilion of the Year 2022 อีกด้วย

ผลงานที่น่าสนใจของ ACa Architects เช่น White Canvas Houseที่ตีกรอบรอบบ้านด้วยสีขาวสไตล์ modern minimalist สื่อถึงมุมมองการสร้างสรรค์แบบใหม่ภายใต้การรีโนเวทและ “ฎ รีสอร์ท” เป็นการรีโนเวทโรงแรม แปลงโฉมอาคารเดิมให้มีเอกลักษณ์โดยเน้นความเป็นไทยผสมผสานกับการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

Context Studio
“ออกแบบโดยคำนึงบริบทเสมอ”

“ทุก ๆ โครงการมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ที่ขับเคลื่อนด้วยลักษณะเฉพาะของแต่ละบริบทที่ไม่เหมือนกัน” งานออกแบบของ Context Studio ที่นำโดยบดินทร์ พลางกูร เป็นดังชื่อของสตูดิโอ คือมีบริบทเป็นตัวนำการดีไซน์ ซึ่งนิยามคำว่าบริบทของ Context Studio ก็หมายความรวมตั้งแต่ ธรรมชาติ, ประวัติศาสตร์, สภาพแวดล้อม ณ สถานที่, บุคลิกของลูกค้า, คอนเซปต์ หรือ Mood & Tone ของแบรนด์นั้น ๆ

ผลงานที่น่าสนใจของ Context Studio มีอย่างเช่น PEA Plastic Cup Pavilion พาวิลเลียนที่โชว์ความแกร่งและรูปทรงโค้งของแก้วพลาสติกในฐานะวัสดุก่อสร้าง, Flat+White Café คาเฟ่ขาวนุ่มละมุนดุจกาแฟนมของร้าน และ Etcetera Warehouse ที่พวกเขาเปลี่ยนโกดังเก่าเป็นโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์พร้อมสื่ออัตลักษณ์ของแบรนด์ เป็นต้น


 

สำหรับงานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เม.ย. 66 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts