ขยะทะเล ของเสียหรือวัสดุ
รอการออกแบบสร้างสรรค์ ?

จริงอยู่ ขยะเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เป็นมลภาวะ ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่นั่นก็เมื่อขยะอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่นขยะรองเท้าในทะเล

แต่ขยะเป็นอย่างอื่นนอกจากนั้นได้ไหม? ทะเลจร ตอบด้วยรองเท้าที่ผลิตด้วยกระบวนการออกแบบ เปลี่ยนสถานะของขยะจากของเสียต้องทิ้ง มาให้ประโยชน์เป็นวัสดุสำหรับการผลิตได้

ขยะจากทะเล = วัสดุสำหรับการออกแบบ

ดร. ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย

ทะเลจร เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะรองเท้าในทะเล สำหรับทะเลจร ขยะรองเท้าในทะเลเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพสำหรับนำไปผลิตเป็นสินค้าต่อ ด้วยการรวบรวมจากเครือข่ายอาสาสมัคร Trash Hero ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อัดขึ้นรูปที่ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่ง ดร. ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งโครงการทะเลจร ทำการสอนอยู่ และด้วยฝีมือการประกอบโดยกลุ่มแม่บ้านตำบลคลองมานิง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ทะเลจรนำขยะรองเท้าในทะเลมาผลิตเป็นรองเท้าแตะ สร้างรายได้สู่สังคมได้อีก

แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของขยะรองเท้าในทะเล ที่สามารถนำมาเข้ากระบวนการแล้วกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าได้

ก่อนที่จะก่อตั้งโครงการทะเลจร ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุในอุตสาหกรรมเพื่อลดการเกิดวัสดุเหลือใช้ ดร. ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย เคยใช้วัสดุหลากประเภทมาแล้วทั้ง เศษล้อยาง รองเท้า หรือขวดพลาสติก โดยผลิตเป็นแผ่นพื้นยางปูสนามเด็กเล่นมาก่อน จนมาผลิตรองเท้าในโครงการนี้

ออกแบบให้เหมาะกับท้องถิ่น

ปูน เหล็ก และไม้ เป็นวัสดุที่คุณ ปกรณ์ อยู่ดี แห่ง INLY STUDIO เลือกมาใช้ก่อสร้าง บ้านชั้นเดียวแบบโมเดิร์นล้านนา ที่จังหวัดเชียงใหม่ของเขา

แนวคิดในการออกแบบบ้านหลังนี้ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งสถาปัตยกรรมแบบล้านนาและสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นโดยเปิดให้ธรรมชาติเข้าไปใกล้ชิดให้มากที่สุด ซึ่งนำมาสู่แนวคิดในการเลือกใช้ไม้ท้องถิ่น กระเบื้องหลังคา ไปจนถึงอิฐเก่า เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นธรรมชาติ

ปกรณ์ อยู่ดี

และแม้จะแสดงฝีมือด้วยผลงานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นล้านนามากมาย แต่เขาก็ไม่ได้ปิดกั้นการออกแบบ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” อยู่เพียงเท่านั้น ความเป็น “ถิ่น” สำหรับเขาขึ้นอยู่กับบริบทที่รายล้อมการออกแบบ

หากสถาปัตยกรรมนั้นออกแบบและก่อสร้างในภาคใต้ วิถีชีวิตและพื้นเพวัฒนธรรมของคนที่นั่นก็อาจนำมาสู่ความ “โมเดิร์นปักษ์ใต้” ก็เป็นได้

อาจดูเหมือนไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่ในงานสถาปนิก’65 นี้เอง เราจะได้พบผลงานการสร้างสรรค์จากความร่วมมือระหว่างผู้ก่อตั้งโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมจากภาคใต้และสถาปนิกจากภาคเหนือทั้งสองท่านนี้

ส่วนผลลัพธ์การสร้างสรรค์ร่วมจะมีแนวคิดการออกแบบอย่างไรหรือใช้วัสดุอะไรทำการผลิตนั้น คงเป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องมาสัมผัสด้วยตนเอง

ข้ามภูมิภาค ข้ามสาขาวิชาชีพ

นิทรรศการ PROFESSIONAL COLLABORATION  เป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปนิก’65 ที่แสดงผลงานการ “สร้างสรรค์ร่วม” ของสถาปนิกและนักสร้างสรรค์จากสาขาวิชาชีพต่าง ๆ และในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการสร้างสรรค์ร่วมอย่าง “พึ่งพา – อาศัย” กัน ของนักสร้างสรรค์จากภูมิภาคที่แตกต่างกันอย่างในการทำงานของคุณ ปกรณ์ อยู่ดี และคุณ ดร. ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย

เปรียบเสมือนการเปิดพื้นที่เพื่อทดสอบสมมุติฐานที่ว่า การทำงานร่วมกันจะก่อให้เกิดผลผลิตที่น่าสนใจขึ้นมา ดังที่มีการระบุไว้ใน แนวคิดการจัดงาน

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่แค่เพียงผลงานการสร้างสรรค์ แต่คือการเรียนรู้กระบวนการทำงานใหม่ ๆ อีกด้วย เช่นระบบการทำงานข้ามภูมิภาคซึ่งอาจเป็น “เรื่องปกติใหม่” ที่ไม่ได้ปฏิบัติกันแค่ช่วงโควิด-19 ก็ได้

นอกจากการทำงานร่วมกันของ ปกรณ์ อยู่ดี และ ดร. ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย แล้ว จึงยังมีสถาปนิกและนักสร้างสรรค์ท่านอื่นพร้อมนำเสนอผลงานที่น่าสนใจอีก เช่น ช่างภาพไอโฟนและสถาปนิกผู้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ อาจารย์ศิลปะและสถาปนิก เป็นต้น ที่ งานสถาปนิก’65 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 1 พ.ค. 65 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ArchitectExpo.com/2022/space-reservation/ หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล [email protected]

Similar Posts