ลืมไปแล้วว่าลืมยังไง ใช้ทุกงาน: เบื้องหลัง 4 หลักออกแบบพื้นฐานที่สถาปนิกใช้

สถาปนิกมีความรู้ใหม่ ๆ ที่ต้องคอยอัปเดตเรียนรู้ตลอดเวลา แต่ก็มีชุดความรู้หลักที่เราหยิบมาใช้อยู่ทุกงาน เหมือนกับการกินอาหารที่แม้จะมีกับข้าวใหม่ ๆ เราก็ยังต้องมีข้าวเป็นจานหลัก ทำนองเดียวกันกับถ้ากินก๋วยเตี๋ยวเราก็มีเส้นในทุกชาม


มาดูบางส่วนที่เป็น “ข้าว” สำหรับการออกแบบกันกับ 4 เรื่องที่คนทั่วไปรู้ แต่อาจจะยังไม่เคยเข้าใจเหตุผลการดีไซน์

หัวนอนทิศเหนือหรือทิศตะวันออก

การกำหนดทิศวางตำแหน่งห้องนอนและหัวนอนที่เหมาะสมของอาคารใช้การอ้างอิงจากสภาพแวดล้อม เพราะห้องนอนที่อยู่สบายควรเป็นห้องนอนที่สามารถปลุกความสดชื่นเราได้ยามเช้า เย็นสบายยามเข้านอน ดังนั้น ห้องนอนจึงควรตั้งอยู่ทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเพื่อรับแสงแดดอ่อนในช่วงเวลา 6.30 – 9.00 น.

Photo by Spacejoy on Unsplash

ขณะเดียวกันถ้าสังเกตการโคจรของดวงอาทิตย์ เราจะเห็นว่าหากเราเลือกวางตำแหน่งห้องในทิศตรงข้าม เช่น ทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่สะสมความร้อนตลอดบ่าย ไม่เพียงจะสร้างความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวเพราะอากาศร้อนตอนนอนแล้วยังทำให้ค่าไฟเยอะด้วย

นอกจากนี้ ห้องนอนที่มีห้องน้ำในตัว ตำแหน่งหัวเตียงไม่ควรติดกับผนังห้องน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความชื้นและสิ่งสกปรก เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพผู้ใช้งานได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เวลาเราเข้าพักตามโรงแรม ผังตำแหน่งการวางห้องน้ำโดยมากมักจะอยู่บริเวณด้านหน้าใกล้ประตูห้อง ส่วนเตียงนอนจะอยู่ชิดด้านใน มุมทแยงกับประตูเพื่อให้มองเห็นเวลาคนเดินเข้ามาในห้องและห่างจากห้องน้ำ

เพดานสูงช่วยบ้านโปร่ง

ไม่มีใครอยากอยู่ในบ้านหรืออาคารที่อึดอัด หน้าที่ของการออกแบบจึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการดีไซน์พื้นที่จำกัดให้กลายเป็นพื้นที่โปร่ง โล่ง ซึ่งออกแบบได้หลายวิธี ทั้งการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่กินพื้นที่บ้านน้อย การจัดวาง  การติดตั้งหน้าต่าง เพิ่มขนาดความกว้างของห้อง รวมถึงสิ่งที่เห็นผลที่สุดคือการสร้างระดับเพดานที่สูงจากพื้น

Photo by Sidekix Media on Unsplash

ฝ้าเพดานสูง ต้องสูงแค่ไหนถึงช่วยให้บ้านโปร่ง คำตอบจากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research and Innovation for Sustainability Center) แบ่งเป็น 2 ระดับ คือหากต้องการแค่ความรู้สึกไม่อึดอัด ควรสูงสัก 2.7 เมตร แต่ถ้าต้องการความรู้สึกโปร่ง สบาย ความสูงควรอยู่ที่ 3.4 เมตร

ที่มาของตัวเลขนี้อธิบายได้ด้วยกฎของเฟชเนอร์” (Fechner’s law) ซึ่งพูดถึงเขตการรับรู้ของมนุษย์จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดย ตา หรือ การมองเห็นถือว่าเป็นสัดส่วนที่ให้การรับรู้มากถึง 75% มากเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสด้านอื่น และเมื่อคำนวณความสูงของฝ้ากับขอบเขตภาพ (Field of View) ร่วมกับระยะการรับรู้ที่สัมพันธ์กับความคิด ความสูงที่ระดับดังกล่าวถือเป็นความสูงที่เหมาะสมต่อการสร้างความรู้สึก

  • ฝ้าเพดานสูง 2.70 เมตร เป็นระยะความสูงของที่ทำรู้สึกสบาย ไม่อึดอัด คำนวณจากระยะการมองที่ยังชัดเจนในระยะไกลที่สุด และการมองที่ชัดเจนโดยที่ไม่ต้องพยายาม
  • ฝ้าเพดานสูง 3.40 เมตร เป็นระยะความสูงของที่ทำรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย  คำนวณจากระยะการมองที่ยังชัดเจนในระยะไกลที่สุด และการมองแบบที่กรอกตาได้มากที่สุดโดยที่ยังสามารถแยกแยะสี

พื้นห้องน้ำควรต่ำกว่าตัวบ้าน

เรามักพบว่าบริเวณซักล้างหรือห้องที่มีการใช้งานทำความสะอาด พื้นมักมีระดับต่ำกว่าพื้นบ้านทั่วไปเสมอ เหตุเพราะปัจจัยด้านสุขภาวะในการอยู่อาศัย เพราะบริเวณซักล้างและชำระร่างกายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียและเชื้อโรค ถ้าทำพื้นระดับเสมอกันจะทำให้น้ำที่ใช้แล้วไหลออกมาภายนอกและแพร่กระจายเชื้อโรคได้

Photo by Sidekix Media on Unsplash

และถ้าสังเกตให้ดีในห้องน้ำมัก ตัวพื้นจะมีความลาดเอียงเล็กน้อยไปทางท่อ เพราะอาศัยหลักการแรงโน้มถ่วงที่ของจากที่สูงไหลลงสู่ที่ต่ำ เมื่อใช้งานน้ำบนพื้นแล้ว ระดับความลาดเอียงที่แตกต่างจะช่วยให้น้ำไม่ขัง และช่วยเรื่องการระบายน้ำนั่นเอง

บันไดเลขคี่

คนที่เดินขึ้นลงบันไดตามปกติอาจไม่ค่อยนับและไม่ได้ให้ความสำคัญกับจำนวนขั้นกัน แต่ในความเป็นจริงจำนวนขั้นก็สัมพันธ์กับการใช้งานที่ช่วยให้เดินได้คล่องและสบายขึ้น หลักการออกแบบบันไดคือการออกแบบให้มีจำนวนขั้นเป็นเลขคี่เพราะสรีระการเดินของแต่ละคนที่แตกต่างกัน เมื่อออกแบบบันไดให้มีจำนวนเป็นเลขคี่ เท้าแรกที่ก้าวขึ้นบันไดกับเท้าข้างสุดท้ายที่ขึ้นชานพักจะเป็นเท้าเดียวกัน

เหตุผลเพราะเวลาเราเลือกก้าวขาเพื่อขึ้นบันได เราจะใช้เท้าที่มั่นคงกว่าเป็นตัวช่วยในการยันพื้น และเมื่อถึงขั้นสุดท้ายที่ขึ้นชานพัก เท้าที่มั่นคงกว่าควรขึ้นไปเหยียบก่อนเพื่อรับแรงกดยกตัวก่อนจะตามมาด้วยเท้าที่ไม่ถนัด

ทุกอณูการออกแบบไม่ได้มีเพียงความสวยงาม แต่มีเหตุผลรองรับซ่อนอยู่มากมาย และหลักการเหล่านี้ยังได้รับการนำไปใช้ประยุกต์และพัฒนาเพื่อออกแบบวัสดุเพื่อช่วยให้การใช้งานตอบโจทย์การอยู่อาศัยสำหรับผู้คนมากขึ้นด้วย สิ่งสำคัญคือ ‘เรา’ ไม่ว่าจะในฐานะนักออกแบบหรือผู้บริโภคจะสามารถเลือกใช้สิ่งเหล่านั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือตรงใจหรือเปล่า ซึ่งต้องเริ่มจากการมองเห็นเพื่อรับรู้การมีอยู่ของนวัตกรรมและวัสดุเหล่านี้ก่อน

มาเจาะลึกเบื้องหลังงานสถาปัตยกรรม
มาตีแผ่เบื้องหลังงานออกแบบ ที่งานสถาปนิก’66

มาเปิดโลกนวัตกรรมวัสดุ การก่อสร้าง การออกแบบ และการเรียนรู้ได้ที่ งานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]


อ้างอิง

https://www.baanlaesuan.com/241229/ideas/house-ideas/ceiling-hight
https://www.baanlaesuan.com/150607/ideas/plan_house

Similar Posts