ทำความรู้จัก 4+1 ประธานจัดงาน “สถาปนิก’66” พร้อมผนึกกำลังจัดเต็มความรู้ ครบทุกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม
ในงานสถาปนิก’66 ที่กำลังจะมาถึงนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการร่วมมือกันผ่านความหลากหลายทางวิชาชีพ ด้วยการดึงเอาตัวแทนจาก 4 สมาคมวิชาชีพสถาปัตยกรรม อันประกอบด้วย ASA, TIDA, TALA และ TUDA พร้อมกับอีก 1 ตัวแทนจากสภาสถาปนิก เป็นการจัดหนักจัดเต็ม ยกระดับต่อยอดความสำเร็จจากงานสถาปนิก’65
อีกหนึ่งความยิ่งใหญ่ของงานสถาปนิก’66 คือการครบรอบ 35 ปี ซึ่งนายกสมาคมฯ อย่าง “ชนะสัมพลัง” ก็ประเดิมจัดเต็มความอลังการต่อแรกด้วยการดึงทุกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมพร้อมสภาสถาปนิก มาร่วมเป็นประธานจัดงานในครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาทำความรู้จักกันเลยดีกว่า
“สร้างสถาปัตยกรรมเพื่อมอบความสุขแก่ผู้ใช้งาน”
ปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ ตัวแทนจาก ASA
ผู้ร่วมก่อตั้ง Creative Crews ผ่านประสบการณ์การทำงานร่วม 10 ปี เธอเริ่มต้นสายงานออกแบบกับ WOHA สตูดิโอชั้นนำของเอเชียที่สิงคโปร์ เมื่อวิชาความรู้ที่สั่งสมได้ที่ เหมือนกับเนื้อที่ Dry-Aged มาอย่างดี เธอจึงกลับมาร่วมก่อตั้ง WOHA (Thailand) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น Somdoon Architects และในปี 2016 ปุยฝ้ายและเอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ จึงตัดสินใจก่อตั้ง Creative Crews ผ่านความหลากหลายรูปแบบของงาน ตั้งแต่เต็กหลัก, ออกแบบภายใน, ภูมิสถาปัตยกรรม, ชุมชน และผังเมือง
Creative Crews ได้ฝากผลงานไว้หลากหลาย ทั้งอาคารสำนักงาน FYI Center, โรงแรม Modena Hotel ย่านคลองเตย, Bank of Thailand Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย, CLASSROOM MAKEOVER FOR THE BLIND โรงเรียนสอนคนตาบอด
แต่หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดต้องยกให้กับ AHSA ฟาร์มสเตย์ ที่สร้างจากไม้เก่าในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ที่สมควรเผยแพร่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการ ASA Emerging Architecture Award 2019 ที่ประกาศไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2020
ด้วยสไตล์การออกแบบที่ใช้ “วิธีรวบรวมความคิด” จากคนในทีม เพื่อตีกรอบความคิดให้ชัดเจนและเข้าใจในงานที่จะทำมากขึ้น และ “การทำวิจัยระยะสั้น” เพื่อกลั่นกรองข้อมูลให้มีแนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เหตุผลเหล่านี้ทำให้ “ปุยฝ้าย” ได้เป็นตัวแทนจาก
“สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์” ในฐานะ 1 ใน 4+1 ประธานจัดงาน
“สเปซส่งผลต่อการทำงาน
ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบ Long Hours”
ธีรานุช กรรณสูต วงศ์ไวศยวรรณ ตัวแทนจาก TIDA
การได้หัวเรือใหญ่จาก IA49 (Interior Architect 49) อย่าง “ธีรานุช กรรณสูต วงศ์ไวศยวรรณ” มาร่วมแจมในการเป็นประธานจัดงานสถาปนิก’66 นับว่าเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายอย่างมาก เพราะด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ในการรังสรรค์ฟังก์ชันและพื้นที่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้าน โรงแรม หรือสุดแล้วแต่สิ่งก่อสร้างที่มีให้เธอวาดปากกา จะการันตีได้เลยว่าต้องอลังการอย่างแน่นอน
หลังจบตรี Interior ที่จุฬาฯ เธอก็เดินทางไปเรียนต่อโทที่ The University of Michigan และจบการศึกษาด้วยรางวัล William T. Carter Award ที่มอบให้กับนักศึกษาออกแบบภายในดีเด่น และเริ่มต้นสายงานออกแบบภายในที่ Hobbs & Black Architects ก่อนจะมาร่วมงานกับ Mancini Duffy เมื่อเก็บประสบการณ์เต็มที่แล้ว เธอจึงเดินทางกลับไทย และร่วมงานกับ A49 ในตำแหน่ง ผอ. ฝ่ายออกแบบภายใน ก่อนที่จะมาเป็นหัวเรือใหญ่เต็มตัวให้กับ IA49 ในปี 2008
หากพูดถึง IA49 ผลงานที่คุ้นหน้าคุ้นตากันก็มีมากมาย เช่น SCG Experience, สวนน้ำ VANA NAVA ที่หัวหิน, Central World, The Novotel Platinum Hotel และธุรกิจในเครือของ King Power อีกนับไม่ถ้วน
และหนึ่งผลงานที่น่าสนใจไม่น้อย คือ Chanintr Work โชว์รูมของแบรนด์เฟอร์ฯ สุดหรู ที่ยกเครื่องโกดังเก่ากว่า 40 ปี แล้วเปลี่ยนมาเป็นออฟฟิศสีขาวสดใส ที่เน้นความสมจริงของการใช้งาน และเป็นหนึ่งในออฟฟิศที่หลายคนใฝ่ฝันอยากนั่งทำงานแบบนี้
การได้รับเลือกในตำแหน่งประธานจัดงานตัวแทนจากสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทยของธีรานุช นับเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย เธอจะเตรียมเซอร์ไพรส์อะไรในงานบ้าง ต้องคอยติดตาม!
“สร้างภูมิทัศน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน”
มังกร ชัยเจริญไมตรี ตัวแทนจาก TALA
1 ใน 2 แคนดิเดตตำแหน่งนายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และ 1 ใน 4 ผู้ก่อตั้ง Ixora Design ด้วยปณิธานอันแข็งกล้าที่ต้องการขับเคลื่อนงานด้านภูมิสถาปัตยกรรมให้ก้าวไปอีกระดับ ด้วยทีมก่อตั้งมากประสบการณ์จากการแยกตัวกันทำงาน ทั้งไทย เอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกา
นับตั้งแต่ที่มังกร เริ่มต้น Ixora Design ในปี 2003 เป็นเวลากว่า 20 ปีในการเดินทางอยู่บนถนนสายภูมิสถาปัตยกรรม ผ่านผลงานต่าง ๆ มากมาย ทั้งแนวราบและแนวสูง เช่น การวางแผนพื้นที่อยู่อาศัย, ส่วนพื้นที่ต้อนรับของโรงแรมและรีสอร์ต, สถาบันการศึกษา, พื้นที่สาธารณะ, สนามบิน และโครงการสันทนาการต่าง ๆ เช่น สนามกอล์ฟ, สวนสนุก และสวนสัตว์ ซึ่งหลายโครงการได้รับรางวัลทั้งในและนอกประเทศ เช่น TALA Design Award, Muse Design Award และล่าสุดกับ German Design Award
ตลอดเส้นทางนี้ Ixora Design ยังได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบที่ยั่งยืนผ่านการออกแบบเชิงทดลอง การแข่งขันด้านการออกแบบ และการออกแบบร่วมกับภาคการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน รวมถึงทฤษฎีการออกแบบเชิงนิเวศ นำไปสู่การปฏิบัติและยกระดับวิชาชีพให้มีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติและระบบนิเวศ
ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นเครื่องมือพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จและประสบการณ์ทั้งหมด ให้มังกรถูกเลือกเป็นประธานจัดงานตัวแทนจากสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และพื้นที่ของ TALA จะมีอะไรพิเศษที่จะมาจากเขา รอชมได้เลย ห้ามพลาด!
“หยิบองค์ความรู้ในการวางผังเพื่อพัฒนาเมือง”
ผศ. คมกริช ธนะเพทย์ ตัวแทนจาก TUDA
อาจารย์ ที่ปรึกษา นักออกแบบ ผศ. คมกริช คือผู้ที่รวบเอาหน้าที่ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านประสบการณ์และความรู้มานานหลายปี ผู้แปลงแผนนโยบายจากตัวหนังสือให้กลายเป็นผังเมืองเชิงกายภาพ ผู้ที่ออกแบบส่วนประกอบสาธารณะที่เรียกว่า เมือง
ผศ. คมกริช เคยบอกว่าหน้าที่ของสถาปนิกผังเมือง นอกจากออกแบบและจัดวางให้เข้ากับบริบทสังคมแล้ว หนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรับฟังเสียงจากสังคม ทั้งความเห็น ความต้องการ ต้องรับฟังเสียงเหล่านี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบตามความต้องการ เพื่อรูปแบบการพัฒนาทางกายภาพที่ดีที่สุด เหมาะสมกับทุกคน
นอกจากการเป็นอาจารย์แล้ว ผศ. คมกริช ยังเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกันกับ 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น หากจะพูดว่าเขาคือคนที่มีความเข้าใจในหลาย ๆ องค์ความรู้ก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด
และบทบาทหน้าที่ของผศ. คมกริช ในปีนี้อาจแปลกตาไปสักเล็กน้อย จากนักออกแบบผังเมืองสู่การเป็นประธานจัดงานตัวแทนจากสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย อาจเป็นอีกครั้งที่เขาต้องเดินทางบนเส้นทางใหม่
“ผู้พกคลังแสงแห่งไอเดียเต็มกระเป๋าตลอดเวลา”
กรกช คุณาลังการ ตัวแทนจาก ACT
ประธานจัดงานคนสุดท้ายจากสภาสถาปนิก เธอเป็นผู้บริหารอารมณ์ดีแห่ง IA103 เปี่ยมไปด้วยพลังบวก มาพร้อมรอยยิ้มอันเป็นเสน่ห์ มัณฑนากรผู้เดินทางบนเส้นทางการออกแบบภายในมากว่า 30 ปี กรกช คุณาลังการ และเธอก็มาพร้อมกับหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานสถาปนิกครั้งนี้
เธอเชื่อในเรื่องของการ “เปิดหูเปิดตา” เพื่อ “สร้างรสนิยม” ในสายเลือดของนักออกแบบถือเป็นเรื่องที่จำเป็นไม่แพ้กับการเลือกวัสดุ ทุก ๆ ครั้งที่เธอและทีมงานเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ เธอจะเก็บเกี่ยวกับทุกรายละเอียดใส่กระเป๋าที่เรียกว่า “คลังไอเดีย” กลับบ้านเสมอ มากกว่าเรื่องความสวยงามของตึก คือการลงลึกไปถึงรายละเอียดของวัสดุที่เขาใช้ด้วย
เมื่อคลังไอเดียเต็มไปด้วยงานดีไซน์ที่หลากหลาย เธอจึงใส่มันไปในทุก ๆ ผลงาน ทั้งงาน Corporate, Commercial, โรงพยาบาล, โรงแรม, สถาบันการศึกษา, ที่อยู่อาศัย รวมถึงงานต่าง ๆ ที่เคยผ่านมือ ล้วนแต่เปี่ยมไปด้วยงานออกแบบที่กลั่นกรองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และแฝงไว้ด้วยชั้นเชิงที่ยากจะเข้าถึง
การมาถึงของกรกชในฐานะประธานจัดงานตัวแทนจากสภาสถาปนิก เธอมาพร้อมองค์ความรู้และการ “เปิดหูเปิดตา” ที่อัดแน่นอย่างแน่นอน แต่เธอจะมาทำอะไรในงานสถาปนิก’66 ต้องติดตาม!
ครบทั้ง 4+1 ประธานจัดงานไปแล้ว ทั้งหมดเป็นแค่รายละเอียดคร่าว ๆ ที่เราหยิบมาให้ทุกท่านได้ทราบกันก่อน เร็ว ๆ นี้เราจะเจาะลึกถึงหน้าที่แต่ละคน ว่าเตรียมตัว เตรียมเซอร์ไพรส์อะไรกันบ้าง งานนี้เข้มข้นครบรส ครบทุกองค์ความรู้อย่างแน่นอน บนเส้นทาง 35 ปีของงานสถาปนิก
รู้จัก Concept งาน “ตำถาด : Time to togetherness” แล้วหรือยัง?
ทำความรู้จักกับ 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมได้คลิก!
รู้จักกับ 4+1 ความร่วมมือในการจัดงานสถาปนิก’66 คลิก!
สำหรับงานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เม.ย. 66 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]