ใส่ปฏิสัมพันธ์มนุษย์ให้งานสถาปนิกกับ ปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ จาก ASA หนึ่งในประธานจัดงานสถาปนิก’66
เปิดฉากแล้วกับงานสถาปนิก’66 ที่มาในแนวคิด ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ ครั้งแรกของการผสมผสานรสชาติจากสถาปนิกทุกแขนงด้วยความร่วมมือของ 5 องค์กรวิชาชีพได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก แต่ละองค์กรจะมาทำอะไร แต่ละสาขาเขาทำงานกันอย่างไร ประธานการจัดงานทั้ง 5 ท่านจะมาเล่าให้ฟังใน 5 บทสัมภาษณ์นี้ ก่อนไปเจอกันในงาน
35 ปีของงานสถาปนิกกับบทบาทของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Association of Siamese Architects : ASA) ในการเผยแพร่ผลงานและความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมและนวัตกรรมงานก่อสร้าง ครั้งนี้คุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ ประธานจัดงานสถาปนิก’66 จาก ASA และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Creative Crews พร้อมเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนางานให้ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน กับแนวทางใหม่ ๆ และกิจกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการแบบใหม่ที่จะทำให้งานสถาปนิก’66 ครั้งนี้ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
ปรับงานสถาปนิก’66 ให้รองรับบทสนทนาระหว่างคน
‘Human Interaction’ หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนคือหัวใจของการพัฒนางานสถาปนิก’66 ให้ตอบโจทย์ของโลกในยุคที่ข้อมูลความรู้สามารถหาได้ง่าย ๆ จากทั่วอินเทอร์เน็ต
นอกจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้คนในวงการและคนทั่วไปห่างหายจากการพบปะพูดคุยกันแล้ว คุณปุยฝ้ายยังเห็นว่างานสถาปนิกต้องปรับตัวตามวิธีการหาข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไปของผู้คน “เมื่อก่อนแต่เด็กก็รู้สึกจำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปที่งาน เพื่อหาข้อมูลอัปเดตเรื่องวัสดุ เรื่องในวงการ ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง งานในปีที่ผ่านมาเป็นงานอะไร ของใคร ออฟฟิศอื่น ๆ เขาทำอะไรกัน มันจำเป็นต้องเข้าไปดูที่งาน ดูนิทรรศการหรือบูธผลิตภัณฑ์ของซัพพลายเออร์ที่เขามาอัปเดต แต่ตอนนี้ข้อมูลเราหาได้จากที่อื่น ๆ”
คำตอบจึงหนีไม่พ้นการพบปะพูดคุยกัน ในลักษณะของบทสนทนาระหว่างคน มากกว่าการนั่งฟังบรรยาย คุณปุยฝ้ายยกตัวอย่างเช่นการจัดแสดง Thematic Pavilion โดยทีทีเอฟ ที่ไม่ใช่แค่การเอาผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงเฉย ๆ แต่คือการทำงานร่วมกันกับนักออกแบบ ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่บทสนทนาที่มากขึ้น เปิดให้สร้างกิจกรรมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่พื้นที่จัดแสดงของซัพพลายเออร์หรือที่เวทีกลางและเวทีย่อยของแต่ละสมาคม ก็มีประโยชน์ในแง่การอัปเดตความรู้นวัตกรรมต่าง ๆ และทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกว่าต้องมาตามเวลาของกิจกรรม
‘Human Library’ กิจกรรมใหม่เพื่อการถ่ายทอดความรู้อย่างสนุกสนาน
จากแนวคิดเรื่อง Human Interaction สู่แพลตฟอร์มความรู้รูปแบบใหม่ ‘Human Library’ เป็นกิจกรรมใหม่ในงานสถาปนิก’66 ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีประสบการณ์มาถ่ายทอดเรื่องราว ในบรรยากาศแบบงานสังสรรค์
งานถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดย ASA มีมาแล้วมากมายตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นการ Talk ต่าง ๆ หนังสือ หรือวารสารสมาคมฯ (ASA Journal) ที่ปัจจุบันเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย โดยมีเนื้อหาคือความรู้หรือประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวบุคคล ถ่ายทอดผ่านการส่งทีมบรรณาธิการไปสัมภาษณ์ ตีพิมพ์ และส่งให้นักศึกษา สถาปนิกรุ่นใหม่ หรือบุคคลทั่วไปให้ได้อ่าน
“เราคิดว่าในที่สุดแล้วถ้าเราทำสิ่งนั้นให้มาเกิดที่งาน มีการพูดคุยกับคนที่เราคิดว่าเขามีความรู้ มีประสบการณ์ หรือมีความน่าสนใจ ให้คนแล้วมาเจอกัน คิดว่าน่าจะสร้างความแตกต่างจากการเสิร์ชแล้วนั่งอ่านบทความในโทรศัพท์ กับการมาเจอแล้วมีปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วมีประโยชน์กับทางวิชาชีพ”
เนื้อหาที่เข้มข้นสำหรับทุกคนที่สนใจเรื่อง Built Environment
ความพิเศษของงานสถาปนิก’66 คือการรวมตัวกันของ 4 สมาคมวิชาชีพและ สภาสถาปนิก ทำให้งานจัดแสดงขยายขอบเขตออกไปได้หลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมต่อ ทำให้เห็นภาพรวมของวิชาชีพสถาปัตยกรรม
“เบื้องต้นการรวมกันก็จะทำให้เห็นภาพรวมชัดเจนขึ้นสำหรับคนทั่วไป ว่าเวลาเราประกอบวิชาชีพหรือทำงานร่วมกันมันทำให้สภาพแวดล้อม เมือง หรือ Built environment มันดีขึ้นหรือมีผลดีต่อชีวิตคนอย่างไรบ้าง ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของคนในวงการและคนทั่วไปก็จะมากขึ้น หวังว่าการมีส่วนร่วมที่เราได้จากคนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างก็จะเข้มข้นขึ้น”
ประสบการณ์นิทรรศการจากการผสานความสนใจสมัยปัจจุบัน
คุณปุยฝ้ายอธิบายเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสมาคมที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนี้จนถึงช่วงงานว่าต้องการสร้างกิจกรรมให้มีลักษณะยืดหยุ่น (flexible) เพื่อตอบสนองต่อกระแสความสนใจที่มีในสังคม
“เด็กมัธยมตอนนี้เขาจะทำพอร์ตฟอลิโอเพื่อเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมฯ เราก็จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่เขาสนใจเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบ, สถาปัตยกรรม และเรื่องเมืองอย่างไรบ้าง ก็พยายามประมวลผลและจัดกลุ่มว่ามีหัวข้อเกี่ยวกับอะไรบ้าง”
ประสบการณ์การชมนิทรรศการของผู้เข้าชมก็จะเปลี่ยนไป เมื่อพื้นที่ภายนอกฮอลล์ที่ในอดีตมักจัดแสดงผลงานอนุรักษ์และงานที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ เปลี่ยนมาเป็นการจัดแสดงผลงานของนิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ผสาน (integrate) กับความสนใจของเด็กที่อายุน้อยกว่านักศึกษาเข้าไปด้วย เพื่อเร้าความสนใจของคนตั้งแต่นอกงาน ก่อนเข้าไปเจอผลงานของสมาชิกทั้ง 4 สมาคม ก็จะเข้าใจชัดเจนขึ้นว่าการประกอบอาชีพสถาปนิกเป็นอย่างไร และมี Human Library ล้อมรอบการจัดแสดง
โอกาสสำหรับซัพพลายเออร์ ดีไซเนอร์ และเจ้าของโครงการ
สำหรับซัพพลายเออร์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับงานก่อสร้าง คุณปุยฝ้ายเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อสถาปนิก นักออกแบบ และเจ้าของโครงการเองด้วย
“ไม่มีงานไหนที่จะมีสถาปนิกจากทุกวงการมารวมตัวกันอยู่ที่เดียวมากขนาดนี้แล้ว ถ้าไม่เอาผลิตภัณฑ์มาอัปเดตกันตอนนี้หรือไม่ Launch ผลิตภัณฑ์ใหม่กันตอนนี้แล้วจะเป็นเมื่อไร”
ทั้งโจทย์เรื่องการก่อสร้างให้คุ้มทุนที่สุดด้วยสาเหตุด้านค่าใช้จ่ายการก่อสร้างในปัจจุบัน ทั้งโจทย์เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ที่มีการกำหนดเป้าหมาย Net Zero เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกัน งานสถาปนิก’66 จะเป็นที่สำหรับอัปเดตทั้งความรู้ในการก่อสร้างและวัสดุที่ใช้
ส่วนถ้าจะให้เปรียบเทียบสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นส่วนประกอบใดในตำถาดนั้น คุณปุยฝ้ายตอบสั้น ๆ ว่า “ก็ต้องเป็นส้มตำแหละ ถ้าไม่มีส้มตำจะเป็นตำถาดได้อย่างไร”
งานสถาปนิก’66มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานีสำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]