เปิดเวทีโชว์งานอินทีเรียชั้นนำ พร้อมกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพ กับธีรานุช กรรณสูต วงศ์ไวศยวรรณ จาก TIDA หนึ่งในประธานจัดงานสถาปนิก’66

เปิดฉากแล้วกับงานสถาปนิก’66 ที่มาในแนวคิด ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ ครั้งแรกของการผสมผสานรสชาติจากสถาปนิกทุกแขนงด้วยความร่วมมือของ 5 องค์กรวิชาชีพได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก แต่ละองค์กรจะมาทำอะไร แต่ละสาขาเขาทำงานกันอย่างไร ประธานการจัดงานทั้ง 5 ท่านจะมาเล่าให้ฟังใน 5 บทสัมภาษณ์นี้ ก่อนไปเจอกันในงาน

สำหรับงานออกแบบตกแต่งภายใน การได้ชมงานดี ๆ หรือเพิ่มความรู้จากผู้มีประสบการณ์ย่อมมีประโยชน์ต่อการประกอบวิชาชีพ ในงานสถาปนิก’66 นี้ ธีรานุช กรรณสูต วงศ์ไวศยวรรณ ประธานจัดงานสถาปนิก’66 จากสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (Thailand Interior Designers’ Association: TIDA) และ Managing Director แห่งบริษัท IA49 (Interior Architects 49) เผยแล้วว่าเตรียมพื้นที่จัดแสดงพร้อมกิจกรรมมากมายไว้สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกท่านที่สนใจงานออกแบบตกแต่งภายในมาชมกัน

ของหวานเติมเต็มตำถาด

“เวลาที่มีสถาปัตยกรรมแล้ว ถามว่าไม่มีอินทีเรียอยู่ได้ไหม ก็ต้องตอบว่าก็อยู่ไปได้ เช่นเดียวกับอาหาร ถ้าเราไม่ทานของหวานถามว่าอิ่มไหมก็อิ่ม แต่ทานของหวานเนี่ยมันเติมเต็ม มันจบ เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมที่มีสถาปัตยกรรมภายในควบคู่กันไป ก็จะสมบูรณ์แบบกว่า”

ในการร่วมมือของทุกสาขาวิชาชีพครั้งนี้ คุณธีรานุชมอง TIDA ว่าเป็นขนม”รวมมิตร” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการจัดงาน ตำถาด : Time of Togetherness ที่มีนัยยะถึงการรวมตัวครั้งใหญ่ขององค์กรทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมและมีความเป็นไทยแตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มาซึ่งชื่องานมักนำด้วยภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังเล่นกับคำพ้องเสียง ตำ-Time อีกด้วย ที่แม้จะไม่ได้เป็นคำแปลโดยตรงเหมือนทุกครั้งแต่ความหมายของชื่อทั้งสองภาษาก็สอดคล้องกันตรงกันได้อย่างดี

เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกับสถาปนิกสาขาอื่น คุณธีรานุชเล่าว่าในฐานะสถาปนิกออกแบบภายใน “ก็แทบจะใกล้ชิดแบบปากกับฟันเลย” การทำงานต้องประสานงานกันทั้งสถาปนิก สถาปนิกตกแต่งภายในภูมิสถาปนิก และอื่นๆอีกมากมาย “ก็จะมีทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างตามปกติ คนนึง outside-in คนนึง inside-out เราก็มาใช้ความสามารถของเราไปด้วยกันเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด”

จัดเต็มกิจกรรม กับงานจัดแสดงงานเสวนางานสังสรรค์

ผู้ที่ได้มีโอกาสไปเดินงานสถาปนิกเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว อาจคุ้นชื่อกับ TIDA จากการจัดแสดง ‘TIDA Salone’ ที่ทาง TIDA ได้เข้าร่วมงานสถาปนิกในปีนั้นโดยคัดสรรสถาปนิกออกแบบตกแต่งภายในไปร่วมจัดแสดงผลงาน ซึ่งก็เป็นที่ถูกใจของผู้เข้าชม ข่าวดีก็คือคุณธีรานุชยืนยันแล้วว่า TIDA Salone จะกลับมาอีกแน่นอนในงานสถาปนิก’66

ดีไซน์ของ Hypothesis ใน TIDA Salone 2013 ภาพจาก https://www.facebook.com/TIDAsalone2013/

“มันคือ Designer Showcase อย่างเมื่อหลายปีก่อนจะเป็นการจับมือเป็นทีมระหว่าง ดีไซเนอร์กับซัพพลายเออร์วัสดุหนึ่งชนิด และผู้รับเหมาอีกหนึ่งราย ทำห้องต่างๆขึ้นมา” “ครั้งนี้เราคงทำอะไรที่แตกต่างออกไป แต่เกี่ยวข้องกับคอนเซปตำถาด ซึ่งหวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้มาเยี่ยมชมเช่นเดิม แต่ขออุบไว้ก่อนนะคะ”

TIDA ยังเป็นผู้จัดรางวัลที่มีอายุกว่าสิบปีอย่าง TIDA Thesis Awards ซึ่งเป็นการประกวดผลงานทีสิสของนิสิตนักศึกษาโดยทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ส่งผลงานเข้ามาในแต่ละปี ซึ่งเราจะนำมาแสดงในงานสถาปนิก’66ครั้งนี้ รวมทั้งรางวัลสำหรับมืออาชีพอย่าง TIDA Awards ซึ่งมีด้วยกันหลายหมวดหมู่ เป็นรางวัลที่ตัดสินโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในรวมถึงจากสาขาอื่นๆด้วย

นอกจากนี้สำหรับคนทั่วไป TIDA ยังมีกิจกรรม TIDA Talk ให้ผู้ที่สนใจได้ฟังเรื่องผลงานการออกแบบภายใน เรื่องมุมมองหรือวิธีดำเนินการที่น่าสนใจ ในโซน TIDA SOCIETY  และยังมี Seminar ทางวิชาการสำหรับนักออกแบบที่เป็นประเด็นเฉพาะอีกด้วย

งานจัดแสดงและกิจกรรมมากขนาดนี้ TIDA ยังมี TIDA Lounge พื้นที่ส่วนบริการให้นั่งพักเหนื่อยและบริการไอติมแท่งรวมมิตร รวมถึงส่วนจัดจำหน่ายของที่ระลึกเพื่อให้มีอะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านกันไปอีกด้วย

ท้ายสุดคุณธีรานุชแอบกระซิบว่าคงจะมี “An Evening with TIDA” ที่คงจะมีอะไรพิเศษ ๆ มาเซอไพรส์กันอีกแน่นอน

ปัจจุบันและอนาคตของงานออกแบบตกแต่งภายในกับประเด็นด้านความยั่งยืน

การให้ความสำคัญกับประเด็นทางความยั่งยืนเป็นเรื่องหนึ่งที่จะแฝงอยู่ในการจัดแสดง คุณธีรานุชเล่าว่า “Message หนึ่งที่เราอยากสื่อสารไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในวิชาชีพหรือประชาชนที่เข้ามาชมงานคือเรื่อง Sustainability เพราะโลกที่เราอยู่เค้าป่วยมากแล้ว ลูกหลานเราจะอยู่ในโลกใบนี้ต่อไปอย่างไร อย่างตอนนี้ก็มีการรณรงค์เรื่อง Net Zero ที่กำหนดเป้าการผลิตก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงไปเรื่อยๆ พี่อยากจะให้ตรงนี้มันอยู่ในจิตสำนึกของดีไซเนอร์ทุกคน”

“คิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีเพราะคนที่เข้ามาดูงานหรือน้อง ๆ ที่เข้ามาจะได้เริ่มจุดประกายหรือตั้งคำถามแล้วเอาไปต่อยอดเองไปตั้งคำถามของเขาต่อเอง” นอกจากนี้การออกแบบการจัดแสดงในโซนของ TIDA ครั้งนี้ยังสามารถนำชิ้นส่วนทั้งหมดไปบริจาคใช้งานต่อได้ตามแนวคิด Zero Waste Exhibition คุณธีรานุชอธิบาย

งานสถาปัตยกรรม-ก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน “ใครพลาดถือว่าตกขบวน”

บรรยากาศงานสถาปนิก’65

35 ปีของงานสถาปนิก คุณธีรานุชเห็นว่าเป็นการเติบโตอย่างมั่นคงและถาวร โดยส่วนตัวมีความภูมิใจที่สมาคมสถาปนิกสยามได้จัดและพัฒนางานนี้มาจนมีชื่อเสียงและเป็นงานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน “ถ้าเป็นว่าวก็ถือว่าติดลมบนแล้ว ก็หวังว่าทุกรุ่นที่เข้ามาบริหารจะพัฒนางานสถาปนิกนี้ไปเรื่อย ๆ”

”สำหรับคนที่อยู่ในวิชาชีพการออกแบบ ไม่ว่าจะสาขาใด สิ่งที่จะได้จากการเข้าร่วมงานสถาปนิก’66 อย่างน้อยคือเรื่องการร่วมมือกัน การรวมพลังกันของทุกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมล้วนก่อให้เกิดผลดีกับประชาชน ผลดีต่อสังคมและประเทศชาติ”

สำหรับประชาชนทั่วไป ก็จะได้ความรู้ความเข้าใจ เช่นเรื่องการเลือกใช้วัสดุ/ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สร้างผลดีต่อสังคม ส่วนทางซัพพลายเออร์ “ใครพลาดครั้งนี้ก็ถือว่าตกขบวน เพราะเป็นครั้งแรกที่เรารวมตัวกันทุกสาขา แล้วแต่ละสาขาก็มีซัพพลายเออร์ที่เฉพาะทางอยู่” โดยสำหรับสาขาออกแบบตกแต่งภายใน วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้เป็นประจำมีอย่างเช่น ไม้ หิน กระเบื้อง ลามิเนต เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

“งานสถาปนิกเป็นงานที่คนมาเดินเยอะมาก ส่วนหนึ่งก็มาดูเพื่อทำบ้านตัวเอง ส่วนหนึ่งก็เป็น นักพัฒนาโครงการมาเดินชม หรือดีไซเนอร์มาหาของใส่โปรเจกต์ตัวเอง”

“หลังเห็น Key Visual งานแล้วเชื่อว่าคงสงสัยกันแน่นอนว่าสถาปนิกพวกนี้มันเล่นอะไรกันตั้ง 4 สาขาและ1 สภาฯ แล้วจั่วหัวมาว่าเป็นตำถาดด้วย ก็ต้องขอเชิญชวนมาดูว่าพวกเราเล่นอะไรกันนะคะ”

งานสถาปนิก’66 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานีสำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservationหรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล[email protected]

Similar Posts