THEMATIC PAVILION: องศาที่แตกต่าง กับการสร้างบริบทความงามให้ท่อเหล็กและเส้นโซ่จาก Context Studio

การออกแบบที่ดึงตัวตนซึ่งเป็นเอกลักษณ์แบรนด์กับเนื้องานที่ประณีต คราฟต์ และสอดแทรกฟังก์ชันคือลายเซ็นของ Context Studio ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ‘Context’ ตามชื่อสตูดิโอ

ความโดดเด่นของที่นี่คือการหยิบบริบทเก่ามาสร้างบริบทใหม่ให้เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพแวดล้อม เผยมุม Hidden Gems ของสิ่งที่ต้องออกแบบ นี่จึงทำให้การร่วมมือระหว่าง Context Studio กับ Thai Koon Steel Group และ Thai Premium Pipe ซึ่งเป็นเจ้าของวัสดุประเภทท่อและเส้นโซ่จากเหล็ก สร้างสรรค์เป็น Thematic Pavilion ที่ดีไซน์สวยสะดุดตาด้านล่าง

กว่าจะออกมาเป็นผลงานนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ลองมาฟังตำตอบได้จากดีไซเนอร์ คุณต้น – บดินทร์ พลางกูร Founder จาก Context Studio

Connecting Spaces

เริ่มต้นด้วยตำแหน่งจากผังพาวิลเลียนที่ค่อนข้างแปลกตา เพราะตัว Thematic Pavilion วางอยู่ในตำแหน่งใจกลางแนวทแยง โอบด้วย Exhibitor รอบด้าน ไม่ได้แบ่งแยกระหว่างโซน Exhibitor และ Thematic ชัดเจนอย่างที่เคย

การออกแบบให้ Thematic Pavilion ตั้งตรงกลางทำหน้าที่เป็นกันชน (Buffer) ระหว่าง Exhibitor ด้วยกัน จัดวางให้มีความโปร่ง ผู้เข้าชมสามารถเดินทะลุผ่านเข้ามาได้จากหลายทิศทาง มีจุดประสงค์เพื่อให้ตัว Thematic Pavilion เป็นพื้นที่เปิดที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้ แชร์พื้นที่กันทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน

ซึ่งถ้าลองสังเกตในแบบให้ดี เราจะเห็นว่านอกจากตัวประติมากรรมหลักตรงกลาง รอบข้างยังมีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ออกแบบพิเศษไว้เป็นส่วนหนึ่งของ Thematic เพื่อให้คนได้นั่งพักด้วย รวมทั้งรองรับฟังก์ชันการใช้งานที่กำลังจะเกิดขึ้นในงาน เพราะบริเวณนี้ใช้สำหรับจัดกิจกรรม Human library ให้คนเข้าชมรับฟังและแลกเปลี่ยนไอเดียร่วมกับ Speaker ที่น่าสนใจ

Mission | Vision | Values

คอนเซ็ปต์งานครั้งนี้คุณต้นเล่าว่าออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นแบรนด์ วิสัยทัศน์ขององค์กรและผู้นำ ที่ทั้งทาง Thaikoon และ Thaipremium ต้องการนำเสนอวัสดุซึ่งมักติดภาพจำว่าใช้เฉพาะในงานระบบให้สามารถนำมาใช้งานเป็นวัสดุตกแต่งเชิงความสวยงาม ขณะเดียวกันก็อยากเน้นให้เห็นว่าภาพว่าทั้ง 2 แบรนด์ต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

“หลักๆ เราก็ดูเรื่องวัสดุของลูกค้าที่เป็นท่อเหล็ก ท่อที่ไว้ก่อสร้างในเรื่องโครงสร้างหรือว่างานระบบเลย ซึ่งมันเป็นภาพที่แข็งมาก ลูกค้ามีเป้าหมายที่อยากจะให้ทุกคนมองท่อในมุมมองอื่น ในเชิงความสวยงามที่สามารถนำมาตกแต่งได้ และให้สื่อสารถึงคอนเซ็ปต์ของ Thaikoon และ Thaipremium เกี่ยวกับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

พอทุกอย่างมารวมกัน 2 โจทย์นี้ เราก็คิดว่าเราต้องเอาท่อที่มันเป็นเส้นตรงเป็นเส้นแข็งมาทำให้มันรู้สึกว่าอ่อนโยน พลิ้วไหวมากที่สุด มันก็เลยเกิดเป็นไอเดียนี้ ที่เราทำให้ท่อที่เป็นเส้นตรงค่อยๆ ขยับ ค่อยๆ ปรับองศาทีละนิดให้มันเกิดเป็นการบิดเกลียว (spiral movement) ขึ้นมา

และในส่วนของภายในพาวิลเลียน เราออกแบบเป็นพวกเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวต่างๆ ที่ทำมาจากโซ่และท่อทั้งหมดเลย เป็น joint เป็นงานร่วมมือกันระหว่าง Thaikoon และ Thai premium”

| Sustainability & Safety |

ด้านความใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่ถ่ายทอดจากวิสัยทัศน์ทั้ง 2 แบรนด์ที่ผลักดันความเป็น Green industry สอดแทรกอยู่ในรายละเอียดของการออกแบบที่ Context วางแผนตั้งแต่การเลือกขนาด วิธีการติดตั้งและคำนึงถึงวิธีการขนส่ง

  • เลือกใช้วัสดุไซซ์มาตรฐานโรงงานเป็นท่อความยาว 6 เมตร ขนาดกว้าง 4 เมตร
  • ท่อเหล็กจำนวน 70 ท่อใช้ขนาดเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งเพราะหากใช้ท่อต่างขนาดจำเป็นต้องคละการแพ็ก เพิ่มการผลิตคาร์บอน
  • การติดตั้งใช้การออกแบบโครงสร้างให้สามารถแยกและประกอบได้ใหม่เหมือนจิ๊กซอว์ โดยใช้วิธีเชื่อมแต่ละท่อด้วย Joint คอหมุนและแต่ละจุดของการเชื่อมมี washer คั่นกลางเพื่อลดการเสียดสีของท่อเมื่อบีบรัดเข้าด้วยกัน

ส่วนแง่ความปลอดภัยที่หลายคนตั้งคำถามว่าถ้าเป็นวัสดุที่ทำจากเหล็กและมีขนาดใหญ่สูงถึง 6 เมตรแบบนี้จะมีความปลอดภัยในการใช้งานแค่ไหน คำตอบที่ได้ชี้ว่าทุกรายละเอียดล้วนผ่านการคิดมาแล้วอย่างรอบคอบที่สุด

“การติดตั้งตัว joint ต้องล็อกเป็น 2 axis ไม่งั้นตัวท่อก็จะมีแรง (force) ซึ่งจะหมุนซ้ายขวาด้วย แล้วมันจะไปยึดกับตัวฐานโครงสร้างเหล็ก H beam ข้างล่างครับ ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นคล้ายๆ สวมถุงเท้าเข้าไป แล้วก็ล็อกสกรูเข้าไป”


New Challenge

แม้ว่างานพาวิลเลียนจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับสตูดิโอสถาปนิกอย่าง Context แต่เมื่อโจทย์ที่ได้รับมาประกอบด้วย ผู้จำหน่ายวัสดุ 2 ราย เวลาจำกัดและรูปแบบงานที่เน้นการโชว์ด้านการออกแบบและความเป็นสถาปนิก นี่จึงเป็นความท้าทายใหม่ที่หินกว่าที่คิด

“ส่วนตัวก็ไม่เคยทำพาวิลเลียนที่ต้องกระชั้นชิดและเป็นงานสถาปนิกขนาดนี้ มันก็ต้องมีการวางแผนและเราก็ต้องรู้ขีดจำกัดของเราว่า เราจะสามารถฟุ้งไอเดียเราไปขนาดไหน เพราะทั้งหมดมันต้องสร้างได้และต้องติดตั้งได้ภายใน 4 วัน ถ้าหลุดก็หลุดไปง่ายมากเลย

แล้วก็มีเรื่องเจรจาต่อรอง (negotiation) มากขึ้น ระหว่างหลายเจ้า สุดท้ายเราก็ต้องเป็นผู้ที่อยู่ตรงกลาง ประสานงานให้ภาพรวมมันออกมาละมุน เข้ากันให้มากที่สุด อันนี้มันก็เป็นความท้าทายนึงที่เกิดขึ้นครับ ซึ่งถ้าเรามองในแง่บวกมันก็จะเดินหน้าได้ เหมือนอย่างตัว layout ที่ตอนแรกแยกโซนกันเราก็พยายามออกแบบให้ลงตัว (จนได้แบบปัจจุบัน) คิดแบบเผชิญหน้า ไม่อยากหันหลังให้ปัญหาอย่างเดียว”

“สำหรับงานอาสาในปีนี้ อยากให้ทุกคน ทุกวัย ทุกอาชีพ มาดูนะครับ เพราะว่าทุกๆ พาวิลเลียน ทุกคนตั้งใจออกแบบจริงๆ ครับ เราออกแบบเหมือนโจทย์งานออกแบบจริง จะ donate ให้การออกแบบล้วนๆ เลย

เพราะฉะนั้นในการทำงานของเรา เราก็ต้องมีการเจรจา มีการคุยหลายขั้นตอน อาจจะมีการถกเถียงกันบ้างเหมือนงานออกแบบจริงๆ เลย อยากให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสตรงนี้นะครับ

และส่วนของตัวบูธอื่นๆ ก็มีการโชว์เรื่อง sustainability เยอะมาก ในเรื่องวัสดุต่างๆ ที่ทุกคนสามารถนำมาต่อยอดไอเดีย และก็สามารถเอาไปใช้ที่บ้านตัวเอง ไปใช้ในโปรเจกต์เล็กๆ ที่ตัวเองมีอยู่ก็ได้ อยากให้คิดว่าไปแล้วได้แรงบันดาล ไปหาไอเดีย ไปเปิดมุมมอง หรือว่าได้ไปเจอไปคุยกับผู้คน โดยเฉพาะสถาปนิก เพราะตามบูธหรือจุดต่างๆ จะมีสถาปนิกคอยให้ข้อมูลหรือตอบคำถามทุกคนอยู่แล้ว”

แวะมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ในงานสถาปนิก’ 66 “ตำถาด: Time of Togetherness” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – วันที่ 30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Similar Posts